ถ้าพูดถึง 5G ในมุมของผู้บริโภค ส่วนใหญ่อาจนึกถึงดีไวซ์รุ่นใหม่ ๆ ฟังก์ชันไฮเทค แต่ในมุมมองนักการตลาดและแบรนด์จำเป็นต้องมองลึกถึงโอกาส ว่า 5G จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ในแง่มุมใดบ้าง ประเด็นนี้ถูกหยิบมาพูดถึงในงานสัมมนา REDEFINE BUSINESSES with 5G (Forum 2021) ในหัวข้อ Drive 5G Consumer’s Experience 5G กับการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ผู้บริโภค โดย คุณพิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ หัวหน้าคณะทำงานและกรรมการยุทธศาสตร์ 5G บริษัท True Corporation PCL ซึ่งเล่าว่า
“ประเทศไทยไม่เคยเป็นผู้นำหรือ Early Adopter ด้านเทคโนโลยีมาก่อน ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี ในยุค 3G ไทยเริ่มต้นช้ากว่าญี่ปุ่นที่เป็นประเทศแรกถึง 9 ปี แต่สำหรับ 5G ไทยจะเป็นประเทศแรกในกลุ่ม SEA ที่ลอนช์”
คนใช้ 5G ทั่วโลก 540 ล้านคนแล้ว จีนรับบท Key Drivers
คุณพิรุณ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน มี 50 ประเทศทั่วโลกที่ให้บริการ 5G ผ่าน 84 โอเปอเรเตอร์ โดยมีผู้ใช้งานราว 540 ล้านคนแล้ว ซึ่งประเทศจีนถูกยกให้เป็น Key Drivers หลักของ 5G ด้วยจำนวนผู้ใช้งาน 478 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้ใช้งาน 5G ขณะนี้สะท้อนถึงการใช้งานที่สูงกว่าตอน 3G 4G เป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ Analysys Mason ได้คาดการณ์โอกาสของ 5G ของภูมิภาคอาเซียน ในปี 2025 ไว้ว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดจาก 5G จะเติบโตสูงมาก โดยไทยอาจมีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย โดยมูลค่าที่เกิดขึ้นทั้งฝั่งเอนเตอร์ไพร์ซและคอนซูเมอร์จะเติบโตอย่างรวดเร็วด้วย
Speed & Latency ของ 5G กำลังจะเปลี่ยนโลก
คุณพิรุณ อธิบายว่า หากเปรียบเทียบเทคโนโลยี 4G กับ 5G ในแง่ความเร็ว พบว่า 5G จะเร็วขึ้น 20 เท่า โดยในแง่ความเร็ว สำหรับการใช้งานในเขตเมืองอาจอยู่ที่ 300-400 Mbps จากเดิมที่ 4G ทำได้ 30-40 Mbps ส่วน Latency 5G อาจทำได้ต่ำกว่า 10ms ช่วยให้ตอบโจทย์ด้าน IoT ได้ดียิ่งขึ้น
ประสิทธิภาพของ 5G จะสร้างประสบการณ์ใหม่ที่ 4G ไม่เคยทำได้มาก่อน ทั้งกลุ่มคอนซูเมอร์ เช่น เทคโนโลยีในการทำโซลูชัน ในบ้าน เช่น การทดแทนในส่วนที่เทคโนโลยีไฟเบอร์ไปไม่ถึง การเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT หรือในภาคอุตสาหกรรม ก็ตาม ทั้งหมดสามารถทำได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้อย่างไร ซึ่งความท้าทายอยู่ที่ประเทศไทยเป็นประเทศแรก ๆ ที่มี 5G ใช้งาน แต่ครั้งนี้ไม่เหมือนทุกครั้งเพราะไทยเป็นประเทศกลุ่มแรก ๆ ที่ได้ใช้งาน โดยขณะนี้ มีการผลักดันให้เกิดการใช้งานในหลายกลุ่มภายใต้ความร่วมมือในการผลักดันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
5G กับทิศทางคอนซูเมอร์
คุณพิรุณ ให้ความรู้ว่า เบื้องหลังของ 5G จะประกอบด้วย 5 ส่วน A-I-C-D-E ได้แก่ AI, IoT, Cloud Computing, Data, Edge Computing
