“สิงคโปร์” ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางทางการเงินสำคัญแห่งหนึ่งของโลก และมุ่งสนับสนุนให้เกิด “ดิจิทัลแบงก์กิ้ง” (Digital Banking) เพราะเชื่อว่าจะทำให้อุตสาหกรรมการเงินการธนาคารในสิงคโปร์ เกิดนวัตกรรมการเงินใหม่ และสามารถแข่งขันได้ โดย “Monetary Authority of Singapore” (MAS) หรือ “ธนาคารกลางสิงคโปร์” จะออกใบอนุญาต “ดิจิทัลแบงก์กิ้ง (Digital Banking License) ให้บริการแบบเดียวกับธนาคารดั้งเดิม แต่ไม่ต้องมีสาขาธนาคาร เพื่อทำให้ผู้ที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ได้เข้าถึงบริการทางการเงินง่ายขึ้น
ล่าสุด “Ant Group” ยักษ์ใหญ่ธุรกิจเทคโนโลยีการเงินในเครือ Alibaba ของ Jack Ma ซึ่งได้ใบอนุญาตจากธนาคารกลางสิงคโปร์ เปิดตัวดิจิทัลแบงก์กิ้ง “ANEXT Bank” ในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ Ant Group ถือหุ้นทั้งหมด ให้บริการการเงินดิจิทัลแก่ลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME Business) คลอบคลุมทั้งระดับท้องถิ่น และระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องการดำเนินการข้ามพรมแดน (Cross-border) เพื่อการเติบโตทางธุรกิจ
“ดิจิทัลแบงก์กิ้ง” จุดเปลี่ยนตลาดการเงินการธนาคารสิงคโปร์ – โอกาสของกลุ่ม Non-bank Finance
การปลดล็อกธุรกิจการเงินการธนาคาร จากธนาคารูปแบบดั้งเดิม ไปสู่ “ดิจิทัลแบงก์กิ้ง” ที่เปิดให้ Non-bank Financial สามารถเข้ามายื่นขอใบอนุญาตได้ นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของตลาดการเงินการธนาคารใน “สิงคโปร์” และเป็นโอกาสครั้งสำคัญของกลุ่ม “Non-bank Financial” หรือผู้ให้บริการทางเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ยื่นขอใบอนุญาต เพื่อเปิดให้บริการ “ดิจิทัลแบงก์กิ้ง (Digital Banking)
จะส่งผลดีต่อตลาดและประชาชน ไม่ว่าจะเป็นด้านการแข่งขัน ทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมการเงิน-การบริการใหม่ และข้อเสนอที่น่าดึงดูดใจ ขณะเดียวกันลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น
ใบอนุญาตดำเนินการ “ดิจิทัลแบงก์กิ้ง” ในสิงคโปร์ที่ออกโดย Monetary Authority of Singapore (MAS) แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1. ใบอนุญาตดำเนินการดิจิทัลแบงก์เต็มรูปแบบ (Digital Full Bank License: DFB) สามารถให้บริการลูกค้าทุกเซ็กเมนต์ ทั้ง Retail Bank และ Corporate Bankโดยมีทุนที่ต้องชำระ 1.5 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 1.12 พันล้านเหรียญสหรัฐ
2. ใบอนุญาตดำเนินการดิจิทัลแบงก์ สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจ (Digital Wholesale Bank License: DWB) ให้บริการได้เฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจ SME โดยมีทุนที่ต้องชำระ 100 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือกว่า 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หนึ่งใน FinTech Company ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจดิจิทัลแบงก์ สำหรับให้บริการลูกค้าธุรกิจขนาดกลาง – ขนาดย่อมจาก Monetary Authority of Singapore (MAS) หรือธนาคารกลางสิงคโปร์ คือ “Ant Group” ได้รับการอนุมัติเมื่อเดือนธันวาคม 2020 นำมาสู่การจัดตั้ง “ANEXT Bank”
