ขึ้นชื่อว่าโลกไซเบอร์ มีทั้งด้านที่ให้ความรู้ความสนุกสนานและยังมีด้านมืดมนที่เรียกว่าใครเผลออาจต้องสูญเสียตั้งแต่เงินทอง ชื่อเสียง รวมไปถึงตัวตนที่มีอยู่ นั่นเพราะเป็นโลกที่เปิดกว้างสำหรับทุกคนที่สามารถเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ไม่เว้นแม้แต่เด็กๆ ที่ยังไร้เดียงสา ซึ่งอาจตกเป็น “เหยื่อ” โดยที่ไม่รู้ตัว เพราะนอกจากความรู้ที่สามารถหาได้จากโลกไซเบอร์แล้ว พฤติกรรมไม่ดีก็อาจจะติดไปกับเด็กๆ ได้เช่นกัน
นี่คือสิ่งที่หลายคนเป็นห่วงและกังวล แต่จะห้ามไม่ให้เด็กใช้เลยก็เป็นไปไม่ได้สำหรับโลกในยุคนี้ การสร้างภูมิคุ้มกันด้าน DQ-Digital Intelligence Quotient จึงกลายเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับเด็กในยุคนี้ AIS จึงได้ร่วมกับพันธมิตรอย่าง “จอยลดา (Joylada)” ในการเสริมสร้างความรู้ด้านดิจิทัล (Digital Literacy) แก่เด็กๆ เพื่อให้รู้เท่าทันเทคโนโลยี
AIS อุ่นใจไซเบอร์ภารกิจผู้นำด้านความปลอดภัย
คุณสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS อธิบายว่า นอกเหนือจากการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลสู่การเป็นผู้นำแล้ว AIS ยังต้องการสร้างความปลอดภัยในการใช้งานดิจิทัลให้แก่คนไทย ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการสร้างภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์ การป้องกันความเสี่ยงจากการใช้งานอินเทอร์เน็ต และเสริมทักษะความฉลาดทางดิจิทัล (Digital Literacy)
นั่นจึงทำให้เกิดโครงการ “AIS อุ่นใจไซเบอร์” โดยมีแนวทางการทำงานหลัก 2 แนวทาง ทั้ง การป้องกันภัยไซเบอร์ด้วยการพัฒนาเครื่องมือด้านเทคโนโลยี จากบริการดิจิทัล อย่างเช่น AIS Secure Net, Google Family Link และบริการสายด่วน 1185 ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน AIS Spam Report Center
ต่อมาคือการสร้างองค์ความรู้ ปลูกจิตสำนึก ส่งเสริมทักษะการรับมือทางดิจิทัล เพื่อให้เยาวชนได้รับรู้ถึงอันตรายและผลกระทบของอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีแบบใช้ผิดวิธี โดยได้ร่วมกับพาร์ทเนอร์พัฒนาหลักสูตรส่งเสริมการเรียนรู้หน้าที่พลเมืองดิจิทัล กระทรวงศึกษาธิการได้รับรองหลักสูตร เป็นหลักสูตรด้านดิจิทัลครั้งแรกของประเทศที่สามารถวัดระดับทักษะด้านนี้ได้เป็นอย่างดี
“AIS อุ่นใจ Cyber” เป็นโครงการที่ AIS ตั้งขึ้นมาในยุคที่ประเทศไทยพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารอย่างรวดเร็ว และเพราะความรวดเร็วนี้เอง ทำให้โอกาสที่เยาวชนจะถูกล่อลวงหรือถูกกลั่นแกล้งได้ง่ายดาย ดังนั้นหลักสูตร จึงเน้นไปที่ 4P4ป ทั้งในเรื่องของ Practice, Personality, Protection และ Paticipation
ล่าสุดได้ร่วมมือกับ จอยลดา (Joylada) แหล่งรวมนิยายดิจิทัลที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ ที่เกิดจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนและเห็นตรงกันว่า การปลูกจิตสำนึกในเรื่องทักษะการรับมือกับภัยไซเบอร์คือเรื่องเร่งด่วนที่ต้องร่วมมือกันในทุกภาคส่วน
