เส้นผมบังภูเขาของวงการโฆษณาไทย ทำไมงานไม่โดนใจกรรมการเวทีประกวดโลก มองผ่านเลนส์ Ogilvy Thailand บนความสำเร็จด้วย ‘Network of the Year’

  • 16
  •  
  •  
  •  
  •  

งานโฆษณาไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก เรายังพูดคำนี้ได้เต็มปาก การันตีด้วย ผลงานล่าสุดจาก “โอกิลวี่ ประเทศไทย” (Ogilvy Thailand) กับการคว้าอันดับ 1 ของเอเชียแปซิฟิกจากเวที THE WORK 2024 (จัดโดย Campaign Brief) ด้วยจำนวนแคมเปญโฆษณาและการสื่อสารแบรนด์ยอดเยี่ยม โดยได้รับสูงสุดถึง 46 ชิ้นงาน มากไปกว่านั้นยังสามารถโค่นแชมป์เก่าอย่าง Dentsu ลงได้อีกด้วย ซึ่งสะท้อนถึงความสำเร็จทั้งของตัว โอกิลวี่ฯ เอง และความสามารถของวงการโฆษณาไทยที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าใครเลย และเมื่อเร็วๆ นี้ 3 แม่ทัพใหญ่ โอกิลวี่ ประเทศไทย ได้แก่ คุณป้อม – กำพล ลักษณะจินดา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสร้างสรรค์ โอกิลวี่ ประเทศไทย, คุณกี้ – วรรณมัย เอื้อทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ โอกิลวี่ ประเทศไทย และ คุณแมน – ศุภศิษฏ์ โชคมงคลเสถียร ประธานเจ้าหน้าที่ บริหารฝ่ายกลยุทธ์ โอกิลวี่ ประเทศไทย ได้เปิดบ้านให้เราได้พูดคุยถึงที่มาของความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ รวมถึงแง่มุมต่างๆ ในวงการโฆษณาไทย ซึ่งมีมิติใหม่ๆ เพิ่มขึ้นจากความท้าทายในปัจจุบันที่รุกเข้ามา

 

แคทฯ “Sustainability และ Healthโจทย์หินของวงการโฆษณาไทย

คุณป้อม กำพล กล่าวถึงชาเลนจ์สำคัญของวงการโฆษณาไทยเมื่อเทียบกับเวทีระดับโลก ว่า ผลงานที่ใช้เทคโนโลยีต่างๆ งานล้ำๆ อย่างพวกดาต้า MarTech เราปฏิเสธไม่ได้ว่า มันมาแน่ๆ แต่โฆษณาไทยต้องเอ็กซ์แพนให้มันได้กว้างๆ เพิ่มมากขึ้นไปอีก เอเจนซี่ไทยโดยเฉพาะโอกิลวีฯ เรามีแอเรียที่กว้างครอบคลุมการขยายพื้นที่ของโฆษณาและแคมเปญใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งแม้ว่าอาจจะมีบ้างที่ลูกค้าเองบางครั้งก็ยังต้องการงานแบบ Traditional ยังไม่ได้ต้องการไป ดังนั้น ท่ามกลางโลกที่ท้าทายแบบนี้จะทำอย่างไรให้อิมแพคที่สุด จุดนี้ยังเป็นความท้าทายของเมืองไทยอยู่ ดังนั้น เราจะทำอย่างไรให้เกิดความบาลานซ์มากที่สุด

