“7 Food Tech” ปฏิวัติอุตฯอาหารจาก “Farm To Fork” – กรณีศึกษา “ไมเนอร์” ลงมือ Disrupt ตัวเอง

  • 1.8K
  •  
  •  
  •  
  •  

food-tech

ทันทีที่โลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล ไม่มีอุตสาหกรรมไหนไม่ถูก Disrupt เพียงแต่จะโดนมาก-น้อยแตกต่างกัน เช่น การเงิน เป็นอุตสาหกรรมแรกๆ ที่ถูก “FinTech” สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หรือแม้แต่ในวงการอสังหาริมทรัพย์ การเกิดขึ้นของ “Prop Tech” ที่มีจุดเริ่มต้นจากสตาร์ทอัพ พัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยีด้านอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ในที่สุดแล้ว Developer ไม่อาจมองข้ามไปได้ ถึงกับต้องตั้งแผนก หรือบริษัทลูก สำหรับพัฒนานวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัยโดยเฉพาะ พร้อมทั้งเปิดองค์กรให้เป็น “Open Ecosystem” เพื่อดึงสตาร์ทอัพ และเทคโนโลยีที่น่าสนใจเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์

เข้ามายังเรื่องจำเป็นที่อยู่ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกคนอย่าง “อาหาร” หนึ่งในปัจจัยสี่ต่อการดำรงชีพ ก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ถูก Disrupt เช่นกัน แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้เจอมากนัก เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่านับวัน “Food Tech” กำลังเข้ามามีบทบาทตลอดทั้ง Value Chain ตั้งแต่ “Feed – Farm – Food – Fork” นั่นคือ “ต้นน้ำ (อาหารสัตว์ – ปศุสัตว์ – เพาะปลูกพืช) “กลางน้ำ” (ภาคการผลิตแปรรูป) “ปลายน้ำ” (ผลิตภัณฑ์อาหาร – ธุรกิจร้านอาหาร)

อย่างในปัจจุบันฝั่ง “การเกษตร” ถือเป็นหนึ่งใน Upstream เริ่มเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค “Smart Farming” ขณะเดียวกันเกษตรกรยุคใหม่เป็น “Smart Farmer” ในขณะที่ “ภาคการผลิต” (Midstream) มีการนำระบบการผลิตอัตโนมัติเข้ามาใช้ และส่วน “ปลายน้ำ” (Downstream) ซึ่งเป็นส่วนที่เชื่อมต่อกับผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร จำหน่ายในร้านค้าปลีก และการให้บริการผ่านร้านอาหาร

ที่ผ่านมาเราจะเห็น disruptor ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพเข้ามาในส่วน “ปลายน้ำ” มากที่สุด ด้วยการสร้าง “เทคโนโลยี แพลตฟอร์ม” โดยส่วนใหญ่มารูปแบบของเทคโนโลยี “Delivery” และ “Booking” ซึ่งเขย่าธุรกิจ Food Retail ไม่น้อย และสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ ที่แสวงหาความสะดวกสุดๆ หรือ “Hyper Convenience”

แต่ในวันนี้ “Food Tech” จะเกิดขึ้นครอบคลุมตั้งแต่ “ต้นน้ำ” – “กลางน้ำ” – “ปลายน้ำ” มากขึ้น เข้ามายกระดับการปศุสัตว์ – การเพาะปลูกพืชไรแบบเดิม ไปจนถึงภาคการผลิต การจัดจำหน่าย การให้บริการของธุรกิจร้านอาหาร และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการบริโภคในชีวิตประจำวันของคนในสังคมโดยไม่รู้ตัว !!

