จับตาเทรนด์ “24 Hours Lifestyle” วิถีคนเมือง-สังคมคนนอนดึก! ดันธุรกิจเปิด 24 ชั่วโมงมาแรง

  • 2K
  •  
  •  
  •  
  •  

24hours

“เจน” เป็น Freelancer อาศัยในคอนโดมิเนียมกลางเมือง รับงานเขียนทั่วราชอาณาจักร ชีวิตประจำวันของเจน ตื่น 9.00 น. จากนั้นเริ่มทำงานตั้งแต่ 10.00 น. เป็นต้นไป หรือบางวันเริ่มงานช่วงบ่าย โดยการทำงานในแต่ละวันของเจน ไม่ได้นั่งประจำอยู่ที่ใดที่หนึ่ง บางวันทำงานที่บ้าน อีกวันไปใช้บริการ Coworking Space ขณะที่วันไหนถ้าไม่ต้องใช้เวลานานมาก ก็จะไปร้านกาแฟ
จากนั้นช่วง 19.00 – 21.00 น. เป็นช่วงเวลาออกกำลังกาย และกินข้าวเย็น แล้วกลับมาทำงานต่อถึง 2.00 น. – 3.00 น. และถ้าวันไหนหิวกลางดึก จะออกมาหาของกินในร้าน QSR เปิด 24 ชั่วโมงใกล้คอนโด

ขณะที่ “เอก” พนักงานประจำบริษัทแห่งหนึ่งใจกลางเมืองหลวง แม้ชีวิตการทำงานของเอก มีกำหนดเวลาเข้า-ออกชัดเจน แต่เมื่อถึงเวลาเลิกงาน “เอก” และเพื่อนร่วมงานอีกหลายคน ยังคงอยู่ในออฟฟิศ เพราะไม่อยากฝ่าการจราจรบนท้องถนน และฝูงชนเนืองแน่นบนรถไฟฟ้า ทั้ง BTS และ MRT กระทั่งช่วงสองทุ่ม “เอก” เก็บกระเป๋า เพื่อไปออกกำลังกายในฟิตเนส เซ็นเตอร์ ก่อนกลับบ้าน หรือในวันศุกร์ จะมีนัดสังสรรค์กับเพื่อน ก่อนกลับบ้าน

วิถีชีวิตของ “เจน” และ “เอก” ไม่ต่างกับใครหลายคนในปัจจุบัน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในเมือง ไม่ได้ใช้ชีวิตแบบ “9 to 5” คือ เริ่มต้นทำงานเวลา 9.00 แล้วเมื่อถึงเวลาเลิกงาน ตรงดิ่งกลับบ้าน

แต่ทุกวันนี้คนในเมือง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ กลายเป็น “สังคมคนนอนดึก” หรือ “Sleepless Society” ส่งผลให้นับวันเทรนด์ “24 Hours Lifestyle” เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ และสร้าง “โอกาส” ให้กับหลายกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับสิ่งจำเป็นพื้นฐานในชีวิตประจำวัน และไลฟ์สไตล์ มาพัฒนาบริการสำหรับตอบโจทย์เทรนด์ดังกล่าว

sdr

 

5 ปัจจัย ดันเทรนด์ “24 Hours Lifestyle” มาแรง !!

 

คำว่า “24 Hours Lifestyle” ในทีนี้ หมายความถึงการใช้ชีวิตยืดหยุ่น ไม่ได้มีรูปแบบเหมือนกันทุกคน บางคนอาจเริ่มต้นการทำงานในช่วงสาย บางคนเริ่มต้นช่วงบ่าย และลากยาวไปถึงกลางดึก หรือบางคนทำงานช่วงกลางคืน ยาวไปถึงเช้าของอีกวัน

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เทรนด์ “24 Hours Lifestyle” เติบโตมากขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ มาจาก

