“ม.กรุงเทพ” ทรานส์ฟอร์มการศึกษาไทย! เชื่อมโยง “Creativity + Technology” สร้างคนให้มีทักษะศตวรรษที่ 21

  • 3.9K
  •  
  •  
  •  
  •  

Technology Disruption เปรียบได้กับคลื่นสึนามิที่ถาโถมเข้ามา ใครรู้ตัวก่อน ปรับตัวได้ทัน ย่อมพลิกให้กลาย “โอกาส” แต่ใครที่ชะล่าใจ อาจได้รับผลกระทบรุนแรง เพราะฉะนั้นคนที่จะดำรงอยู่ได้ทั้งในวันนี้ และอนาคต ต้องมี 3 ทักษะสำคัญ คือ

  1. Hard Skill ทักษะด้านความรู้ความสามารถในสาขา หรือสายงานของตนเอง
  2. Soft Skill ทักษะในการเชื่อมโยงกับคนในสังคม
  3. Technology Skill ไม่ได้หมายถึงว่าต้องเป็นนักพัฒนาเทคโนโลยี หรือนักประดิษฐ์นวัตกรรมสุดล้ำ แต่ทักษะด้านเทคโนโลยีในทีนี้ คือ มีความรู้ และเข้าใจเทคโนโลยี ทั้งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน และเกี่ยวข้องกับสายงาน หรืออาชีพของตนเอง

แต่การที่คนๆ หนึ่งจะมีความพร้อมทั้ง 3 ทักษะ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ได้รับการพัฒนาทั้ง 3 ด้าน นั่นหมายความว่า “มหาวิทยาลัย” ในฐานะเป็นผู้บ่มเพาะบุคลากรคุณภาพ ก็ต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการพัฒนาศักยภาพทั้ง Hard Skill – Soft Skill – Technology Skill ให้กับผู้เรียน

เวลานี้ภาคการศึกษาทั่วโลก ต่างปรับตัวมาในทิศทางนี้ สำหรับประเทศไทย “มหาวิทยาลัยกรุงเทพ” (Bangkok University) เล็งเห็นความสำคัญทั้ง 3 ทักษะ จึงได้พัฒนากระบวนการการเรียนการสอนทุกวิชา-ทุกคณะ เพื่อสร้างคนให้มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ที่เรียน – มีความคิดสร้างสรรค์ – เข้าใจและปรับตัวเท่าทันเทคโนโลยี

สร้างมนุษย์สายพันธุ์ “Creativity + Technology

กว่า 10 ปีที่แล้ว “มหาวิทยาลัยกรุงเทพ” เป็นสถาบันการศึกษาแรก และแห่งเดียวในไทยที่ประกาศจุดยืนการเป็น Creative University เพราะมองว่า “ความคิดสร้างสรรค์” เป็นแกนกลางสำคัญที่สามารถ “เชื่อมโยง” ได้กับทุกศาสตร์บนโลกใบนี้

และหนึ่งองค์ความรู้ที่เราทุกคนไม่อาจปฏิเสธได้ในยุคดิจิทัล คือ Technology เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีเข้าไปอยู่กับทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งในชีวิตประจำวัน การทำงาน และการประกอบธุรกิจ

ด้วยเหตุนี้เอง “มหาวิทยาลัยกรุงเทพ” จึงได้นำความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็น Core Values ของสถาบัน มาผสานเชื่อมโยงเข้ากับ Technologyเพื่อสร้างมนุษย์สายพันธุ์ใหม่ที่มีทั้ง Creativity + Technology (C + T) โดยนักศึกษาทุกคณะ ทุกหลักสูตร ทุกชั้นปี จะได้รับการบ่มเพาะทั้งความคิดสร้างสรรค์ และองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี ตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงระดับแอดวานซ์

“มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นมหาวิทยาลัยแรกในไทยที่ปรับกระบวนการเรียนการสอนให้เป็น “Creativity + Technology” (C + T) เพราะเราเชื่อว่าในโลกยุค Technology Disruption เราต้องเป็น “นาย” เทคโนโลยี โดยมี “Creativity” เป็นหัวใจในการเชื่อมโยงทุกศาสตร์