คุณแมน เสริมว่า ในมุมกลยุทธ์ categories ที่ยากที่สุดคือ Sustainability และ Health เป็นโจทย์ที่ยากที่สุด แล้วก็ยังไม่ค่อยมีเอเจนซี่ไหนทำตรงนี้ได้เยอะ การที่จะพาแบรนด์คอร์ปอเรทสักแบรนด์หนึ่งสื่อสารเรื่อง Sustainability ในแบบไม่กว้างจนเกินไปจนซ้ำกับคนอื่น และไม่หลอกลวง ไม่ Green-washing หรือ Rainbow-washing จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะนำเสนอเรื่องนี้ ซึ่งตอนนี้บรีฟนี้มาจากแทบทุกบริษัทเลย ดังนั้น จึงเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างท้าทายในปัจจุบัน ขณะที่เรื่อง Health มันจะมีเรื่องของ FDA (Food and Drug Administration) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นจึงต้องการคนที่เข้าใจในตลาดของ Healthค่อนข่างมาก ไม่ว่าจะเป็น วัคซีน โรงพยาบาล หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์เสริมความงามต่างๆ ฯลฯ มันมีสิ่งที่ทั้งทำได้และทำไม่ได้ มีกฎหมายเคร่งครัดที่ดูแลอยู่ ดังนั้น จึงต้องอาศัยเครือข่าย ผู้เชี่ยวชาญ และองค์ความรู้เฉพาะ ในการทำเรื่องนี้จริงๆ ดังนั้น มองว่า 2 cat. นี้ จึงค่อนข้างยากสำหรับเอเจนซี่ไทย เพราะไม่ได้มีเอเจนซี่ที่สามารถทำเรื่องนี้ได้เยอะในปัจจุบัน

“ความยากในการ execute มันออกมาอย่างไรให้น่าสนใจ รวมถึงทำได้อย่างถูกต้องในทางกฎหมายด้วย โดยไม่สร้างผลกระทบทางลบให้กับแบรนด์ เป็นความท้าทายอย่างมาก เราทราบดีว่าปลายทางลูกค้า (แบรนด์) อยากได้แบบนี้ แต่จะนำเสนออกมาอย่างไร เราจะปรุงรสออมาให้ลูกค้าอย่างไรให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด”

กำพล ลักษณะจินดา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสร้างสรรค์ โอกิลวี่ ประเทศไทย

สร้างสรรค์ผลงานบนความท้าทายในเรื่อง Budget   

ในขณะที่เรื่องของความท้าทายด้านเศรษฐกิจและบัดเจ็ตที่เข้ามาชาเลนจ์โจทย์ของลูกค้ามากขึ้น ทีมผู้บริหารโอกิลวีฯ กล่าวว่า ที่โอกิลวี่ฯ เรามีเฟรมเวิร์คหนึ่งที่เรียกว่า Scale & Flex เมื่อโจทย์ลูกค้ามาต่างกัน บางคนเป็น SME Brand บางคนเป็น Corporate Brand แต่ก็อาจจะมีข้อจำกัดเรื่องงบฯ ดังนั้น การทำงานของเราจึงมาพร้อมกับคำว่า Scale and Flexibility ซึ่งเราสามารถตอบโจทย์ได้หมด ทั้งแคมเปญที่บัดเจ็ทไม่มากก็ได้ หรือแม้แต่ไทม์ไลน์ที่มันกระชั้นชิดมาก ดังนั้นเรื่องของความยืดหยุ่นเราจึงมีสูงมากและสามารถปรับได้ตามความต้องการของลูกค้า

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะงานเล็กหรือใหญ่งานเราจะลีดด้วย Creativity อยู่เสมอ รวมไปถึงอาจจะกลับไปช่วยค้นหาด้ยว่าที่โจทย์ลูกค้าว่าคืออะไร หรือปัญหาของลูกค้าที่แท้จริงคืออะไร ซึ่งอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ลูกค้ามองเห็นแต่แรกก็ได้ เมื่อเรามาพบแล้วก็อาจจะค้นพบทางออกอื่นมากกว่าโจทย์หรือบรีฟแรกที่มอบให้อีก ซึ่งจะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพของผลงานที่คุ้มค่าคุ้มราคามากกว่าเดิมด้วยซ้ำ

Presentation ไม่ขยี้โดนใจเพียงพอ อาจทำให้เสี่ยงชวดรางวัล?

ถามถึงความท้าทายหรือสิ่งที่เป็น Room for improvement ที่วงการครีเอทีฟไทยต้องนำมาแก้ไข ในช่วงหลังซึ่งทำให้สร้างผลงานอื่นอาจไม่ค่อยดี นอกจากผลงาน Flim ที่สร้างชื่อเสียงให้เราตลอดเวลามีจุดไหนที่ต้องควรได้รับการแก้ไขบ้าง คุณป้อม กำพล ให้ความเห็นว่า สิ่งที่ส่วนตัวพบและมองว่าเอเจนซี่ไทยจะต้องแก้ไข คือเมื่อต้องส่งผลงานเข้าประกวดแล้วการทำพรีเซ็นเทชั่นนำเสนองานเข้าสู่มือคณะกรรมการ ขาดการขยี้พ้อยท์ที่น่าสนใจหรือสิ่งสำคัญของชิ้นงาน