1. คนรุ่นใหม่เลือกเป็น “ฟรีแลนซ์” มากขึ้น มากกว่าเป็น “พนักงานประจำ” ส่งผลระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ “Gig Economy” ซึ่งเป็นเทรนด์การทำงานแบบว่าจ้างงานเป็นครั้งๆ เติบโตอย่างรวดเร็ว

SCB EIC รายงานบทความ “Gig Economy : โลกยุคใหม่คนทำงาน” เขียนโดยกัลยรักษ์ นัยรักษ์เสรี ฉายภาพ Gig Economy คือ ฟรีแลนซ์ พาร์ทไทม์ เอาท์ซอร์ส ไปจนถึงคนรับจ้างผ่านแพลตฟอร์ม เช่น คนขับ Uber และคนรับงานผ่าน Upwork หรือ Gigwalk

ข้อดีของการทำงานรูปแบบ “Gig Economy” ลักษณะสำคัญของคนทำงานเหล่านี้ คือ มีอิสระ ไม่ว่าจะการเลือกรับงาน หรือเวลาทำงาน โดยได้รับค่าตอบแทนตามจำนวนงานที่ทำ ซึ่งข้อดีของการทำงานในรูปแบบนี้ คือ มีความยืดหยุ่นในเรื่องการทำงาน สามารถบริหารจัดการเวลา และจัดลำดับความสำคัญของงานได้ตามใจ แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องแลกมาด้วยความไม่มั่นคงจากรายได้ที่ไม่แน่นอน และยังเสี่ยงถูกแย่งงานจากคนอื่นที่มีฝีมือ หรือทักษะแบบเดียวกัน

การเติบโตของ “Gig Economy” มาจาก 3 ปัจจัย คือ 1. “สังคมออนไลน์” เพราะทำให้อุปสงค์ (คนที่ต้องการว่าจ้าง) กับอุปทาน (คนที่ต้องการงาน) มาเจอกันได้ง่ายขึ้น โดยมีแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นคนกลาง / 2. แนวคิด “เศรษฐกิจแบ่งปัน” (Sharing Economy) ช่องทางสร้างรายได้ใหม่ๆ / 3. ไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ ต้องการอิสระ ได้ทำตามใจตัวเอง ทั้งเรื่องงาน และการบริหารเวลาในชีวิต

2. โครงสร้างครอบครัวไทย เปลี่ยนจาก “ครอบครัวใหญ่” แยกเป็น “ครอบครัวเดี่ยว” และอยู่อาศัยในรูปแบบ “Vertical Living” ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของโครงการ “คอนโดมิเนียม” ที่เกิดขึ้นตามเส้นทางรถไฟฟ้า ทำให้ความเป็นสังคมเมืองขยายออก ทำให้ปัจจุบันจะเห็นคนรุ่นใหม่ แยกออกมาอยู่คอนโดมิเนียม ใกล้รถไฟฟ้า เพราะเดินทางสะดวก และสามารถบริหารจัดการเวลาได้

Resize Bangkok Night_02

3. ผู้บริโภคยุคดิจิทัล มีความเป็น “Hyper Convenience” หรือต้องการความสะดวกสบายสุดๆ ทำให้ “Convenience” คือ ปัจจัยพื้นฐานที่ต้องมีของสินค้า-บริการในยุคนี้ไปแล้ว

4. วิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ เป็น “Fluid Lifestyle” นั่นคือ ยืดหยุ่น ต้องการอิสระ ความรวดเร็ว ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ใดที่หนึ่งนานๆ หรืออยู่กับกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งนานๆ และทำหลายสิ่งหลายอย่างในเวลาเดียวกัน

5. องค์กรมีนโยบายเปิดกว้างให้พนักงานสามารถทำงานนอกออฟฟิศ หรือทำงานจากที่บ้านได้ เพราะมองว่าจะทำให้พนักงานทำงานได้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ไม่ต้องฝ่าการจราจรติดขัด และมีอิสระ – มีความยืดหยุ่นในการทำงาน เช่น บริษัท FMCG ระดับโลกอย่าง “P&G” ใช้นโยบายยืดหยุ่นให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้

