ถึงแม้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมประเทศไทย ต้องใช้เวลาเปลี่ยนผ่านจากยุค “2G” เข้าสู่ยุค “3G” เป็นเวลายาวนานกว่า 18 ปี แต่ทันทีที่โทรคมนาคมไทยขยับสู่ 3G พัฒนาการสื่อสารของไทยก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทั้งการเปลี่ยนสู่ยุค “4G” ขณะเดียวกันผู้ให้บริการโทรคมนาคมภาคเอกชนในไทย ลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีความเร็ว – ความแรง – ความเสถียร พร้อมทั้งการออกแบบค่าบริการที่ทำให้ประชาชนคนไทยทุกคนเข้าถึงได้
ทำให้ทุกวันนี้ “ดิจิทัล” ไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนไทย และไม่ได้จำกัดการใช้งานเฉพาะคนบางกลุ่มเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่อยู่ในวิถีชีวิตคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงวัย
นี่จึงทำให้คุณภาพของระบบโทรคมนาคมประเทศไทย และการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลของคนไทย ทัดเทียมกับหลายประเทศที่เทคโนโลยีพัฒนาไปไกล
แต่พัฒนาการที่น่าจับตามองถัดจากนี้ คือ การเปลี่ยนเข้าสู่ยุค “5G” ว่ากันว่าจะปฏิวัติหลายสิ่งหลายอย่างบนโลกใบนี้อย่างมหาศาล เช่น
ยานยนต์ไร้คนขับ, เทคโนโลยี IoT ที่เชื่อมต่อผ่านอุปกรณ์ต่างๆ จะเกิดการใช้งานแพร่หลายยิ่งขึ้น, บ้านจะเปลี่ยนเป็น Smart Home, ภาคการเกษตร และเกษตรกร ยกระดับเป็น Smart Farm – Smart Farmer, จะมีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในส่วนงานต่างๆ
ดังที่ คุณกานต์ ตระกูลฮุน ประธานกรรมการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวในงาน AIS Vision 2019 ไว้อย่างน่าสนใจว่า…
ขณะนี้โลกกำลังเข้าสู่ยุค The Fourth Industry Revolution หรือการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 โดยมีตัวขับเคลื่อนหลักคือ “เทคโนโลยีดิจิทัล” ซึ่งวันนี้เราอยู่ในยุค 4G และอีกไม่นาน ประมาณเดือนมิถุนายนของปีนี้ “5G” จะเริ่มใช้ใน 2 ประเทศแรกของโลก คือ จีน และเกาหลีใต้ ซึ่งเทคโนโลยี 5G จะนำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งยิ่งใหญ่ของโลก และประเทศไทยอีกไม่นานเกินรอจะไปถึงจุดนั้น
สิ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลง คือ บริบทการใช้ชีวิตของมนุษยชาติจะเปลี่ยนแปลงไปมากมาย ทั้งวิถีการทำงานเปลี่ยนแปลงไป อยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ การเชื่อมต่อกับบุคคลอื่นๆ เพื่อนมนุษย์ทั้งโลกทำได้อย่างง่ายดาย ไปจนถึง Disruption ระบบเศรษฐกิจ และสังคมอย่างมาก ซึ่งการเชื่อมโยงต่างๆ ทำให้เกิดทั้ง “วิกฤตและโอกาส”
เพราะองค์กรที่แข็งแรงที่สุดในวันนี้ อีกไม่กี่ปี อาจล่มสลายไปอย่างไม่ทันตั้งตัวก็ได้ ขณะเดียวกันเกิดโอกาสธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งลงไปถึงระดับบุคคลทั่วไป (individual) สร้างธุรกิจขึ้นมาได้ สตาร์ทอัพเกิดขึ้นมากมาย จะเกิดแพลตฟอร์มใหม่ที่จะทำให้โลกใบนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง
“สำหรับประเทศไทย “Nation Competitiveness” เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะบ่งชี้ว่าเราจะอยู่ได้ไหมในเวทีโลก ซึ่งการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศมาจากเราทุกคน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ร่วมกันลงทุน และพัฒนา Innovation และ Digitization เพื่อร่วมกันสร้างประเทศไทยให้เป็น Digital Intelligent Nation ให้ได้ และ AIS ขอเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมผลักดันไปถึงเป้าหมายนั้น”
แต่ก่อนจะถึงวันนั้น…มาดูวิสัยทัศน์ “AIS” ในฐานะที่เป็น Market Leader ด้านเครือขาย และบริการดิจิทัลในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทย เตรียมความพร้อมรองรับอนาคต 5G ที่กำลังจะเกิดขึ้นไว้อย่างไร ?!?
