เพราะการซื้อขายบนอีคอมเมิร์ซนั้น ลูกค้าไม่ได้ตามหาแค่สินค้าที่ราคาดีที่สุด แต่ยังมองไปถึงรีวิวที่ลูกค้าคนอื่น ๆ ต่างแชร์ประสบการณ์ที่ได้รับจากแต่ละร้านเอาไว้ด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่หลาย ๆ ร้านจะพยายามเอาใจใส่ลูกค้าเป็นอย่างดีทุกเรื่อง เพื่อเอาชนะคู่แข่ง และแลกกับคะแนนหรือถ้อยคำที่ดีจากการรีวิว
หากร้านค้าได้รับรีวิวที่ดีจากประสบการณ์จริงของลูกค้าก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่สำหรับกรณีที่มีบางร้านติดสินบนลูกค้าเพื่อแลกกับการเขียนรีวิวอย่างดีนั้น Amazon บอกว่า…จะไม่ยอมยกโทษให้เด็ดขาด และถึงขั้นประกาศแบนร้านค้าอย่างเด็ดขาด แม้ว่าร้านค้านั้นจะทำยอดขายได้มากมายเพียงใดก็ตาม
ประเด็นนี้ เกิดขึ้นกับ 3 แบรนด์ ซึ่งขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ภายในบ้าน ในเครือของ Sunvalley ซึ่งเกิดปัญหาจากการที่ผู้ขายได้เสนอมอบบัตรกำนัลแก่ลูกค้า แลกกับการเขียนรีวิวเชิงบวกให้แก่สินค้าและร้าน แม้ว่าวิธีดังกล่าวถือเป็นเรื่องปกติที่พบได้บนอีคอมเมิร์ซในประเทศจีน แต่สำหรับ Amazon แล้ว นี่ถือเป็นกฎเหล็กที่ห้ามกระทำอย่างเด็ดขาด เนื่องจาก Amazon มีนโยบาย Zero-tolerance หรือ ไร้การคอร์รัปชั่น นั่นเอง
สำหรับบริษัท Sunvalley มีแบรนด์ย่อย ๆ ทั้งสิ้น 6 แบรนด์ ที่ดำเนินการค้าขายออนไลน์อยู่บน Amazon โดยในปีที่ผ่านมา สามารถทำยอดขายได้ถึง 697 ล้านเหรียญสหรัฐ จากแพลตฟอร์มดังกล่าว และว่ากันว่ารายได้จาก 3 แบรนด์ที่ถูกประกาศแบนในครั้งนี้ คิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 3 จากยอดขายของบริษัท Sunvalley ทีเดียว อีกทั้ง Amazon ยังเป็นช่องทางหลักในการขายออนไลน์ของบริษัทดังกล่าวอีกด้วย สอดคล้องกับรายงานของ Marketplace Pulse ที่ระบุว่า เมื่อเดือนมกราคม พบสัดส่วนผู้ขายหน้าใหม่บน Amazon จากประเทศจีน มากถึง 75% ทีเดียว
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Amazon ดำเนินการในลักษณะนี้ แต่เคยมีแบรนด์ดังหลายแบรนด์ที่ถูกแบนจากเหตุผลคล้าย ๆ กันมาแล้ว
แม้ว่ากรณีถูกแบนจากเหตุติดสินบนลูกค้าแลกกับรีวิวชั้นเลิศ จะยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ก็ไม่ได้แปลว่าแพลตฟอร์มไม่ได้ตรวจตราหรือจะไม่เกิดขึ้นในอนาคต และที่สำคัญที่สุด คือ ผู้บริโภคในปัจจุบันมีความเชี่ยวชาญในการค้นคว้าและตรวจสอบข้อมูลอย่างมาก ดังนั้น หากใครทำอยู่…อย่าคิดว่าลูกค้าจะรู้ไม่ทัน
ที่มา: SCMP