แม้ปัจจุบันธุรกิจส่วนใหญ่ ยังคงเปิดให้บริการถึงเวลา 22.00 น. แต่แนวโน้มธุรกิจเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง เป็นแนวโน้มทั่วโลก รวมทั้งในไทยที่กำลังมาแรง

ดังที่ คุณไมค์ แลมบ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Jetts Fitness ภูมิภาคเอเชีย ให้สัมภาษณ์ถึงเทรนด์ดังกล่าวไว้ว่า “กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ไม่เคยหลับใหล มีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา เราจะเห็นคนทำงานจำนวนมาก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่มีความยืดหยุ่น หรือเป็น Fluid Lifestyle

 

วิถีชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่ ชอบที่จะกำหนดด้วยตัวเอง ทั้งเวลา และสถานที่ทำงาน บางคนทำงานที่บ้าน บางคนทำงานที่ร้านกาแฟ และหลายคนทำงานถึงเที่ยงคืน ไปจนถึงหลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป คนกลุ่มนี้กินในเวลาที่อยากกิน ออกกำลังกายในเวลาที่อยากออกกำลังกาย

 

นี่จึงทำให้คนในเมืองยุคนี้ ชอบที่จะพักอาศัย หรือใช้ชีวิตอยู่ใกล้กับซูเปอร์มาร์เก็ต – ร้านกาแฟ – ร้านอาหาร – ฟิตเนส เซ็นเตอร์ที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ถึงแม้เมื่อเทียบเป็นสัดส่วน 100% ธุรกิจที่เปิดให้บริการถึง 22.00 น. ยังคงมีสัดส่วน 90% ขณะที่ธุรกิจเปิด 24 ชั่วโมง มีสัดส่วน 10% แต่พบว่าเติบโตสูงถึง 100%”

มาถึงตรงนี้ ตามดูกันว่ามีธุรกิจอะไรบ้างที่เติบโตรับเทรนด์ “24 Hours Lifestyle”

sdr

 

“ซูเปอร์มาร์เก็ต – ร้านสะดวกซื้อ” ตู้เย็นของคนเมือง

 

ปัจจุบันแม้ซูเปอร์มาร์เก็ตส่วนใหญ่ในไทยส่วนใหญ่ ไม่ได้เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงก็ตาม แต่ถ้าเอ่ยถึงซูเปอร์มาร์เก็ตที่เป็น “ต้นตำรับ” เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ต้องยกให้กับ “Foodland Supermarket” ก่อตั้งขึ้นในปี 2015 โดยคุณสมศักดิ์ ตีระพัฒนกุล, คุณกระจ่าง เติมวิวัฒน์, คุณอัศวิน แซ่ลิม และมีคุณเค ดับบลิว แลม เป็นที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการ การจัดหาที่ตั้ง และการออกแบบร้าน

แรกเริ่มไม่ได้ใช้ชื่อ “Foodland” อย่างทุกวันนี้ โดยสาขาแรกเปิดที่เพลินจิตอาเขต ใช้ชื่อ “เพลินจิต ซูเปอร์มารเก็ต” ต่อมาขยายสาขาสองไปที่ “พัฒนพงษ์” ใช้ชื่อ “พัฒนพงษ์ ซูเปอร์มาร์เก็ต” จากนั้นได้ซื้อกิจการซูเปอร์มาร์เก็ตในเอกมัย แล้วจึงเปิดให้บริการสาขาสาม ถึงจังหวะนี้ได้เกิดจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เมื่อคุณสมศักดิ์ พร้อมผู้ร่วมถือหุ้นตัดสินใจเปลี่ยนชื่อเป็น “Foodland Supermarket” ให้เหมือนกันทั้ง 3 สาขา โดยปัจจุบันไม่มีสาขาเพลินจิตแล้ว

