สิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องไกลตัวธุรกิจอีกต่อไป เนื่องจากสิ่งแวดล้อมกลายเป็นต้นทุนทางธุรกิจโดยเฉพาะเรื่องของพลังงาน ในขณะที่เรื่องของสังคมเป็นหนึ่งในต้นทุนทางสังคมที่ช่วยส่งเสริมความไว้ใจให้กับธุรกิจ ส่วนในด้านการดำเนินการธรรมาภิบาลจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในด้านความโปร่งใสในการทำธุรกิจ ทั้งหมดนี้ถูกเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า ESG (Environment – Social – Governance)
จุดเริ่มต้นของการทำโครงการ ESG เป็นสิ่งสำคัญเหมือนการติดกระดุมเม็ดแรก หากติดถูกขั้นต่อไปจะกลายเป็นเรื่องง่ายสามารถลดต้นทุนได้อย่างชัดเจน เพื่อให้เห็นภาพการดำเนินโครงการด้าน ESG ได้ชัดเจนและถูกต้อง ขอยกกรณีศึกษาของ 5 ธุรกิจที่เป็นต้นแบบการดำเนินการด้าน ESG การันตีผ่านรางวัล Krungsri ESG Awards 2024
ดูแลจัดการน้ำที่ลดการใช้ไฟ เปลี่ยนตะกอนให้เป็นดินคุณภาพ
น้ำคือปัจจัยสำคัญของการใช้ชีวิตและการทำธุรกิจ การส่งมอบน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการคือหัวใจหลักของ บริษัท อินดัสเตรียล วอเตอร์ รีซอร์ส แมนเนจเม้นท์ จำกัด (IWRM) แต่เพราะการบริหารจัดการน้ำมีต้นทุนด้านพลังงาน การนำพื้นที่ว่างเปล่าบนผิวน้ำมาทำให้กลายเป็น Floating Solar นอกจากจะใช้พื้นที่ว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดต้นทุนด้านพลังงาน
นอกจากนี้กระบวนการผลิตน้ำ มักจะเกิดของเสียในรูปแบบของตะกอน ซึ่งการกำจัดตะกอนจำเป็นต้องใช้ต้นทุนค่อนข้างสูง ด้วยแนวคิด ESG ทำให้มีการนำตะกอนเหล่านั้นมาแปรสภาพให้กลายเป็นดิน ก่อนจะเสริมแร่ธาตุดินด้วยการปลูกพืชตระกูลถั่ว ซึ่งดินนี้สามารถนำไปเพาะปลูกพืชผัก ช่วยลดภาระและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ได้ ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้กับชุมชนโดยรอบธุรกิจ

“ปัจจุบัน โลกไม่ได้แข่งขันกันด้วยราคา แต่แข่งกันที่ต้นทุน ESG จะเป็นทางออกของต้นทุนในอนาคต ซึ่งในแต่ละปีเราต้องเสียค่าบริหารจัดการตะกอนคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท ปัจจุบันเราสามารถเปลี่ยนจากตะกอนให้กลายเป็นดิน ที่มีคุณภาพ แล้วนำไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้าน รวมไปถึงการติดตั้งระบบ Floating Solar ที่ช่วยให้เราแทบไม่ได้ใช้ไฟฟ้าจากส่วนกลาง” คุณธนวัฒน์ สันตินรนนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินดัสเตรียล วอเตอร์ รีซอร์ส แมนเนจเม้นท์ จำกัด (IWRM) กล่าว
ลดพลังงานด้วยหลักธรรมชาติ ส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ชุมชน
ชุมชนที่แข็งแรงจะช่วยให้ธุรกิจยั่งยืน หลักการทำงานเบื้องต้นบนแนวทาง ESG ที่ บริษัท แอคมี่ การ์เมนท์ จำกัด (ACME) ยึดถือมาตลอด เพราะธุรกิจตัดเย็บเสื้อผ้าจำเป็นต้องใช้แรงงานฝีมือจำนวนมาก ทำให้มีการฝึกทักษะ ความสามารถด้านการตัดเย็บ ซึ่งสามารถรับงานกลับไปตัดเย็บที่บ้านช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีมีเวลาให้ครอบครัวก่อเกิดเป็นวิสาหกิจชุมชน
นอกจากนี้ ยังช่วยให้สามารถจ่ายค่าตอบแทนได้อย่างเป็นธรรม ใครขยันรายได้ก็สูง ที่สำคัญยังได้นำหลักธรรมชาติในการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เย็นสบาย โดยอาศัยการไหลผ่านของน้ำแล้วให้อากาศนำพาความเย็นของน้ำกระจายสู่พื้นที่ทำงาน ช่วยลดการใช้พลังงานจากเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ ส่งผลให้ต้นทุนการใช้พลังงานลดลงตามแนวทางของ ESG
“ESG ไม่ใช่แค่ทำแล้วดี แต่มันกลายเป็นสิ่งที่ต้องทำ ไม่อย่างนั้นเราจะอยู่ไม่ได้จริงๆ เครื่องจักรของเราทุกตัวใช้มอเตอร์ประหยัดพลังงาน รวมไปถึงเครื่องปรับอากาศที่ทุกคนรู้ดีว่ากินไฟค่อนข้างมาก เราใช้วิธีดูดอากาศจากภายนอก ผ่านความเย็นของน้ำ ช่วยให้พนักงานได้รับอากาศใหม่อยู่ตลอดเวลาและลดการใช้พลังงานในการปรับอากาศ ช่วยให้สุขภาพของพนักงานดีขึ้น

