การวัดความสำเร็จของการทำธุรกิจ หรือแบรนด์ในทุกวันนี้ แน่นอนว่ามิติด้าน “ผลกำไร” ยังเป็นมาตรวัดการเติบโตทางธุรกิจ และตอบโจทย์ผู้ถือหุ้น ทว่าองค์กร หรือแบรนด์นั้นๆ จะดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน และเป็นที่ยอมรับของผู้คนในสังคม ย่อมต้องแสดงให้เห็นถึง “Purpose-driven” คือ เจตจำนงขององค์กร หรือแบรนด์นั้นๆ มีวิสัยทัศน์ มีความมุ่งมั่น และมีเป้าหมายอย่างชัดเจนในด้านของผลกระทบเชิงบวก ทั้งต่อพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า ตลอดจนชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม
องค์กร หรือแบรนด์ใดที่มี Purpose และดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ สิ่งที่จะได้กลับมาในระยะยาว ย่อมมากไปกว่าด้าน “ผลกำไร” แต่คือ การเป็นแบรนด์ที่มีความหมาย (Meaningful Brand) ในใจผู้บริโภคให้ความเชื่อใจ-ไว้วางใจ และรักในแบรนด์ หรือองค์กรนั้นๆ (Brand Love)
MarketingOops! รวบรวมกรณีศึกษา 5 องค์กรระดับโลกที่มีเจตจำนงและลงมือทำด้าน “CSR” (Corporate Social Responsibility) อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม ทั้งด้านการพัฒนาคน – ชุมชน – สังคม และสิ่งแวดล้อม จนสามารถเสริมสร้างศักยภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนชุมชน – สังคม และเป็นส่วนหนึ่งของการปกป้องดูแลสิ่งแวดล้อม
“King Power” เชื่อในพลังคนไทย สร้างโอกาสด้านกีฬา-ดนตรี-ชุมชน ไปสู่เวทีระดับโลก
เพราะเชื่อในพลังของคนไทย และพลังแห่งความเป็นไปได้ (The Power of Possibilities) “กลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์” (King Power Group) หนึ่งในผู้นำธุรกิจท่องเที่ยวระดับโลก จึงพร้อมสนับสนุนมอบโอกาสให้คนไทยได้พัฒนาไปสู่เวทีระดับโลก
ดังจะเห็นได้จากการเข้าซื้อสโมสร “เลสเตอร์ ซิตี้” (Leicester City) ในปี 2010 ซึ่งในเวลานั้นอยู่ในชั้นแชมป์เปี้ยนชิพ เมื่อกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ เข้ามาบริหาร ได้ให้การสนับสนุนทั้งด้านเงินทุน การพัฒนาศักยภาพของทีมนักเตะอย่างจริงจัง และสร้างความเป็นหนึ่งเดียว
ในที่สุดแล้วผลจากพลังของความเชื่อว่าทุกอย่างสามารถเป็นไปได้ ความมุ่งมั่น และการฝึกฝนอย่างหนัก ทำให้เสลเตอร์ ซิตี้ ขยับขึ้นมาอยู่ในชั้นพรีเมียร์ลีกได้สำเร็จ และคว้าแชมป์ฤดูกาล 2015 – 2016 สร้างตำนานบทใหม่ของ “จิ้งจอกสยาม” ให้เป็นที่พูดถึงไปทั่วโลก และเป็นความภาคภูมิใจของชาวเมืองเลสเตอร์ รวมทั้งคนไทย
ขณะที่ล่าสุดจิ้งจอกสยามตัวนี้ ยังสร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ให้กับสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ในรอบ 137ปี! ด้วยการคว้าแชมป์ฟุตบอลเอฟเอ คัพ 2021 มาครองได้สำเร็จ
จะเห็นได้ว่าการสนับสนุนและให้โอกาส เป็นหนึ่งใน DNA ของ “กลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์” ดังนั้นจากประสบการณ์และความสำเร็จของการเข้าบริหารสโมสรเสลเตอร์ ซิตี้ นำมาสู่การต่อยอดเป็นโครงการ “คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย” (King Power Thai Power) ที่เล็งเห็นและเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทยว่าหากได้รับการพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุน ย่อมสามารถก้าวไกลสู่เวทีระดับโลกได้ ภายใต้โครงการ “คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย” (King Power Thai Power) ให้การสนับสนุน 3 ด้านหลักคือ ด้านกีฬา, ดนตรี และชุมชน
โดยตลอดระยะเวลา 5 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งโครงการในปี 2017 “คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย” สร้างประโยชน์ให้กับผู้คน และชุมชนไปแล้วมากกว่า 20,000,000 คนทั่วประเทศ ได้พัฒนาความสามารถ เข้าถึงโอกาส และความรู้ ทั้งในด้านกีฬา ดนตรี รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจท้องถิ่นทั่วประเทศไทย ซึ่งกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ ยังคงยึดมั่นกรอบการดำเนินงานด้าน CSR ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
