เจาะลึก 5 เทคโนโลยีสุดล้ำจาก “KBTG x MIT Media Lab” โดย ดร.มนต์ชัย เลิศสุทธิวงค์ แห่ง KBTG – ดร.พัทน์ ภัทรนุธาพร จาก MIT Media Lab

  • 2.3K
  •  
  •  
  •  
  •  

 

ตลอด 3 ปีของความร่วมมือระหว่าง “KBTG” กับ “MIT Media Lab” ห้องปฏิบัติการวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology : MIT) สหรัฐอเมริกา เพื่อดำเนินการวิจัยเทคโนโลยีที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ และนักวิจัยทั้งสองฝ่ายทำงานวิจัยที่ก้าวหน้าร่วมกัน จนสามารถต่อยอดงานวิจัยที่ศึกษาการปฏิสัมพันธ์ระหว่าง “มนุษย์” กับ “AI” สู่ผลงานจริง! ไม่ว่าจะเป็น Future You, คู่คิด, Future Jobs, FinLearn และล่าสุด Finly ซึ่งทุกผลงานได้นำ Prototype มาออกบูธภายในงาน KBTG Techtopia 2024 เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้ทดลองใช้

ความสำเร็จในการผนึกกำลังกัน ดร.มนต์ชัย เลิศสุทธิวงค์, Principal Research Engineer, KBTG Labs พร้อมทั้ง ดร.พัทน์ ภัทรนุธาพร, นักวิจัยและนักศึกษาปริญญาเอก ในสาขา Fluid Interfaces คนแรกที่ MIT Media Lab และ KBTG Fellow PhD Candidate, MIT Media Lab Researcher, Fluid Interfaces คนไทยคนแรกที่ได้รับทุนวิจัย KBTG Fellow มาร่วมเจาะลึกโปรเจกต์ที่สามารถสร้าง Impact ต่อผู้คนและสังคม

 

KBTG x MIT Media Lab สู่การพัฒนาโปรเจคเทคโนโลยี Human x AI สุดล้ำ  

ย้อนกลับไปในปี 2565 ถือเป็นอีกหนึ่ง Milestone สำคัญของ “บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป” หรือ “KBTG” ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกห้องปฏิบัติการวิจัยของ MIT (MIT Media Lab) หนึ่งในห้องปฏิบัติการวิจัยที่ทันสมัยที่สุดในโลกของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology: MIT) สหรัฐอเมริกา โดยมีจุดประสงค์ร่วมกัน คือ ดำเนินการวิจัยเทคโนโลยีที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน แลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการระหว่างกัน ทั้งในด้านการเงิน ความเสมอภาค ความยั่งยืน และด้านการศึกษา

นอกจากนี้ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ KBTG ยังได้ริเริ่มโครงการ KBTG Fellow สนับสนุนทุนวิจัยแก่ MIT Media Lab โดย

ดร.พัทน์ ภัทรนุธาพร ได้ทำการศึกษาวิจัยปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ และ AI เป็นผู้ได้รับทุนวิจัย KBTG Fellow คนแรก สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ KBTG ที่ว่า Human-first, AI-first Transformation มุ่งขยายศักยภาพองค์กร และสร้างประโยชน์ให้แก่ลูกค้า – ผู้มีส่วนได้เสียด้วยการใช้ AI

รวมทั้งการผนึกกำลังระหว่าง KBTG และ MIT Media Lab ยังทำให้นักวิจัยของทั้งสองฝ่ายได้ทำงานวิจัยที่ก้าวหน้าร่วมกัน โดย KBTG ได้ส่งนักวิจัย KBTG Labs 2 คน ไปร่วมทำงานวิจัยที่ MIT Media Lab คือ คุณกวิน วินสน Advanced Research Engineer และ  คุณธนวิชญ์ ประสงค์พงษ์ชัย Advanced Designer

ความร่วมมือในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องราวที่เราประทับใจมาก และถือว่าประสบความสำเร็จ จากเป้าหมายตอนแรกที่เซ็นสัญญาความร่วมมือ เราหวังแค่การทำงานวิจัยและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน แต่พอทำไปสักพัก vision ขยายใหญ่ขึ้น จากงานวิจัยกลายเป็นโปรเจกต์ที่มี Impact ต่อผู้คนและสังคม” ดร.มนต์ชัย กล่าวถึงความประทับใจ

เช่นเดียวกับ ดร.พัทน์ เล่าความรู้สึกของการทำ Collaboration ว่ารู้สึกภูมิใจว่าเราเป็นคนไทย แล้วได้ร่วมงานกับบริษัทไทยที่เป็น Frontier จริงๆ รวมทั้งได้เพื่อนนักวิจัยจาก KBTG Labs ที่ส่งไปทำงานวิจัยที่ MIT Media Lab ทำได้ผมได้ประสบการณ์การทำงานที่สนุกมาก  

 

 

จากความร่วมมือดังกล่าว ก่อเกิดเป็นงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับการปฏิสัมพันธ์ระหว่าง “มนุษย์” กับ “AI” ต่อยอดสู่โปรเจคจริง ภายใต้แนวคิด “Augmented Intelligence” หรือที่เรียกว่า “Human-AI Augmentation” คือ การใช้ AI พัฒนาความสามารถและเพิ่มศักยภาพของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น Future You, คู่คิด, Future Job     , FinLearn และล่าสุด Finly ความน่าสนใจของแต่ละผลงานเป็นอย่างไรนั้น ตามมาดูกัน!!! 

 

“Future You” แรงบันดาลใจจากไทม์แมชชีน สู่การพัฒนา AI ที่ทำให้มนุษย์คุยกับตัวเองในวัย 60 ปี

โปรเจกต์แรกของการผนึกกำลัง คือ “Future You” แพลตฟอร์มที่ทำให้ผู้ใช้สามารถสนทนาผ่านแชทกับ “ฝาแฝดดิจิทัล” (Digital Twin) ของตัวเองในอนาคต ผลงานนี้ได้แรงบันดาลใจจากไทมแมชชีนที่พาไปท่องโลกอนาคต ผสานกับงานวิจัยที่ต่อยอดจากทฤษฎีทางจิตวิทยาชื่อว่า “Future self-continuity” ค้นพบว่ายิ่งมนุษย์สามารถมองเห็นตัวเองในอนาคตชัดเจนมากขึ้นเท่าไร จะยิ่งมีแนวโน้มพฤติกรรมเชิงบวกมากขึ้น เช่น ออมเงินมากขึ้น ตั้งใจเรียนมากขึ้น มีสุขภาพดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

ในการออกแบบพัฒนา ทีมวิจัยได้พัฒนาเทคโนโลยี AI ผ่านโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model: LLM) โดยระบบจะสร้าง Digital Twin ในรูปแบบ Avatar ของผู้ใช้งานแต่ละคนในอนาคตในวัย 60 ปี จากข้อมูลลักษณะนิสัย ประวัติชีวิต และเป้าหมายในอนาคตที่ผู้ใช้แต่ละคนให้ไว้ ทำให้การสนทนามีความเป็น Personalization และรู้สึกเสมือนว่าได้คุยกับตัวเราเองในอนาคตจริงๆ

KBTG และ MIT Medial Lab เชื่อว่าการได้พูดคุยกับตัวเองในอนาคต จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจ แรงจูงใจ และผลกระทบเชิงบวกเรื่องต่างๆ ให้กับตัวเอง เพื่อไปถึงเป้าหมายที่วางไว้สำเร็จ  ขณะเดียวกันยังช่วยด้าน Mental Health ให้กับผู้ใช้งาน เช่น ลดความเครียด, ความวิตกกังวล

“เราศึกษาจิตวิทยาความสัมพันธ์ระหว่า “มนุษย์” กับ “AI” พัฒนาออกมาเป็น Future You ความน่าสนใจคือ Generative AI ทั่วไปใช้ Large Language Model ที่ออกแบบเพื่อใช้กับคนจำนวนมาก ขณะที่ Future You ใช้ Large Language Model ที่สามารถ personalize สำหรับผู้ใช้งานแต่ละคน เพื่อสร้าง Digital Twin ของคนๆ นั้นโดยเฉพาะ

นอกจากนี้ เรายังพบว่าการได้คุยกับตัวเองในอนาคต ช่วยผู้ใช้งานลดความกดดัน ความเครียด เพราะว่าเหมือนมีตัวเองจากอนาคตคอยให้กำลังใจ ให้คำแนะนำ ทั้งยังทำให้ผู้ใช้เห็นภาพตัวเองชัดขึ้น ซึ่งถ้าเราเองเห็นภาพในอนาคตของตัวเองชัดขึ้น มีแนวโน้มที่คนๆ นั้นจะค่อยๆ ทำให้อนาคตที่เขาตั้งเป้าไว้เป็นจริงให้ได้ ผ่านการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเชิงบวก” คุณพัทน์ กล่าวถึงแนวคิดการพัฒนา Future You

ดร.มนต์ชัย กล่าวเสริมว่า Future You แตกต่างจาก AI Chatbot ทั่วไปตรงที่ AI Chatbot เน้นให้คำตอบตามคำถามที่ผู้ใช้ถาม แต่สำหรับ Future You ไม่ใช่แค่นั้น ผู้ใช้จะรู้สึกว่าเหมือนได้คุยกับตัวเขาจริงๆ ในอนาคต และยังช่วยสร้าง Long-term Thinking ให้กับผู้ใช้งาน เพราะเมื่อแชทคุยไปเรื่อยๆ จะทำให้เกิดแรงบันดาลใจ หรือแรงจูงใจบางอย่างกลับไป

ปัจจุบันแพลตฟอร์ม Future You เปิดให้ทดลองใช้งานแล้ว ซึ่งได้การตอบรับทั้งสื่อไทย และสื่อต่างประเทศเป็นอย่างดี เช่น The Guardian, BBC, Wired Magazine รวมทั้งมีคนสนใจมาร่วมทดลองใช้งานอย่างแพร่หลาย ใครที่อยากแชทคุยกับตัวเองในอนาคตตอนอายุ 60 ปี สามารถเข้าไปที่ futureyou.life หรือ futureyou.media.mit.edu

 

“คู่คิด” AI สองคาแรกเตอร์ “คะน้า – คชา” ให้มุมมองการเงิน-การลงทุนที่ต่างกัน

 

จาก Future You นำไปสู่อีกหลายโปรเจกต์ตามมา อย่างการพัฒนา “K-GPT” (Knowledge-GPT) เป็น Large Language Model ที่ปรับให้เข้าใจภาษาไทยดีขึ้น และการสนทนามีความเป็นมนุษย์มากขึ้น โดยนักวิจัยจาก KBTG Labs และ MIT Media Lab ได้นำเทคโนโลยี K-GPT มาต่อยอดเป็นอีกหนึ่งผลงานสำคัญคือ “คู่คิด” เป็น AI Thought Partners หรือผู้ร่วมคิด ผู้ให้คำปรึกษา-คำแนะนำผ่าน AI คาแรกเตอร์ช้างสองตัวคือ “คะน้า” (สีฟ้า) และ “คชา” (สีชมพู) ที่ถูกเทรนให้มีบุคลิกต่างกัน เพื่อตอบคำถามด้านการเงินการลงทุนในมุมมองที่แตกต่างกัน บนข้อมูลที่เชื่อถือได้ เพื่อประกอบการตัดสินในของผู้ใช้งาน

– คะน้า (ช้างสีฟ้า): มีจินตนาการสูง ชอบการผจญภัย ไม่กลัวอะไร

– คะชา (ช้างสีชมพู): มีตรรกะ มีระเบียบแบบแผน ระมัดระวังความเสี่ยง

 

 

“คู่คิด เกิดจากแนวคิดว่าบางครั้งเราต้องการหาคนปรึกษา แต่ในหลายครั้ง เราหาที่ปรึกษาได้ยาก และก็ไม่รู้ว่าจะได้คำตอบที่เราต้องการไหม เราจึงสร้าง AI สองตัวที่มีบุคลิกไม่เหมือนกัน ทำให้ให้คำตอบคนละมุมมอง อย่าง “คะน้า” มีจินตนาการ ชอบผจญภัย จะให้คำตอบในมุมสร้างสรรค์ ขณะที่คะชา ตรรกะ มีระเบียบแบบแผน ให้คำตอบในมุมตรรกะ” ดร.มนต์ชัย เล่าจุดเริ่มต้นของคู่คิด

 

 

ทางด้าน ดร.พัทน์ ขยายความเพิ่มเติมถึงเหตุผลที่ต้องสร้าง AI สองตัวให้มีบุคลิกและให้คำตอบ หรือมุมมองที่ต่างกัน เพราะพบว่าเวลาคุยกับ AI ทั่วไป อาจได้คำตอบที่มี Bias และมีแนวโน้มให้ข้อมูลเพียงด้านเดียวตามที่ AI ถูกฝึกมา ทำให้บางครั้งเป็นการตีกรอบความคิดของผู้ใช้ไปแล้วว่าต้องคิดอย่างไร

ดังนั้น MIT Medial Lab และ KBTG Labs จึงมองว่าถ้าสร้าง AI สองตัว จะช่วยแก้ปัญหา AI Bias และทำให้ผู้ใช้งานไม่ได้เชื่อใน AI ตัวใดตัวหนึ่ง 100% แต่มีสองตัวคอยบาลานซ์กันอยู่ เพื่อให้มุมมองที่กว้างขึ้นใช้ประกอบการตัดสินใจ

“การสร้าง AI สองตัว ตอบพร้อมกัน ตัวหนึ่งให้คำตอบแบบหนึ่ง อีกตัวหนึ่งให้คำตอบอีกแบบ ทำให้คนใช้งานรู้สึกว่าตัวเองควบคุม AI ไม่ได้ให้ AI ชักนำความคิดเรา แต่เราเป็นคนที่เห็นคำตอบในมิติต่างๆ ซึ่งคู่คิดเป็นตัวอย่างของการออกแบบ AI ที่สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ กับ AI โดยไม่ได้ชักนำความคิดมนุษย์” 

ปัจจุบันผลงาน “คู่คิด” อยู่ระหว่างการทดลองใช้กับกลุ่มเป้าหมาย (Pilot Group) เพื่อให้มั่นใจความพร้อมของระบบ ก่อนจะ Scale เปิดให้คนทั่วไปได้ใช้

 

“Future Jobs” แพลตฟอร์มค้นหาอาชีพที่ใช่! กับตัวเราเอง

เมื่อครั้งที่เราทุกคนยังเป็นนักเรียน นักศึกษา มักฝันว่าโตขึ้นอยากเป็นอาชีพนั้น อาชีพนี้ แต่ยังจินตนาการไม่ออกว่า แล้วอาชีพ หรือสายงานที่อยากเป็นนั้น ต้องทำอย่างไรเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย หรืออาจจะยังนึกไม่ออกว่าตัวเองอยากทำอาชีพอะไร ?

จากอินไซต์ดังกล่าวนำมาสู่อีกหนึ่งผลงานสำคัญ “Future Jobs” ต่อยอดจาก Future You และ คู่คิด เพื่อให้คำแนะนำอาชีพจากการประมวลผลข้อมูลที่ผู้ใช้กรอกเข้ามา แสดงผลออกมาเป็น 6 อาชีพที่มีความเป็นไปได้ ประกอบด้วย 3 อาชีพที่ผู้ใช้เลือกเอง และอีก 3 อาชีพที่ AI แนะนำ

 

 

“ความน่าสนใจของ Future Jobs อยู่ตรงที่เมื่อผู้ใช้ใส่ข้อมูลของตัวเองเข้าไป แล้ว AI เอาข้อมูลนั้นมาผสมกับข้อมูลของอาชีพนั้นๆ แล้วแสดงผลออกมา เช่น ตัวเราชอบกินอาหารแบบนี้ มีชีวิตประจำวันแบบนี้ มีความสนใจอาชีพแพทย์ จากนั้น AI จะนำข้อมูลของผู้ใช้ บวกกับข้อมูลอาชีพ ประมวลผลออกมาว่าถ้าผู้ใช้คนนั้นๆ มีอาชีพเป็นแพทย์แล้ว จะเป็นอย่างไร และรายละเอียดสายอาชีพนั้นๆ แตกต่างจากการ search ในอินเทอร์เน็ต หรือการคุยกับ AI ที่ว่าเราใส่อาชีพลงไปแล้ว จะได้ข้อมูลทั่วไปที่ไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงสำหรับตัวเราเอง

เราพัฒนา Future Jobs เพื่อต้องการให้แรงบันดาลใจน้องๆ นักเรียน นักศึกษาให้เห็นความเป็นไปได้ในตัวเราเต็มไปหมดเลย ไม่ใช่แค่เห็นตัวเองในกรอบเล็กๆ ซึ่ง Future Jobs จะช่วยขยายความเป็นไปได้นั้น” ดร.พัทน์ อธิบายเพิ่มเติม

แน่นอนว่าในงาน KBTG Techtopia ได้นำผลงาน Future Jobs มาให้ผู้ร่วมงานได้ทดลองใช้ด้วยเช่นกัน ปรากฏว่าเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ที่ได้การตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ยังอยู่ในช่วงวัยเรียน

ดร.มนต์ชัย เล่าว่า การตอบรับของผู้เข้าร่วมงานที่ทดลองใช้ Future Jobs ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษา ซึ่งบางคนยังไม่แน่ใจว่าอยากจะทำงานตรงสายที่เรียนหรือเปล่า ขณะที่บางคนยังไม่รู้เป้าหมายของตัวเอง และบางคนอยากทำอาชีพนี้ แต่ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร เราจึงให้ทดลองใช้ Future Jobs โดยให้เลือก 3 อาชีพที่สนใจอยากทำ และ AI จะแนะนำอีก 3 อาชีพจากข้อมูลที่ให้ หลังจากประมวลผลออกมา และมีข้อมูลแต่ละอาชีพ หลายคนรู้สึกตรงใจเขา รู้สึกถึงความเป็นไปได้ที่จะไปถึงอาชีพที่อยากเป็น

 

“FinLearn” เรียนรู้ด้านการเงิน ผ่าน Personalized Virtual Character

อีกหนึ่ง Purpose ของความร่วมมือ KBTG และ MIT Media Lab คือ ด้านการศึกษา ด้วยการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการเงิน (Financial Literacy) ประกอบกับหลังจากศึกษาการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ กับ AI ผ่านโปรเจกต์ต่างๆ มาได้สักพัก พบว่า “Personalized Virtual Character” สามารถสร้าง Impact ต่อการเรียนรู้ของคนอย่างมาก จึงเป็นที่มาของผลงาน “FinLearn” แพลตฟอร์ม AI Education ให้ความรู้ด้านการเงิน เพื่อสร้าง Financial Literacy ให้กับผู้คน

“โปรเจกต์ FinLearn ต่อยอดมาจากงานวิจัย MIT Media Lab เรื่อง Personalized Virtual Character พบว่าการเรียนรู้ผ่านคาแรคเตอร์ที่ผู้ใช้งาน หรือผู้เรียนชอบ จะมีแรงบันดาลใจ หรือมีแรงจูงใจในการเรียนรู้มากขึ้น แม้ว่าบทเรียนนั้นจะยาก หรือซับซ้อนก็ตาม  

เราจึงเอา Personalized Virtual Character มาบวกกับความรู้ด้าน Financial Literacy ซึ่งปัจจุบันพบว่าความรู้ด้านการเงินไม่ได้ถูกสอนอย่างแพร่หลายในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ดังนั้นเรามองว่าการมีความรู้ความเข้าใจ และพฤติกรรมทางการเงินที่ดี จะเป็นรากฐานการบริหารจัดการการเงินที่ดี” คุณพัทน์ อธิบายที่มาของ FinLearn

ทางด้าน ดร.มนต์ชัย ขยายความเพิ่มเติมถึง Personalized Virtual Character ของแพลตฟอร์ม FinLearn ออกแบบมา 3 คาแรกเตอร์ เป็น AI Instructor ให้ความรู้ด้านการเงิน ประกอบด้วย Luna ครูผู้หญิง, Captain ครูผู้ชาย และ Ura เป็นแอนิเมชันช้าง ซึ่งครูทั้ง 3 คาแรกเตอร์ สอนในเนื้อหาเดียวกัน แต่มีการใช้ภาษาและวิธีการสื่อสารแตกต่างกัน

เช่น ถ้าเลือกคาแรกเตอร์ Ura แอนิเมชันช้าง วิธีการสื่อสารและภาษาเน้นความสนุก เข้าใจง่าย ขณะที่ครู Captain เน้นตรรกะ เป็นทางการ ส่วนครู Luna สไตล์สายซัพพอร์ต คอยให้กำลังใจผู้เรียน โดย AI Instructor จะสอนทั้งผ่านการเปิดสไลด์ประกอบการเรียน ขณะที่ผู้เรียนสามารถยกมือตอบ หรือแชทคุยได้ เพราะฉะนั้นแพลตฟอร์ม FinLearn เป็นการออกแบบให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ได้หลายมิติ

“การเอาเนื้อหาให้เด็กเรียนรู้ กับผู้ใหญ่เรียนรู้ คาแรกเตอร์ วิธีการสื่อสาร และการใช้ภาษาแตกต่างกัน จะตอบโจทย์ผู้ใช้แต่ละกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ดร.มนต์ชัย อธิบายเหตุผลที่ออกแบบครูผู้สอนให้มีคาแรกเตอร์ต่างๆ

 

“Finly” เพื่อนคู่คิดทางการเงิน สร้าง Financial Literacy พร้อมปรับพฤติกรรมการเงินให้ดีขึ้น

 

จาก FinLearn ต่อยอดสู่ “Finly” เพื่อนคู่คิดทางการเงิน (Financial Companion) ถือเป็นโปรเจกต์วิจัยล่าสุด มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้กับคนไทย (Financial Literacy) และเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์-บริการทางการเงินต่างๆ ของ KBank เช่น ผู้เรียนได้เรียนรู้เรื่องการออมแล้ว สามารถออมเงินได้จริงผ่านธนาคารฯ หรือเรียนรู้การลงทุน สามารถเชื่อมต่อแพลตฟอร์มการลงทุนในเครือกสิกรไทยได้

โดย AI จะให้คำแนะนำด้านการเงิน การออม การลงทุน และให้โจทย์ challenge ที่ปรับตามความเหมาะสมของผู้ใช้แต่ละคนจากข้อมูลและการตั้งเป้าหมาย (Goal Setting) ที่ได้ให้ไว้ เช่น Daily challenge, Weekly challenge เพื่อสร้าง Small Win ให้กับผู้ใช้งาน เป็นแรงจูงใจเชิงบวกที่ช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเงินที่ดีขึ้น

“ที่มาของ Finly ต่อยอดจาก FinLearn เพื่อตอบโจทย์ทั้งการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการเงินให้กับคนไทย ควบคู่กับด้าน Business ซึ่งปัจจุบัน Finly ยังอยู่ขั้นตอนของ MVP (Minimum Viable Product) เพื่อทดลองดูว่าถ้าเป็นโปรดักต์แล้ว จะไปในทิศทางไหน

จะเห็นได้ว่าหลายงานที่เราดำเนินการ ค่อยๆ พัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากการศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ กับ AI นำไปสู่การสร้างผลงานที่สามารถสร้างแรงจูงใจเชิงบวก สร้างการเรียนรู้และความเข้าใจด้านการเงิน ช่วยด้านสุขภาพจิต และล่าสุดเราหวังว่าจะได้เห็น Finly ถูกนำไปพัฒนาใน scale ใหญ่ และสามารถตอบโจทย์ด้านการเงินให้กับลูกค้าของกสิกรไทยต่อไปได้” ดร.มนต์ชัย และคุณพัทน์ ร่วมกันอธิบายที่มาของวัตถุประสงค์ของการพัฒนา Finly

 

สร้างวัฒนธรรมองค์กร “Deep Tech Research” ในองค์กร KBTG

ไม่เพียงแต่งานวิจัย และโปรเจกต์เทคโนโลยีต้นแบบที่ร่วมกันพัฒนาขึ้นเท่านั้น ความร่วมมือครั้งนี้ยังส่งเสริมการสร้าง Culture ของ KBTG ในด้านการศึกษาค้นคว้า “Deep Tech Research” และการเปิดโอกาสให้ทีมได้พัฒนา “Prototype” เหมือนเช่น MIT Media Lab ที่ทำ Deep Research และจัดแสดง Demo ต้นแบบ

