การขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเพื่อแก้ปัญหา Cliamate Change ในระยะยาวได้นั้น “ธนาคาร” มีส่วนสำคัญมากๆในการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงผ่าน Green Finance รูปแบบต่างๆ นั่นทำให้ The Economist Impact เชิญคุณ ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ มาร่วมสัมภาษณ์พิเศษถึงบทบาทของธนาคารกับการผลักดันเรื่องความยั่งยืน ในงานสัมมนา “Sustainability Week Asia” สัปดาห์แห่งความยั่งยืน งานสัมมนาที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 แล้ว ซึ่งคุณชาติศิริ ก็ให้มุมมองเอาไว้อย่างน่าสนใจ
คุณชาติศิริ ให้สัมภาษณ์บนเวทีกับคุณ Edward Chui จาก Economist Intelligence Corporate Network ระบุถึงบทบาทของธนาคารกับการผลักดันด้านความยั่งยืนโดยระบุว่ามีสิ่งสำคัญอยู่ 3 เรื่องนั่นก็คืคือ
- “การให้ความรู้” กับลูกค้าเกี่ยวกับข้อกำหนดด้านความยั่งยืนระดับโลกที่จะแตกต่างกันตามขนาดของบริษัทเพื่อบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนต่อไป
- “การจัดหาเงินทุน” เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืนเช่นการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานทดแทน การบำบัดขยะของเสีย รวมไปถึงนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนต่างๆ
- “การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ” โดยเฉพาะ Green Finance รูปแบบต่างๆเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและเดินหน้าสู่เป้าความยั่งยืนให้ได้ในอนาคต
ธนาคารกรุงเทพกับภารกิจเพื่อความยั่งยืน
กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพตอบคำถามเรื่องบทบาทในการสนับสนุนด้านความยั่งยืนของธนาคารกรุงเทพด้วยว่า ธนาคารกรุงเทพเดินหน้าด้านความยั่งยืนร่วมกับธนาคารอื่นๆในไทยรวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย มีการจัดทำคำประกาศด้าน ESG ร่วมกันในปี 2022 นอกจากนี้ยังมีการร่วมกันสร้างมาตรฐานด้านความยั่งยืนในประเทศไทย (Thailand Taxonomiy) รวมถึงโครงการผลักดันด้านความยั่งยืนที่เน้นไปในภาคส่วนพลังงาน การขนส่ง การผลิต เกษตรกรรม การก่อสร้าง และการรีไซเคิลขยะด้วย
คุณชาติศิริ ระบุว่าแต่ละอุตสาหกรรมก็มีความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านที่ยากและง่ายแตกต่างกันไป นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่าประเทศไทยก็มีการทำ Sandbox ที่สระบุรีในการเป็นตัวอย่างของเมืองคาร์บอนต่ำได้โดยเฉพาะในระดับภูมิภาคในเรื่องของการลดคาร์บอน อย่างไรก็ตามการจะเดินหน้าสุ่ความสำเร็จจำเป็นที่ต้องได้รับความร่วมมือและแรงผลักดันจากภาคส่วนต่างๆเริ่มหาทางแก้ปัญหาจากง่ายไปสู่ยากซึ่งก็จำเป็นที่จะต้องมีแผนทั้งระยะกลางและระยะยาวมารองรับ
การปรับตัวของธุรกิจสู่ความยั่งยืน
คุณชาติศิริ ระบุว่า การลงทุนใหม่เพื่อความยั่งยืนบางครั้งมีขึ้นเพื่อปฏิบัติตามข้อกำหนดในขณะเดียวกันก็เป็นการปรับตัวในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของโลกเช่นมาตรฐานด้านคาร์บอนของยุโรปเพื่อให้สามารถส่งสินค้าออกสู่ตลาดเหล่านั้นได้
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองระดับโลกก็มีโอกาสซ่อนอยู่ เช่นการลงทุนในพลังงานทดแทน การจัดวางห่วงโซ่อุปทานโลกขึ้นใหม่ เช่น กลยุทธ์ทางธุรกิจอย่าง China Plus One นำไปสู่ข้อกำหนดของ ESG ทำให้เกิดการลงทุนใหม่ในภูมิภาคอาเซียนเช่น เวียดนาม ไทย รวมถึงอินโดฯเป็นต้น การกระจายความเสี่ยงแบบนี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของธุรกิจได้
ความท้าทายกับการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน
คุณชาติศิริระบุถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนว่ามีสองเรื่องที่สำคัญนั่นก็คือ
- การที่ต้องสร้างการรับรู้เกี่ยวกับข้อกำหนดให้มากกว่าเดิมให้เข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเทรนด์ระดับโลกและมีความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจดังนั้นจึงจำเป็นต้องวางแผนอย่างเป็นระบบ สิ่งสำคัญคือการสร้างสมดุลระหว่าง ผลกำไร สิ่งแวดล้อมและการดำเนินการสู่เป้าหมาย
- การเปลี่ยนผ่านที่เป็นรูปธรรม ด้วยผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนไปทีละก้าว และแต่ละก้าวจะสร้างการรับรู้ที่มากขึ้นและเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง
ทั้งหมดนี้คือมุมมองบางส่วนของคุณ ชาติศิริ เกี่ยวกับบทบาทของธนาคารในการผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน โอกาสและความท้าทายที่จะต้องก้าวข้ามต่อไปในอนาคตเพื่อสร้างสมดุลระหว่างผลกำไรและสิ่งแวดล้อมเพื่อบรรเทาผลกระทบจาก Climate Change ให้ได้ต่อไปในอนาคตนั่นเอง