เทคโนโลยี Virtual Reality หรือ VR หลายคนคงทราบดีว่าคือ เทคโนโลยีที่ช่วยสร้างภาพเสมือนจริง ซึ่งในปัจจุบันเน้นนำระบบ VR มาใช้ในการเล่นเกมและบอกตรงๆ ว่า สนุกกว่าการเล่นเกมปกติ เพราะเหมือนคนเล่นเกมได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์จริง ไม่ใช้สลิง ไม่ใช้ตัวแสดงแทน (เกี่ยวกันมั้ย???)
แต่ในความเป็นจริงแล้ว VR สามารถทำอะไรได้มากกว่าแค่การเล่นเกม เพราะด้วยความสามารถในการสร้างภาพเสมือนจริง ทำให้หลายคนเริ่มเห็นศักยภาพของ VR ที่เป็นมากกว่าอุปกรณ์สำหรับเล่นเกม โดยเฉพาะแนวความคิดในการนำ VR มาสร้างธุรกิจหรือส่งผลให้เกิดธุรกิจ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า นี่จะเป็น 7 รูปแบบธุรกิจที่เกิดจากอุปกรณ์ VR
1. ซอฟท์แวร์สำหรับ VR
ด้วยอัตราการเติบโตของอุปกรณ์ VR อย่างรวดเร็ว ซึ่งสวนทางกับซอฟท์แวร์ที่จะนำมาใช้กับ VR โดยเฉพาะซอฟท์แวร์ด้านการศึกษา โดยแนวโน้มการเติบโตของ VR จะยังคงเติบโตต่อเนื่องไปอีกหลายปี ดังนั้นความต้องการซอฟท์แวร์เพื่อนำมาใช้กับ VR จึงยังคงมีความต้องการสูง นี่ยังไม่นับรวมซอฟท์แวร์เพื่อนำ VR ไปใช้ในทางธุรกิจ อาทิ VR สำหรับดีไซน์เนอร์, VR สำหรับบัญชี เป็นต้น
2. วิดีโอ 360 องศา
คอนเท้นต์ในรูปแบบวิดีโอ 360 องศา ถือได้ว่าเป็นคอนเท้นต์ยุคแรกเริ่มสำหรับเทคโนโลยี VR ซึ่งในช่วงเริ่มต้นต้องยอมรับว่าอุปกรณ์ VR มีราคาค่อนข้างสูงมาก จึงยังไม่เป็นที่แพร่หลายมาก นั่นทำให้คอนเท้นต์วิดีโอแบบ 360 องศายังไม่เป็นสิ่งที่สร้างรายได้ จนเมื่ออุปกรณ์ VR เริ่มแพร่หลายมากขึ้น ราคาลดลงใครๆ ก็สามารถมีไว้ในครอบครองได้ จึงมีความต้องการคอนเท้นต์วิดีโอแบบ 360 องศาเพิ่มมากขึ้น ก็อยู่ที่ว่าใครจะสามารถ Create รูปแบบวิดีโอ 360 ที่น่าสนใจและมีความแตกต่างกันออกไป
3. นักออกแบบ UI/UX
ในอนาคตเมื่อ VR ก้าวเข้ามาสู่ช่องทางการตลาด การสร้างระบบให้ผู้ใช้สามารถมีส่วนร่วมใน VR ถือเป็นเรื่องสำคัญ นั่นจึงทำให้เกิดการออกแบบสำหรับรูปแบบการติดต่อกับผู้ใช้ที่น่าสนใจ (User Interface – UI) ซึ่งช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้ (User Experience – UX) นั่นจะช่วยให้ผู้ใช้เกิดประสบการณ์ใหม่เกี่ยวกับแบรนด์ที่ใช้ VR ที่สำคัญยังจะตามมาด้วยการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการใช้ VR ในการโฆษณาแบรนด์นั้นๆ
4. VR บำบัดจิต
