แม้ว่าคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะวางกำหนดการประมูล 5G ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2563 แต่โอเปอเรเตอร์ค่ายต่างๆ ก็เริ่มขยับเชิงรุกเรื่องความพร้อมและภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำ 5G ล่าสุด AIS เดิมเกมโดยการโชว์พาร์ทเนอร์ และอีโคซิสเต็มส์ของ 5G รวมถึง Use Cases ทางธุรกิจที่สามย่านมิตรทาวน์ อาทิ Hologram 3 มิติ, Remote Control Vehicle, Connected Drones, Robotics เป็นต้น โดยผู้บริหาร AIS คาดว่าอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะเกิดการใข้งาน 5G มากขึ้น และยกระดับขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมไทย
“5G ไม่ใช่แค่เรื่องของโทรศัพท์มือถือ แต่มีสารพัด Use Cases ที่สามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้” คุณวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส กล่าวและเสริมว่า คุณสมบัติ 3 ส่วนของ 5G ประกอบด้วยความเร็วที่เพิ่มขึ้น, ขีดความสามารถการเชื่อมต่ออุปกรณ์ Internet of Things (IoT) และเครือข่ายที่ตอบสนองได้รวดเร็วและเสถียร
ที่ผ่านมา AIS ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยและพันธมิตรด้านเทคโนโลยีหลายราย เพื่อดำเนินการทดสอบ Use Cases ต่างๆบนเครือข่าย 5G ทุกภูมิภาคของประเทศไทย คุณวสิษฐ์ กล่าวว่า สิ่งที่ AIS ทำคือการสร้าง Awareness ของ 5G ว่าจะมีผลกระทบกับธุรกิจต่างๆ อย่างไร และเชิญชวนภาคอุตสาหกรรมให้มาพูดคุยกับทางบริษัทในเรื่องการประยุกต์ใช้
“5G ไม่ใช่แค่เรื่อง Network อย่างเดียวแต่รวมถึงอีโคซิสเต็มส์” คุณวสิษฐ์ กล่าวถึงปัจจัยความสำเร็จของ 5G และ Use Cases ว่าคือ “พาร์ทเนอร์และอีโคซิสเต็มส์”
จากการร่วมทดสอบทดลองเทคโนโลยี 5G กับพาร์ทเนอร์ต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา AIS พบว่า กลุ่มแรกๆ ที่สนใจเรื่อง 5G คือภาคอุตสาหกรรม โดยหลักๆ จะเป็นเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพ และผลิตภาพในโรงงาน รวมถึงการ Customize การใช้งาน 5G โดย Industry 4.0 จะเป็นเรื่อง Big Data และใช้เทคโนโลยีในการมอนิเตอร์ข้อมูลและกระบวนการต่างๆในภาคอุตสาหกรรม
“ทุกคนอยากลอง เขามี Pain Point และ Pick Up Use Case มาทดลองกับเรา นั่นคือจุดเริ่มต้น ปีหน้าจะเห็นการจับมือเป็นพันธมิตรกันมากขึ้น”
คุณวสิษฐ์ กล่าวย้ำว่า 5G คือเทคโนโลยีที่จะเข้ามาพลิกโฉมสังคมไทย และยกระดับขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมไปอีกขั้น พร้อมขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็น Thailand 4.0 ตลอดจนอำนวยความสะดวกด้านการสื่อสารให้กับผู้ใช้บริการโดยทั่วไป
5G Enterprise Use Cases
เอไอเอสได้จัดแสดงการใช้งาน 5G ในหลากหลายรูปแบบที่สามย่านมิตรทาวน์ ระหว่างวันที่ 13 ธค. 2562 ถึง 3 มค. 2563 ประกอบด้วย
1) 5G Remote Control Vehicle
การสาธิตเทคโนโลยีการบังคับรถยนต์ไร้คนขับทางไกล ผ่านเครือข่าย 5G บริเวณลานหน้าสามย่านมิตรทาวน์ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยและนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และเอไอเอส โดยเป็นการแสดงศักยภาพของเครือข่าย 5G ที่มีความเร็วสูง, ความหน่วงต่ำ และตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ควบคุมรถไม่จำเป็นต้องอยู่ในตัวรถ แต่สามารถบังคับรถให้เคลื่อนที่ไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้ตามต้องการ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในด้านการขนส่งสินค้าในภาคอุตสาหกรรม และการสัญจรในอนาคต
คุณวสิษฐ์ กล่าวว่า ในยุค 5G ภาคก่อสร้าง หรือเหมืองที่มีพื้นที่อันตรายและเสี่ยงภัย ไม่ควรนำคนเข้าไปทำงาน 5G ก็จะเอื้อให้สามารถใช้เทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับทางไกล และเป็นการแก้ Pain Point หนึ่งของภาคธุรกิจ
