สาวให้ลึกถึง “เกมธุรกิจ” บนภาษีเหล้า สุรา เบียร์ ใครได้ ใครเสียประโยชน์ ร่วมค้นหาคำตอบได้ที่นี่
การปรับภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือ หนึ่งนโยบาย ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง เพื่อชดเชยภาวะการขาดดุลงบประมาณ ภายหลังจากภาครัฐ ได้ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่าย และมาตรการทางภาษีเพื่อช่วยประคับประคองไม่ให้ตกสู่ภาวะถดถอยที่รุนแรง
โดยภาครัฐได้ประกาศปรับ 1. ภาษีเบียร์ จาก 55 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ เป็น 60 บาท หรือปรับขึ้นกว่า 5.5% ทำให้ราคาขายต่อขวดเพิ่มขึ้นอีก 4 – 5 บาท 2. สุราขาวปรับขึ้นจาก 110 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ เป็น 120 บาท หรือปรับขึ้น 9.1% ทำให้ราคาขายต่อขวดเพิ่มขึ้นประมาณ 1.7 – 3.5 บาทต่อขวด 3. สุราผสมปรับเพิ่มขึ้นจาก 280 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ เป็น 300 บาท หรือเพิ่มขึ้ร 7.1% ส่งผลให้ราคาขายต่อขวดเพิ่มขึ้น 4 – 5 บาท และ 4.บรั่นดีปรับเพิ่มจาก 45% เป็น 48% หรือเพิ่ม 6.7% ทำให้ราคาขายต่อขวดเพิ่มขึ้น 19 บาท
แต่สำหรับบรรดาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้แล้ว การปรับภาษี อาจหมายถึง การซ้ำเติมอย่างหนักในช่วงที่อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อยู่ในช่วง “ขาลง” อย่างรุนแรง
ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัวมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยปริมาณการจำหน่ายในปี 2551 มีทั้งหมด 2,801.9 ล้านลิตร ลดลง 4% แยกเป็นปริมาณการจำหน่ายสุรา 812 ล้านลิตร ลดลง 3.4% ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายเบียร์อยู่ที่ 1,989.9 ล้านลิตร ลดลง 4.3%
ตัวเลขข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงยอดขายที่ลดลงผันแปรตามกำลังซื้อที่หดตัวลง และส่งผลให้ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปี 2552 เป็นช่วงที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่หนักหนาสาหัส ซึ่งมีผลกระทบต่อยอดจำหน่ายที่ปรับลดลงรุนแรงมากกว่าในปี 2551 ที่ผ่านมา
ตามความคิดเห็นของ “ฉัตรชัย วิรัตน์โยสินทร์” ผู้อำนวยการตลาด สิงห์คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า แม้ยังไม่ได้คาดการณ์ถึงผลกระทบในแง่ยอดขายที่อาจเกิดขึ้น แต่การปรับขึ้นภาษีเบียร์เต็มเพดานจาก 55 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ เป็น 60 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ทำให้มีผลต่อต้นทุนปรับเพิ่มขึ้น 3 – 5 บาทต่อขวด
“ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังซื้อของประชาชนถดถอย การขึ้นแค่ขวดละ 3 – 5 บาท ก็อาจมีผลได้”
อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นภาษีข้างต้น ฉัตรชัย มองว่า ถือว่าดีกว่าที่รัฐบาลจะจัดเก็บภาษีหน้าโรงงานเพิ่มขึ้น ซึ่งจะกลายเป็น “ผลลบ” กับเบียร์สิงห์ต้องเพลี่ยงพล้ำด้านการตลาดให้กับอีกค่ายทันที
เขา แจงว่า ด้วยโครงสร้างภาษีสรรพสามิตในการคิดฐานภาษีสำหรับสินค้าประเภทสุรา มี 2 ประเภทด้วยกัน คือ วิธีคิดฐานภาษีตามสภาพ : ลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ กับ วิธีคิดฐานภาษีตามมูลค่า : ราคาหน้าโรงงาน ราคานำเข้า
โดยส่วนใหญ่ ที่ผ่านมา การปรับขึ้นภาษี มักทำในส่วนของภาษีตามมูลค่า หรือที่เรียกว่า “ภาษีหน้าโรงงาน” ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยมาตลอด และได้มีการเรียกร้องให้เก็บภาษีตามสภาพ หรือตามความแรงของแอลกอฮอล์ ซึ่งจะช่วยให้การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการเป็นไปอย่างยุติธรรมมากขึ้น
