ตาม Timeline การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz วันนี้ (15 มิถุนายน 2561) คือวันที่ กสทช.เปิดรับเอกสารแสดงความสนใจเข้าร่วมประมูลฯ จากผู้สนใจ ก่อนจะจัดประมูลในวันที่ 4 สิงหาคมนี้ แต่ความเคลื่อนไหวที่โอเปอเรเตอร์สะท้อนกลับไปยัง กสทช. คือการยืนยันไม่เข้าร่วมประมูล
ประเด็นดังกล่าวเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม โดยกลุ่มทรูเป็นรายแรกที่ออกมาประกาศว่า จะไม่เข้าร่วมประมูลคลื่นครั้งนี้ เพราะมั่นใจว่าปริมาณคลื่นที่มีอยู่นั้นมากพอที่จะรักษาความได้เปรียบในตลาด และรองรับจำนวนลูกค้าได้ คล้ายกับที่วันนี้ dtac และ AIS ได้ทยอยยืนยันว่าจะไม่เข้าร่วมการประมูลคลื่นครั้งนี้ ด้วยเหตุผลในแนวทางเดียวกัน
วันนี้ dtac จัดแถลงข่าวเพื่อชี้แจงรายละเอียดในการตัดสินใจไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz
คุณลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร dtac ชี้แจงว่า “การประมูลฯ เป็นสิทธิ์ที่โอเปอเรเตอร์แต่ละรายสามารถตัดสินใจได้ว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ ในส่วนของ dtac เรามั่นใจเรื่องการถือครองคลื่นย่านความถี่สูง (high-band spectrum) และเงื่อนไขการประมูล ทำให้เราตัดสินใจว่าไม่เหมาะสมในการเข้าประมูลครั้งนี้ แต่ไม่ใช่ว่าเราจะไม่เข้าร่วมการประมูลในอนาคตที่จะเกิดขึ้น”
เหตุผลอะไรที่ทำให้ dtac ไม่เข้าประมูลคลื่น 1800 MHz ?
มีคลื่นพอให้บริการ
ประเด็นนี้มีความชัดเจนสูงสุด แม้ว่าเดือนกันยายนนี้ dtac จะต้องเสียแบนด์วิธกว่า 35 MHz จากการที่คลื่น 850 MHz และ 1800 MHZ หมดอายุสัมปทาน แต่หลังจากมีความร่วมมือกับ TOT ในการใช้คลื่น 2300 MHz กว่า 60 MHz และคลื่น 2100 MHz ที่ถือครองอยู่อีก 15 MHz ทำให้ dtac มั่นใจว่าจะมีคลื่นความถี่เพียงพอต่อการให้บริการลูกค้า ทั้งยังเชื่อว่าจะตอบสนองความต้องการใช้งานดาต้าของผู้บริโภคชาวไทยได้เป็นอย่างดี
“เพียงสัปดาห์เดียวที่เปิดให้บริการ dtac TURBO เราเห็นลูกค้าเข้ามางานแล้ว 2 แสนราย และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีผู้ใช้งานไม่ต่ำกว่า 4 ล้านราย”
เงื่อนไขการประมูล
เรื่องนี้กลายเป็นอีกเหตุผลที่โอเปอเรเตอร์ให้ความเห็นและร้องขอ กสทช. ตรงกัน เช่นเดียวกับการแถลงข่าวของ dtac ในครั้งนี้ ที่ย้ำว่า ราคาตั้งต้นประมูลนั้นสูงเกินไป กติกา N-1 ที่ควรเปลี่ยนเนื่องจากจะทำให้ไทยตกอยู่ในภาวะขาดคลื่นความถี่เพื่อนำมาใช้งานหากผู้เข้าร่วมประมูลมีจำนวนน้อยกว่าใบอนุญาต รวมถึง การแบ่งล็อตคลื่นความถี่ซึ่ง dtac อยากให้แบ่งให้น้อยลงเพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการแข่งขันในรายเล็ก ถือเป็นกับดักต้นทุนของการได้คลื่นความถี่ทั้งสิ้น
“dtac ยังคงลงทุนด้านโครงข่ายอย่างต่อเนื่องด้วยงบประมาณไม่ต่ำกว่า 15,000-18,000 ล้านบาท รวมถึงการเร่งขยายสถานีฐาน โดยมีการขยายเพิ่มสถานีฐาน 3G 4G บนโครงข่าย 2100 MHz จำนวน 4,000 แห่งต่อปีในช่วง 2560-2561 ซึ่งขยายรวดเร็วกว่าเดิมถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อน และยังขยายสถานีฐานสำหรับการใช้งานบนคลื่น 2300 MHz dtac TURBO ด้วยเทคโนโลยี 4G TDD ให้ได้อีกอย่างน้อย 4,000 แห่งในปีนี้ตามข้อตกลงกับ TOT ซึ่งเป็นไปได้ว่า dtac อาจสามารถดำเนินการติดตั้งสถานีฐานได้เต็มกำลังโดยคาดว่าจะขยายได้มากถึง 7,000 แห่งในปลายปีนี้”
มั่นใจ กสทช. ให้สิทธิ์เยียวยา