รวมไปถึงยังแจกจ่ายงานให้กับผู้คนในพื้นที่เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรายได้เสริม สามารถทำงานที่บ้านได้ช่วยให้ไม่ไปรบกวนการใช้ชีวิตที่เป็นอยู่เดิม” คุณพีรวัฒน์ ทองปิยะ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอคมี่ การ์เมนท์ จำกัด (ACME) กล่าว
ดำเนินการด้าน ESG เต็มรูปแบบสร้างการเติบโตร่วมกับชุมชน
ด้วยคำว่า “โรงงาน” ในภาพลักษณ์ของหลายคนมักจะมองภาพในแง่ลบ การดำเนินโครงการ ESG จะช่วยให้เห็นถึงการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมไปกับชุมชน ตามแนวคิดของ บริษัท นิวทรีชั่น เอสซี จำกัด (มหาชน) (NTSC) ที่ช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นด้วยการสนับสนุน Supplier ที่ดำเนินโครงการ ESG รวมไปถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมรอบโรงงานเพื่อให้เป็นมิตรกับชุมชน รวมไปถึงการดำเนินการเพื่อคัดแยกขยะและบริหารจัดการขยะ
นอกจากนี้ยังส่งเสริมและสนับสนุนความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับชุมชน ผ่านโครงการต่างๆ ทั้งการจัดอบรมให้ความรู้และการมอบทุนการศึกษา พร้อมทั้งยังส่งเสริมเกษตรกรด้วยการนำผลิตภัณฑ์ด้อยค่ามาพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม และการลดใช้พลังงานที่เป็นต้นทุนหลัก ผ่านการติดตั้ง Solar Rooftop ทำให้สามารถช่วยลดต้นทุนให้กับธุรกิจ

“ESG เรามองว่าเป็นโอกาสที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตในระยะยาว รวมถึงการลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ ด้วยการคัดเลือก Supplier ที่ผ่านการประเมินด้าน ESG โดยใช้เกณฑ์ Green Procurement เป็นหลัก รวมถึงการร่วมกับชุมชนในการดำเนินโครงการต่างๆ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและการส่งเสริมสนับสนุนด้านความรู้ เราอาจไม่จำเป็นต้องใช้เงินทุนมาก แค่เพียงสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้ผู้รับรู้สึกได้ สุดท้ายก็จะทำให้ทุกภาคส่วน สามารถอยู่ร่วมกันได้และเติบโตร่วมกันได้อย่างยั่งยืน” ดร.พัชร์ เอกปัญญาสกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท นิวทรีชั่น เอสซี จำกัด (มหาชน) (NTSC) กล่าว
เปลี่ยนของเหลือสู่พลังงานลดต้นทุน พัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้
ของเหลือจากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเป็นปัญหาสำคัญของธุรกิจเทียบเท่ากับต้นทุนด้านพลังงาน แต่หากเปลี่ยนของเหลือเหล่านั้นให้กลายเป็นพลังงานจะสามารถช่วยลดต้นทุนได้อย่างมหาศาล ด้วยแนวคิด ESG ที่ บริษัท ชัยภูมิพืชผล จำกัด (CPP Group) มองเห็น ทำให้เกิดการนำกากมันสำปะหลังและน้ำเสียไปพัฒนาสู่ BioGas ที่เข้ามาทดแทนการใช้น้ำมันเตาเกือบ 100%
เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับชุมชน มีการเปิดโอกาสให้เป็นแหล่งเรียนรู้ โดยเฉพาะการปลูกหญ้าเนเปียร์เพื่อช่วยดูดซับน้ำเสียจากการบำบัด และต้นหญ้าเหล่านั้นยังสามารถนำไปแจกจ่ายให้กับเกษตรกรในการเป็นอาหารสัตว์ได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีการรับซื้อสินค้าเกษตรกรอย่างเป็นธรรม รวมไปถึงการหานวัตกรรมเพื่อเข้ามาใช้ในการลดต้นทุนการใช้พลังงาน