Resize Food_02

 

ทำความรู้จัก “7 Food Tech” เปลี่ยนธุรกิจอาหาร-วิถีการกิน

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา, จีน ต่างกำลังให้ความสำคัญกับการพัฒนา “Food Tech” โดยมองกันว่าต่อไป “Food – Agri – Bio Tech” จะเป็น New Digital ที่มีมูลค่าใหญ่กว่าดิจิทัลในปัจจุบัน 3 – 4 เท่า เพราะอุตสาหกรรมอาหาร ครอบคลุมทั้ง Value Chain ตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ และเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ทุกคน ทำให้เกิดสตาร์ทอัพ พัฒนา Deep Tech ด้านนี้โดยเฉพาะ และมีนักลงทุนสนใจลงทุนมากขึ้น

คุณกระทิง พูลผล Managing Partner ของ 500 TukTuks และผู้ก่อตั้ง Disrupt Technology Venture ฉายภาพนักลงทุนที่ลงทุนใน Food Tech Startup เฉพาะในอเมริกา จากปี 2008 มูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากนั้นในปี 2013 เพิ่มขึ้นเป็น 290 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และปี 2015 เพิ่มเป็น 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ในปี 2018 เฉพาะครึ่งปีแรก พุ่งไปอยู่ที่ 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

และมองกันว่ามูลค่า “Food Tech” ทั่วโลกจะเติบโตมหาศาล โดยคาดการณ์ว่ามูลค่า Food Tech ทั่วโลกจะสูงถึง 250.43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2022 ในจำนวนนี้มาจาก “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเท่ากับว่าจะสามารถสร้างสตาร์ทอัพ ระดับยูนิคอร์นได้ 10 ตัว (ระดับยูนิคอร์น ต้องมีมูลค่าการลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป)

Resize Food Tech_01

Food Tech_02

Food Tech_03

 

มาดูกันว่าปัจจุบันมี “Food Tech” อะไรกันบ้างที่จะเข้ามาปฏิวัติอุตสาหกรรมอาหารทั่วโลก ?!?

1. “AI” ไม่ใช่แค่ Artificial Intelligence แต่คือ “Agricultural Intelligence” มีเทคโนโลยีพลิกโฉมการเกษตรให้เป็น Smart Farm – Smart Famer สำหรับในไทย ปัจจุบันเริ่มเห็นสตาร์ทอัพ “Agri Tech” มากขึ้นที่เข้าไปพัฒนาระบบการเกษตรแบบสมัยใหม่ให้กับเกษตรกร

2. “Protein and Ingredient Innovation” หรือการพัฒนานวัตกรรม “เนื้อสัตว์ที่ทำจากพืช” (Plant-based meat) ทั้งรูปลักษณ์ เนื้อสัมผัส และรสชาติเหมือนกับเนื้อสัตว์จริง หากนวัตกรรมนี้ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารมากขึ้น เท่ากับว่าต่อไปตลาดอาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ และการปศุสัตว์จะถูก Disrupt อย่างแน่นอน รวมทั้งยังช่วยลดการทรมานสัตว์-ฆ่าสัตว์ ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และจะเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร เพราะต่อไปประชากรโลกจะเพิ่มขึ้น ทำให้ Demand ด้านอาหารเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า

Resize Impossible Foods_02
Photo Credit : Facebook Impossible Foods

นวัตกรรม “Plant-based Foods” ตอบโจทย์ “Healthy Lifestyle” และ “Aging Society” เพราะผู้บริโภคยุคนี้ใส่ใจและดูแลสุขภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันนับวันในหลายประเทศทั่วโลก หนึ่งในนั้นคือ ไทย จะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้น “Plant-based Foods” จึงช่วยผู้สูงวัยที่อยากลดการรับประทานเนื้อสัตว์ และอยากดูแลสุขภาพ

ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ “Impossible Foods” เป็นสตาร์ทอัพพัฒนา “เนื้อสัตว์ทำจากโปรตีนพืช” นำร่องโปรดักต์แรกด้วย “Impossible Burger” และได้รับเงินลงทุนสนับสนุนจากนักลงทุนใหญ่ หนึ่งในนั้นคือ Bill Gates โดยปัจจุบันสามารถพัฒนาเนื้อสัตว์ที่ทำจากโปรตีนพืชได้หลากหลายประเภทแล้ว ทั้งเนื้อวัว, ปลา และจับมือกับพาร์ทเนอร์ร้านเบอร์เกอร์ – ร้านอาหาร ในการครีเอทเมนูเบอร์เกอร์ เนื้อสัตว์ทำจากโปรตีนพืช สำหรับเป็นอีกหนึ่งโปรดักต์ของร้านนั้นๆ