ขณะเดียวกัน dtac ก็มั่นใจว่า กสทช. จะพิจารณาคุ้มครองผู้ใช้บริการชั่วคราวจากกรณีหมดสัญญาสัมปทานบนคลื่น 850 และ 1800 MHz ซึ่ง dtac และ CAT ได้ร่วมกันยื่นแผนคุ้มครองลูกค้าให้สามารถใช้บริการได้ต่อเนื่อง หรือ ซิมไม่ดับ ไปเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน โดยแผนความคุ้มครองลูกค้าในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานดังกล่าวที่ยื่นต่อ กสทช. คือ ลูกค้า dtac ที่ยังอยู่ในระบบสัมปทานเดิมจะต้องได้รับความคุ้มครองและไม่กระทบการใช้งานตามที่เคยมีกรณีสิ้นสุดสัมปทานคลื่นความถี่กับผู้ให้บริการรายอื่น และยังมีลูกค้าคงค้างในระบบเช่นเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการที่หมดสัมปทานได้รับระยะเวลา 9-26 เดือนในช่วงเยียวยา ซึ่งได้สิ้นสุดเมื่อผู้ชนะการประมูลคลื่นได้ทำตามหลักเกณฑ์และเปิดใช้งานคลื่น
“แม้ว่า dtac จะมีคลื่น high-band spectrum มากที่สุด แต่สิ่งที่โอเปอเรเตอร์ต้องการมากที่สุด คือ การจัดสรรคลื่นย่านความถี่ต่ำ (low-band spectrum) ที่มีความชัดเจน เพื่อวางแผนในการให้บริการผู้ใช้งานดาต้าได้ครอบคลุมทั้งในเมืองและทุกพื้นที่ทั่วไทย ส่วนจำนวนลูกค้าที่ยังมีอยู่ในระบบ 2G นั้น มีอยู่เพียงส่วนเดียวเราไม่ขอเปิดเผยจำนวน แต่เชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหาซิมดับอย่างแน่นอน”
ในส่วนของ AIS ก็ได้ชี้แจงไม่เข้าร่วมประมูลครั้งนี้ โดยมีรายละเอียดว่า…
“ตามที่ AIS ได้เข้ารับเอกสารชี้ชวนการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ในนามบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ จำกัด (AWN) เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมานั้น ทางบริษัทได้มีการพิจารณาหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการประมูลต่างๆในเอกสารอย่างละเอียดรอบคอบ รวมทั้งคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียของบริษัท ทั้งลูกค้า คู่ค้าและนักลงทุน จึงพิจารณาว่าจะไม่เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ตามที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้กำหนดขึ้นในวันที่ 4 สิงหาคมนี้
เนื่องจากหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลครั้งนี้ ยังไม่เหมาะสมต่อการลงทุนหรือก่อให้เกิดประโยชน์ต่อบริษัทในขณะนี้ โดยบริษัทได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่า ปัจจุบันบริษัทมีจำนวนคลื่นความถี่มากถึง 55 MHz ซึ่งมากเพียงพอสำหรับการดำเนินการที่จะส่งมอบบริการให้กับลูกค้า โดยให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถรองรับลูกค้าที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคตได้อีกด้วย ทั้งนี้บริษัทยังคงจะลงทุนในโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อรักษาความเป็นผู้นำด้านคุณภาพของโครงข่าย และให้ลูกค้าได้ใช้บริการได้อย่างมีคุณภาพอย่างต่อเนื่องต่อไป
ปัจจุบัน AIS มีทั้งคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz, 1800 MHz และคลื่น 900 MHz ที่บริษัทประมูลมาได้ รวมทั้งมีคลื่นความถี่ 2100 MHz จาก TOT ที่ได้มีการลงนามสัญญาร่วมกันกับบริษัทแล้ว ดังนั้นจากคลื่นความถี่ทั้งหมดที่เรามีอยู่จึงเพียงพอต่อการรองรับลูกค้าในการใช้บริการทั้งวอยซ์ และดาต้าที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม บริษัทจะติดตามสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการประมูลที่อาจมีขึ้นในอนาคต เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลใหม่ ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่อไป”
อ่านเพิ่มเติม :
true ถอยประมูล 1800 MHz มั่นใจมีคลื่นพอให้บริการลูกค้า ศักยภาพมากพอแข่งขัน
ดีลคลื่น 2300 แลกฝัน! เมื่อดีแทคหวัง “dtac-T” ชุบชีวิต สู้ศึกเครือข่าย