ไม่เพียงแต่ VR จะสามารถนำไปใช้ในการเล่นเกมและเป็นช่องทางหนึ่งในการสื่อสารกับผู้บริโภคแล้ว VR ยังสามารถกลายเป็นเครื่องมือทางการแพทย์รูปแบบหนึ่ง โดยในสหรัฐฯ มีการใช้ VR บำบัดอาการป่วยทางจิตที่เกิดจากการประสบเหตุการณ์ร้ายแรง (Post Traumatic Stress Disorder – PTSD) ซึ่งมีอยู่ 7.8% ของประชากร และบำบัดอาการวิตกกังวลถึง 18% ของประชากรสหรัฐฯ จากการทดลองพบสามารถบำบัดให้อาการทางจิตลดลงได้ ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้การซอฟ์แวร์ที่เหมาะสมและเป็นหน้าที่ของนักพัฒนาซอฟท์แวร์
5. ช่วยเหลือผู้ติดยา
เป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับ VR เมื่อมีความเชื่อว่าเทคโนโลยี VR สามารถบำบัดผู้ติดยาเสพติด ซึ่งจากบทความในปี 2014 ของทาง BBC ชี้ว่าความเสมือนจริงมากๆ ของ VR เป็นลักษณะหนึ่งของการเสพติด ผู้เล่นจะเข้าสู่โลกเสมือนจนลืมโลกความเป็นจริงแต่ไม่ทำร้ายร่ายกาย จึงเริ่มมีแนวความคิดในการบำบัดผู้ติดยาเสพติด โดยปรับเปลี่ยนให้หันมาติด VR แทนและลืมเรื่องการเสพติด โดยเน้นคอนเท้นต์ที่เป็นการถ่ายทอดสดเพื่อให้ผู้บำบัดใช้ชีวิตในโลก VR ใกล้เคียงกับโลกความเป็นจริง นั่นสิ่งที่นักออกแบบ VR จะต้องออกแบบ
6. ชำระเงินในโลกเสมือนจริง
นอกจากจะสามารถใช้ VR เป็นช่องทางในการสื่อสารกับผู้บริโภคแล้ว ยังสามารถนำ VR มาเป็นหนึ่งในช่องทางการชำระเงิน ทั้งนี้มีความพยายามในการสร้างการซื้อขายเสมือนจริง โดยระบบดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการใช้เงินในรูปแบบดิจิทัลชำระแทนเงินจริงหรือบัตรเครดิต ซึ่งเงินในรูปแบบดิจิทัลที่รู้จักกันดีคือเงินในรูปแบบ BitCoin แต่ปัญหา ณ ปัจจุบันนี้คือหลายประเทศยังไม่ยอมรับในเงินดิจิทัลรูปแบบนี้ แต่ในระยะเวลาไม่นานนี้การซื้อขายและชำระเงินผ่านโลกเสมือนจริงน่าจะเกิดขึ้นได้ เมื่อ Alibaba ดำเนินการเปิดตัวการชำระเงินผ่านระบบ VR แล้ว
7. ที่ปรึกษาทางกฎหมายของ VR
ส่วนหนึ่งที่ VR จะต้องนึกถึงคือในโลกเสมือนจริงนั้นไม่มีกฎหมายเข้ามาควบคุม แน่นอนว่ากฎหมายในโลกความเป็นจริงไม่สามารถเข้าไปดำเนินการในโลกเสมือนจริงได้ แต่ในอนาคตเชื่อว่าจะเกิดการโฆษณาในโลกเสมือนจริง ซึ่งจะการนำเสนอคอนเท้นต์หรือโลกโก้สินค้าหรือแบรนด์ในโลกเสมือนจริง และอาจนำมาซึ่งการก็อปปี้คอนเท้นต์ โลโก้หรือแบนด์นั้นๆ สู่โลกความเป็นจริง ธุรกิจด้านที่ปรึกษาทางกฎหมายสำหรับ VR จึงมีส่วนสำคัญในการป้องกันการละเมิดต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อโลกความเป็นจริง
Source : Emtrepreneur