ชื่อของ อนุวรรต นิติภานนท์ หัวหน้าทีมครีเอทีฟรุ่นใหม่จาก BBDO ที่มีรางวัลจาก Cannes เป็นเครื่องหมายการันตีคุณภาพ และทำหน้าที่เป็น Jury ให้กับงาน ADFEST 2016 ในหัวข้อเรื่อง Interactive and Mobile ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมโฆษณาในภูมิภาคเอเชีย และในไทย รวมถึงผลงานที่ส่งเข้าประกวดในหัวนี้ได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งเชื่อว่านักการตลาดและเอเจนซี่ จะนำไปเป็นแนวคิดในการผลิตงานที่มีคุณภาพได้เป็นอย่างดี
อันดับแรก อนุวรรต มองว่า ผลงานโฆษณาในภูมิภาคเอเชียมีพลังในการสร้างสรรค์และสื่อสารได้อย่างทรงพลังมากขึ้น มีการนำเสนอมุมมองที่เป็น Local Insight อย่างชัดเจน ผลงานหลายชิ้นสะท้อน Local Believe และ Local Insight ออกมาได้อย่างน่าสนใจ และยากที่จะเลียนแบบ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูงขึ้น สะท้อนถึงคุณภาพในการทำงาน
แต่สิ่งหนึ่งที่ท้าทายครีเอทีฟในงาน ADFEST คือ ผลงานโฆษณาต้องสื่อสารให้กับ คณะกรรมการ ที่มาจากหลากหลายประเทศได้เข้าใจ Local Insight ที่มีความเฉพาะในแต่ละประเทศด้วย นั่นคือ นอกจากคณะกรรมการต้องมีองค์ความรู้ที่เป็นสากลแล้ว ตัวผลงานเองก็ต้องทำหน้าที่ในการอธิบายออกมาได้อย่างเข้าใจด้วย ถือเป็นโจทย์ที่ไม่ง่ายเลยสำหรับนักการตลาดและครีเอทีฟยุคใหม่
พัฒนาการของโฆษณาเอเชีย – สร้างลักษณะเฉพาะตัว
ในงาน ADFEST 2016 ครั้งนี้ มีผลงานจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมประกวดจำนวนไม่น้อย ในประเภท Interactive and Mobile ก็เช่นเดียวกัน โดยประเทศที่มีผลงานส่งเข้าประกวดเป็นจำนวนมาก คือ ญี่ปุ่น และ ออสเตรเลีย รวมถึงประเทศจีน ทำให้เห็นจุดเด่นของแต่ละประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ที่มีความโดดเด่นเรื่องเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในผลงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือ ออสเตรเลีย ที่ใช้อารมณ์เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ผลงาน เป็นต้น
สิ่งนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่าผลงานโฆษณาในงาน ADFEST อยู่ในระดับ World Class ซึ่งผลงานที่น่าสนใจ เช่น Emotional Trailers ซึ่งเป็นงานเชิงทดลอง ให้ผู้บริโภคได้รับรู้อารมณ์ของหนังก่อนที่จะได้ดู (Feel the film before you see the film) เป็นผลงานของ McCann จากออสเตรเลีย หรือ Pedigree Found เป็น Mobile Application สำหรับคนเลี้ยงสุนัข ที่ใช้การลงทะเบียนสร้าง Network เพื่อช่วยกันติดตามสุนัขที่หาย และใช้สโลแกนว่า Faster than your dog เป็นต้น
งานโฆษณาไทย ต้องสร้างจุดเด่นด้วย Creativity
มุมมองของ อนุวรรต เห็นว่า ผลงานโฆษณาไทยที่ส่งเข้าประกวดในหัวข้อ Interactive and Mobile ยังมีจำนวนน้อย และหากจะเทียบในด้านเทคโนโลยีแล้ว อาจเป็นเรื่องยากที่จะแข่งขันกับญี่ปุ่นหรือออสเตรเลีย ซึ่งมีความได้เปรียบด้านนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ครีเอทีฟและนักการตลาดไทยเก่งไม่แพ้ประเทศอื่นๆ คือ Creativity เห็นได้จากผลงานดีๆ มีอยู่ไม่น้อย และเห็นว่า ยังต้องเพิ่มจำนวนงานคุณภาพขึ้นอีก เพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ในด้านอุตสาหกรรมโฆษณาให้มากขึ้น
อีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจคือ เทรนด์เรื่อง Digital Interaction ซึ่งปัจจุบันอยู่ในทุกส่วนของชีวิตประจำวัน ซึ่งในวงการโฆษณานี่ไม่ใช่เรื่องใหม่แล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่า ครีเอทีฟและนักการตลาดไทยยังหยิบมาใช้ไม่มาก และยังต้องการการปรับตัวอยู่อีกไม่น้อย เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ต้องทำความเข้าใจ และนำ Digital Interaction มาใช้ประโยชน์ให้เกิดขึ้นอย่างเต็มประสิทธิภาพมากกว่านี้
ภารกิจที่ยังต้องทำอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมโฆษณาไทย คือต้องสร้างจุดต่างที่โดดเด่น ผลิตผลงานที่มีคุณภาพออกมาเป็นจำนวนมาก และต้องไม่ลืมใส่ Local Insight สร้างพลังให้กับผลงาน เพื่อสร้างชื่อเสียงและสร้างการรับรู้เกี่ยวกับประเทศไทยในวงการโฆษณาระดับโลก ให้ทุกคนได้รู้ว่า ผลงานโฆษณาไทยสร้างสรรค์ได้ไม่แพ้ชาติใดในโลก
Copyright © MarketingOops.com