เพราะถ้ามนุษย์ไม่มีความคิดสร้างสรรค์เป็นแกนกลาง ย่อมตกเป็นเบี้ยล่างของเทคโนโลยี แต่ถ้ามนุษย์มีความคิดสร้างสรรค์อยู่ในตัวเอง คุณจะสามารถเชื่อมโยงกับศาสตร์ต่างๆ และต่อยอดไปได้อีกมาก โดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ” อาจารย์เพชร โอสถานุเคราะห์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เล่าถึงความสำคัญของการปรับการเรียนการสอนเป็น C + T

ทางด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ลักคณา วรศิลป์ชัย รองอธิการบดี ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ขยายความเพิ่มเติมถึงความท้าทายของภาคการศึกษาในยุคนี้ว่า ทุกมหาวิทยาลัยกำลังสูญเสียความเชื่อมั่นจากภาคธุรกิจที่รับนักศึกษาจบใหม่เข้าไปทำงาน ขณะเดียวกันทุกมหาวิทยาลัยกำลังปรับตัวว่าต้องทำอย่างไรให้ผลิตบัณฑิตเพื่ออนาคต

สำหรับ “มหาวิทยาลัยกรุงเทพ” การชูธงเรื่อง Creativity ถือว่าเดินมาถูกทางตั้งแต่ต้น เพราะในงานวิจัยบอกไว้ชัดเจนว่า ศึกหนักของสถาบันการศึกษาทั่วโลก คือ ความรู้มีอายุสั้นลงมาก ดังนั้นถ้าผู้เรียนมี Hard Skill อย่างเดียว ออกไปทำงาน ย่อมเอาตัวไม่รอด แต่คนที่จะอยู่รอด คือ ต้องมีความรู้ทั้ง Hard Skill และ Soft Skill

“หนึ่งในทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (21st century skills) ซึ่งเป็นทักษะทางด้าน Soft Skill คือ “ความคิดสร้างสรรค์” เพราะทำให้คนสามารถเอาชนะเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงได้

ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยกรุงเทพต้องการสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้มีความพร้อม จึงได้พัฒนา “Technology Skill” ให้กับนักศึกษาด้วยเช่นกัน เพราะถ้านักศึกษามีครบทั้ง 3 ทักษะ เมื่อจบไป เขาจะเป็นที่ต้องการของตลาดงาน หรือเป็นผู้ประกอบการธุรกิจที่มีความพร้อมมาก” 

16 ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 หนึ่งในนั้นคือ “Creativity” ทักษะสำคัญที่จะเชื่อมโยงเข้ากับศาสตร์ต่างๆ (Photo Credit : World Economic Forum)

Open Platform – Collaboration” สร้างความร่วมมือระหว่างคณะ และผู้เชี่ยวชาญภายนอก

Open PlatformและCollaborationเป็นคำที่มีความหมายอย่างยิ่งในทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่ภาคการศึกษา อย่างมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ใช้โมเดล Open Platform และมุ่งสร้าง Collaboration เพื่อพัฒนา “ระบบนิเวศการเรียนการสอน” (Education Ecosystem) ที่เชื่อมโยงกันทั้งภายในมหาวิทยาลัย และพันธมิตรภายนอก ทั้งองค์กรธุรกิจ และผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ

การสร้างนักศึกษาให้มีทั้ง C + T จึงต้องปรับการเรียนการสอนให้เป็น Open Platform และสร้างความร่วมมือด้วยกัน เริ่มต้นจากการสลายระบบ Silo และเปิดกว้างให้เชื่อมโยงระหว่างคณะ และคณาจารย์ จากเดิมแต่ละคณะ แต่ละหลักสูตร ไม่เชื่อมโยงกัน

โดยให้คณาจารย์ทางสายเทคโนโลยี ซึ่งมหาวิทยาลัยกรุงเทพ มีคณะและหลักสูตรด้านเทคโนโลยีเปิดสอนมายาวนานแล้ว มาทำงานร่วมกันกับคณาจารย์คณะต่างๆ ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในบริบทของตนเอง กระทั่งตกผลึกออกมาเป็น 10 Module วิชาเทคโนโลยีที่จะสอดแทรกอยู่ในการเรียนการสอนของคณะต่างๆ ได้แก่