– ด้านกีฬา (Sport Power) ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพให้กับเยาวชน และคนไทยในด้านกีฬาฟุตบอลให้ไปสู่ระดับโลก ด้วย 2 โครงการหลักคือ
- โครงการล้านลูก ล้านพลัง สร้างฝันเด็กไทย ส่งมอบลูกฟุตบอลมาตรฐานจำนวน 1 ล้านลูก ให้กับเยาวชนและชุมชนทั่วประเทศไทย เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ และพัฒนาศักยภาพด้านกีฬาให้กับเยาวชนไทย
(Photo Credit : King Power Thai Power)
- โครงการ 100 สนาม สร้างพลังเยาวชนไทย จัดสร้างสนามฟุตบอลหญ้าเทียมมาตรฐานสากล จำนวน 100 สนาม ให้กับโรงเรียนและชุมชนทั่วประเทศไทย เพื่อให้เยาวชนและคนไทยได้สนามฟุตบอลหญ้าเทียมระดับมาตราฐานสากลไว้ฝึกซ้อม พร้อมสร้างโอกาสให้กับผู้ที่รักฟุตบอล ได้ฝึกฝนทักษะของตนเอง เพื่อต่อยอดความฝันมุ่งสู่การเป็นนักเตะมืออาชีพต่อไป
(Photo Credit : King Power Thai Power)
ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา “คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์” ได้ส่งมอบลูกฟุตบอลมากกว่า 700,000 ลูก และสนามฟุตบอลมาตราฐานสากลไปแล้ว 88 สนาม ช่วยเสริมสร้างความแข็งและและแรงบันดาลใจให้กับคนไทยใน 5,400 ชุมชน ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด
– ด้านดนตรี ผนึกกำลัง “วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและส่งเสริมศักยภาพคนไทยในด้านดนตรี ก้าวไปสู่เวทีดนตรีระดับสากล ผ่านกิจกรรมประกวดเพื่อที่จะเพิ่มโอกาสให้กับผู้ที่มีใจรักดนตรี และมีความสามารถด้านดนตรี ได้มีเวทีในการแสดงความสามารถ พัฒนาศักยภาพ และเพิ่มพูนประสบการณ์ไปสู่การเป็นนักดนตรีอาชีพในอนาคต
(Photo Credit : King Power Thai Power)
โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ ได้ดำเนินการจัดการประกวดวงดนตรีสากลสมัยนิยมผสมเครื่องเป่า (The Power Band) จัดการแข่งขันประกวดดนตรี The Power Band Season 1 และ 2 สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้นักดนตรีเข้าร่วมประกวดมากกว่า 200 วง จากทุกภูมิภาคของประเทศไทย
– ด้านชุมชน (Community Power) ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนและพัฒนาสินค้าภูมิปัญญาไทย และสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนท้องถิ่น
โดยสร้างความร่วมมือทั้งกับชุมชนท้องถิ่น ภาครัฐ และภาคเอกชนในการแบ่งปันองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการในชุมชน และร่วมพัฒนาสินค้าจากภูมิปัญญาของคนไทย เพื่อยกระดับฝีมือ และความชำนาญไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าและมาตรฐานยิ่งขึ้น
นอกจากยกระดับสินค้าภูมิปัญญาไทย และเศรษฐกิจท้องถิ่นแล้ว ขณะเดียวกันยังเป็นการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวด้วย เนื่องจากผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น มีเสน่ห์ และเอกลักษณ์โดดเด่น จึงเป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่มาประเทศไทย
รวมถึงเข้าร่วมพัฒนาสินค้าท้องถิ่น และสนับสนุนช่องทางจำหน่ายไปสู่ตลาดต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น นำสินค้าของที่ระลึกคอลเลคชั่นพิเศษจากภูมิปัญญาของคนไทย ไปวางจำหน่ายที่ “ฟ็อกซ์เซส แฟนสโตร์ แอท คิง เพาเวอร์ สเตเดียม” เมืองเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ และประเทศอื่นๆ ทั่วทุกทวีป จำนวน 8 ประเทศ
การสร้างพลังชุมชน ยังครอบคลุมถึงการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนชาวไทย จากกรณีได้รับผลกระทบจากภัยภิบัติต่างๆ ด้วยเช่นกัน โดยให้ความช่วยเหลือไปแล้วกว่า 6,000 ครัวเรือน