ยกตัวอย่าง หากเรามีหุ่นยนต์อัจฉริยะ ที่สามารถเคลื่อนที่ หลบหลีกสิ่งกีดขวาง ทำตามคำสั่ง และพูดคุยตอบโต้กับมุนษย์ได้ หุ่นยนต์ตัวนี้ถือเป็น IoT เพราะต้องมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ขณะเดียวกันก็ต้องมี AI เพื่อเพิ่มความฉลาด ซึ่งหากต้องการให้ฉลาดมาก ๆ อาจต้องใช้คอมพิวเตอร์แบบเซิร์ฟเวอร์ฟาร์มซึ่งมีขนาดใหญ่และอาจต้องใช้เป็นจำนวนมากทำให้ขนาดใหญ่มากเท่ากับอาคารหนึ่งหลัง ทำให้ทุกอย่างต้องอยู่บน Cloud แทนเพื่อความสะดวกเรื่องพื้นที่ แต่หาก Cloud ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ไกลจากจุดที่ใช้งานหุ่นยนต์ ก็จะเกิดปัญหาความหน่วงในการทำงาน จึงต้องมี Edge Computing เข้ามาร่วมด้วย โดยทั้งหมดนี้ คือ Use Case ที่จะเกิดขึ้นบน 5G แบบที่ไม่เคยเกิดกับเทคโนโลยีอื่นมาก่อน
ส่วน Key Driver หลักในฝั่งคอนซูเมอร์ คือ เรื่องอุปกรณ์ Handset ซึ่งผู้คนต้องการเปลี่ยนเพื่อรองรับ 5G ปัจจุบันจะเห็นว่ามีหลากหลายรุ่นให้เลือกและราคาต่ำลงเรื่อย ๆ โดยมีรุ่นที่ลอนช์ในประเทศไทยด้วยราคาต่ำกว่า 10,000 บาทแล้ว คาดว่าในปี 2022 เกินครึ่งของมือถือในประเทศไทย จะเป็นรุ่นที่รองรับ 5G ได้แล้ว ดังนั้น Key Driver แรกของฝั่งคอนซูเมอร์ คือ การทำให้ผู้คนเข้าถึง 5G คาดว่าหากไม่ติดปัญหาเรื่องชิปเซ็ต ก็อาจได้เห็นมือถือราคา 5,000 บาท ที่รองรับ 5G ในประเทศไทยได้เร็ว ๆ นี้
คุณพิรุณ เปิดเผยความพร้อมด้าน 5G ของ True ว่า ปัจจุบัน True มี 5G ครอบคลุม 77 จังหวัด ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 99% และ 100% ในพื้นที่พิเศษ EEC ซึ่ง กสทช. เป็นผู้กำหนด ถือเป็นการโรลเอาท์ที่รวดเร็วมากเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีที่ผ่านมา โดย True ได้เตรียมพร้อมประสบการณ์ 5G โดยเน้น Immersive Experience ได้แก่ AR, VR, การดูคอนเทนต์แบบ 360 องศา, การทำคอนเทนต์ที่ใช้ความละเอียดสูงด้วย 3D Models และ MR (Mixed Reality) ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ต้องใช้คอมพิวติ้งพาวเวอร์สูงและแบนด์วิธขนาดใหญ่ รวมถึง ความสามารถด้าน Latency ด้วย
นอกจากนี้ True ยังสร้าง XR Studio ที่สยามสแควร์ ซอย 2 เพื่อสนับสนุนการสร้าง Immersive Experience ผ่านแพลตฟอร์ม ทำให้สามารถสร้างคอนเทนต์ได้เองโดยไม่ต้องจัดซื้อคอนเทนต์นำเสนอผู้บริโภค โดยการเข้ามาสามารสร้างคอนเทนต์ได้เอง อยู่ภายใต้ความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ด้านต่าง ๆ ทำให้ XR Studio สามารถดำเนินการได้หลายรูปแบบ ทั้งการทำอีเวนท์แบบ Virtual Production ได้
ทั้งยังมีประสบการณ์แบบ True 5G VR ซึ่งดูผ่านโมบาย หรือ VR Headset และ VR 4K ได้ แม้ปัจจุบันยังมีข้อจำกัดเรื่องดีไวซ์ อาจทำให้ประสบการณ์การรับชมยังไม่ดีเท่าที่ควร แต่จากแนวทางของ VR ในหลาย ๆ แพลตฟอร์ม เชื่อว่าการดำเนินงานของ True 5G VR จะไม่ได้สร้างแค่ประสบการณ์หรือคอนเทนต์ใหม่ แต่จะกลายเป็นระบบนิเวศที่สมบูรณ์ในที่สุด นอกจากนี้ ก็ยังมี True 5G AR ที่ใช้ภาพจริงมาซ้อนเข้ากับภาพเสมือน ซึ่งขณะนี้แม้จะมีแอปด้าน AR เยอะมาก แต่ True ตั้งเป้าให้เทคโนโลยี AR ตอบโจทย์มากกว่าความบันเทิง โดยจะขยายไปถึงเรื่องค้าปลีก ทำให้เกิดประสบการณ์ใหม่ในการใช้บริการ เพื่อยกระดับทั้งส่วนคอมเมิร์ซและ O2O
อย่างไรก็ตาม เกมก็เป็นอีกส่วนที่เทคโนโลยี 5G จะเข้ามาตอบโจทย์ผ่านรูปแบบ Cloud Gaming โดยเฉพาะเกมที่ต้องแข่งขันหรือได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะการดาวน์โหลดลงมือถือนั้นจะใช้พื้นที่ขนาดใหญ่มาก ดังนั้น การย้ายเกมไปจัดเก็บบน Cloud ก็จะดีกว่า แต่จำเป็นต้องมีความเร็วสูงและ Latency ที่ต่ำมาก เพื่อให้การตอบสนองให้เกมลื่นไหล ซึ่งไม่ได้มีแค่ฝั่งความบันเทิงหรือค้าปลีก เชื่อว่า 5G จะสร้างประสบการณ์ใหม่ให้หลาย ๆ บริการเพื่อคอนซูเมอร์ได้อย่างแน่นอน