2) 5G Hologram 3 มิติ
การนำเทคโนโลยี 3D Hologram การสื่อสารระยะไกลที่สามารถถ่ายทอดภาพ 3 มิติได้แบบ 360 องศา มีความเสมือนจริงและเรียลไทม์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการนำไปประยุกต์ใช้ในการประชุมธุรกิจ, การศึกษาทางไกล, การแพทย์, การเกษตร และงานด้านแฟชั่นและบันเทิง ตลอดจนการนำไปใช้พัฒนาเกม, แอนิเมชั่น 3 มิติ, AR (Augmented Reality), VR (Virtual Reality) และ MR (Mixed Reality) ที่ผู้ใช้อาจจะอยู่คนละพื้นที่ให้สามารถแชร์ไอเดียและพัฒนางานร่วมกันได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และเห็นภาพยิ่งขึ้น ช่วยสร้างความชัดเจนในการสื่อสารระหว่างกันอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
3) 5G Connected Drones
การสาธิตบังคับโดรนระยะไกลระหว่างกรุงเทพ และเมืองโคราช นครราชสีมา ในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตผ่านเครือข่าย 5G บน Live Network แสดงแนวคิดการใช้งานโดรนในยุค 5G ที่ความเร็วสูงและความหน่วงต่ำ ซึ่งคนควบคุมไม่จำเป็นต้องอยู่ที่เดียวกับโดรน แต่สามารถควบคุมโดรนระยะทางไกลได้ผ่านเครือข่ายมือถือ และสามารถ Streaming Video ที่มีความละเอียดสูงกลับมาหาผู้ใช้งานได้ทันที ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์การใช้งานได้หลากหลาย ทั้งด้านการขนส่ง และโลจิสติกส์, การเกษตร, ความปลอดภัยสาธารณะ, การกู้ภัย รวมถึงการนำไปใช้ควบคุมโดรนภายในเมืองอัจฉริยะ เพื่อใช้ในการเข้าไปสำรวจพื้นที่ต่างๆ
4) 5G The Robotics ประกอบด้วย 2 Use Cases
หนึ่ง 5G The Robotic, the future of store เป็นการแสดงแนวคิดซูเปอร์มาร์เก็ตในอนาคต ที่ทำงานโดยหุ่นยนต์ของ ABB ผ่านเทคโนโลยี 5G ทำให้หุ่นยนต์ประมวลผลได้แบบเรียลไทม์และมีความแม่นยำสูง จึงสามารถหยิบสินค้าได้ตรงตามออเดอร์ที่ลูกค้าต้องการสั่งซื้อ และสอง 5G Smart Little Robot Companion หุ่นยนต์ทำงานผ่าน 5G สามารถพูดคุยและตอบคำถามแก่ผู้มาใช้งาน ผ่านเทคโนโลยี 5G ช่วยให้จดจำการสั่งการ Smart Connected Devices และการตอบสนองของหุ่นยนต์เป็นไปได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดย Bannee และ Bookky เป็นหุ่นยนต์บรรณารักษ์ที่ได้รับการพัฒนาเพื่อปฏิบัติงานที่สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น สามารถสื่อสารกันเองและสื่อสารกับคนได้
5) 5G VDO Call
การทดลองใช้งานโทร 5G VDO Call ข้ามภูมิภาคแบบครบทุก 5 ภาคทั่วไทย ผ่านเครือข่าย 5G ด้วยสมาร์ทโฟนที่รองรับ 5G ซึ่งคุณสมบัติเฉพาะของเทคโนโลยี 5G ที่มีค่าความหน่วงต่ำ ทำให้มีการตอบสนองแบบเรียลไทม์ คมชัดและไม่สะดุด ซึ่งภาพจะมีความละเอียดสูงระดับ Full HD – 4K และสัญญาณเสียงที่คมชัดระดับ Ultra HD voice
The Next Step
จะเห็นได้ว่าการประยุกต์ใช้งาน 5G มีความหลากหลาย และสร้างมูลค่าเพิ่มในหลายอุตสาหกรรม แน่นอนว่าแต่ละค่ายโอเปอเรเตอร์ก็ต้องเร่งหาพาร์ทเนอร์และ Use Cases ที่ใช้งานได้จริงและเพิ่มประสิทธิภาพของภาคธุรกิจและสังคม โดยในอนาคตยังมีอีกหลายเซ็คเตอร์ที่สามารถใช้ประโยชน์จาก 5G เช่น Smart City,AI, Cloud Computing และ Cloud Gaming เป็นต้น
แต่การเปลี่ยนผ่านจาก 4G ไปสู่ยุค 5G ในเมืองไทยก็ยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนรออยู่ข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคลื่นความถี่, ราคาเริ่มต้นของบางคลื่นที่แพงในสายตาของโอเปอเรเตอร์, ความสนใจการเข้าร่วมประมูล 5G ของค่ายมือถือ เป็นต้น การประมูลและกฏเกณฑ์การประมูล 5G จึงนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ต้องจับตาในปีหน้า