ดิจิทัลเอเยนซี่ชั้นนำอย่างมายรัม แนะซีอีโอไทยฉลาดเลือกเทรนด์ดิจิทัลเป็นอาวุธแข่งขันในตลาดโลกปี “2017: The Year of Smarter Digital” ก้าวสู่สมาร์ทดิจิทัลภายใต้ 5 ปัจจัยหลัก “ถูกทาง – ถูกต้อง – ถูกเป้า – ถูกจุด – ถูกใจ” เพื่อการลงทุนด้านดิจิทัลที่เหมาะกับสภาวะเศรษฐกิจและการแข่งขัน ช่วยพิชิตยอดขายและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ
น.ส. อุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเมชั่น บริษัท มายรัม (ประเทศไทย) จำกัด เครือข่ายดิจิทัลเอเยนซี่กลุ่ม WPP กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของธุรกิจต่างๆ ของไทยในยุคดิจัลทรานส์ฟอร์มเมชั่นว่า “ความเคลื่อนไหวทางดิจิทัลเกิดขึ้นต่อเนื่องและรวดเร็วมากขึ้นทุกปี นักการตลาดทุกวันนี้คุ้นชินกับการใช้ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง โซเชียลมีเดียกลายเป็นช่องทางปรกติของการสื่อสารพูดคุยของผู้คน การสั่งซื้อสินค้าหรือการชำระเงินออนไลน์ไม่มีผลต่อการตัดสินใจของนักช้อปออนไลน์เท่ากับสิทธิพิเศษหรือกระแสโซเชียล จนกล่าวได้ว่าปีที่ผ่านมาผู้บริโภคและผู้ประกอบการได้ก้าวสู่การใช้ดิจิทัลเต็มตัว ทำให้วันนี้ซีอีโอ 100% ขยับตัวและเร่งใช้กลยุทธ์ดิจิทัลมากขึ้นในทุกระดับ นอกจากปรับตัวให้ทันเทคโนโลยีแล้ว ยังต้องคิดนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สู่ตลาดโลกด้วย เพราะดิจิทัลสร้างโอกาสทางธุรกิจไปได้ทุกมุมโลก” น.ส.อุไรพร กล่าว
โดยเฉพาะผลสำรวจความเห็นของ 100 ซีอีโอ โดยกรุงเทพธุรกิจและมายรัม ล่าสุดในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม 2559 พบว่า ซีอีโอเกือบทุกอุตสาหกรรมเห็นความสำคัญและมองว่าธุรกิจต้องเร่งปรับตัวรับกระแสเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีสัดส่วนระดับการใช้งานดิจิทัล ดังนี้
ดิจิทัล 1.0 มีการใช้อินเตอร์เน็ตและเว็บไซต์ทั่วไป | 9.41% |
ดิจิทัล 2.0 มีแพลตฟอร์มของการตลาดที่ใช้สื่อสารตรงกับผู้บริโภคได้ อาทิ โซเชียลมีเดีย ในวงกว้าง | 28.24% |
ดิจิทัล 3.0 มีระบบการสื่อสารแบบคลาวด์คอมพิวติ้ง สามารถเชื่อมการทำงานต่างแพลตฟอร์ม เกิดบริการแอพพลิเคชั่น, Online Service, Omni channel, Mobile etc. | 48.24% |
ดิจิทัล 4.0 เริ่มใช้กลยุทธ์ดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเพื่อธุรกิจ ให้การสื่อสารและการทำงานเกิดขึ้นเองอัตโนมัติ ผ่านเทคโนโลยี Machine-2-Machine หรือ IoT | 14.12% |
ในขณะที่ความไม่แน่นอนทางธุรกิจและการแข่งขันที่โหมกระหน่ำในปีหน้าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่กังวล แทนการกล่าวถึงเทรนด์ของดิจิทัลเช่นทุกปี น.ส.อุไรพรได้เสนอ 5 ปัจจัยหลักสำหรับผู้บริหารและนักการตลาด เพื่อใช้ประกอบการวางกลยุทธ์ดิจิทัลตามเทรนด์ที่อาจเกิดขึ้นในปี 2017 ให้เหมาะกับธุรกิจ ก้าวสู่การเป็นองค์กรที่รู้เท่าทันการใช้ดิจิทัลในยุคสมาร์ทดิจิทัล หรือ “2017: The Year of Smarter Digital” เริ่มจากการวางเป้าหมาย (Goal) การใช้ดิจิทัลขององค์กร ดังนี้
ถูกทาง: Smart Way – กำหนดแผนดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเมชั่น
ผู้บริหารต้องรู้และมีความชัดเจนในการกำหนดเป้าหมายขององค์กรว่า ดิจิทัลควรถูกนำมาใช้กับงานในส่วนใด บางส่วนหรือทั้งหมด ต้องการผลลัพท์รวดเร็วและมากเพียงใด สิ่งที่ต้องการจะนำไปสู่การปรับโมเดลธุรกิจหรือสินค้าและบริการอย่างไร และมีผลให้องค์กรต้องทรานส์ฟอร์มกระบวนการทำงานและการใช้เทคโนโลยีมากน้อยเพียงไร ซึ่งอาจส่งผลต่อการลงทุน การเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร ความเชียวชาญของบุคคลากร และรูปแบบของสินค้าและบริการ นวัตกรรมชั้นนำ เช่น อินเตอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoT), Artificial Intelligence (AI), Blockchain หรือ Marketing Automation ช่วยทิ้งห่างการแข่งขัน ทำให้องค์กรที่สามารถพลิกโอกาสทางธุรกิจด้วยดิจิทัลได้อย่างชาญฉลาดกว่ามีความแข็งแกร่ง และสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่แตกต่างในธุรกิจ