5G ประเทศไทย ต้องมาในเวลาเหมาะสม ไม่เร็วไป หรือช้าไป!!
ถึงวันนี้เป็นเวลา 28 ปีแล้วที่ “AIS” เป็นส่วนหนึ่งของการวางรากฐานความแข็งแกร่งของโทรคมนาคมประเทศไทย นับตั้งแต่เปิดให้บริการครั้งแรกในปี 2533 ที่ AIS ได้เซ็นสัญญาร่วมการงานกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินโครงการบริการระบบเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 900 MHz ในระบบ Analog NMT 900 นับเป็นจุดเริ่มต้นของยุคเทคโนโลยี “1G”
กระทั่งปี 2537 อุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยขยับสู่ยุคเทคโนโลยี “2G” โดย AIS เปิดให้บริการระบบดิจิทัล “GSM” และ “GSM 2 Watts” ในเวลาเดียวกันทางฝั่งพัฒนาการเครื่องโทรศัพท์มือถือสามารถส่ง Short Message ทำให้การใช้งาน สามารถสื่อสารได้ทั้งเสียง และข้อความ
แต่แล้วในยุคที่การสื่อสารทั่วโลกเคลื่อนที่เข้าสู่ยุค “3G” อุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศไทย เจอการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน ทั้งการเปลี่ยนจากระบบสัมปทาน มาเป็นระบบประมูลคลื่นความถี่ การจัดตั้ง กสทช. รวมไปถึงเรื่องกฎหมาย ทำให้คนไทยต้องรอคอยถึง 18 ปีกว่าที่โทรคมนาคมของไทยจะเป็นยุค “3G”
ทันทีที่เป็นยุค “3G” พัฒนาการของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในไทย ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว เพราะหลังจากนั้นอีก 3 ปีถัดมา ในปี 2558 ประเทศไทยมีเทคโนโลยี “4G” ใช้กัน เริ่มขยายจากในเมือง สู่ต่างจังหวัด ครอบคลุมทั่วประเทศ
กระทั่งวันนี้ “ระบบโทรคมนาคมของไทย” ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีความเร็ว ความแรง ความเสถียร มีประสิทธิภาพดีไม่แพ้ชาติใดในโลก
ขณะที่ทิศทางต่อไปของโทรคมนาคมทั่วโลก กำลังมุ่งไปยังเทคโนโลยี “5G” ซึ่งวันนี้ประเทศที่เทคโนโลยีพัฒนาไปไกล เช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนประกาศปักหมุดลงทุน และพัฒนาเทคโนโลยี “5G”
“แม้วันนี้ยังไม่มี Business Case ของการนำเทคโนโลยี 5G นำไปใช้อย่างชัดเจน แต่เหตุผลที่บางประเทศ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ประกาศนโยบาย 5G เพราะไม่ใช่แค่เป็นเทคโนโลยีผลักดันโลกดิจิทัลเท่านั้น แต่ 5G สามารถสร้างประโยชน์ในเชิงความเร็วสูงมาก และประโยชน์ใหม่ๆ อีกมากมาย
สำหรับประเทศไทย เคยเสียเวลา – เสียโอกาส กับการมี 3G ช้ามาแล้วครั้งหนึ่ง ผมจึงไม่อยากให้เมืองไทยติดกับดัก และเสียโอกาสอย่างในอดีตอีก แต่ขณะเดียวกันไม่อยากให้เราหลงทางกับการมี 5G ที่มาเร็วเกินไป แน่นอนว่าประเทศไทยต้องไป 5G แต่ต้องไปในเวลาที่เหมาะสม เพื่อเมืองไทยจะได้ใช้ 5G อย่างคุ้มค่า และมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ดังนั้น ในวันนี้ “AIS” อยู่ระหว่างการศึกษา ทดลอง ทดสอบ เพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อถึงวันที่พร้อม เราจะขยับไปทันที” คุณสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฉายภาพศักยภาพของเทคโนโลยี 5G
ขอเป็น “Digital Platform” ของคนไทยทุกคน
สถิติการใช้งานดิจิทัลของคนไทย สูงติดอันดับต้นๆ ของโลก สะท้อนได้จากพฤติกรรมการใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัล ดังนี้
- ปัจจุบันคนไทยใช้เวลาอยู่บน Online Streaming โดยเฉลี่ย 4 ชั่วโมงต่อวัน
- คนไทยใช้เวลาอยู่บน Social Network เพิ่มขึ้นจาก 3 ชั่วโมงต่อวัน (ปี 2558) เป็น 6 ชั่วโมงต่อวัน (ปี 2561)