“อย่างที่เราทราบดีว่า งานฟิล์มของเราในปีนี้ได้เยอะมาก แต่ในส่วนงานไทยในแคทฯ อื่นๆ อาจจะได้รางวัลน้อย แต่ไม่ใช่ว่างานเราไม่ดี งานเราดีมาก แต่ติดตรงที่การพรีเซ็นเทชั่นของเรายังอ่อนไป ซึ่งตรงนี้ผมได้แชร์วาลูเล่าให้กับเพื่อนๆ พี่น้องในวงการครีเอทีฟไปบ้างแล้ว เราทำพรีเซ็นเทชั่นไม่ถึงพอ เราไม่ขยี้ให้มันดีพอ ตรงจุดนี้น่าเสียดายมาก หลายงานไอเดียดีมาก ถ้าสังเกตให้ดีหลายงานที่ได้รางวัลของต่างประเทศ พ้อยท์ของเขาเล็กนิดเดียวแต่เขาขยี้เก่งมาก ดังนั้น มองว่าวิธีในการเล่าเรื่องสำคัญมากๆ เลย หลายงานที่ผมดูแล้วรู้สึกเสียดายว่าทำไมไม่ขยี้ให้มากกว่านี้ อย่างปีนี้ที่ผมได้เป็นกรรมการตัดสิน Cannes Lion 2024 มีหลายงานไม่เฉพาะแต่กับของไทยต่างประเทศก็มี ที่พบว่าไอเดียดีมาก แต่พรีเซ็นเทชั่นไม่ขยี้ ผมก็ไปดึงกลับมาจนกระทั่งได้รางวัลก็มี”

คำแนะนำของ คุณป้อม กำพล บอกว่า คิดว่าเราอาจจะต้องมา reconsideration ในส่วนการนำเสนอการเล่าเรื่องให้ดีมากกว่าเดิม เพราะในช่วงหลังมานี้การให้เหตุผล แบล็กกราวด์สตอรี่ ถูกนำมาใช้เป็นเกณฑ์ส่วนหนึ่งในการตัดสินให้รางวัลด้วย ดังนั้น ส่วนตัวจึงมองว่าเราควรให้ความสำคัญกับตรงจุดนี้พอๆ กับการสร้งาสรรค์ชิ้นงานด้วย

“รสชาติแบบไทยๆ มันดี แต่คนเขาก็อาจจะอยากรู้ว่ารสชาติแบบนี้มีวิธีในการปรุงสูตรอย่างไร ดังนั้น Storytelling ก็จะช่วยเสริมได้ว่างานของเรามันมีวาลูพอ”

เมื่อถามถึงความสำคัญเรื่องของการเดาทางและรู้จักกรรมการแต่ละ cat. มีส่วนช่วยในการเพิ่มโอกาสในการได้รางวัลหรือไม่ คุณป้อม กำพล ให้ความเห็นว่า การศึกษาคณะกรรมการในแต่ละ cat. ก็สำคัญมาก “โดยส่วนตัวผมเองก็ทำแบบนี้ก่อนส่งงานเข้าประกวด เราต้องรู้ว่าเขาเป็นใคร เขามีผลงานอะไร ก็เป็นอีกทิปส์หนึ่งที่จะเพิ่มโอกาสในการได้รางวัล แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องกลับมาที่ว่าเราต้องมีของดีด้วย รวมถึงเราต้องทำของดีให้ลูกค้าก่อน แล้วจะสามารถพาไปถึงรางวัลได้”

ด้านคุณแมนเสริมว่า มันเหมือนการเก็งข้อสอบ มันคือการแข่งขันในอีกเวทีหนึ่ง เป็นการใช้ศาสตร์ของ Storytelling อีกแบบหนึ่ง ซึ่งควรถูกนำมาใช้ในจุดนี้ด้วย แต่ก็ต้องยอมรับว่า งาน Film ไทยมีทั้ง Pro and con คือมีความยูนีค เป็นภาพจำที่ทั่วโลกคุ้นเคยดีกับงาน Film แบบของไทย ซึ่งงานลักษณะนี้ของไทยก็มีจุดเด่นที่แตกต่างสามารถดึงผู้ชม ดึงลูกค้าต่างประเทศที่เขาชอบงานแบบนี้ของไทย ทำให้ลูกค้าจากทั่วโลกอยากทำงานของไทยได้เหมือนกัน