ถึงวันนี้ “Foodland Supermarket” มี 21 สาขา โดยส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ เปิดในรูปแบบ Stand Alone ในย่านชุมชนใหญ่ เช่น พัฒนพงษ์, หัวหมาก, ลาดพร้าว, สุขุมวิท ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 4 ทศวรรษ “Foodland” ไม่ได้รุกขยายสาขามากนัก เมื่อเทียบกับคู่แข่ง ทั้งที่เป็นเชนซูเปอร์มาร์เก็ต และเชนร้านสะดวกซื้อ ที่เดินหน้าแข่งเปิดสาขาครอบคลุมทั่วประเทศก็ตาม

ทว่าเวลานี้ ยุทธศาสตร์ธุรกิจของ “Foodland” เริ่มลุยเปิดสาขามากขึ้น โดยเฉพาะเริ่มขยายออกต่างจังหวัดมากขึ้น หลังจากเปิดสาขาต่างจังหวัดแห่งแรกที่พัทยา ในปี 2532 พร้อมทั้งเป็น Key Tenant ขยายสาขาไปกับศูนย์การค้า และโครงการอสังหาริมทรัพย์ เพื่อการอยู่อาศัย เช่น โครงการคอนโดมิเนียม

หัวใจสำคัญที่ทำให้ “Foodland Supermarket” ยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางคู่แข่งมากมาย คือ นอกจากการตั้งอยู่ในโลเกชันย่านชุมชนใหญ่ ในรูปแบบ Stand Alone แล้ว ยังรักษาจุดแข็งในการเป็นเชนซูเปอร์มาร์เก็ตเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งเน้นจำหน่าย “กลุ่มสินค้าอาหาร”

และที่สำคัญอีกหนึ่ง Magnet ที่ทำให้ “Foodland” ยังคงเป็นหนึ่งใน Destination ด้านอาหาร และแตกต่างจากเชนซูเปอร์มาร์เก็ต – ร้านสะดวกซื้อ คือ “ร้านอาหารถูกและดี” อยู่ในทุกสาขา ในรูปแบบ “ครัวเปิด” ปรุงสด ให้บริการ 24 ชั่วโมง ได้กลายเป็นที่ฝากท้องของทุกคนที่ใช้ชีวิตและอยู่อาศัยในย่านชุมชนนั้นๆ ไม่ว่าจะช่วงเวลาเช้า – กลางวัน – เย็น – มื้อดึก

sdr

จากซูเปอร์มาร์เก็ต มาต่อกันที่ค้าปลีกที่ขยายตัวเร็วที่สุดในไทย คือ “ร้านสะดวกซื้อ” (Convenience Store) ที่สินค้ากว่า 80% เป็นกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ในรูปแบบ “Grab & Go” เพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตยุคใหม่ ที่ต้องการความสะดวก รวดเร็ว

ผู้นำตลาดค้าปลีกกลุ่มนี้ คือ “เซเว่น อีเลฟเว่น” ที่รุกขยายสาขาต่อเนื่อง พร้อมทั้งพัฒนา Store Format รูปแบบใหม่ ที่เป้น Stand Alone มี 2 – 3 ชั้น และมีที่จอดรถ จากเดิมเป็นรูปแบบอาคารพาณิชย์ ขนาด 1 – 3 คูหา เพื่อทำให้สาขาไม่เพียงแต่เป็น “Convenience Food Store” ตอบโจทย์ด้านอาหารการกินในชีวิตประจำวันเท่านั้น หากสาขารูปแบบใหม่ ต้องการเป็น “Community” ของคนในพื้นที่นั้นด้วยเช่นกัน

ปัจจัยที่ทำให้ “ค้าปลีกไซส์เล็ก” ในไทยกลายเป็นเซ็กเมนต์เติบโตร้อนแรงที่สุด เมื่อเทียบกับค้าปลีกเซ็กเมนต์อื่น มาจาก 4 ปัจจัยหลัก คือ

1. Landscape อสังหาริมทรัพย์ในประเทศเปลี่ยนแปลงไป โดยสังคมเมืองกลายเป็นสังคม Vertical Living ที่คนอาศัยในคอนโดมิเนียมมากขึ้น

 