“หากรัฐนำแนวคิดการเรียกเก็บภาษีต้นทุนหน้าโรงงานเพิ่มมาใช้ จะส่งผลให้ราคาเบียร์ในตลาดปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยเบียร์ในเซกเมนต์สแตนดาร์ด อย่างเช่น สิงห์ อาจต้องปรับราคาเพิ่มอีก 8 – 12 บาท เบียร์อีโคโนมี หรือประหยัด เพิ่มอีก 8 บาท ขณะที่เบียร์ในเซกเมนต์พรีเมี่ยมอาจต้องปรับราคามากกว่า 10 บาท”
ก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปี 2552 โดยถือว่าเป็นช่วงที่หนักหนาสาหัสของผู้ประกอบการ เมื่อเทียบกับวิกฤตทางด้านยอดขายครั้งก่อนๆที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 หรือช่วงที่ภาครัฐปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตในหลายๆครั้งที่ผ่านมา ซึ่งยอดจำหน่ายจะซบเซาเพียงช่วงสั้นๆ และสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
โดยระบุว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรม ประกอบด้วย กำลังซื้อที่ถดถอยตามภาวะเศรษฐกิจของประชาชน มาตรการของภาครัฐที่ส่งผลต่อยอดจำหน่าย เช่น การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตเพื่อเพิ่มรายได้ชดเชยภาวะการขาดดุลงบประมาณ และมาตรการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลซึ่งถูกเสนอจากองค์กรภาคเอกชน
ถึงแม้ว่า ทางรัฐบาลมองว่า การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตสุราครั้งนี้จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล 6,300 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงที่ประชาชนมีกำลังซื้อจำกัด อาจจะไม่สามารถเพิ่มรายได้ทางภาษีได้อย่างเต็มที่นัก เนื่องจากต้นทุนของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้นจะถูกผลักภาระไปสู่ผู้บริโภค
ในขณะเดียวกันก็จะเกิดการ “ลักลอบผลิต” และนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อยอดจำหน่ายและยอดการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในท้ายที่สุด
แม้ว่าการปรับขึ้นภาษีตาม “ดีกรี” ความแรงของแอลกอฮอล์ กระทบหนักต่อตลาดเบียร์ ซึ่งทำให้เบียร์สิงห์โล่งใจไปเปลาะหนึ่ง แต่ในมุมค่ายสิงห์อดคิดไม่ได้ว่า “เอื้อ” ประโยชน์กับธุรกิจเหล้าขาว
“เพราะอาจมีนักดื่มส่วนหนึ่งปรับจากเบียร์ไปหาเหล้าขาวแทน”
ฉัตรชัยให้ความเห็นว่า การที่รัฐปรับขึ้นภาษีเบียร์เต็มเพดาน ส่งผลบวกต่อเหล้าขาว เพราะอัตราการจัดเก็บตามปริมาณที่เพิ่มขึ้น 120 ลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์จากเดิม 110 ลิตร แห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ของเหล้าขาว ยังไม่เต็มเพดานภาษีที่ตั้งไว้ 400 ต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ทั้งที่เหล้าขาวเป็นตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ใหญ่สุดเมื่อเทียบกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทอื่น โดยมีมูลค่ามากนับแสนล้านบาท
แน่นอนว่า เหล้าขาวที่ฉัตรชัยหมายถึง ย่อมเกี่ยวโยงไปถึงผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดอย่าง ไทยเบฟเวอเรจ รวมถึง กลุ่มของตระกูลไชยวรรณอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในปัจจุบันเหล้าขาวยังคงเป็นกลุ่มสินค้าที่สร้างรายได้ให้กับไทยเบฟฯมากที่สุดในปีที่ผ่านมาด้วยปริมาณ 315 ล้านลิตรต่อปี ขณะที่สุราสีจัดจำหน่ายได้เพียง 122 ล้านลิตรต่อปี
ขณะที่สุราต่างประเทศ ไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับภาษีมากนัก เพราะก่อนหน้านี้กำหนดเก็บภาษีสรรพสามิตตามสภาพ 400 บาทต่อลิตร จึงยังจำหน่ายตามราคาปกติ
การปรับภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในครั้งนี้ ผลกระทบหนักจึงตกกับค่ายที่มีพอร์ตรายได้หลักจากเบียร์เป็นสำคัญ นั่นคือ ค่ายสิงห์นั่นเอง ขณะที่ค่ายไทยเบฟ พอร์ตใหญ่อยู่ที่ “สุรา” ระดับผลกระทบจึงอาจไม่มากเท่า
Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์