พร้อมกับย้ำว่า อย่างไรก็ตาม เราทำงานบนความสำเร็จของลูกค้าเป็นตัวตั้ง มากกว่าเน้นไปที่การทำงานเพื่อตอบโจทย์ให้ได้รางวัล เรามองที่โจทย์ทางธุรกิจของลูกค้าเป็นหลัก และเราได้รางวัลมาจากงานจริงของลูกค้าหมด แต่เราต้องนำเสนอมิติของงานให้ตรงกับ cat. ที่เราจะส่งเข้าประกวด กรณีที่เราจะส่งงานเพื่อ Awards เราจะจูนเรื่องให้เข้ากับ cat. ไหนได้ “แต่ยืนยันว่าเราไม่ได้ตั้งธงที่จะทำงานเพื่อรับรางวัล เราตั้งธงบนการทำงานดีที่สุดให้ลูกค้าแล้วมันก็พาไปสู่รางวัล”

ศุภศิษฏ์ โชคมงคลเสถียร ประธานเจ้าหน้าที่ บริหารฝ่ายกลยุทธ์ โอกิลวี่ ประเทศไทย

Next Trend Advertising: งานที่มี Context ที่ลึกมากขึ้นกว่าเดิม

ขณะที่เทรนด์วงการโฆษณาในปีหน้า คุณป้อม กำพล มองว่า ในปีที่ผ่านมา Diversity มันมาสุดทางแล้ว ดังนั้น ในปีนี้จะเกิดการย้อนกลับ การนำเสนอในเชิงกว้างมันถึงขั้นสุดไปแล้ว ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปคือมันจะ Deep มากขึ้น จะนำเสนอไอเดียและคอนเท็กซ์ในเชิงลึก อินไซต์ที่ลึกขึ้น และ Tailormade มากขึ้น งานที่เป็น Deep culture เริ่มเห็นมากขึ้นและ shining มากขึ้น

ดังนั้น งานที่ปรุงออกมาสามารถทำบน Context ในแต่ละประเทศหรือผู้ภูมิภาคได้ โดยที่ทำให้โลกเข้าใจมันมากขึ้น ไม่จำเป็น ต้องดัดให้เป็นสากลหรือทำบนแก๊กที่โลกต้องเก็ทมันเหมือนกันหมด ซึ่งเชื่อว่า ณ ตอนนี้ครีเอทีฟไทยเข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้นแล้วว่า Context แบบเราสามารถเชื่อมโยงกับโลกภายนอกได้อย่างไร

ยกตัวอย่างงานของ U.S. Bank – Found in Translation ซึ่งนำอินไซต์ของครอบครัวผู้อพยพชาวอเมริกันในปัจจุบัน ที่รุ่นพ่อแม่ไม่สามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้ แต่รุ่นลูกที่เติบโตมาในสหรัฐฯ ต้องมาทำหน้าที่ล่ามในการช่วยเหลือพ่อแม่ รวมไปถึงต้องมาธนาคารเพื่อช่วยพ่อแม่ในการทำธุรกรรมทางการเงิน

 

หรืองานของ Hotel La Argentina ซึ่งนำเสนอบริบทเรื่องของความรักในฟุตบอลของชาวอาร์เจนตินา ซึ่งหลังได้ถ้วยฟุตบอลโลกล่าสุด ก็ร่วมกันผลักดันทำแคมเปญที่ช่วยให้ โรงแรม 2 ดาวที่ชื่อว่า Hotel la Argentina ได้ 3 ดาว เช่นเดียวกับการที่อาร์เจนติน่าได้ถ้วยฟุตบอลโลก 3 ครั้ง พร้อมกับการเพิ่มดาวดวงที่สามในตราสัญลักษณ์ของทีมด้วย

 

ดังนั้น มองว่าในปีหน้างานในลักษณะที่การนำเสนอผ่าน Context ที่ลึกมากขึ้น ผ่าน Insight ที่แท้จริงจะมีให้เราเห็นมากขึ้นในปีหน้า ซึ่งปีนี้มีหลายผลงานที่สะท้อนงานในลักษณะอย่างโดดเด่นมากขึ้น