“Ant Group” ใช้สิงคโปร์เป็นฐานธุรกิจการเงินดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ตลาดการเงินสิงคโปร์ ถือเป็นประเทศยุทธศาสตร์สำหรับ “Ant Group” ในการใช้เป็นฐานธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซหลักของกลุ่ม Alibaba ที่ดำเนินการภายใต้ชื่อ “LAZADA” และเพื่อชดเชยกับการเติบโตลดลงของตลาดจีน หลังจากต้องเผชิญกับนโยบายรัฐบาลจีนคุมเข้มเหล่า Tech Company
“เราเชื่อว่าถึงเวลาแล้วในการนำเสนอบริการทางการเงินรุ่นต่อไป ที่เข้าถึงได้ง่าย และสร้างความสะดวกสำหรับผู้ประกอบการในการสร้างการเติบโตทางธุรกิจ เพราะท่ามกลางเศรษฐกิจดิจิทัลที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้โมเดลธุรกิจกำลังเปลี่ยนแปลง และกลายเป็น Digital-first ดังนั้นบริการทางการเงินต้องตอบโจทย์ผู้ประกอบการ SME ในการดำเนินธุรกิจรูปแบบดิจิทัล” Toh Su Mei ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, ANEXT Bank และเป็นอดีตผู้บริหารของ DBS หนึ่งในธนาคารใหญ่ในสิงคโปร์มากว่า 20 ปี กล่าวถึงการเปิดตัวดิจิทัลแบงก์กิ้ง
อย่างไรก็ตามในธุรกิจการเงินในสิงคโปร์ ต้องเจอกับ 3 ธนาคารใหญ่ที่ครองตลาดมายาวนาน ไม่ว่าจะเป็น DBS Group Holdings (DBS), Oversea-Chinese Banking Corp. (OCBC) และ United Overseas Bank (UOB) แต่การเกิด “ดิจิทัลแบงก์กิ้ง” ที่มาจากผู้ให้บริการไม่ใช่สถาบันการเงิน ส่งผลดีต่อตลาดและผู้บริโภคตรงที่ การแข่งขัน ทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมการเงิน-การบริการใหม่ และข้อเสนอที่น่าดึงดูดใจ ขณะเดียวกันลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น
“ANEXT Bank” มองว่าจุดแข็งที่จะสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในตลาดดิจิทัลแบงก์กิ้ง คือ เทคโนโลยี และองค์ความรู้ของ “Ant Group” ควบคู่กับทีมงาน มีทั้งที่อาศัยอยู่ในสิงคโปร์ และจีน รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมต่างๆ และภาครัฐในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้กับ SME ที่ง่ายกว่า ปลอดภัยกว่า และคุ้มค่ากว่า โดยเริ่มให้บริการแล้วเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2022 และเตรียมเปิดบริการ ANEXT Business สำหรับธุรกิจ SME ช่วงไตรมาส 3/2022
“นี่เป็นก้าวสำคัญของเส้นทางการพัฒนาดิจิทัลแบงก์ในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นความพยายามเชิงกลยุทธ์ เพื่อให้แน่ใจได้ว่าภาคการธนาคารในสิงคโปร์ยังคงก้าวหน้า มีความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก มีการพัฒนานวัตกรรมและขีดความสามารถใหม่อย่างต่อเนื่อง
ธนาคารกลางสิงคโปร์คาดหวังว่า “ดิจิทัลแบงกกิ้ง” จะเติบโตไปด้วยดี พร้อมทั้งผนึกกำลังกับสถาบันการเงิน และยกระดับการส่งมอบบริการทางการเงินที่มีคุณภาพ และภาคการเงินสิงคโปร์ในการสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ SME ทั้งในประเทศ ในภูมิภาคนี้ และในตลาดเกิดใหม่” Sopnendu Mohanty ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้าน FinTech ของธนาคารกลางสิงคโปร์ สรุปทิ้งท้ายถึงความคาดหวังในดิจิทัลแบงก์
Source: Businesswire
Source: Bloomberg
Source: ASEAN Briefing