ไทยแกร่ง! นำ 5G ใช้งานในนิคมอุตสาหกรรม เป็นรายแรกในอาเซียน ดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกสร้างฐานการผลิตใน EEC

  • 368
  •  
  •  
  •  
  •  

ที่ผ่านมาประเทศไทยถือเป็นประเทศอุตสาหกรรมการผลิต มีเม็ดเงินจากการผลิตและส่งออกหลายล้านล้านบาทต่อปี แต่เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจส่งผลให้ประเทศไทยขยับค่าแรงสูงขึ้น จนอยู่สูงกว่าหลายประเทศในภูมิภาค แม้จะมีมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อกระตุ้นและดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเลือกประเทศไทยในการเป็นฐานการผลิต

แต่ด้วยค่าแรงที่สูงกว่าหลายประเทศในภูมิภาค ทำให้นักลงทุนหลายรายเริ่มมองหาประเทศฐานการผลิตใหม่ที่มีค่าแรงถูกเพื่อลดภาระต้นทุนด้านแรงงาน เทคโนโลยีจึงกลายเป็นอาวุธแต้มต่อที่สำคัญของประเทศในการสร้างโอกาสให้นักลงทุนสนใจกลับมามองประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอีกครั้ง โดยเฉพาะเทคโนโลยี 5G ที่ช่วยลดต้นทุนค่าแรงงาน แถมยังเพิ่ม Productivity ได้อย่างชัดเจน

สำหรับปัจจุบันหากพูดถึงเทคโนโลยี 5G คงต้องพูดถึงผู้ให้บริการเครือข่ายการสื่อสารอย่าง AIS ที่เรียกว่ามีการผลักดันโครงการต่างๆ มากมายให้สามารถออกมาเห็นเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการร่วมกับสถานบันการศึกษาในการทดสอบควบคุมรถยนต์ระยะไกล และการร่วมกับ SCG ในการใช้เทคโนโลยี 5G ควบคุมการทำงานทางไกลจากกรุงเทพฯ ถึงสระบุรี ในรูปแบบของการทำงานจริงๆ (Real Case)

แต่ในอนาคต AIS มีโครงการใหญ่ที่จะช่วยให้ 5G สามารถเข้าถึงการทำงานในทุกภาคส่วนเพื่อการพัฒนาประเทศ โดย คุณสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ชี้ว่า วิกฤติ COVID-19 นำมาซึ่งผลกระทบอย่างรุนแรงไปทั่วโลกและก่อให้เกิด “ชีวิตวิถีใหม่” ที่ไม่มีวันกลับไปเหมือนเดิมแบบทันทีทันใดในทุกระดับ โดยจะแบ่งปรากฏการณ์ออกเป็น 3 ช่วง ตั้งแต่ ช่วง Fall ช่วงตกต่ำจากวิกฤต ช่วง Fight ช่วงการต่อสู้เพื่อให้ก้าวผ่านวิกฤตไปให้ได้ และช่วง Future ช่วงสร้างอนาคตอย่างยั่งยืน

ซึ่งในทุกช่วงเวลาล้วนแล้วแต่ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเข้ามาเป็นฐานรากที่แข็งแกร่งเพื่อช่วยประคับประคองและเสริมขีดความสามารถทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด อย่าง AIS 5G ที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ดิจิทัลเส้นใหม่ ที่ได้เริ่มนำมาใช้ช่วยเหลือ เพื่อหล่อเลี้ยงประเทศจากวันนี้เป็นต้นไป

ด้วยจำนวนคลื่นความถี่ที่มากที่สุดครอบคลุมทุกระดับคลื่นความถี่ตั้งแต่ Hi Band จนถึง Low Band นี่คือหัวใจสำคัญของการใช้งาน 5G เพราะบางจุดที่อยู่ในจุดอับสัญญาณ คลื่น Low Band จะสามารถทะลุทะลวงสิ่งขวางกั้นเพื่อให้สามารถเชื่อมต่อข้อมูลได้อย่างอิสระ ขนาดที่บางจุดต้องการความรวดเร็วในการรับส่งข้อมูล คลื่น Hi Band จะช่วยให้สามารถทำการรับส่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็วในปริมาณมหาศาล

และเพื่อให้เกิดการใช้งาน AIS 5G เพื่อประโยชน์สูงสุด มีการวางระบบ ICT Infrastructure เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการด้านอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor –  EEC) และเพื่อให้เห็นตัวอย่างการเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการด้านอุตสาหกรรม

AIS จึงได้ร่วมกับบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ทำการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในชื่อ “บริษัท สห แอดวานซ์ เน็ทเวอร์ค จำกัด เพื่อเป็นบริษัทกลางในการให้บริการโครงข่ายใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) และ ICT Infrastructure ภายในสวนอุตสาหกรรมของบริษัท สหพัฒนาฯ ทั้ง 4 แห่ง ไม่ว่าจะเป็นที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี, อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี, อ.เมือง จ.ลำพูน และ อ.แม่สอด จ.ตาก รวมพื้นที่ประมาณ 7,255 ไร่ และมีโรงงานตั้งอยู่ในสวนอุตสาหกรรมทึ้ง 4 แห่งรวมกว่า 112 โรงงาน