 

46 ชิ้นงาน สร้างประวัติศาสตร์สุดยิ่งใหญ่ขอวงการโฆษณา

โอกิลวี่ ประเทศไทย สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้านความคิดสร้างสรรค์ให้แก่วงการโฆษณาและการสื่อสารมาตลอดเวลา 50 ปีของการดำเนินธุรกิจ  ความสำเร็จที่เราภูมิใจล่าสุดในปี 2024 คือการได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 1 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) บนเวที THE WORK 2024 โดย Campaign Brief ด้วยผลงานที่ได้รับการคัดเลือกถึง 46 ชิ้น สร้างปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการอีกครั้งอย่างที่ไม่เคยมีเอเจนซี่ใดทำได้มาตลอดเวลา 22 ปีของจัด THE WORK

แน่นอนว่า ความสำเร็จครั้งนี้เป็นผลมาจากการผสานลงตัวระหว่าง Idea + Area นั่นหมายถึง เราสามารถคิดหรือสร้างสรรค์งานครอบคลุมไปในหลายพื้นที่ของการสื่อสารได้กว้างไกลกว่าเดิม  ตลอด  1 ปีที่ผ่านมาโอกิลวี่มีการปรับโครงสร้างทีมงานครีเอทีฟด้วยการเน้นเพิ่มทักษะประสิทธิภาพให้กับทีมงานเดิม และเติมคนรุ่นใหม่เข้ามาเสริมขีดความสามารถ ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว  การสร้างสรรค์งานให้กับลูกค้าจึงมีความยืดหยุ่น คล่องตัวมากขึ้น”

เวที THE WORK 2024  ไม่เพียงทำให้ผลงานของโอกิลวี่ ประเทศไทยเป็นที่จับตามองและสร้างความเคลื่อนไหวสำคัญอีกครั้งในความเป็นเอเจนซี่ชั้นนำระดับโลก แต่ยังเป็นการสร้างโอกาสในการเชื่อมโยงเครือข่ายในวงการโฆษณา ส่งผลให้กลุ่มบริษัทโอกิลวี่ได้รับการยกย่องเป็น ‘Network of the Year’ ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อีกด้วย

ทั้งนี้ผลงานแคมเปญโฆษณาและการสื่อสารยอดเยี่ยมของโอกิลวี่ที่ได้รับคัดเลือกทั้ง 46 ชิ้นดังกล่าว มาจาก 20 แคมเปญ และเป็นการพัฒนาแนวทางร่วมกับลูกค้า 13 ราย ทั้งที่เป็นแบรนด์และธุรกิจของไทยและต่างประเทศ โดยเป็นการสื่อสารผ่านหลากหลายช่องทางถึง 14 ประเภทงาน  ตัวอย่างแคมเปญ  ได้แก่ ‘The Boxer’ ของคอลเกต, แคมเปญ ‘The Hand’ ของวอยซ์, แคมเปญ ‘ไม่หวานมาก’ ของดีไลท์, แคมเปญ ‘Deal of the Dazed’ ของกรุงศรี ออโต้ โบรคเกอร์, แคมเปญ ‘Under My Skin’ ของไทยประกันชีวิต, และผลงานสำหรับคาเฟ่อเมซอน, คาร์โฟร์แคช, กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF), ซีพี กรุ๊ป, ดัชชี่, เอ็มจี, เบอร์เกอร์ คิง และการสร้างแบรนด์ TikTok Shop

วรรณมัย เอื้อทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ โอกิลวี่ ประเทศไทย

การผสานกลยุทธ์ และทักษะเฉพาะของทีมงานทาเลนต์

คุณกี้ วรรณรมัย กล่าวเสริมว่า “แม้ว่าโอกิลวี่จะเป็นเครือข่ายเอเจนซี่ที่ใหญ่ที่สุด แต่เรามีแนวทางการทำงานเน้นการร่วมคิดกับลูกค้าอย่างใกล้ชิดในฐานะพันธมิตรที่สร้างการเติบโตทางธุรกิจและอิมแพคอย่างยั่งยืนต่อแบรนด์ เราเป็นเพื่อนคู่คิดที่ร่วมกันวางแผนตลอดเส้นทางการสื่อสารถึงผู้บริโภค (Customer Journey) วิธีการนี้ทำให้เราสามารถทำงานได้ตรงโจทย์ บรรลุเป้าหมายทางธุรกิจที่วางไว้ร่วมกัน