2. จำนวนรถมีมากขึ้น ทำให้การจราจรหนาแน่น คนจึงไม่อยากใช้เวลาเดินทาง 1 – 2 ชั่วโมง เพียงเพื่อไปซื้อของเข้าบ้านไม่กี่อย่าง

Resize 7-Eleven
Photo Credit : Anut21ng Photo / Shutterstock.com

3. Technology Disruption ทำให้ระยะเวลาทุกอย่างสั้นลง และยังทำให้ผู้บริโภคมีความอดทนน้อยลง ต้องการความรวดเร็ว ทันทีทันใด

 

4. ความเปลี่ยนแปลงด้าน Demographic ทุกวันนี้โครงสร้างสังคมไทย โดยเฉพาะในเมืองกลายเป็น “ครอบครัวเดี่ยว” ที่มีสมาชิก 2 – 3 คนต่อครัวเรือน เนื่องจากสมาชิกในครอบครัวเริ่มกระจายออกไปซื้อที่อยู่อาศัยของตัวเอง ประกอบกับวิถีชีวิตในแต่ละวันของคนไทยยุคนี้ มีกิจกรรมมากมาย จึงไม่มีเวลาที่จะไปซื้อของเข้าบ้านได้ถี่เหมือนแต่ก่อน

 

เมื่อจำนวนสมาชิกในครอบครัวน้อยลง และวิถีชีวิตที่เร่งรีบ คนไทยหลายคนมองว่า “ค้าปลีกขนาดเล็ก” ตอบโจทย์การซื้อของจำเป็น เช่น เวลาที่ของใช้ในบ้านหมด แล้วต้องการใช้เดี๋ยวนั้น ผู้บริโภคเดินไปซื้อที่ร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน

cof

 

“ฟิตเนส เซ็นเตอร์ 24 ชั่วโมง” ตอบโจทย์ Insight คนทำงานดึก!

 

ทุกคนรู้เป็นอย่างดีว่า การเลือกสรรอาหารมีคุณประโยชน์ทางโภชนาการ และการออกกำลังกาย เป็นหนทางไปสู่การมีสุขภาพที่แข็งแรง แต่หนึ่งใน Consumer Insight ของคนทำงานในสังคมเมืองคือ เลิกงานดึก บางคนงานติดพันยาวไปจนถึงสาม-สี่ทุ่ม หรือหนักกว่านั้นลากยาวไปถึงเที่ยงคืน จนทำให้ไม่สามารถปลีกตัวไปออกกำลังกายได้ หรือไปออกกำลังกายได้ไม่ต่อเนื่อง เพราะเมื่อเสร็จจากงาน อาจเหนื่อยล้า หรือสวนสาธารณะปิดไปแล้ว และหมดเวลาให้บริการของฟิตเนส เซ็นเตอร์ที่อยู่ในศูนย์การค้า

นี่จึงเป็น “ช่องว่างธุรกิจ” ที่ทำให้เกิดบริการ “ฟิตเนส เซ็นเตอร์ 24 ชั่วโมง” รองรับวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ ที่เป็น Fluid Lifestyle ที่ต้องการความสะดวก รวดเร็ว ทำหลายสิ่งในเวลาเดียวกัน และนอนดึก

“ฟิตเนส เซ็นเตอร์ 24 ชั่วโมง” เน้นอุปกรณ์เครื่องออกกำลังกายเป็นหลัก เนื่องจากพฤติกรรมการออกกำลังกายของคนรุ่นใหม่ มาออกกำลังกายเสร็จ แล้วก็ไปที่อื่นต่อ โดยเฉลี่ย 1 คน ใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง

 

แตกต่างจากโมเดลธุรกิจฟิตเนส เซ็นเตอร์รูปแบบเดิม เช่น เชนฟิตเนส เซ็นเตอร์ที่อยู่ในศูนย์การค้า นอกจากมีอุปกรณ์ออกกำลังกายแล้ว ยังมีคลาสออกกำลังกายรูปแบบต่างๆ เพื่อทำให้สถานที่ออกกำลังกายเป็น Community ที่ทำให้คนได้มา Socialize เพื่อกระตุ้นให้เป็นสมาชิกระยะยาว อันมีผลต่อ Brand Loyalty ที่เหนียวแน่น ทำให้ 1 คน ใช้เวลาโดยเฉลี่ย 2 ชั่วโมง

