เพิ่งได้มีโอกาสชมโฆษณาแบรนด์เทลโก้เจ้าหนึ่ง แต่เป็นโฆษณาจากเมียนมา ซึ่งหลังดูจบแล้วมีความรู้สึกว่า มู้ดและโทนดูมีความคล้ายงานโฆษณาไทยในแง่ของความซึ้งกินใจ และเป็นในแบบฟีลกู้ด ซึ่งงานในลักษณะนี้ต้องยอมรับว่าไทยคือเบอร์ 1 ของงานในสไตล์นี้จริงๆ
และปรากฏว่าก็ใช่จริงๆ ด้วย โดยงานที่พูดถึงอยู่นี่เป็นของ Telenor Myanmar เครือข่ายผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์ของเมียนมา ซึ่งผู้สร้างสรรค์ชิ้นงานโฆษณานี้เป็นผลงานของ Leo Burnett Thailand ทีมงานเอเจนซี่คนไทย ซึ่งมีเบื้องหลังไอเดียการทำงานจากลูกค้าต่างชาติมาเล่าให้เราฟัง
ยุ่น ณธีพัฒน์ จาตุรนต์รัศมี Deputy Executive Creative Director เผยถึงการรับโจทย์จากลูกค้าว่า วันที่ไปรับบรีฟลูกค้าเล่าว่า การแข่งขันในอุตสาหกรรมเทลโก้ของพม่าค่อนข้างสูง และมีความคล้ายคลึงกับคนไทย คือมีเบอร์ 1, 2 และ 3 แข่งกันอยู่ โดยโจทย์ของเขาคือต้องการสร้างแบรนด์ให้ชัดเจน อยากให้เราดีไฟน์แบรนด์ของเขาให้คมขึ้น ซึ่งตอนนั้นเบอร์หนึ่งในตลาดเป็นแบรดน์เก่าแก่ของรัฐซึ่งมีญี่ปุ่นมาร่วมทุนด้วย แต่แบรนด์เราเป็นแบรนด์จากต่างชาติ ดังนั้น เราจึงต้องพยายามดึงตัวตนออกมาให้ได้
จากนั้นเราก็ไปคลุกคลีกับชาวพม่าได้สักระยะหนึ่งเพื่อทำการศึกษาคอนซูเมอร์ เราก็พบว่า เวลาที่คนพม่านึกถึงแบรนด์ตัวนี้มันคือ นอร์เวย์ เชื่อมโยงกับ โนเบล ไพรซ์ แล้วก็เชื่อมโยงไปที่ ซูจี (ซึ่งได้รางวัลโนเบล ไพรซ์ สาขาสันติภาพ) ทำให้เราทราบว่าคนพม่ามอง Telenor ในแบบกลางๆ คือมองว่าแบรนด์เป็นคนดี แต่ก็ไม่มีภาพลักษณ์อะไรที่ชัดเจน ในขณะที่ทางแบรนด์ต้องการสื่อว่า เราเป็นคนที่เชื่อถือได้ ทรัสต์ได้ แต่จะสื่อสารออกมาอย่างไรไม่ใช่แค่คำพูดลอยๆ ที่สำคัญไม่อยากให้ดูโอ้อวดเกินไปด้วย เราก็เลยต้องค่อยๆ พยายามหาแองเกิ้ลอื่นต่อไป
“เราก็ไปทำการบ้าน ไปทำความคุ้นเคยกับคนพม่า ก็พบว่าเป็นคนน่ารัก เป็นคนที่ไว้วางใจได้ เราเลยตัดสินใจว่านี่น่าจะมุมที่เราสื่อออกไป คือแทนที่จะบอกว่า Always you can touch ซึ่งนั่นคือโพสิชั่นนิ่งเดิม แต่เราอยากจะบอกอีกมุมหนึ่งแทนคือ เราทราบแล้วว่าพวกคุณน่ารัก พวกคุณเป็นคนดี เราก็เป็นคนดีและพร้อมที่จะมาดูแลคุณ จึงเป็นที่มาของแท็กไลน์ในโฆษณาที่บอกว่า Because you always have each other back we promise to do the same”
ส่วนเรื่องการทำหนังในแนวดราม่าซึ่งเป็นงานที่คนไทยคุ้นเคย ยุ่น ให้ความเห็นว่า จริงๆ มันก็เป็นเอนเตอร์เทนอย่างหนึ่ง ไม่ได้เน้นว่างานคนไทยต้องดราม่าอะไรแบบนั้น เพราะมีช่วงหนึ่งที่คนต่างชาติมักจะมองว่างานไทยก็มักจะเป็นแบบนี้ พอทำแบบนี้ดีก็จะทำซ้ำๆ กันออกมา แต่สิ่งที่เราทำตรงนี้คือเราอยากจะทำหนังที่รู้สึกฟีลกูด ไม่ต้องถึงขั้นร้องไห้ฟูมฟาย แต่ลึกซึ้งกินใจมากกว่า
“เราเลยทำงานที่สื่อความรู้สึกแบบ Universal เป็นไอเดีย Universal ที่ไม่ว่าชาติไหนคนไหนดูก็เข้าใจตรงกันหมด”
นี่คือหนึ่งในงานต่างประเทศที่มีฝีมือคนไทยได้ฝากไว้ ซึ่งสำหรับคนที่ยังไม่ได้รับชมงานชิ้นนี้ ลองดูจากคลิปด้านล่างได้เลยคะ
Copyright © MarketingOops.com