เพราะความคิดสร้างสรรค์คือแรงขับเคลื่อนและเป็นดีเอ็นเอที่ทำให้เราแตกต่าง  เราจึงผสานความสามารถทาง กลยุทธ์เข้ากับทักษะเฉพาะทางและพรสวรรค์ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด  แต่ละแคมเปญการสื่อสารจึงสามารถสร้างอิมแพคได้มากกว่า ไม่ว่าในเชิงธุรกิจ การสร้างภาพลักษณ์องค์กร หรือการเชื่อมโยงเพื่อสร้างประสบการณ์โดยตรงกับผู้บริโภค (Consumer Engagement)  จึงเห็นได้ว่าผลงานที่ได้รับคัดเลือกจาก THE WORK 2024 บ่งบอกถึงความโดดเด่นในการสื่อสารรูปแบบใหม่ของโอกิลวี่  เช่น การสื่อสารเพื่อความยั่งยืน (Sustainability) และสุขภาพ (Ogilvy Health),  กิจกรรม Activation, การสร้าง Immersive Experience หรือประสบการณ์เสมือนจริงโดยใช้เทคโนโลยี Virtual Reality (VR), Augmented Reality (AR), หรือ Mixed Reality (MR) และช่องทางโซเชียลมีเดียใหม่ ๆ อย่าง TikTok

มากกว่า Transformation แต่เป็น Real Formation

คุณแมน กล่าวย้ำว่า ความสำเร็จครั้งนี้คือบทพิสูจน์ให้เห็นว่า โอกิลวี่ไม่ได้เพียงพลิกโฉมหรือปฎิรูปองค์กร (Transformation) แต่สิ่งที่เราทำคือ Real Formation สร้างความเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้ผลลัพธ์ (Proof Points) ของแต่ละแคมเปญหรือชิ้นงานงานสื่อสารที่เราสร้างสรรค์ขึ้น นำความสำเร็จให้กับธุรกิจของลูกค้า ทำให้แบรนด์หรือสินค้าของลูกค้าทุกรายเข้าถึงประชาชนและผู้บริโภคได้ตรงโจทย์ธุรกิจอย่างแท้จริง

โอกิลวี่เป็น Solution Provider ที่มีความเข้าใจในความซับซ้อนของธุรกิจในยุคปัจจุบัน และมีความเชี่ยวชาญครอบคลุมในทุก Capability ของการสื่อสาร ในทุกภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม รวมถึงองค์กรภาครัฐ เราสามารถรองรับการทำงานกับลูกค้าได้ในทุกสเกล การสร้างสรรค์แคมเปญต้อง “ปรุงได้” มีรสชาติที่หลากหลาย ตามโจทย์ ตามบุคลิกของแบรนด์ ตรงความต้องการของลูกค้าแต่ละราย ดังนั้นบทบาทใหม่ของเอเจนซี่จึงต้องเป็นได้ทั้งผู้วางกลยุทธ์สื่อสารที่เฉียบคมควบคู่ไปกับการเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจสำหรับลูกค้า

 

หมายเหตุ

การประกวด ‘THE WORK 2024’ โดย Campaign Brief ซึ่งเป็นสื่อด้านโฆษณาและการสื่อสารชั้นนำของโลก ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นหนึ่งในเวทีประกวดความคิดสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นำเสนองานแคมเปญการสื่อสารที่ดีที่สุดในปีนี้จากเอเชีย, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ และในปีนี้มีผลงานที่ส่งเข้าประกวดมากถึง 4,189 ชิ้น

ทั้งนี้ โอกิลวี่ ประเทศไทย ประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่นในเวที ‘THE WORK’ มาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยได้รับการจัดอันดับเป็นเอเจนซี่อันดับ 1 ในเอเชียแปซิฟิก 2 ปีต่อเนื่องเมื่อปี 2019 และ 2020 โดยการครองตำแหน่งอันดับ 1 ล่าสุดในปี 2024 สร้างสถิติใหม่ด้วยจำนวนผลงานมากที่สุด


  • 16
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!