ถูกต้อง: Smart Work – ใช้ดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและโอกาส
รู้จักใช้งานดิจิทัลให้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิภาพและการแข่งขันในตลาดของตนเอง เครื่องมือทางดิจิทัลถูกพัฒนาและกลายเป็นหัวใจในการดำเนินงานและการบริการด้านการตลาด การขายและการผลิตอย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลแพลตฟอร์ม ระบบ CRM, OmniChannel, Collaboration ระบบควบคุมการผลิต (Operational Platform) และ IoT โดยการที่องค์กรรู้จักนำเครื่องมือดิจิทัลเหล่านี้มาใช้ตั้งแต่ความคิด การออกแบบ การผลิต การทำงาน และการดูแลลูกค้า จนสามารถสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่โดดเด่นและแตกต่างได้อย่างต่อเนื่อง นับเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นความท้าทายของธุรกิจที่ต้องวางแผนการใช้และการทำงานของดิจิทัลอย่างถูกต้องแท้จริง โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น รีเทล อุตสาหกรรมรถยนต์ และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ที่ต่างพร้อมลงทุนและพัฒนานวัตกรรมให้เข้าสู่ยุค IoT เพื่อชิงความเป็นผู้นำเทรนด์และสร้างโอกาสทางการตลาดก่อนใคร
ถูกเป้า: Smart Target – กำหนดการสื่อสารเฉพาะกลุ่ม
ความนิยมในการสื่อสารและใช้ช่องทางผ่านสื่อออนไลน์ ยังคงมีมากขึ้นตามโลกที่เข้าสู่ยุคดิจิทัล แต่สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องบริหารงบประมาณในการสื่อสาร หากเข้าใจและเรียนรู้วิธีบูรณาการการใช้สื่อดิจิทัลได้ลึกซึ้ง เช่น Targeting Ad และการนำเสนอเนื้อหาที่เป็นความเฉพาะ (Personalization) และการวิเคราะห์ข้อมูล (Analytics) ผ่าน Big Data จะช่วยให้สื่อสารได้ตรงกลุ่มคนที่เป็นลูกค้าตัวจริง และช่วยให้ปิดการขายได้เร็วขึ้น แทนที่จะเป็นการสื่อสารแบบเหวี่ยงแหและไร้ทิศทางเช่นแต่ก่อน และยังสามารถขยายอาณาเขตการขายสินค้าไปตลาดทั่วทุกมุมโลกได้ด้วย
ถูกจุด: Smart Conversion – ใช้ดิจิทัลจับการขาย
ดิจิทัลช่วยให้ธุรกิจเข้าใจความต้องการของผู้ซื้อได้มากขึ้น การติดตามข้อมูล การเสนอราคาหรือแม้กระทั่งการเปรียบเทียบข้อมูลคู่แข่งก็สามารถทำได้ทุกขณะผ่านโมบาย นวัตกรรมด้านการขายและการบริการได้ช่วยผูกข้อมูลความสนใจเข้ากับพฤติกรรมผู้ซื้อ ทำให้แบรนด์สามารถวิเคราะห์ความต้องการซื้อสินค้าของผู้สนใจได้ง่ายขึ้น นวัตกรรมการช้อปผ่านออนไลน์และออฟไลน์ในลักษณะ OmniChannel, VR, Bot หรือ Social Commerce เพิ่มโอกาสการขายและการบริการลูกค้าในยุคดิจิทัลได้อย่างตรงใจ
ถูกใจ: Smart Service – ให้บริการที่โดนใจลูกค้า
แบรนด์ที่เข้าใจลูกค้าและนำเสนอบริการที่สะดวกสบายและใส่ใจผ่านทางออนไลน์หรือออฟไลน์ ย่อมเป็นแบรนด์ในใจของลูกค้าเสมอ ดังนั้นการสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่โดนใจลูกค้าด้วยโซลูชั่นที่ดีกว่า ลูกค้าได้สิ่งที่ต้องการ บริการที่ลดเวลาและลดค่าใช้จ่าย หรือกระทั่งลดความยุ่งยากในการชำระเงินและการส่งสินค้า จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ธุรกิจใส่ใจ ด้วยนวัตกรรมชั้นนำ อย่าง AI, FinTech, CRM และการวิเคราะห์เทรนด์พฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย ช่วยให้ธุรกิจปรับตัวและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างโดนใจและตรงเทรนด์
“ในยุคที่การค้าถูกช่วงชิงได้ด้วยดิจิทัลดิสรัพชั่นหรือจากแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่งทางดิจิทัล ทำให้ผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็ก ใหญ่และแบรนด์ดังระดับโลก ต้องกำหนดกลยุทธ์ดิจิทัลที่เหมาะสมกับตนเอง เพื่อให้ 2017 เป็นปีที่สดใสและก้าวเข้าสู่ปีแห่งสมาร์ทดิจิทัล “2017: The Year of Smarter Digital” ตามหลักการ 5 ข้อที่นำเสนอในครั้งนี้ และช่วยให้องค์กรตัดสินใจลงทุน เลือกใช้เครื่องมือตามเทรนด์ดิจิทัลที่ตอบโจทย์ได้คุ้มค่า ทำให้แข่งขันได้ในธุรกิจอย่างมั่นใจ” น.ส.อุไรพร กล่าวทิ้งท้าย