บริษัท สห แอดวานซ์ฯ จะทำหน้าที่ในการเข้าไปศึกษาและวางระบบ เพื่อให้แต่ละโรงงานสามารถใช้เทคโนโลยี AIS 5G โครงข่ายใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) และ ICT Infrastructure ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้บริษัท สห แอดวานซ์ฯ ยังสามารถขยายการให้บริการสู่โรงงานนอกสวนอุตสาหกรรมทั้ง 4 แห่งได้อย่างอิสระ

ขณะที่ คุณวิชัย กุลสมภพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ชี้ว่า สหพัฒนาอินเตอร์ฯ มีความตั้งใจที่จะพัฒนาสวนอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามายกระดับการบริหารและพัฒนาพื้นที่ภายในสวนอุตสาหกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ยกระดับกระบวนการผลิตสู่การเป็นโรงงานอัจฉริยะ และนำไปสู่อุตสาหกรรม 4.0

การจัดตั้งบริษัทร่วมลงทุนในครั้งนี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการภายในนิคมอุตสาหกรรมบนพื้นที่ EEC สามารถผลิตสินค้าและดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกระดับความสามารถทางการแข่งขัน ช่วยดึงดูดให้นักลงทุนจากทั่วโลกสนใจมาลงทุนตั้งฐานการผลิตในพื้นที่ EEC มากยิ่งขึ้น เนื่องจากเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งยังไม่มีการลงทุนเทคโนโลยี 5G เพื่อภาคอุตสาหกรรม

โดยถือว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่นำเทคโนโลยี 5G เข้าไปใช้งานในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่ง AIS 5G เปิดให้บริการครอบคลุมพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ได้ 100% ในขณะที่ประเทศลาวเวียดนาม และประเทศเมียนม่าอยู่ในขั้นการทดลองและทดสอบระบบ 5G ส่วนประเทศกัมพูชา มีการทดสอบบริการรูปแบบ WTTx ผ่านเทคโนโลยี 5G ด้านประเทศสิงคโปร์เริ่มทดสอบการใช้ 5G ในพื้นที่ท่าเรือ

ดังนั้น ด้วยความพิเศษของเทคโนโลยี 5G SA (5G Stand Alone) ควบคู่กับ 5G Network Slicing ที่ประเทศไทยได้นำร่องนำไปใช้งานจริงแล้วในนิคมอุตสาหกรรมจะช่วยรองรับการทำงานทุกรูปแบบของโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำ AIS 5G ไปใช้กับเครื่องจักรกลและหุ่นยนต์ อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า AIS มีคลื่นความถี่มากที่สุด ครอบคลุมทุกช่วงคลื่นความถี่ตั้งแต่ Low Band ไปจนถึง Hi Band

ช่วยรองรับการทำงานของเครื่องจักรทุกประเภทที่อยู่ในทุกส่วนของพื้นที่โรงงาน ผ่าน 5G Network Slicing ที่สามารถปรับช่วงคลื่นความถี่ให้ตรงกับเครื่องจักรและหุ่นยนต์ ขณะที่ส่วนงานที่ต้องใช้ความรวดเร็วในการรับส่งข้อมูลข่าวสารสามารถใช้ 5G SA (5G Standalone) ในการรับส่งข้อมูลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

เพื่อให้เห็นภาพการทำงานอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น เครื่องจักรควบคุมการผลิตที่อยู่ในด้านในสุดของโรงงาน จนคลื่นความถี่ Mid Band ไม่สามารถเข้าถึงได้ เครื่องจักรนั้นสามารถใช้เทคโนโลยี 5G ผ่านช่วงคลื่นความถี่ Low Band อัตโนมัติ ขณะที่หุ่นยนต์การผลิตที่ไม่ถูกพื้นที่จำกัดคลื่นความถี่ สามารถใช้เทคโนโลยี 5G คลื่นความถี่ Mid Band ไปจนถึง Hi Band ได้

ขณะที่โรงงานที่ต้องใช้การรับส่งข้อมูลอย่างรวดเร็วหรือมีการรับส่งข้อมูลในปริมาณมากช่วงระยะเวลาสั้น ก็สามารถใช้เทคโนโลยี 5G ได้ ผ่านเทคโนโลยี 5G SA (5G Standalone) เช่น การรับส่งข้อมูลเอกสาร หรือการบังคับยานพาหนะและหุ่นยนต์ด้วยการรับส่งข้อมูลในระยะไกล รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีในการคาดการณ์ (Predict) สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

เนื่องจากกระบวนการของโรงงาน หากเกิดความผิดพลาดกับเครื่องจักร แค่เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งอาจหมายถึงรายได้ที่สูญเสียและต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยี 5G จะช่วยให้สามารถคาดการณ์ถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และช่วยให้สามารถเข้าไปแก้ไขได้ทันท่วงที

ทั้งหมดนี้คือโอกาสที่สำคัญของประเทศไทยในการพัฒนาเทคโนโลยี 5G เพื่อสร้างโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติกลับมาสนใจลงทุนในประเทศไทยอีกครั้งผ่านเทคโนโลยี 5G ที่ช่วยลดต้นทุนด้านแรงงานและเสริมสร้างประสิทธิภาพด้านการผลิต อันจะเป็นการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้กลับมาแข็งแกร่ง และยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนไทยได้อย่างยั่งยืน


  • 368
  •  
  •  
  •  
  •