Resize Impossible Foods_03
Photo Credit : Facebook Impossible Foods

3. Synthetic Food หรืออาหาร-เครื่องดื่มสังเคราะห์ โดยรูปลักษณ์ และรสชาติเหมือนของจริง ช่วยย่นระยะเวลาสำหรับอาหาร-เครื่องดื่มบางประเภท เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไวน์, สาเก หรือแม้แต่วิสกี้ที่ต้องใช้เวลาหมักบ่ม นวัตกรรม Synthetic Food สามารถทำขึ้นมาใหม่ อาจใช้เวลาเพียง 1 คืน ก็ได้ไวน์, สาเก และวิสกี้ รสชาติเดียวกับของจริงที่ใช้เวลาหมักบ่มนาน

4. Digitization of Restaurants ร้านอาหารถูก disrupt ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่ม Millennials Generation สร้างการเปลี่ยนแปลงมหาศาลทั้งตลอด Customer Journey ของการใช้บริการร้านอาหาร ตั้งแต่การจองร้านอาหาร – การใช้บริการ – การสั่งอาหาร – การนำเสนอ Loyalty Program – การชำระเงิน

ร้านอาหารต้องตอบโจทย์ 3 สิ่งที่เป็นความต้องการของผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ นั่นคือ “Hyper Convenience” หรือความสะดวกสบายสุดๆ – “Privilege” เพราะผู้บริโภคยุคนี้ต้องการเป็นคนพิเศษ ดังนั้นร้านอาหารจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาทำอย่างไรเพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับผู้บริโภค ได้รู้สึกว่าเขาเป็นลูกค้าคนสำคัญ – “Connectivity” คนรุ่นใหม่เกิดมาเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีตลอดเวลา

Food Tech_04

Food Tech_05

นอกจากเทคโนโลยีเข้ามาสร้างความสะดวกสบายให้กับลูกค้าแล้ว หรือในส่วนบริการหน้าบ้าน แต่ในความหมายของ Digital of Restaurants ยังครอบคลุมถึง “ระบบบริหารจัดการหลังบ้าน” (Restaurant Management) ด้วยเช่นกัน ถือเป็นหัวใจความสำเร็จของการทำธุรกิจร้านอาหาร เช่น การสั่งวัตถุดิบ, การเช็ค-นับสต็อควัตถุดิบ, การจัดการคลังสินค้า, การบริหารและควบคุมต้นทุน, การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำตลาด, การจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า, การบริหารพนักงาน, การควบคุมคุณภาพสินค้า ฯลฯ ต่อไปจะได้เห็น “Food Tech” ในด้านการบริหารจัดการธุรกิจร้านอาหารให้มีความคล่องตัว และมีประสิทธิภาพดีขึ้น

Food Tech_06

5. “AI – Robots – Recommended Engines – Smart Kiosk” ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพพัฒนา 4 เทคโนโลยีนี้ เพื่อใช้ในธุรกิจอาหารแล้ว เช่น “Café X” บาริสต้าทำเครื่องดื่มกาแฟ ไม่ใช่คน แต่เป็น “หุ่นยนต์” ใช้เวลาในการทำ เฉลี่ยแก้วหนึ่งเพียงแค่ 20 วินาที !! หรือแม้แต่การใช้ “Chatbot” ตอบคำถามลูกค้า และแนะนำอาหารได้เหมือนกับคนจริง

Food Tech_07

Food Tech_08

6. Online Food Delivery เติบโตมหาศาล และใช้เวลาจัดส่งเร็วขึ้น เป็น Mega Trend ที่ disrupt ธุรกิจอาหาร และปัจจุบันกำลังบูมในไทย สะท้อนได้จากข้อมูลของ Euromonitor International คาดการณ์มูลค่าธุรกิจ Food Deliveryในไทย ในปี 2018 เกือบ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สิ่งสำคัญในการให้บริการในธุรกิจนี้ คือ การตรวจสอบราคาอาหารล่วงหน้า เช็คเวลา ราคาค่าส่ง การหาผู้ส่งอาหารและผู้ให้บริการเข้ามาในระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริการได้อย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันก็สามารถควบคุมคุณภาพผู้ให้บริการ รวมถึงการสร้างครัวที่เป็นจุดส่งอาหารขนาดเล็ก หรือเป็น Shared Kitchen ขนาดเล็กให้ครอบคลุมพื้นที่มากยิ่งขึ้น ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการส่งอาหารให้กับลูกค้า และย่นเวลาในการส่งอาหารอีกด้วย