- อัตราการใช้งาน Data ของคนไทย เมื่อสิ้นปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 11.8GB ต่อเดือน จากสิ้นปี 2560 ใช้งาน Data 7GB ต่อเดือน
- เม็ดเงินอุตสาหกรรมโฆษณาในปี 2561 ไหลไปอยู่บนสื่อดิจิทัล 18,000 ล้านบาท แซงหน้าสื่อดั้งเดิมหลายประเภทขึ้นมาเป็นสื่อใหญ่อันดับ 2 รองจากสื่อทีวี
- คนไทยมากกว่า 10 ล้านคน ทำธุรกรรมการเงินผ่าน Online Banking
- คนไทยช้อปปิ้งผ่านออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซในไทย มีมูลค่ามากกว่า 300,000 ล้านบาท
จากสถิติ และพฤติกรรมการใช้งานดิจิทัลของคนไทย ทำให้ AIS ขยายบทบาทจากการเป็น “Digital Platform” ของประเทศไทย ลงลึกสู่การเป็น “Digital Platform” ของคนไทยทุกคน ทำให้ AIS มีบริการครบวงจรที่ครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน
- “Mobile Network” ที่ให้บริการ 3G/4G, Super WiFi, Next G รวมถึง 5G ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
- “Fibre Broadband” แม้เพิ่งเข้าสู่ตลาดได้เพียง 3 ปี แต่สามารถพลิกโฉมตลาด Broadband ในไทย ด้วยการเปลี่ยนเป็น Fibre Broadband ทำให้การใช้งานเร็วขึ้น และมีความเสถียรดีขึ้น หลังจากในอดีตครัวเรือนไทยเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตบ้าน ผ่านสายโทรศัพท์ หรือสายเคเบิลทีวี
- “Digital Service Enablers” การให้บริการด้านดิจิทัล เช่น Video, e-Money, Cloud, IoT Solution ฯลฯ เป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญของ AIS
การเป็น “Digital Platform” สำหรับคนไทยทุกคน นั่นหมายความว่าจะทำให้ “AIS” ได้ Big Data ที่เป็นพฤติกรรมผู้บริโภคในปริมาณมหาศาล ซึ่งทุกวันนี้ “Data” ถือเป็นสินทรัพย์อันมีค่าที่เปรียบเป็น New Oil ทว่า “AIS” ตระหนักดีว่าความปลอดภัยข้อมูลผู้ใช้งานเป็นสิ่งสำคัญ ด้วยเหตุนี้เอง จึงได้ตั้งทีม “Cyber Security” เพื่อทำให้แพลตฟอร์มสามารถใช้งานได้อย่างมั่นใจและปลอดภัย
เปิดแผนเตรียมความพร้อมเทคโนโลยี 5G
“AIS” เชื่อว่า “5G” จะช่วยยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะร่วมขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากคุณสมบัติ 3 ส่วนคือ ความเร็วเพิ่มขึ้น, ขยายขีดความสามารถการเชื่อมต่อ IoT และ เครือข่ายตอบสนองได้รวดเร็ว และเสถียรยิ่งขึ้น
เพราะฉะนั้นในระหว่างที่ประเทศไทยรอจังหวะเหมาะสมในการเกิดขึ้นของ 5G “AIS” ใช้ช่วงเวลานี้ เตรียมความพร้อมให้กับคนไทย และประเทศชาติ ด้วยการเดินหน้าพัฒนาเครือข่ายให้พร้อม
ไม่ว่าจะเป็น 4.5G ที่เร็วระดับกิกะบิท, Massive MIMO 32T 32R ครั้งแรกในโลก, Next G, เครือข่าย NB IoT และ EMTC โดยเฉพาะคุณภาพการตอบสนองของเครือข่าย หรือ Latency เป็นรายแรกที่เริ่มปรับโครงสร้างเครือข่ายหลักที่กระจายอยู่ในแต่ละภูมิภาค (AIS Core Network Architecture Ready for 5G) ให้สามารถสื่อสารตรงไปยังเซิร์ฟเวอร์บริการต่างๆ ได้ทันที โดยไม่ต้องย้อนกลับมาผ่านศูนย์กลางเครือข่ายในส่วนกลาง ส่งผลให้การตอบสนองเร็วขึ้น และตอบโจทย์ด้านความปลอดภัยของการใช้งาน เช่น ด้านการแพทย์, ยานยนต์ไร้คนขับ
นอกจากพัฒนากันภายในองค์กรแล้ว ขณะเดียวกัน “AIS” ได้สร้างความร่วมมือกับทั้งภาครัฐ และภาคการศึกษา ในการวิจัยเทคโนโลยี 5G
“ที่ผ่านมา เราได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีในการศึกษาวิจัย 5G เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับประเทศ จากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และภาคการศึกษา เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