โดย จอยลดา ได้ดึงนักเขียนมือทองที่มาร่วมเขียนนิยายแชทในรูปแบบ Edutainment ภายใต้แคมเปญ “Let’s Level Up” ซึ่งแบ่งออกเป็น 7 เรื่อง 7 ความรู้ที่สะท้อนปัญหาบนโลกไซเบอร์และการกลั่นแกล้งที่เกิดขึ้นได้บนโลกไซเบอร์ ประกอบไปด้วย อย่าลาสแกรนมา, เพื่อเธอ เพื่อฝัน เพื่อฉันคนใหม่, รู้ไว้ใช่ว่า…ฉบับป้ามหาภัย, หนึ่งคลิก…พลิกอนาคต, คุณพ่อผู้พิทักษ์, ความฝันของอันดา และ ขอเป็นนายแค่ 5 นาที ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถเข้าถึงกลุ่ม Gen Z และ Gen Y ที่หลงใหลการเล่าเรื่อง เพราะจอยลดาถือเป็นแหล่งรวมนิยายแชทที่เดียวในประเทศไทย ที่เกิดจากความชอบแคปหน้าจอแชทมาเล่าเรื่อง สอดรับพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่เสพสื่อสั้นลงย่อยง่าย โดยผลสำรวจในปัจจุบัน มีการใช้เวลาอ่านอยู่ที่ 90 นาทีต่อวัน
ด้าน คุณศาสตรา วิริยะเจริญธรรม กรรมการผู้จัดการ จอยลดา ชี้ว่า จอยลดาเป็นส่วนหนึ่งในไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ เป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานรวมมากกว่า 10 ล้านดาวน์โหลด ความร่วมมือกับ AIS ในครั้งนี้ได้ดึงกลุ่มนักเขียนและ Content Creator มาร่วมกันครีเอทเรื่องราวจากเนื้อหาหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ทำให้ผู้อ่านได้รับทั้งความสนุกจากเนื้อหาของนิยาย และประโยชน์ที่ได้รับถึงแนวทางการรับมือเมื่อเจอกับภัยไซเบอร์ ทำให้ปัญหาสังคมโดยเฉพาะภัยไซเบอร์ลดลง
สำหรับทั้ง 7 เรื่องจะแบ่งการสะท้อนแต่ละปัญหาออกมาผ่าน 7 ทักษะองค์ความรู้ ทั้ง Cyber Balance ทักษะการจัดสรรหน้าจอ, Cyber Security การจัดการความปลอดภัยทางไซเบอร์ส่วนบุคคล, Cyber Ability ทักษะการรู้เท่าทันสื่อ, Cyber Safety การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์, Cyber Identification อัตลักษณ์พลเมืองไซเบอร์ หรือ Cyber Empathy มารยาททางไซเบอร์, Cyber Rights การจัดการความเป็นส่วนตัว และ Cyber Communication ร่องรอยบนโลกออนไลน์
ก้าวต่อไปของ AIS อุ่นใจไซเบอร์
ความรู้ไม่มีวันสิ้นสุด ความรู้ที่เกี่ยวกับโลกไซเบอร์ก็เช่นกัน นั่นจึงทำให้ AIS ไม่หยุดที่จะตั้งคำถามเพื่อหาวิธีการใหม่ๆ ในการทำให้คนไทยมีทักษะด้านดิจิทัลที่สามารถเข้าใจ รู้เท่าทันภัยไซเบอร์ โดยยังคงมุ่งเน้นการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์เพื่อขยายผลองค์ความรู้และเครื่องมือที่มีไปยังคนไทยทุกกลุ่ม
สำหรับในเรื่องของหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ แม้ว่าในปัจจุบันจะสามารถเข้าถึงเพียงโรงเรียนในสังกัดของ สพฐ. แต่เป้าหมายต่อไปที่ คุณสายชลมองไว้ คือการขยายหลักสูตรไปสู่สถาบันการศึกษาในสังกัด กทม. นอกจากนี้กลุ่มสถาบันอาชีวะก็เป็นอีกกลุ่มที่เข้าถึงโลกดิจิทัลและมีความเสี่ยงไม่ต่างไปจากเยาวชนกลุ่มอื่น และเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่ AIS เล็งไว้ ซึ่งหากทำได้สำเร็จทั้ง 2 กลุ่มที่กล่าวไปแล้ว เป้าหมายต่อไปคือการนำหลักสูตรเข้าสู่สถาบันการศึกษานานาชาติในรูปแบบ 2 ภาษา (Bilingual)
AIS ยังคงเดินหน้าขยับเป้าหมายด้านการส่งเสริมทักษะดิจิทัล (Digital Literacy) ให้มีมาตรฐานใหม่ และมีดัชนีชี้วัดที่บ่งบอกถึงระดับทักษะการรับมือภัยไซเบอร์ที่สามารถจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งกระบวนการทำงานในลักษณะนี้จำเป็นต้องร่วมมือกับพันธมิตรที่หลากหลาย ซึ่งจะทำให้ภารกิจการส่งเสริมทักษะดิจิทัลเกิดการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน