40 ซีอีโอ หนุน ‘วัคซีนทางเลือก’ เพื่อเร่งเปิดประเทศ ฟื้นเศรษฐกิจ

  • 814
  •  
  •  
  •  
  •  

40 ซีอีโอ สนับสนุนการจัดหา ‘วัคซีนทางเลือก’ ให้เพียงพอ โดยภาคเอกชนยินดีที่จะจ่ายค่าวัคซีนให้กับพนักงานของบริษัทรวมเกือบ 1 ล้านราย นอกจากนี้ยังจัดทีมในการช่วยกระจายการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้อย่างทั่วถึง เพื่อให้สามารถเปิดประเทศได้รวดเร็ว ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ข้อสรุปการประชุมระหว่างหอการค้าไทยกับซีอีโอของบริษัทใหญ่กว่า 40 บริษัท จากทุกกลุ่มธุรกิจของไทย เพื่อร่วมกันวางแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของภาคเอกชน และต้องจัดหาวัคซีนทางเลือกให้เพียงพอ โดยสนับสนุนภาครัฐให้สามารถเปิดประเทศได้อย่างรวดเร็ว เพื่อความปลอดภัยและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวโยบายหลักภารกิจ 99 วันแรกของการทำงานในหอการค้าที่ต้องมีการ Connect the dots คือ ดึงความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

อย่างไรก็ตาม วัคซีนล็อตใหญ่ที่จะเริ่มเข้ามาตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้ จะต้องมีการเตรียมตัว และวางแผนการกระจายวัคซีนให้มีประสิทธิภาพ ดังนั้น หอการค้าไทยและเครือข่ายภาคเอกชน จะช่วยสนับสนุนภาครัฐในการกระจายวัคซีนที่ภาครัฐจัดซื้อมาให้เกิดประสิทธิภาพและทั่วถึงมากที่สุด โดยจะเริ่มที่กรุงเทพฯ ก่อน เพื่อเป็นตัวอย่างให้จังหวัดอื่น ๆ พร้อมสนับสนุนให้เอกชนมีส่วนร่วมในการเจรจาซื้อวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติม ด้วยการแบ่งงานออกเป็น 4 ทีม เพื่อสนับสนุนการฉีดวัคซีน ได้แก่

  • TEAM A: Distribution and Logistics ทีมสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน ช่วยสนับสนุน สถานที่ บุคลากร อาสาสมัคร และอุปกรณ์ IT เช่น คอมพิวเตอร์ ปริ๊นเตอร์ เครื่องอ่านบัตรประชาชน ให้ กทม. เพิ่มจากโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ซึ่งตอนนี้ได้มีการเตรียมและไปลงพื้นที่สำรวจกับ กทม. แล้ว

ในระยะแรก จำนวน 10 พื้นที่ใน กทม. ที่เอกชนจะนำร่อง เช่น กลุ่มเซ็นทรัล , SCG , เดอะมอลล์ , สยามพิวรรธน์ , เอเชียทีค , โลตัส , บิ๊กซี , ทรูดิจิตัลพาร์ค เป็นต้น โดยจะสรุปกับ กทม.ภายในวันที่ 27 เมษายนนี้ และในระยะถัดไปจะมีการหารือในการจัดทำหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ไปยังจุดต่าง ๆ เพื่อลดการเคลื่อนย้ายของประชาชน

  • TEAM B: Communication ทีมการสื่อสาร เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและมาฉีดวัคซีนในสถานที่ที่พร้อม เพราะปัจจุบันหลายคนยังไม่เข้าใจเรื่องการฉีดวัคซีน หลายคนไม่ยอมฉีด ดังนั้น ต้องทำความเข้าใจ ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ทั้งนี้ ภาครัฐจะทำระบบ “หมอพร้อม” เสร็จสิ้นในเดือนนี้ ซึ่งจะสามารถระบุสถานที่ต่าง ๆ ที่ลงทะเบียนฉีดวัคซีน การจัดคิวการฉีดที่ไม่หนาแน่น หรือลำดับการฉีดที่เหมาะสม โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายบริษัท อาทิเช่น Google, LINE, Facebook, VGI และ Unilever เป็นต้น
  • TEAM C: IT Operation ทีมเทคโนโลยีและระบบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการลงทะเบียน ขั้นตอนในการฉีดที่รวดเร็ว และมีระบบการติดตามตัว พร้อมสามารถออกใบรับรองการฉีดวัคซีนได้ โดยมีหลายบริษัท นำทีมโดย IBM เข้ามาสำรวจและปรับปรุงกระบวนการ
  • TEAM D: Extra Vaccine procurement ทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมร่วมกับภาครัฐและเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน โดยจะไปสำรวจความต้องการฉีดวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติม เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาล และทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วมากขึ้น นำโดยสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งในวันนี้ได้มีการหารือกันแล้ว ประเมินว่า ยังต้องการวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติมอีก 30 ล้านโดส เพื่อให้ครอบคลุม 70% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งวัคซีนทางเลือก ได้แก่ 1. ประเทศสหรัฐอเมริกา วัคซีน Moderna และ Pfizer 2. ประเทศจีน วัคซีน Sinopharm และ CanSino Biologics 3. ประเทศอินเดีย วัคซีน COVAXIN จากบริษัท Bharat Biotech และ 4. ประเทศรัสเซีย วัคซีน Sputnik V ซึ่งภาคเอกชนยินดีที่จะจ่ายค่าวัคซีนให้กับพนักงานของบริษัทรวมแล้วเกือบ 1 ล้านราย เพื่อแบ่งเบาภาระให้กับรัฐบาล

