นอกจาก VDO จะเป็นคอนเทนต์แห่งยุค ในมุมของผู้บริโภคจากพฤติกรรมเปิดรับและชมเป็นเวลานานในแต่ละวัน VDO ก็ยังเป็นกลยุทธ์ที่แบรนด์และนักการตลาดให้ความนิยมอย่างมากเช่นกัน แต่ความสำเร็จของการทำคอนเทนต์ VDO นั้น ไม่ได้มีรูปแบบตายตัว แถมยังต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ผสมผสานกับลูกเล่นแปลกใหม่อยู่เสมอ ซึ่งจากรายงาน Brand building at the speed of culture: The role of online video in Asia ของ WARC องค์กรวิจัยข้อมูลเชิงลึกด้านโฆษณา ได้สรุปเป็น 5 วิธี เพื่อใช้ VDO ออนไลน์ในการสร้างแบรนด์ โดยเป็นการวิเคราะห์บทเรียนจากผู้ชนะ YouTube Works Awards ทั่วเอเชีย
วัฒนธรรมย่อย มีอิทธิพลมากกว่ากระแสหลัก
Subculture หรือ วัฒนธรรมย่อยใหม่ ๆ กำลังขยายความนิยมไปทั่วเอเชีย โดยเฉพาะความนิยมเกาหลีแบบ Korean Wave ซึ่งปีที่ผ่านมาก็เห็นได้ชัดเจนจาก Squid Game ที่โด่งดังไปทั่วโลก จนแบรนด์ทั่วเอเชียนำกระแส K-Wave มาเข้าถึงผู้คน
ยกตัวอย่าง : Dear! Throw it Away ของแบรนด์ Kleenex Viva ในไต้หวัน ที่นำวัฒนธรรม K-Wave มาผสานกับสไตล์ละครของไต้หวันเพื่อเชื่อมโยงผู้ชมกับการนำเสนอคุณประโยชน์กระดาษทิชชู่ของแบรนด์ได้อย่างชัดเจน โดยยืมวิธีการเล่าเรื่องและแนวดนตรีของซีรีส์เกาหลีมาใช้ ตลอดจนการพากย์เสียงในภาษาฮกเกี้ยนไต้หวันก็ตั้งใจทำออกมาให้ฟังคล้ายภาษาเกาหลี
เทคโนโลยีดิจิทัล ‘ปรับโฉม’ วัฒนธรรมดั้งเดิม
เนื่องจาก COVID-19 ทำให้การพบปะทางสังคมเป็นไปได้ยากขึ้น แต่แบรนด์ยังสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้ผู้คนสัมผัสประสบการณ์ในมิติต่าง ๆ ได้
ยกตัวอย่าง : Mondelez อินเดียที่สร้างแคมเปญ This is not just a Cadbury ad เพื่อเปลี่ยนธรรมเนียมการมอบของขวัญในเทศกาลดิวาลี ผ่านการใช้ AI ร่วมกับ Advanced Contextual Targeting ใน YouTube กับการสร้างโฆษณา Custom Ad หลายพันรายการ
อารมณ์ขัน ทรงพลังกว่าที่คิด
การนำเสนออารมณ์ขันเป็นเครื่องมือครีเอทีฟที่ได้ผลเสมอ เพราะช่วยสร้างความบันเทิงและเปิดโอกาสให้ผู้คนหลบหนีความวุ่นวายจากชีวิตจริงได้ ทำให้โฆษณาที่ส่งอารมณ์เชิงบวก สร้างแรงบันดาลใจและความสนุกสนาน สามารถสร้างความเชื่อมโยงทางอารมณ์เชิงบวกระหว่างผู้ชมและแบรนด์ได้ ซึ่งแบรนด์สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายรูปแบบ
ยกตัวอย่าง : แคมเปญ Basta ของ RC Cola ในฟิลิปปินส์ ที่ใช้ความตลกขบขันในการเข้าถึงใจผู้ชมจำนวนมากที่เชื่อในวัฒนธรรม Basta (อยากทำอะไรก็ทำ) จนทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 67%
ครีเอเตอร์ สร้างการมีส่วนร่วม
ไม่ใช่แค่สร้างสรรค์ แต่ ครีเอเตอร์ คือกลุ่มคนที่มีอิทธิพลในการสร้างการมีส่วนร่วมและกระชับความสัมพันธ์กับผู้ชมผ่านการสร้างสรรค์คอนเทนต์ใหม่ ๆ ที่สนุกสนานและโดนใจผู้ชมอย่างต่อเนื่อง ครีเอเตอร์สามารถสร้าง Online Community ให้ผู้ชมได้เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งแบรนด์ที่จับมือกับครีเอเตอร์และเข้าถึง Online Community ได้ก็สามารถขยายฐานลูกค้าของตนได้ง่ายเช่นกัน
ยกตัวอย่าง : แคมเปญ Bear Brand จากนมตราหมี ผู้ชนะ YouTube Works Awards ประเทศไทย ที่ได้ร่วมมือกับมาริโอ้ โจ๊ก ครีเอเตอร์สายฮา หรือ Kellogg’s จากเกาหลีใต้ ที่เลือกโปรโมตซีเรียลรสใหม่ผ่านครีเอเตอร์ โดยหลังจากที่ปล่อยวิดีโอโปรโมตความยาว 6 วินาที ครีเอเตอร์ YouTube สายไลฟ์สไตล์ชื่อดังอย่าง Bogyeom, Dick Hunter และ Edmmer ก็ได้อัปโหลดวิดีโอรีวิวซีเรียลรสใหม่ ซึ่งสร้างกระแสครั้งใหญ่ให้กับแบรนด์ จนทำให้ยอดขายของสินค้าเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว
เสริมจุดยืนให้แบรนด์ด้วยการลงมือทำ
ผู้คนในเอเชียมีแนวโน้มซื้อผลติภัณฑ์จากแบรนด์ที่ยึดมั่นในความคิด ความเชื่อบางอย่าง มากกว่าแบรนด์ทั่วไปถึง 7.9 เท่า ดังนั้น การทำตามสิ่งที่ตนเชื่อและสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้คนได้ จึงอาจเป็นแนวทางที่เหมาะสมหากแบรนด์จะทำ
ยกตัวอย่าง : Nike ประเทศญี่ปุ่น ที่มีความเชื่อว่ากีฬาไม่ได้เปลี่ยนแปลงโลกแต่เปลี่ยนแปลงผู้คน ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของแบรนด์ Nike ทั่วโลกที่ต้องการทำลายกำแพงและสร้างชุมชนผ่านการเล่นกีฬา จาก Insight ที่พบว่าวัยรุ่นญี่ปุ่นเพียง 45% เท่านั้นที่กล้าลุกขึ้นมาต่อต้านการบูลลี่ Nike จึงสร้างแคมเปญที่แสดงเรื่องราวของเด็กหญิงวัยรุ่น 3 คนที่เอาชนะการถูกกลั่นแกล้งและลุกขึ้นมาสร้างความมั่นใจให้ตัวเองได้อีกครั้งด้วยการเล่นฟุตบอล ความเชื่ออันทรงพลังของแบรนด์นี้เองถูกนำมาสู่การปฏิบัติจริงจนกลายเป็นที่สนใจของทั่วโลก และยังทำให้ทั้งประเทศหันมาให้ความสำคัญกับปัญหานี้
ที่มา : Think with Google