  • Internet of Things (IoT)
  • Block Chain
  • Mobile Application
  • Big Data / Data Analytics
  • UX / UI
  • 5G
  • AR / VR
  • Coding
  • AI
  • Cloud service

พร้อมทั้งแบ่งการเรียนการสอนเป็น 3 ระดับ คือ

ระดับพื้นฐาน เริ่มเรียนตั้งแต่ชั้นปี 1 เป็นการปูพื้นฐานด้านเทคโนโลยี เพื่อให้นักศึกษารู้จัก และเข้าใจเทรนด์เทคโนโลยี

ระดับกลาง แต่ละคณะเลือกวิชาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตร หรือสาขาของตนเอง นำไปสอนนักศึกษาในเชิงลึกมากขึ้น เพื่อให้นักศึกษาสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ากับสาขาที่เรียน

เช่น นักศึกษาสาขาการโรงแรม ต้องสามารถนำ Big Data / Data Analytics ไปประยุกต์ใช้กับการเรียน หรือสาขาเศรษฐศาสตร์ ต้องใช้ Big Data หรือคณะนิเทศศาสตร์ ต้องเรียน AR / VR

ระดับแอดวานซ์ เป็นการเรียนเทคโนโลยีในระดับ Professional ของสาขาที่เรียน เช่น นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ถ้าต้องการจบไปทำงานด้าน AI ต้องเรียนเทคโนโลยีศาสตร์นี้ให้ลึกขึ้น หรือนักศึกษาสาขาการตลาด ถ้าต้องการเข้าใจ Big Data / Data Analytics มากขึ้น ก็ต้องรู้ศาสตร์นี้ลึกขึ้น เพื่อเอาไปใช้กับการทำงาน

“เรามีการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยีมานานแล้ว แต่เทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็น Creativity Technology เช่น ซอฟท์แวร์, แอปพลิเคชัน ไม่ใช่ Hard Technology และตอนนี้เราเกิดการตกผลึกว่าเราเป็นมหาวิทยาลัยที่มี Open Platform โดยการสลายขั้วทุกคณะ ทุกหลักสูตร เปิดโอกาสให้ทุกคณะเชื่อมโยงกัน อาจารย์ และนักศึกษาทุกคณะเชื่อมโยงกัน

ขณะเดียวกัน Open Platform ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ยังเชื่อมโยงกับองค์กรชั้นนำ และผู้เชี่ยวชาญแต่ละภาคธุรกิจ เช่น Garena บริษัทเกมระดับโลก, LINE, Google, บริษัทโฆษณา โดยคนภายนอกจะนำความรู้จากโลกการทำงานจริงมาสอน ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้ผ่าน Case ที่มาจากธุรกิจจริง ขณะเดียวกันองค์กร หรือผู้เชี่ยวชาญจากภาคธุรกิจที่มาสอน ก็ได้ความคิดใหม่ๆ จากคนรุ่นใหม่ และมีโอกาสได้เด็กที่มีศักยภาพ ไปทำงานด้วย” อาจารย์เพชร เล่าถึงมิติการเรียนการสอนแบบ Open Platform

Project-base Learning” ต่างคณะเรียนรู้ร่วมกัน จากการลงมือทำจริง!

การเรียนรู้ที่ดี ไม่ใช่แค่ศึกษาจากในตำรา หรือในห้องเรียนเท่านั้น แต่ควรได้เรียนรู้จากการลงมือทำจริง โดยนำสิ่งที่ตนเองเรียน มาประยุกต์ใช้ และผสานการทำงานกับคนอื่น จะทำให้ผู้เรียนคนนั้นๆ ได้ทั้งประสบการณ์จริง และการทำงานเป็นทีม

Open Platform และ Collaboration ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ไม่ใช่แค่เพียงคณาจารย์ และระหว่างมหาวิทยาลัย กับองค์กรภายนอกเท่านั้น แต่ยังหมายความรวมถึง “นักศึกษา” ด้วยเช่นกัน ได้มีโอกาสเรียนในรูปแบบ Project-base Learning โดยโจทย์มาจากองค์กรที่เป็นพาร์ทเนอร์กับมหาวิทยาลัย และนักศึกษาต้องทำงานร่วมกับเพื่อนต่างคณะ เพื่อให้โปรเจคบรรลุผลสำเร็จ