“ถ้าเราเห็นบริษัท AI ทุกวันนี้เกิดขึ้นมากมาย เทคโนโลยี AI เหล่านั้นใช้เวลาศึกษาวิจัยไม่ต่ำกว่า 5 – 10 ปี ถึงจะเกิดเป็นโปรดักต์ ดังนั้นเราควรจะสร้าง Culture ของการทำ “Deep Tech Research” ซึ่งปัจจุบัน MIT Medial Lab มีการค้นคว้าวิจัย และทดลองพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ แล้วทำ Prototype ให้คนได้เล่น ได้ลอง และฟีดแบคได้ ซึ่งสิ่งนี้เกิดขึ้นในไทยแล้ว

อย่างความร่วมมือกับ KBTG เราอยากเห็นการทำ Deep Research ต่อไปในอนาคต ซึ่งการสร้าง Culture “Deep Tech Research” จะได้ผลในระยะยาวมากกว่าการที่เรามีโปรดักต์อันหนึ่งที่สำเร็จด้วยซ้ำ” ดร.     พัทน์ แสดงมุมมองการให้ความสำคัญกับ Deep Tech Research

สำหรับ KBTG Labs หนึ่งในหน่วยงานสำคัญของ KBTG ตั้งขึ้นมาเมื่อ 5 – 6 ปีที่แล้ว ปัจจุบันมีนักวิจัยกว่า 20 คน ได้มีการส่งเสริมให้นักวิจัยทำ Deep Tech Research เช่นกัน

ดร.มนต์ชัย เล่าถึงการสร้าง Culture “Deep Tech Research” ต้องมาจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารระดับสูงก่อน ทั้งการเปิดรับคนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามา และนอกเหนือจากงานที่นักวิจัยทำให้กับองค์กรแล้ว ต้องเปิดโอกาสให้นักวิจัยได้นำเสนอไอเดีย และสามารถแสดง Prototype เพื่อต่อยอดสู่การเป็นผลิตภัณฑ์และบริการจริงในอนาคต

ตัวอย่างเช่น เหมียวจด แอปฯ บันทึกรายจ่ายอัตโนมัติจากสลิปโอนเงิน, ขุนทอง Social Chatbot บนแพลตฟอร์ม LINE ช่วยจัดการเรื่องเงินๆ ทองๆ ของกรุ๊ปเพื่อนใน LINE ที่พัฒนาจากไอเดียที่เกิดจากคนในทีมไม่กี่คน จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินในปัจจุบัน

“DNA ของนักวิจัย KBTG Labs ชอบในงานวิจัย และ fail ได้ แต่ fail แล้วต้องลุกขึ้นมาทำต่อได้ และไม่ทำงานแบบ Silo ที่ทำคนเดียว เพราะปัจจุบันคนทำงานต้องมีทักษะที่หลากหลาย แต่ก็ยากที่คนๆ หนึ่งจะมีหลายทักษะ ดังนั้นเราเอาคนที่มีความรู้หลายสาย หลายทักษจากหลายคนมาร่วมกันทำงานที่นี่” ดร.มนต์ชัย สรุปทิ้งท้ายถึงการพัฒนานักวิจัย KBTG Labs

จากเส้นทางความร่วมมือระหว่าง KBTG และ MIT Media Lab ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ไม่เพียงแต่ผนึกกำลังกันในด้านงานวิจัย และการพัฒนาผลงาน Prototype ที่ยึดมั่นแนวคิด Human-first, AI-first Transformation เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี Human-AI Augmentation เท่านั้น ขณะเดียวกันยังย้อนกลับมาสู่การส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรม “Deep Tech Research” ของ KBTG เช่นกัน เพื่อเดินหน้าค้นคว้า วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีที่จะสร้าง Impact หรือผลกระทบเชิงบวกต่อผู้คนและสังคมทั้งในประเทศไทย และระดับโลก

 

#KBTG #MITMediaLab #KBTGFellow #Technology

#GenerativeAI #BeyondBanking #FutureYou #Coinnovation


  • 2.3K
  •  
  •  
  •  
  •