Resize Jetts Fitness_02

ดังเช่น กรณีศึกษาของ “Jetts Fitness” หนึ่งในผู้เล่นหลักยิมที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงจากออสเตรเลีย ปัจจุบันเปิดให้บริการ 5 ประเทศ ถึงแม้เพิ่งเข้าตลาดไทยเพียง 9 เดือน แต่เป็นเชนฟิตเนส เซ็นเตอร์ที่เติบโตเร็ว ด้วยจำนวนคลับที่เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันเปิดแล้ว 10 สาขา และมีแผนจะขยายเพิ่มอีก 2 สาขาในเดือนธันวาคมนี้ และตั้งเป้าหมายมี 100 สาขาภายใน 5 ปี

คุณไมค์ แลมบ์ ผู้บริหาร Jetts Fitness ในไทย ฉายภาพพฤติกรรมคนมาออกกำลังกายว่า Peak Time ที่คนมาใช้บริการที่คลับ อยู่ในช่วงเวลา 17.00 – 20.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังเลิกงาน คิดเป็นสัดส่วน 40 – 50% ของยอดสมาชิกรวมปัจจุบันมี 10,000 ราย ขณะที่ช่วงเวลา 22.00 – 1.00 น. เป็นคนทำงานเลิกดึก หรือเข้างานกะดึก คิดเป็นสัดส่วน 10% ของยอดสมาชิกรวม จากนั้นคนจะเริ่มมาออกกำลังกายมากขึ้นในช่วงเช้าตรู่ เวลา 5.00 น.

Resize-Jetts Fitness_03

 

“คาเฟ่” – ร้านอาหารบริการด่วน” Third Place อ่านหนังสือ-อิ่มท้องตลอดวัน

ไม่เพียงแต่ภาคธุรกิจค้าปลีก และฟิตเนส เซ็นเตอร์เท่านั้นที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ในฝั่งของ “ธุรกิจร้านคาเฟ่” และ “ร้านอาหาร” ในไทยมีเปิด 24 ชั่วโมงเช่นกัน และมีแนวโน้มเติบโตดี
เพราะทุกวันนี้ “คาเฟ่” เป็นทั้งสถานที่นัดพบ พักผ่อน อ่านหนังสือ และทำงาน ขณะเดียวกันสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับ 24 Hours Lifestyle คือ “อาหาร” ดังนั้นนอกจากมี “ร้านสะดวกซื้อ” แล้ว ในฝั่งของ “เชนร้านอาหารบริการด่วน” หรือ “Quick Service Restaurant” เป็นอีกหนึ่งที่พึ่งยามดึก

คาเฟ่รายแรกๆ ในไทยที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง คือ “Too Fast to Sleep” ก่อตั้งโดย “คุณอเนก จงเสถียร” ด้วยแนวคิดต้องการสร้างคาเฟ่ให้เป็น “แหล่งซ่อมสุมทางปัญญา” สำหรับคนที่ต้องการหาที่นั่งอ่านหนังสือนอกบ้านยามค่ำคืน หลังจากพบว่าที่ผ่านมานักเรียน-นักศึกษา ไม่มีสถานที่ติว นั่งอ่านหนังสือ หรือทำรายงานกลุ่มกับเพื่อนในยามดึก

