ในช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้ กระแสการชำระเงินผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลกำลังได้รับการกล่าวถึงอย่างมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ภาครัฐและเอกชนสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการใช้จ่ายผ่านรูปแบบดิจิทัล ซึ่งนอกจากสะดวกสบายแล้วยังสามารถตรวจสอบได้ ป้องกันความผิดพลาดในการชำระเงิน และป้องกันการเกิดอาชญากรรมที่ประสงค์ต่อเงินทอง เพราะเงินเหล่านั้นถูกจัดเก็บนรูปแบบดิจิทัล
ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่ตื่นตัวในเรื่องของการใช้จ่ายผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล และรูปแบบการใช้จ่ายดังกล่าวยังกลายเป็นเทรนด์การใช้จ่ายของหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ซึ่งถือเป็นภูมิภาคที่มีความก้าวล้ำด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย จากข้อมูลในงานประชุมสุดยอดความมั่นคงทางการรักษาความปลอดภัยในระบบชำระเงินของ VISA ในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Visa Asia Pacific Security Summit)พบว่า
การขยายตัวของแหล่งชุมชนหรือ Urbanization และผู้ใช้สมาร์ทโฟนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทั้ง 2 ปัจจัยเป็นเหตุผลหลักที่ช่วยผลักดันให้การชำระเงินในรูปแบบดิจิทัลเพิ่มสูงขึ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยกว่าครึ่งของจำนวนประชากรทั้งหมดอาศัยอยู่ในหัวเมืองหลัก และมากกว่า 2 ใน 3 หรือคิดเป็นประชากรราว 1.3 ล้านรายจาก 1.9 พันล้านรายในเอเชียแปซิฟิกนิยมเข้าอินเตอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟน
โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมียอดปริมาณการชำระเงินสูงถึง 11 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมากกว่าครึ่งราว 55% ยังนิยมรูปแบบการชำระเงินผ่านเงินสด แสดงให้เห็นว่าในจำนวนราว 55% ดังกล่าวหรือคิดเป็นเงินกว่า 6.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ สามารถเปลี่ยนรูปแบบการชำระเงินจากเงินสดไปสู่การชำระเงินผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จำนวนกว่า 45% ชำระเงินผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลคือการผนวกความปลอดภัยเข้ากับการใช้งานที่สะดวก ยิ่งเมื่อมีนวัตกรรมใหม่ๆ ไปจนถึงระบบนิเวศของการชำระเงินผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลเติบโตมากขึ้น ความปลอดภัยยิ่งต้องถูกให้ความสำคัญอย่างมากขึ้น ซึ่งระบบความปลอดภัยดังกล่าวต้องไม่ส่งผลกระทบต่อความสะดวกสบายในการใช้งานทั้งต่อร้านค้าและผู้บริโภค
ขณะที่ข้อมูลของในประเทศไทยพบว่า การชำระเงินของคนไทยส่วนใหญ่กว่า 75% ยังคงเป็นการใช้เงินสดอยู่ แต่ด้วยการสนับสนุนของภาครัฐและเอกชน ทำให้การชำระเงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น การชำระเงินในซุปเปอร์มาร์เก็ต, ร้านกาแฟ, โรงภาพยนต์ เป็นต้น
ด้าน นายโจ คันนิ่งแฮม ผู้อำนวยการฝ่ายการจัดการความเสี่ยงของวีซ่า ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “ในอดีตความปลอดภัยมักจะสวนทางกับความสะดวก แต่ในปัจจุบันการรักษาความปลอดภัยถูกฝังอยู่ในกระบวนการ วีซ่ามุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างให้ระบบปฏิบัติการของเรามีความปลอดภัยในระดับสูงสุดด้วยเทคโนโลยีที่เป็นมาตรฐานสากลทั่วโลก อาทิ ชิพการ์ด (อีเอ็มวี), โทเคนไนเซชั่น (Tokenization) และการเข้ารหัสข้อมูลแบบพ้อยท์ ทู พ้อยท์ (point-to-point encryption)”