โลกพลิกโฉมครั้งใหญ่หลังการแพร่ระบาด เป็นสิ่งที่ทั่วโลกยอมรับและจับตาความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ในอดีตพฤติกรรมของคนในแต่ละซีกโลกแทบไม่จะแตกต่างกันทั้งหมด แต่ปัจจุบันเริ่มมีความใกล้เคียงกันมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของ Digital Banking ที่เป็นกระแสหลักในฝั่งเอเชียก่อนจะกลายเป็นเรื่องปกติของคนทั่วโลก
ส่วนหนึ่งเพราะช่วยลดการสัมผัสกับเงินจริงที่อาจเป็นตัวการในการแพร่เชื้อโรค และยังช่วยสนับสนุนให้การซื้อขายสินค้า e-Commerce ทำได้ง่ายมากขึ้นจากที่ต้องใช้บัตรเครดิตหรือการรับสินค้าแล้วจ่าย (COD) แต่ Digital Banking สามารถทำอะไรได้มากกว่านั้น ที่สำคัญประเทศไทยยังเป็นประเทศต้นๆ ที่ Digital Banking ล้ำหน้าระดับโลก
โดยธนาคารเชส (Chase Bank) หนึ่งในธุรกิจด้านการเงินที่สำคัญของ JP Morgan Chase & Co มองเห็น 3 เทรนด์ที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนกับ Digital Banking และเป็นเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นทั่วโลก ขึ้นกับความพร้อมและศักยภาพของระบบธนาคารในแต่ละประเทศ
Personalization
หลายบริษัทเทคโนโลยีนิยมเปิดตัวอุปกรณ์ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ใหม่ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถอัปเดตและปรับแต่งประสบการณ์ของตัวเอง ในด้านการเงินผู้บริโภคก็ต้องการประสบการณ์แบบเดียวกันจากธนาคาร การให้บริการแบบเฉพาะส่วนบุคคล (Personalization) จะเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2564 ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างผู้บริโภคและธนาคาร
เทคโนโลยีอย่าง AI จะเข้ามามีส่วนอย่างมากในการช่วยให้ธนาคารสร้างประสบการณ์ได้มากขึ้น สอดรับกับความต้องการของลูกค้าแต่ละราย ตัวอย่างเช่น ผู้คนสามารถใช้แอปฯ ธนาคารบนมือถือเพื่อรับข้อเสนอและโปรโมชั่นจากร้านค้าและแบรนด์ที่ชอบ สามารถตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกด้านการใช้จ่ายและแนวโน้มการออม รวมถึงคะแนนเครดิตเพื่อทำการตัดสินใจทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
Automation
ความสะดวกสบายถือเป็นเรื่องสำคัญของ Digital Banking และยังต้องมีประสิทธิภาพในการจัดการด้านการเงินของแต่ละคนได้อย่างดี ระบบอัตโนมัติโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการชำระเงินและการออมจะทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องกังวลเรื่องการเงิน โดยพื้นฐานแล้วผู้บริโภคต้องการใช้แอปฯ บนอุปกรณ์เคลื่อนที่เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำธุรกรรมการเงิน ในอนาคตอาจจะมีเครื่องมืออัตโนมัติที่หลากหลายมากขึ้น
แม้ว่าจะระบบอัตโนมัติจะช่วยให้สะดวกสบายในการจัดการด้านเงิน แต่เบื้องหลังของระบบอัตโนมัติยังคงต้องมีระบบความปลอดภัย ที่จะช่วยให้สามารถตรวจสอบได้ว่าเงินถูกโอนหรือจ่ายไปยังผู้รับที่ถูกต้องหรือไม่ รวมถึงระบบที่ช่วยตรวจสอบในกรณีที่เกิดความผิดพลาดขึ้นมาได้
RealTime
การชำระเงินแบบดิจิทัลได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะการชำระเงินแบบเรียลไทม์ในรูปแบบบุคคลต่อบุคคล (Peer to Peer – P2P) ผู้บริโภคและธุรกิจสามารถดำเนินธุรกรรมได้อย่างง่ายดายโดยใช้แพลตฟอร์มการชำระเงินแบบเรียลไทม์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายค่าเช่า จ่ายบิลค่าอาหารหรือจ่ายเงินให้พี่เลี้ยงเด็ก
ในช่วงแรกของ Digital Banking ส่วนมหญ่จะเป็นกลุ่มคนรุนใหม่ แต่เทรนด์การใช้ Digital Banking ในกลุ่มผู้ใหญ่เริ่มมีมากขึ้น ทั้งนี้การชำระเงินแบบเรียลไทม์จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย เนื่องจากทั้งผู้บริโภคและธุรกิจมีความสะดวกสบายและความปลอดภัยมากขึ้น
สำหรับประเทศไทยแทบทุกธนาคารมีการให้บริการ Digital Banking ที่สามารถชำระ เติมเงิน โอนหรือแม้แต่ฝากเงินผ่านระบบ Digital Banking ยิ่งไปกว่านั้นระบบการเงินของไทยยังมีผู้ให้บริการในกลุ่ม Non-Bank ที่ให้บริการ Digital Banking ในรูปแบบของ e-Wallet ที่สามารถทำได้ทุกอย่างเช่นเดียวกับธนาคาร ในอนาคตอีกไม่นานระบบ Digital Banking ของไทยจะก้าวสู่บริการกู้ยืมเงินผ่านระบบดิจทัล (Digital Lending)
Source: Business Insider