7. Blockchain ไม่ใช่แค่ในวงการการเงิน แต่ยังใช้ใน Food Supply Chain เพื่อตรวจสอบ และติดตามย้อนหลังถึง “ต้นทาง” ของผลิตภัณฑ์อาหารนั้นๆ มาจากไหน แหล่งผลิตจากที่ใด และคุณภาพวัตถุดิบ เพื่อสร้างความปลอดภัยทางอาหาร และลดขยะอาหาร

Food Tech_09

นอกจากภาคการท่องเที่ยว ที่เป็นความได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศไทยแล้ว “อาหาร” เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไทยมีความโดดเด่นในเวทีระดับโลก ทั้งการเป็นแหล่งผลิตอาหารขนาดใหญ่ ที่สามารถป้อนทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ ขณะเดียวกันเฉพาะภายในประเทศเอง ได้ชื่อว่าเป็นสวรรค์แห่งอาหารการกิน เพราะมีให้เลือกมากมายหลากหลายประเภท ตั้งแต่ร้านสตรีทฟู้ด ไปจนถึงร้านอาหารระดับหรู

เพราะฉะนั้น การเกิดขึ้นของ “Food Tech” ที่ปัจจุบันหลายประเทศมหาอำนาจของโลก เช่น สหรัฐอเมริกา, จีน ต่างกำลังให้ความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ แล้วในเมื่อประเทศไทย ต้องการเป็น “Kitchen of the World” จึงควรนำความได้เปรียบทางการแข่งขันที่มีอยู่แล้ว มาพัฒนา “Food Tech” ของไทย และในอนาคตต่อยอดไปสู่ระดับภูมิภาค และระดับโลก…

“โลกของเรากำลังก้าวเปลี่ยนผ่านจากยุค Digital Disruption เข้าสู่ยุค “Deep Tech Disruption” โดยเทคโนโลยี Deep Tech จะเข้ามามีบทบาทต่อโลกยุคปัจจุบัน ต่อจากเทคโนโลยีดิจิทัล และเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตประจำวันอย่างแยกไม่ออก

ในส่วนของเทคโนโลยี Deep Tech ฝั่งของ “Food Tech” คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 16,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโต 20% ต่อปี ภายในปี 2022 ซึ่งการเติบโตนี้จะเข้ามาปฏิวัติ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมดจาก Supplier ไปจนถึงผู้บริโภค หรือจากต้นทาง สู่ปลายทาง (From Farm To Fork) จึงนับเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น “ครัวโลก” จะได้เป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมของธุรกิจอาหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอุตสาหกรรมนี้มีศักยภาพในการช่วยสร้างธุรกิจ “สตาร์ทอัพ” ระดับยูนิคอร์นตัวแรกของไทย” คุณกระทิง ขยายความเพิ่มเติม

Resize นายกระทิง พูลผล

 

กรณีศึกษา “ไมเนอร์ กรุ๊ป” จากผู้บุกเบิก Food Delivery สู่การชิง Disrupt ตัวเอง ก่อนถูกบีบให้ต้องเปลี่ยนแปล

หนึ่งใน Major Player อุตสาหกรรมอาหารของไทย คือ “ไมเนอร์ กรุ๊ป (Minor Group) ที่มีเครือข่ายธุรกิจร้านอาหาร ทั้งในไทย และต่างประเทศ รวมแล้วมากกว่า 2,000 สาขา (ในไทยกว่า 1,300 สาขา และต่างประเทศกว่า 700 สาขา) ภายใต้ Brand Portfolio ต่างๆ กว่า 10 แบรนด์ โดยมีทั้งแบรนด์ที่สร้างขึ้นเอง และได้สิทธิในแบรนด์ เช่น The Pizza Company / Swensen’s / Sizzler / Dairy Queen / Burger King / The Coffee Club / Thai Express / Riverside / BreadTalk

ที่ผ่านมา “ไมเนอร์ กรุ๊ป” พยายามนำนวัตกรรมใหม่มาใช้กับเชนธุรกิจร้านอาหารในเครือ และใช้ความได้เปรียบของการมี Brand Portfolio ทำให้สามารถใช้กลยุทธ์ “Cost Leadership” ในกระบวนการจัดการระบบหลังบ้าน เช่น การผลิต และการสั่งซื้อวัตถุดิบ ที่วัตถุดิบประเภทหนึ่ง สามารถนำไปผลิตเป็นเมนูอาหาร-เครื่องดื่มต่างๆ กระจายเข้าเชนร้านสาขา ภายใต้ Brand Portfolio ต่างๆ เช่น ทุเรียน, มะม่วง ทำให้สามารถบริหารต้นทุนได้มีประสิทธิภาพ

หนึ่งใน “เรือธง” สำคัญที่สร้างรายได้หลักให้กับกลุ่มธุรกิจอาหารของ “ไมเนอร์ กรุ๊ป” คือ “The Pizza Company” เป็นแบรนด์ที่ไมเนอร์ กรุ๊ป สร้างขึ้นเอง (เนื่องจากเกิดชนวนเหตุบริษัท Tricon Global Restaurants หรือปัจจุบันคือ Yum! Brand Inc. ยักษ์ใหญ่ธุรกิจ QSR ระดับโลก และเป็นเจ้าของแบรนด์ Pizza Hut, KFC ต้องการเอาแบรนด์ Pizza Hut จากไมเนอร์ฯ ซึ่งได้สิทธิมาสเตอร์ แฟรนไชส์ดำเนินธุรกิจในไทย ดึงกลับมาทำตลาดไทยเอง ทำให้เกิดการฟ้องร้อง และความสัมพันธ์ทางธุรกิจขาดลง จนกลายเป็นจุดกำเนิดของแบรนด์ “The Pizza Company” ในที่สุด)

pizza-with-logo

ไมเนอร์ กรุ๊ป ทุ่มเทสรรพกำลังปั้นแบรนด์ “The Pizza Company” จนกลายเป็นผู้นำตลาด Pizza ในไทย และได้พัฒนาระบบ “Home Delivery” ในไทยเมื่อ 25 ปีที่แล้ว โดยเป็นรายแรกที่นำเทคโนโลยีเบอร์โทรเดียว “1112” มาใช้ให้บริการผู้บริโภค เพื่อสร้างการจดจำง่าย และต่อมาได้ขยายไปยังแพลตฟอร์ม Online Delivery

การตัดสินใจลงทุนพัฒนาระบบ Delivery ในครั้งนั้น เพราะมองเห็นว่าต่อไปทิศทางของธุรกิจร้านอาหารจะเน้นให้บริการ “จัดส่งอาหาร” มากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวก-รวดเร็ว

นั่นคือ ครั้งแรกๆ ที่ “ไมเนอร์ กรุ๊ป” ตัดสินใจชิง Disrupt ตัวเอง ก่อนที่จะถูกบังคับให้ต้องเปลี่ยนแปลง !!

เมื่อเข้าสู่ “ยุคดิจิทัล” แม้ธุรกิจอาหาร ไม่ได้ถูก Disrupt มากเท่ากับบางอุตสาหกรรม เช่น การเงิน, อสังหาริมทรัพย์ แต่สำหรับ “ไมเนอร์ กรุ๊ป” ไม่อาจนิ่งนอนใจ แล้วปล่อยให้วันหนึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่จะกระทบต่อธุรกิจได้

นี่จึงทำให้แม่ทัพใหญ่ “คุณวิลเลี่ยม ไฮเน็ค” ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ตัดสินใจครั้งใหญ่ที่จะลงมือ Disrupt องค์กรไมเนอร์ กรุ๊ปอีกครั้ง ที่เริ่มต้นจากกลุ่มธุรกิจอาหาร เพื่อเตรียมความพร้อม ก่อนที่จะเจอการเปลี่ยนแปลงในอนาคต !!!

Resize นายวิลเลี่ยม ไฮเน็ค

“สภาพแวดล้อมทางธุรกิจในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้มากกว่าการเปลี่ยนแปลงในช่วง 50 ปีที่แล้ว รวมทั้งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และรวดเร็ว เราจึงต้องมีการเตรียมพร้อม ด้วยการจับมือกับนักพัฒนานวัตกรรม และ Disruptor เพื่อค้นหาแนวทางในการสร้างการเติบโต และสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจของเรา

“ความต้องการของผู้บริโภคไม่เปลี่ยนแปลง ยังคงเป็น Traditional Need เช่น คนยังอยากรับประทานเบอร์เกอร์ หรือเวลาเดินทาง คนต้องหาที่พัก แต่ในความต้องการเดิมๆ ได้เกิด Disruptor พัฒนาเทคโนโลยีที่ยังคงตอบโจทย์ Traditional Need แต่ขณะเดียวกัน Disruptor ก็ทำให้เกิดวิธีการใหม่ และ Business Model ใหม่ เช่น Impossible Burger, Airbnb, Uber

เพราะฉะนั้นในปัจจุบันโลกกำลังเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว เราสามารถเลือกที่จะเดินหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง หรือเลือกที่จะหยุด แล้วยอมให้อุปสรรคเข้ามาขวางกั้น อีกทั้งเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ กำลังเข้ามาเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจ เปลี่ยนวิธีการจับจ่ายของผู้บริโภค รวมถึงวิธีการแสดงความคิดเห็น และการถ่ายทอดประสบการณ์ต่างๆ

ดังนั้นการทำธุรกิจในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นเพียงการแข่งขันระหว่างบริษัทอีกต่อไป แต่เป็นการแข่งขันในด้านของนโยบาย และระบบความสัมพันธ์ต่อสิ่งแวดล้อม เราเชื่อว่าธุรกิจที่จะอยู่รอด จะต้องมีนวัตกรรมที่ดี และปรับตัวได้เร็วที่สุด

ด้วยเหตุนี้ ไมเนอร์ กรุ๊ป จึงปรับองค์กรเป็น Open Ecosystem ในการเปิดรับพันธมิตรใหม่ๆ ทั้งนักพัฒนานวัตกรรม และ Disruptor ที่มีมุมมองสดใหม่ มีแนวความคิดแหวกแนว มีความกล้าลงมือทำ กล้าเสี่ยง มี Competitiveness มี Passion ที่จะชนะ และมีความเร็วในการลงมือทำ” คุณวิลเลี่ยม ไฮเน็ค เล่าถึงการปรับตัวครั้งใหญ่ของไมเนอร์ กรุ๊ป

Resize-DSC08585

 

ตั้งงบ 1,000 ล้าน ลงทุนใน “Food Tech Startup”

“ไมเนอร์ กรุ๊ป” ผนึกกำลังกับ “Disrupt Technology Venture” และ “500 TukTuks” จัด “Hackathon Food and Dining Tech 2018” โดยตั้งงบประมาณส่วนนี้ไว้ที่ 1,000 ล้านบาท เพื่อผลักดันธุรกิจ Food Tech ไทย สู่ครัวของโลก โดยเปิดรับสมัครนักพัฒนานวัตกรรมด้าน Food, Dining และ Restaurant Tech ทั่วประเทศ ร่วมประกวดไอเดีย ตั้งแต่วันนี้ – 9 พฤศจิกายน 2561 โดยทีมที่ได้รับคัดเลือก จะได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงาน “Minor Tasting The Future – Hackathon 2018” ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันนี้ 1 – 2 ธันวาคมนี้

สำหรับหัวข้อหลักในการแข่งขันครั้งนี้ มี 6 หัวข้อที่เป็นเทรนด์อุตสาหกรรมอาหารทั้งในวันนี้ และอนาคต ประกอบด้วย 1. Future of Food Retail Service / 2. Future of Franchise / 3. Dining for Aging Society / 4. Digitization of Restaurants / 5. Future of Dining for the Hyper Millennials / 6. Delivery 4.0 and Beyond / 7. Others หัวข้ออื่นๆ ที่น่าสนใจ

Food Tech_10


  • 1.8K
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