(Photo credit : King Power Thai Power)
นอกจากโครงการคิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ มุ่งพัฒนา 3 แกนหลักแล้ว “กลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์” ยังตระหนักและให้ความสำคัญกับ “ความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม” ด้วยการบริหารจัดการในองค์กร เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ และนำนวัตกรรมใหม่มาใช้ เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้า และมุ่งเป็นส่วนหนึ่งในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ความสำเร็จของวิสัยทัศน์ และความมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เติบโตคู่ไปกับสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมของ “กลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์” ไม่เพียงแต่ช่วยสร้างประโยชน์ให้กับผู้คน และชุมชนทั่วประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นต้นแบบ และแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วโลกถึงการ “ให้โอกาส” และ “เชื่อในทุกความเป็นไปได้” สะท้อนได้จากการได้รับรางวัล ทั้งในระดับประเทศ และระดับสากล
ไม่ว่าจะเป็นรางวัล Asia Responsible Enterprise Awards 2019 ด้าน “Social Empowerment” การสร้างความเข้มแข็งให้สังคม, รางวัล Asia Responsible Enterprise Awards 2020 ด้าน “Social Empowerment” การสร้างความเข้มแข็งให้สังคม
รางวัล DFNI – Frontier Asia Pacific Awards 2020 ด้าน “CSR or Sustainability Initiative of The Year” รางวัลผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ในปี 2021 สามารถคว้ารางวัล Asia Responsible Enterprise Awards 2021 ด้าน “Social Empowerment” การสร้างความเข้มแข็งให้สังคม จากนั้นในปี 2565 ได้รับรางวัล Global Good Governance (3G) Awards 2022 ด้าน “การดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม” และรางวัล The International CSR Excellence Awards 2022 ด้าน “โครงการเพื่อสังคมยอดเยี่ยม”
“Starbucks” เดินหน้าสร้างความยั่งยืนระบบนิเวศธุรกิจกาแฟ
หากนึกถึง Iconic Brand ระดับโลก เชื่อว่าหลายคนต้องนึกถึงคือ “Starbucks” (สตาร์บัคส์) ที่นิยามตัวเองป็น “People Business” ด้วยการสร้าง “Starbucks Experience” ให้กับลูกค้า ซึ่งกว่าจะมาเป็นประสบการณ์ Starbucks มาจากโมเดลธุรกิจที่ให้ความสำคัญ 3 แกนหลักคือ “People – Planet – Governance”
(Photo Credit: Starbucks)
“People” ครอบคลุมตลอดทั้ง Value Chain ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน – เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ – ชุมชน
– พาร์ทเนอร์ (พนักงาน) เพราะเชื่อว่าการขับเคลื่อนธุรกิจ และความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้น มาจากบุคลากร จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น เช่น ในปีงบประมาณ 2022 Starbucks ที่สหรัฐฯ จัดสรรงบด้านบุคลากร 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใช้สำหรับการปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้น – สวัสดิการการพนักงาน และพัฒนา Store Experience
– เกษตรกร Starbucks มีหลักการรับซื้อกาแฟจากชาวไร่กาแฟอย่างมีจริยธรรมที่เรียกว่า “Coffee and Farmer Equity (C.A.F.E.) โดยไม่ได้คำนึงถึงการรับซื้อคุณภาพเมล็ดกาแฟที่ดีเยี่ยมเท่านั้น แต่กาแฟที่รับซื้อนั้น ต้องมาจากแหล่งปลูกที่ยั่งยืน ปลูกใต้ร่มไม้ใหญ่ เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมใกล้เคียง และรับซื้อด้วยราคาที่เป็นธรรม
(Photo Credit: Starbucks)