‘สนั่น  อังอุบลกุล’ ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า  ผลสรุปจากการประชุม CEO ทุกบริษัทเห็นตรงกันว่าขณะนี้ประเทศไทยได้รับการฉีดวัคซีนไปเพียง 0.4% ของประชากรเท่านั้น ซึ่งถือว่าล่าช้ามากสำหรับการที่จะเปิดประเทศที่จะต้องฉีดให้ได้ถึง 70% ของประชากร ภาครัฐจำเป็นต้องจัดหาวัคซีนให้เพียงพอกับทุกคน   โดย CEO ทุกท่านพร้อมที่จะช่วยภาครัฐ

โดยภายในปี 2564 หอการค้าตั้งเป้าให้มีการฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯ 70% โดยบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้าของกรุงเทพฯ ต้องได้รับการฉีดทั้งหมด 100% ภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ ส่วนการฉีดวัคซีนสำหรับประชาชนทั่วไปในกรุงเทพฯ ต้องให้ได้อย่างน้อย 50,000 โดสต่อวัน โดยภาคเอกชนจะเข้ามาเสริมการทำงานของภาครัฐเพื่อให้ได้เป้าหมายดังกล่าว พร้อมกับจัดทำรูปแบบมาตรฐาน หรือรูปแบบตัวอย่างของภาคเอกชนที่สนับสนุนการฉีดวัคซีน ให้กับจังหวัดอื่น ๆ ภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้

 

สำหรับ CEO ที่เข้าร่วมการประชุม ได้แก่

  • บจก.น้ำตาลมิตรผล
  • บจก.ปูนซิเมนต์ไทย (SCG)
  • บมจ.ศรีไทยซุปเปอร์แวร์
  • บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ
  • บมจ.ซีแวลูกรุ๊ป
  • บจก.เซ็นทรัลพัฒนา
  • บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น
  • บมจ.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป
  • บมจ.ดุสิตธานี
  • บมจ.เดอะมอลล์ กรุ๊ป
  • บจก.โตชิบา ไทยแลนด์
  • บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น
  • บจก.ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม
  • บจก.ไทยน้ำทิพย์
  • บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ
  • บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป
  • บมจ.ไทยวิวัฒน์ประกันภัย
  • ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
  • บมจ.บี.กริม เพาเวอร์
  • บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล
  • บมจ. บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์
  • COSO Foods Thailand & Vietnam of Pepsi Cola (Thai) Trading Co., Ltd.
  • บจก.เมืองไทยประกันภัย
  • บจก.ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง
  • บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา
  • บจก.โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท
  • บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
  • บจก.ไลน์ ประเทศไทย
  • บจก.สยามพิวรรธน์
  • บจก.สิงห์ คอร์เปอเรชั่น
  • บจก.หลักทรัพย์จัดการกองทุนเมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์
  • บจก.เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม (เทสโก้ โลตัส ประเทศไทย)
  • บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น
  • บจก.ไอบีเอ็ม ประเทศไทย (IBM)
  • บมจ. เอ็ม บี เค (MBK Group)
  • บจก.เฟซบุ๊ก (ประเทศไทย)
  • บจก.กูเกิล (ประเทศไทย)
  • Kao Industrial (Thailand) Co., Ltd.
  • SIAM MAKRO PCL
  • Minor International PCL
  • Nestle Indochina, Nestle

  • 814
  •  
  •  
  •  
  •