เพราะเมื่อเสร็จจากเลิกเรียน ห้องสมุดของโรงเรียน-มหาวิทยาลัย ปิดให้บริการแล้วตั้งแต่ช่วงเย็น-หัวค่ำ หรือห้องสมุกบางแห่งเปิดให้บริการถึงเที่ยงคืน แต่ด้วยไลฟ์สไตล์ของคนไทยเวลาอ่านหนังสือ ชอบที่จะไปคาเฟ่ มากกว่าห้องสมุด เนื่องจากมีบรรยากาศน่านั่ง มีบริการทั้งอาหาร-เครื่องดื่ม และสามารถพูดคุยกับเพื่อนได้ด้วย ซึ่งในเวลานั้นกรุงเทพฯ ยังไม่มีสถานที่ลักษณะนี้ให้ได้อ่านหนังสือยามดึกกัน

นี่จึงเป็นที่มาของ “Too Fast to Sleep” สาขาแรกที่สามย่าน เมื่อปี 2554 และต่อมาได้ขยายไปยังธุรกิจเริ่มต้นขึ้นในปี 2554 สาขาแรกที่สามย่าน ต่อมาขยายไปเปิดในโครงการไอคอนโด ศาลายา, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเมื่อปีที่แล้วจับมือกับ SCB เปิดสาขาบนชั้น 2 ของธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสยามสแควร์ ขณะที่ปีนี้ ร่วมมือกับ SCB และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดสาขาบนชั้น 2 ของธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาคณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่

Resize Too Fast To Sleep (Facebook Too Fast To Sleep)
Photo Credit : Facebook Too Fast To Sleep

ขณะเดียวกันเชนร้านอาหาร-เครื่องดื่มยักษ์ใหญ่อย่าง “Starbucks” เล็งเห็นโมเดลให้บริการ 24 ชั่วโมงเช่นกัน อย่างการเปิดสาขา 24 ชั่วโมงใน “เดอะ สตรีท รัชดา” ซึ่งที่นี่มีร้านอาหาร และร้านเครื่องดื่มหลายร้านที่เปิด 24 ชั่วโมง ซึ่งการขยายเวลาให้บริการ นอกจากรองรับวิถีชีวิตคนเมืองแล้ว ยังเป็นการเพิ่มโอกาสการขายมากขึ้นด้วย เพราะนั่นเท่ากับว่าเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคได้ตั้งแต่เช้า ไปจนถึงยามค่ำคืน

Resize Starbucks The Street (FB. Starbucks Thailand)
Photo Credit : Facebook Starbucks Thailand

นอกจาก “คาเฟ่” ในฝั่งผู้ให้บริการร้านอาหาร ปรับตัวรับเทรนด์ 24 Hours Lifestyle เช่นกัน โดยกลุ่มธุรกิจร้านอาหารแรกๆ ที่เห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตคนในสังคมเมือง คือ “Quick Service Restaurant” (QSR) ไม่ว่าจะเป็น “แมคโดนัลด์” “เคเอฟซี” และ “เบอร์เกอร์คิง”

โดย Store Format ที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง มีทั้งรูปแบบ Stand Alone และเป็น Key Tenant โครงการค้าปลีก เช่น ไฮเปอร์มาร์เก็ต, คอมมูนิตี้มอลล์ ตั้งอยู่โซนหน้าโครงการค้าปลีกนั้นๆ เพื่อให้ลูกค้ามองเห็นและเข้าถึงได้ง่าย รวมทั้งเปิดรูปแบบ Drive Thru และเป็นพันธมิตรกับเชนค้าปลีกน้ำมัน เปิดสาขาในสถานีให้บริการน้ำมัน

การเปิดสาขา 24 ชั่วโมง ทำให้เชน QSR เพิ่มโอกาสการขายได้มากขึ้น และใช้วิธีออกเมนูใหม่ ที่เป็น Localized Menu และกลุ่มสินค้า Value for money เพื่อเจาะเข้าไปแต่ละมื้อของวัน เพื่อเสริมทัพเมนูหลักของเชน QSR นั้นๆ ทำให้ครอบคลุมตั้งแต่มื้อเช้า – กลางวัน – เย็น และมื้อรอง หรือมื้อว่างของคนไทย

Resize Bangkok Night_03
Photo Credit : URAIWONS / Shutterstock.com

 