– ชุมชน Starbucks กำหนดเป้าหมายภายในปี 2030 จะยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คนกว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลกที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ Starbucks หนึ่งในการดูแลชุมชนคือ โครงการส่งต่ออาหาร “Starbucks FoodShare” เริ่มในปี 2016 ที่สหรัฐฯ ต่อมาขยายไปยังประเทศต่างๆ เช่น แคนาดา, สหราชอาณาจักร, ญี่ปุ่น, เม็กซิโก รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน ได้ทดลองนำร่อง 8 สาขาในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่งต่ออาหารที่ไม่ได้จำหน่ายภายในร้านเหล่านี้ ให้กับชุมชนบริเวณโดยรอบที่ต้องการ
(Photo Credit: Starbucks)
“Planet” ด้านสิ่งแวดล้อม Starbucks ตั้งเป้าหมายปี 2030
– ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 50%
– ลดการใช้น้ำในการดำเนินธุรกิจและในการผลิตกาแฟให้ได้ 50% โดยอาศัยการอนุรักษ์และฟื้นฟูน้ำสู่สภาพเดิม
– ลดจำนวนขยะที่นำไปฝังกลบให้ได้ 50%
เพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ จึงได้กำหนดแนวทางดำเนินการ ประกอบด้วย
– ส่งมอบตัวเลือกเมนูเครื่องดื่มและอาหารจากพืช (Plant-based Menu)
– ใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
– เพิ่มการลงทุนด้านการปลูก และอนุรักษ์ป่า รวมถึงการฟื้นฟูสภาพน้ำในห่วงโซ่อุปทาน
– คิดค้นวิธีการจัดขยะที่ดีกว่าเดิม
– สร้างร้านกาแฟที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (Greener Store)
“Governance” การกำกับดูแลกิจการที่ดี คือ รากฐานของความน่าเชื่อถือ ทั้งด้านการเงิน, พาร์ทเนอร์ และผู้มีส่วนได้เสียอย่างยั่งยืน ตามนโยบาย ESG ของ Starbucks ดังนั้นใน Starbucks มีคณะกรรมการกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม, สังคม และธรรมาภิบาล ทำหน้าที่ดูแลการพัฒนา การปฏิบัติ และประสิทธิผลของนโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเป้าหมาย โครงการ และทบทวนรายงานประจำปีด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสังคมทั่วโลกของ Starbucksพร้อมทั้งให้คำแนะนำตามความเหมาะสม
“Unilever” สร้างแบรนด์ให้มีความหมายต่อผู้บริโภคด้วย “Brand Purpose”
ด้วยความที่ “Unilever” (ยูนิลีเวอร์) เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของโลกที่มี Brand Portfolio กว่า 400 แบรนด์ จำหน่ายในกว่า 190 ประเทศ และมีผู้บริโภค 2.5 พันล้านคนใช้ผลิตภัณฑ์ของยูนิลีเวอร์ในทุกวัน ก่อให้เกิดการผลิต การใช้ และขยะบรรจุภัณฑ์หลังจากการใช้-บริโภคมหาศาล
(Photo Credit: Unilever)
Unilever ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงได้กำหนดกลยุทธ์ “Unilever Compass” เพื่อตอกย้ำถึงการดำเนินธุรกิจ และสร้างแบรนด์อย่างมีเจตจำนงในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมภายใต้ 3 แกนหลักคือ
– ส่งเสริมความสมบูรณ์ของโลก: ตั้งเป้าลดการปล่อยมลพิษให้เป็นศูนย์ภายในปี 2039 ด้วยการปกป้องและฟื้นฟูธรรมชาติ คิดค้นบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใหม่ โดยมีเป้าหมายมุ่งลดการใช้เม็ดพลาสติกใหม่ลงครึ่งหนึ่ง และใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ ใช้ซ้ำได้ หรือย่อยสลายได้ 100%เพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และลดปริมาณเศษอาหาร เพื่อลดปริมาณขยะ
– ส่งเสริมสุขภาพ ความมั่นใจ และความเป็นอยู่ของผู้คนดีขึ้น: ทำให้ทุกคนเข้าถึงอาหารคุณภาพดี และเปลี่ยนผ่านสู่การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของห่วงโซ่อาหาร ตลอดจนเพิ่มกลุ่มผลิตภัณฑ์ Plant-based
– สนับสนุนเพื่อโลกที่มีความยุติธรรม และเปิดกว้างทางสังคมมากขึ้น: ทั้งความเสมอภาค ความหลากหลาย และการยอมรับความแตกต่าง ตลอดจนยกระดับมาตรฐานชีวิตผู้คนตลอดทั้ง value chain และสร้างงานให้กับผู้คน