“โลกร้อนเรียกได้ว่าเป็นปัญหาจริงๆ แล้ว แล้วรุ่นของเราจะเป็นรุ่นสุดท้ายที่สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้ ก่อนที่จะสายเกินไป โดยเรามีการจัดการเรื่องพลังงาน โดยเฉพาะเรื่องของต้นทุนพลังงานซึ่งนำเอากากมันสำปะหลังมาผลิตเป็น BioGas ใช้ในโรงงาน และการผลิต BioGas จากน้ำเสีย ซึ่งจะถูกนำมาใช้ทดแทนน้ำมันเตา ในช่วง 5 ปีต่อจากนี้จะยังมีโครงการด้านพลังงานขึ้นมาอีกมากมาย ซึ่งจะช่วยให้สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ในระดับ Net Zero” คุณศสิต พิทยาธิคุณ Business Development Manager บริษัท ชัยภูมิพืชผล จำกัด (CPP Group) กล่าว
ยาของต้นไม้ต้องช่วยส่งเสริมสุขภาพสร้างความยั่งยืนของเกษตรกร
ขึ้นชื่อว่า “สารเคมีปราบศัตรูพืช” หรือในอีกความหมายคือ ยาของต้นไม้ ต้องไม่ควรทำลายสุขภาพของเกษตรกร นั่นคือแนวคิดของ บริษัท แอ็กโกร (ประเทศไทย) จำกัด (AG-GRO) ด้วยแนวคิดของ ESG ทำให้มีการจัดอบรมการใช้สารเคมีอย่างถูกต้องแก่เกษตรกร รวมไปถึงกิจกรรมตรวจเช็คสุขภาพของเกษตรกร เพื่อให้มั่นใจว่าเกษตรกรมีสุขภาพที่ดี และมีความสุขอย่างยั่งยืนในการใช้ชีวิต
รวมไปถึงการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน และแผนงานในอนาคตกับการใช้รถ EV เพื่อขนส่งผลิตภัณฑ์ และการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ภาครัฐกำหนด เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยได้มาตรฐาน ที่สำคัญยังมีการจัดทำข้อมูล Carbon Footprint ที่จะช่วยให้เห็นว่าธุรกิจดำเนิการอย่างไรในด้านพลังงาน ในส่วนของนวัตกรรมมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเทคโนโลยีด้านการเกษตรเข้ามาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

“ESG จะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยทำให้เราประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชน ในด้านกระบวนการผลิตเรามีการตรวจวัดสภาพแวดล้อมการทำงานให้กับพนักงานทุกคน ของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตจะถูกบำบัดก่อนปล่อยออกสู่ธรรมชาติ รวมไปถึงยังมีการวัดปริมาณการปล่อยคาร์บอน รายการจัดอบรมการใช้ผลิตภัณฑ์อย่างถูกวิธีและตรวจเช็คสุขภาพให้กับเกษตรกร โดยดำเนินธุรกิจภายใต้กฎเกณฑ์ที่ภาครัฐกำหนด” คุณสุดสวาท จิรัปปภา กรรมการผู้จัดการสายบริหาร บริษัท แอ็กโกร (ประเทศไทย) จำกัด (AG-GRO) กล่าว
นี่เป็นเพียงตัวอย่างของ 5 ธุรกิจต้นแบบที่ดำเนินโครงการด้าน ESG จนช่วยให้ธุรกิจสามารถประสบผลสำเร็จในลดต้นทุนการใช้พลังงาน สร้างความไว้ใจให้กับชุมชนโดยรอบและสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ
เพื่อสานต่อความสำเร็จและผลักดันให้ธุรกิจไทยก้าวสู่ความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง Krungsri ขอเชิญชวนผู้ประกอบการทุกท่านเข้าร่วมโครงการ Krungsri ESG Awards 2025 ที่จะเป็นโอกาสในการแสดงศักยภาพของธุรกิจในด้าน ESG และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและรายละเอียดการสมัครได้ที่ https://www.krungsri.com/th/business/other-services/krungsri-esg-awards-2025 สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ – 16 เมษายน 2568
มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงและสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจและโลกของเราไปด้วยกัน