“Coworking Space” 24 ชั่วโมง เอาใจคนทำงานเช้า-ดึก

 

“Coworking Space” เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ยังคงเติบโต และขยายตัวต่อเนื่อง โดยเวลานี้มี Coworking Space จากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทย เนื่องจากมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ

1. Mega Trend ไลฟ์สไตล์การทำงานของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนแปลงไปตาม Technology และ Flexibility โดยต้องการพื้นที่ทำงานที่มีความเป็น Collaborative Workspace และลดต้นทุนทางธุรกิจ ทำให้รูปแบบการทำงานของผู้ประกอบการ และบริษัทใหญ่ทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไป โดยคาดว่าตลาด Coworking Space ในเอเชีย จะสูงขึ้นเป็น 30% ในปี 2030 จากปัจจุบันที่มีตลาดอยู่ที่ 2%

 

2. อัตราการเติบโตของตัวเลข SME ในไทย เติบโต 8 – 10% ต่อปี มากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยกว่า 1 ใน 6 มีธุรกิจอยู่ในกรุงเทพฯ หรือคิดเป็นกว่า 500,000 ราย โดย SME เหล่านี้ มองหาสถานที่ทำงานทำเลดี แต่การเข้าถึงออฟฟิศให้เช่าเกรด A ในกรุงเทะฯ เป็นไปได้ยาก และมีราคาสูง เช่นเดียวกับบริษัทใหญ่ที่ต้องการลดต้นทุนค่าใช้จ่าย

Resize-Common-Ground_5

สองปัจจัยนี้ กระตุ้นให้ Coworking Space ในไทยเติบโต โดยปัจจุบันหลายแห่งให้บริการ 24 ชั่วโมง เพราะตามที่กล่าวข้างต้น วิถีการทำงานของคนรุ่นใหม่ ไม่ได้กำหนดว่าต้องเริ่มต้น 8.00 น. หรือ 9.00 น. และเลิกงาน 17.00 น. หรือ 18.00 น. เสมอไป

เพราะด้วยความที่คนรุ่นใหม่เป็น “ฟรีแลนซ์” มากขึ้น และ “ผู้ประกอบการธุรกิจ SME – Startup” ประกอบกับหลายบริษัทเริ่มใช้นโยบายให้ทำงานจากที่บ้าน ไม่ต้องเข้าออฟฟิศตลอด เพื่อความคล่องตัวในการทำงาน และให้ความสำคัญกับ Result ของงานมากกว่า ดังนั้น วิถีการทำงานของคนรุ่นใหม่ จึงไม่จำกัดเวลาตายตัว บางคนอาจเริ่มตั้งแต่ 7.00 น. หรือบางคนอาจเริ่มงาน 10.00 – 11.00 น. แล้วทำงานถึง 20.00 – 21.00 น.

ผนวนกับการมา Coworking Space ไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ทำงานเท่านั้น คนรุ่นใหม่ยังมาเพื่อทำความรู้จัก และเป็นการเปิดโอกาสในการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการ SME – Startup ร่วมกัน

อย่างล่าสุดการร่วมทุนระหว่าง “CPN” กับ “Common Ground Group” ผู้ให้บริการ Coworking Space จากมาเลเซีย นำโมเดลมาเปิดให้บริการในศูนย์การค้าของ CPN ในพื้นที่กรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด ตั้งเป้า 20 สาขา ภายใน 5 ปี สาขาแรกเปิดที่ “เซ็นทรัล เวิลด์” ช่วงไตรมาส 1 ปี 2562 โดยให้บริการ 24 ชั่วโมง ทำเลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของศูนย์การค้าสามารถเข้า-ออกจากข้างนอกได้ตลอด

Resize-Common-Ground_1 sdr

 

อ่านเรื่องนี้แล้ว ต้องอ่านเรื่องนี้ต่อ

 

Source : ประวัติ Foodland Supermarket “Posttoday” 

Source : ประวัติ Too Fast To Sleep “ประชาชาติธุรกิจ” 


  • 2K
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