จากกลยุทธ์ Unilever Compass สู่การลงมือทำจริงผ่านโครงการ และแคมเปญต่างๆ ที่ Unilever ในแต่ละประเทศนำไปประยุกต์ใช้ ตัวอย่างเช่นในปี 2020 “Unilever สหราชอาณาจักร” ทดลองทำโซน “Refill Station” เจลอาบน้ำ, สบู่เหลวล้างมือ, แชมพูและครีมนวด และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผ้าแบบน้ำ ภายในซูเปอร์มาร์เก็ต Asda เพื่อลดการใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use) เพื่อลดขยะพลาสติก พร้อมทั้งสร้างพฤติกรรมการใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้ซ้ำ (Reuse) และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบัน “Unilever อินโดนีเซีย” และ “Unilever ประเทศไทย” ได้ทำ Refill Station เช่นกัน
(Photo Credit: Unilever UK)
นอกจากนี้ Unilever ได้ทำแคมเปญระดับโลก “Every U Does Good” หรือ “ทุกๆ ตัวยูทำสิ่งดี”จัดขึ้นในหลายประเทศ รวมทั้งไทย เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคร่วมทำสิ่งดีๆ ให้กับสังคมได้ง่ายๆ ในทุกวัน ผ่านโครงการ กิจกรรม และผลิตภัณฑ์ของ Unilever ซึ่งทุกแบรนด์มีจุดประสงค์ในการทำสิ่งดีๆ ให้กับสังคม
เช่น บรีส จัดกิจกรรมให้เด็ก “เรียนรู้ เล่นเลอะ เปิดประสบการณ์นอกห้องเรียน” (Outdoor Classroom Day), คนอร์ ร่วมกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) แบ่งปัน 50 เมนูจากพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการตามธรรมชาติ, โดฟ ตั้งเป้าสร้างความมั่นใจและส่งเสริมความงามที่แท้จริงให้กับเยาวชน 250 ล้านคน ภายในปี 2030 และบรรจุภัณฑ์ของซันไลต์ทุกขวดผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล 100% ช่วยลดการใช้เม็ดพลาสติกใหม่ และส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน
“Google” พัฒนาทักษะดิจิทัลให้ผู้คน ขับเคลื่อนการเติบโต Digital Economy
หนึ่งใน purpose ของ “Google” Tech Company ระดับโลกคือ พัฒนาระบบเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Digital Economy ให้เติบโตอย่างยั่งยืน เนื่องจากดิจิทัลจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มโอกาสให้กับผู้คนในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลข่าวสาร ด้านการศึกษา การพัฒนาทักษะ ด้านการค้า ฯลฯ
ความยั่งยืนของ Digital Economy ปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งต้องมาจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างทั่วถึง และการพัฒนา Digital Skill ให้กับประชาชน เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างเท่าเทียม ซึ่ง Google มีพันธกิจพัฒนา “ทักษะดิจิทัล” ให้กับผู้คนในประเทศต่างๆ ผ่านโครงการและความร่วมมือระหว่างองค์กรเอกชน และภาครัฐ เพื่อที่จะรองรับการปรับตัวและเติบโตของเศรษฐกิจ
เช่น ในปี 2017 สหรัฐ Google.org ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลของ Google สร้างความร่วมมือกับ Goodwill องค์กรด้านการพัฒนาคนโดยไม่แสวงหาผลกำไร ร่วมกันพัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับคนในชุมชนท้องถิ่น และช่วยให้ผู้คนได้งานที่ดี โดยไม่จำเป็นต้องจบการศึกษาระดับปริญญา
ล่าสุดปี 2022 Google.org ได้ลงทุนใน Goodwill Digital Career Accelerator เพื่อให้เงินทุนและการสนับสนุนด้านต่างๆ ให้กับ Goodwill ในการฝึกอบรมทักษะดิจิทัลให้กับประชากรอย่างต่อเนื่อง และจัดหางานให้กับผู้ที่กำลังมองหา โดยคาดว่าจะมีประชาชนมากกว่า 1 ล้านคนได้ความรู้ด้านดิจิทัล และมีผู้หางานอีกกว่า 300,000 คนได้งานในเศรษฐกิจดิจิทัล
สำหรับในไทย “Google ประเทศไทย” ร่วมมือกับภาครัฐ และภาคเอกชน ทำโครงการ Digital Skill เช่นกัน อาทิ