เช่น บริษัทเกม มีโจทย์ต้องการพัฒนาเกมใหม่ และขายจริง เพราะฉะนั้นการจะผลักดันให้โปรเจคนี้เกิดเป็นรูปธรรม และสามารถใช้งานได้ แน่นอนว่าต้องงมาจากการทำงานร่วมกันของนักศึกษาต่างคณะ ประกอบด้วย

นักศึกษาจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ เป็นคนออกแบบคาแรกเตอร์, นักศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ เป็นผู้วาง Story Telling, นักศึกษาสาขาแฟชั่น มาร่วมออกแบบเสื้อผ้าให้กับคาแรกเตอร์ในเกม และต้องมีนักศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มาพัฒนาซอฟท์แวร์เกม

ขณะเดียวกันต้องมีการวางแผนงบลงทุน ค่าใช้จ่าย และรายได้ ต้องเป็นนักศึกษาจากคณะบริหารธุรกิจ และเพื่อให้เกมนี้ เป็นที่รับรู้ไปยังกลุ่มเป้าหมาย ต้องมีนักศึกษาสาขาการตลาด และสาขา Multi-media มาวางแผนกลยุทธ์การตลาด และการสื่อสารผ่านสื่อช่องทางต่างๆ

จะเห็นว่าภายใต้โจทย์ 1 โปรเจค เกิดการทำงานแบบ Collaboration หลายส่วน ซึ่งการเรียนรูปแบบ Project-base Learning เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษา ก่อนจบออกไปเข้าสู่โลกการทำงานจริง

“เมื่อเกิดการทำงานร่วมกันต่างคณะ สิ่งที่นักศึกษาได้เรียนรู้ นอกเหนือจากหลักสูตร คือ ทำให้ตัวเขาเองเห็นว่าคนอื่นที่อยู่ในทีม กับโค้ชที่มาจากบริษัทข้างนอก มีมุมมองอย่างไร เปิดโลกทัศน์ของตนเอง เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้

คนที่เรียนคณะศิลปกรรม ต้องเข้าใจเทคโนโลยี ขณะเดียวกันทำให้คนที่เรียนสายเทคโนโลยีโดยตรง เข้าใจวิธีคิด หรือมุมมองของคนที่เรียนด้านครีเอทีฟ ในที่สุดแล้วทำให้แต่ละคนผสมผสานออกมาได้ ซึ่งในโลกจริง เราทุกคนต้องเชื่อมโยงการทำงานกับคนอื่น” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ลักคณา กล่าวเพิ่มเติม

เพราะเชื่อว่าโลกที่วิวัฒน์ไปข้างหน้า เทคโนโลยีก้าวล้ำ ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ล้วนมีจุดตั้งต้นมาจาก “ความคิดสร้างสรรค์” ที่เชื่อมต่อเข้ากับองค์ความรู้ของศาสตร์ต่างๆ และมนุษย์ทุกคนล้วนมีพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์อยู่ในตัวเอง แต่ความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคนจะถูกดึงออกมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่คนๆ นั้นอยู่

“มหาวิทยาลัยกรุงเทพ” จึงให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ให้แตกกิ่งก้าน เพื่อสามารถเชื่อมโยงกับศาสตร์ต่างๆ ได้ไม่สิ้นสุด เหมือนเช่นวันนี้ที่เชื่อมโยงกับความรู้ด้านเทคโนโลยี

Creativity ของคนเรา เหมือนต้นไม้ ถ้าอยู่ในที่อับ ไม่มีแดด ไม่มีน้ำ ไม่มีฝน ย่อมเฉาตาย ดังนั้นมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้สร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับคนที่ต้องการมี Creativity + Technology หรือคนที่ต้องการมี Creativity และเชื่อมโยงกับศาสตร์อื่น” อาจารย์เพชร สรุปทิ้งท้าย


  • 3.9K
  •  
  •  
  •  
  •