การทำวิจัยร่วมกัน จะทำให้ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะภาครัฐ ภาคการศึกษา และ AIS เกิดความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยี 5G เพื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทันทีในวันที่เทคโนโลยีพร้อม” คุณฮุย เว็ง ชอง กรรมการผู้อำนวยการ เล่าถึงความร่วมมือ
“DQ : Digital Intelligence Quotient” สำคัญไม่น้อยไปกว่าการพัฒนาเทคโนโลยี
ที่ผ่านมาเราเคยได้ยิน “IQ : Intelligence Quotient” คือความฉลาดทางเชาว์ปัญญา และ “EQ : Emotional Quotient” ความฉลาดทางอารมณ์ แต่ในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล ได้เกิดคำว่า “DQ : Digital Intelligence Quotient” ความอัจฉริยะทางเทคโนโลยีดิจิทัล แต่ความหมายของคำว่าอัจฉริยะในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงแต่เพียงความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี หากแต่ยังรวมถึงการที่ผู้ใช้งานรู้เท่าทันเทคโนโลยี
DQ แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ 1. Digital Citizenship พลเมืองดิจิทัล เป็นผู้ใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลทั่วไป / 2. Digital Creativity คือ คนทำงานในแวดวงเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น นักพัฒนาซอฟท์แวร์ นักสร้างสรรค์คอนเทนต์ / 3. Digital Entrepreneurship องค์กรที่ใช้ดิจิทัล และเทคโนโลยีต่างๆ มาสร้างโอกาสธุรกิจ หรือแก้ปัญหาที่ผู้บริโภคกำลังประสบอยู่
ดังนั้นกลุ่ม DQ ที่ AIS จะสนับสนุนให้เกิดการรู้เท่าทันเทคโนโลยี คือ “Digital Citizenship” เพราะด้วยความที่ปัจจุบันทุกคนใช้ชีวิตอยู่กับดิจิทัล นั่นเท่ากับว่าทุกคนคือ เครือข่ายดิจิทัลขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงถึงกัน แม้ในโลกทางกายภาพ อาจไม่ได้รู้จักกันก็ตาม เพราะฉะนั้นปฏิสัมพันธ์ที่เกิดบนออนไลน์ โดยเฉพาะบน Social Media ที่กระจายไปได้เร็ว ไม่ว่าจะคอมเมนต์, ไลค์, แชร์ ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบทั้งเชิงบวก และเชิงลบได้เสมอ
“AIS” ตระหนักต่อเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการปลูกจิตสำนึก สร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อปลูกฝัง และพัฒนาทักษะทางเทคโนโลยีให้นำไปใช้งานได้อย่างมีประโยชน์ รับผิดชอบต่อสังคม และมีความปลอดภัยของตัวเอง
“นอกจากการเตรียมความพร้อมด้นองค์ความรู้แล้ว การรู้เท่าทันเทคโนโลยีก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน เพราะ Digital แม้จะมีประโยชน์มหาศาล แต่ก็อาจก่อให้เกิดโทษได้ ยิ่งทุกวันนี้สมาร์ทโฟนอยู่กับเราทุกที่ทุกเวลา ทำให้เข้าถึงโลกดิจิทัลได้ตลอดเวลา แต่เราจะสร้างสรรค์ หรือทำลายอยู่ที่นิ้วมือของเราทุกคน
ด้วยเหตุนี้เอง AIS ในฐานะที่เป็น Digital Platform ของคนไทย ต้องการสร้างสังคมดิจิทัลให้แข็งแรง ปลูกจิตสำนึก สร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อปลูกฝัง และพัฒนาทักษะทางเทคโนโลยีให้กับคนไทย เพื่อจะทำให้ประเทศไทยพร้อมต่อการใช้เทคโนโลยี Digital มาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ และยั่งยืนต่อไป” คุณสมชัย สรุปทิ้งท้ายถึงเป้าหมายสำคัญของการเป็น “Digital Platform” สำหรับคนไทย