– โครงการ “Saphan Digital” พัฒนาทักษะดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจ SME เน้นการให้ความรู้แบบครบวงจร ประกอบไปด้วยเนื้อหาด้าน e-Commerce การสร้างร้านค้าดิจิทัลและการโฆษณาสำหรับหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไร พร้อมเดินหน้าพัฒนาหลักสูตรเพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น โดยสามารถบรรลุตามเป้าหมายในการฝึกอบรมให้แก่ผู้ประกอบการ SME จำนวนมากกว่า 100,000 ราย เป็นไปตามเป้าหมายที่ Google ได้ประกาศไว
– โครงการ “Samart Skills” ฝึกอบรมทักษะดิจิทัลให้กับคนไทย โดยไม่จำเป็นต้องจบการศึกษาในระดับชั้นมหาวิทยาลัย หรือมีประสบการณ์มาก่อนในสายอาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดงานในปัจจุบัน เช่น หลักสูตร IT Support, Data Analytics, Digital Marketing & E-commerce, Project Management, User Experience (UX) พร้อมสร้างโอกาสให้กับทั้งผู้ที่กำลังหางานในสายอาชีพดังกล่าว และบริษัทที่ต้องการบุคคลที่มีความสามารถในทักษะเหล่านี้ไปร่วมงาน
“Adidas” สร้างความยั่งยืนในกระบวนการธุรกิจ
อีกหนึ่ง Global Company ที่มี purpose สร้างความยั่งยืน ทั้งธุรกิจ – สังคม – สิ่งแวดล้อมคือ “Adidas” แบรนด์เสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬารายใหญ่ของโลกที่มี brand attitude อันทรงพลังอย่าง “Impossible is Nothing”
– สินค้า
Adidas จับมือกับ “Parley for the Oceans” องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมนับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา ร่วมกันป้องกันวิกฤตขยะพลาสติกไหลสู่มหาสมุทร เพื่อคิดค้นนวัตกรรมวัสดุใหม่ โดยแปรรูปขยะพลาสติกให้เป็นวัสดุรีไซเคิลโพลีเอสเตอร์ “Parley Ocean Plastic®” นำมาใช้ในการผลิตสินค้า Adidas
ในปี 2020 Adidas ได้ใช้วัสดุรีไซเคิลโพลีเอสเตอร์ ในสินค้ามากกว่า 50% และตั้งเป้าที่จะเปลี่ยนการใช้วัสดุโพลีเอสเตอร์ผลิตใหม่ เป็นวัสดุโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลในการผลิตสินค้าของ Adidas ทั้ง 100% ภายในปี 2024
– กระบวนการผลิตเพื่อความยั่งยืน
Adidas ออกแบบวิธีการทำงานใหม่ เพื่อนำเสนอนวัตกรรมที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ใช้งานได้นานขึ้น เช่น แนวคิดการออกแบบ “Made to be Remade” เพื่อสร้างวัฎจักรหมุนเวียนวัสดุที่สามารถนำผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการใช้งานแล้ว กลับมาผลิตเป็นสินค้าชิ้นใหม่
อย่างรองเท้าวิ่ง Ultraboost Made to be Remade ถูกสร้างขึ้นมาให้ผู้ใช้งานสามารถส่งกลับคืนมาที่ Adidas หลังจากสิ้นอายุการใช้งานแล้ว เพียงสแกน QR Code ที่ตัวรองเท้า ก็จะสามารถค้นหาช่องทางการคืนสินค้ากลับมาได้อย่างง่ายดาย เพื่อให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์และขับเคลื่อนวัฎจักรหมุนเวียน (Circular) ไปด้วยกัน
(Photo credit : Courtesy of Adidas)
– ส่งเสริมความหลากหลาย เสมอภาค และการผสานความแตกต่างเข้าด้วยกัน
ปัจจุบัน Adidas มีพนักงานกว่า 62,000 คนทั่วโลก หนึ่งในนโยบายด้านบุคลากรคือ การสนับสนุนด้านความหลากหลาย (Diversity) – ความเสมอภาค (Equity) – การผสานความแตกต่างเข้าด้วยกัน (Inclusion) หรือเรียกว่า “DEI” เป็นหัวใจความสำเร็จขององค์กร เพราะ Adidas เชื่อว่าการเป็นแบรนด์เสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาที่ดีที่สุด ต้องมาจากบุคลากรที่มีความหลากหลาย เพื่อสะท้อนถึงความหลากหลายของลูกค้า
นอกจากนี้ Adidas ได้ให้คำมั่นสัญญาร่วมต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติในทุกรูปแบบ และตระหนักถึงความรับผิดชอบขององค์กรในการเคารพ “สิทธิมนุษยชน” (Human Rights) โดยมุ่งปกป้องสิทธิของพนักงานและแรงงานที่ผลิตสินค้าให้กับ Adidas ผ่านกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และมาตรฐานสถานที่ทำงาน