รู้ก่อนได้เปรียบ!! เผย 12 เทรนด์ E-Commerce ในไทยที่มาแรงในปี 2020

  • 1.4K
  •  
  •  
  •  
  •  

ภาพรวมอีคอมเมิร์ซไทยในปีที่ผ่านมานับว่า เป็นปีที่หลายธุรกิจแข่งขันกันอย่างดุเดือดและร้อนแรง แต่เริ่มที่จะมองเห็นโมเมนตัมของการทำธุรกิจออนไลน์ในประเทศไทยได้ชัดเจนมากขึ้นและลากยาวไปถึงปี 2563

ส่วนในปี 2563 เทรนด์ของอีคอมเมิร์ซไทยจะเป็นอย่างไร ทาง ‘ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ’ ได้สรุป 12 เทรนด์ เพื่อเตรียมพร้อมให้กับคนที่ทำธุรกิจและคนที่ต้องการที่จะปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลรู้ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง

1. JSL Marketplace เริ่มทำรายได้ให้เห็นแล้ว

ปี 2563 จะเป็นปีที่ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซ (J=JD Central, S=Shopee, L=Lazada) เริ่มทำกำไรมากขึ้น จริง ๆ เราเริ่มเห็นกันตั้งแต่ปีที่ผ่านมาแล้วว่า Shopee เริ่มเก็บค่าคอมมิชชั่น ค่าบริการต่าง ๆ แล้ว ในขณะที่ Lazada เองเก็บค่าคอมมิชชั่นมาพักใหญ่ ทุกคนกำลังเริ่มปรับตลาด และมีคนเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น เมื่อคนเริ่มติดแล้ว ปี 2563 จะเป็นปีที่ผู้ให้บริการเหล่านี้จะทำรายได้ โดยจะมาจากการเก็บค่าคอมมิชชั่น ค่าโฆษณา ฯลฯ จะเริ่มเห็นว่ามีการเก็บค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของ JSL มากขึ้น

2. สงคราม E-Wallet แข่งกันดึงเงินลงกระเป๋า

จากปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าธุรกิจ E-Wallet เริ่มมีการตั้งไข่ ฉะนั้นในปี 2563 E-Wallet จะเติบโตมาก โดยรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า ในไตรมาสแรกของปี 2562 การใช้งาน e-Money มีปริมาณการใช้งานทั้งสิ้น 473.27 ล้านรายการ คิดเป็นมูลค่า 67 พันล้านบาท ส่วนปี 2561 มีปริมาณการใช้ 1,510.84 ล้านรายการ มูลค่า 209 พันล้านบาท เติบโตจากปี 2560 ที่มีการใช้งานเพียง 1,272.22 ล้านรายการ มูลค่า 126 พันล้านบาท เรียกได้ว่าสงคราม E-Wallet ในเมืองไทยมาถึงแล้ว

ส่วนรูปแบบ E-Wallet หรือกระเป๋าเงินดิจิทัล จะแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบคือ

– Pure Wallet คือเกิดมาเพื่อเป็นวอลเล็ตโดยเฉพาะ เช่น True Money, Rabbit LINE Pay (mPay), xCash, Dolfin, Blue Pay, AirPay สำหรับปีนี้กลุ่ม Pure Wallet น่าจะมีการฟาดฟันกันหนักมากขึ้น

– E-Commerce Wallet เป็นวอลเล็ตของผู้ที่ให้บริการออนไลน์อยู่แล้วและขยับมาทำวอลเล็ตเพิ่มขึ้นด้วย เช่น Lazada Wallet, Shopee (AirPay), Grab Pay, Get Pay บรรดาอีคอมเมิร์ซวอลเล็ตจะแข่งกันหนักมากขึ้น เพราะทุกคนจะพยายามจะดึงเงินเข้ามาอยู่ในวอลเล็ตของตนเอง เช่น จะมีโปรโมชันอย่างส่วนลดต่าง ๆ หากลูกค้าจ่ายผ่านวอลเล็ตของตน

– Bank Wallet หรือ Mobile Banking เป็นกลุ่มที่น่าสนใจมากและมีความได้เปรียบ เพราะหลาย ๆ คนจะใช้บัญชีธนาคารสำหรับรับเงินเดือน ฉะนั้นเงินจะถูกกองไว้อยู่แล้วในบัญชี และคนอาจจะไม่โอนออกไปที่วอลเล็ตอื่นเท่าใด กลุ่มนี้เหมือนเป็นกระเป๋าหลักและยังมีดอกเบี้ยให้อีก จึงมีความได้เปรียบกว่ากลุ่มอื่น อีกทั้งธนาคารเองยังมีการพัฒนาแอปพลิเคชันอย่างต่อเนื่อง

– Mobile Device Wallet  เช่น Samsung ก็มี Samsung Pay หรือนาฬิกา Fitbit และ Garmin เองก็มี Fitbit Pay และ Garmin Wallet รวมไปถึง Apple Pay ที่มีข่าวว่าจะเข้ามาเปิดบริการในประเทศไทย สงคราม Wallet จึงน่าจะดุเดือดอย่างแน่นอน

3. สงครามของบริษัทขนส่งสินค้า (E-Logistic)

ในปี 2562 นั้นก็เริ่มเห็นกันได้ชัดแล้ว ตอนนี้บริษัทขนส่งที่โฟกัสไปที่ออนไลน์นั้นมีมากเป็นสิบบริษัท หลายบริษัทเพิ่งเปิด หลายบริษัทมาจากจีน จากการเก็บข้อมูลของภาวุธเกี่ยวกับผลประกอบการของบริษัทขนส่ง Logistic ในประเทศไทยมาเปรียบเทียบกันพบว่าไปรษณีย์ไทยยังครองแชมป์ทำรายได้สูงสุด กำไรมากสุด ทุนจดทะเบียนมากสุด และเปิดให้บริการนานสุด

ส่วนบริษัทที่ขาดทุนมากที่สุดก็คือ J&T Express บริษัทที่เพิ่งเปิดให้บริการล่าสุดปีกว่า ๆ คือ Best Inc.  สนใจดูรายละเอียด การเปรียบเทียบบริษัทขนส่งผมสรุปไว้ที่นี่ครับ

สำหรับปี 2563 บอกได้เลยว่าจะมีบริษัทขนส่งผุดขึ้นมาอีกมาก ยังไม่รวมพวก Grab Express หรือ GET Express ซึ่งเริ่มกระโดดเข้ามาทำบ้างแล้ว ต่อไปการส่งของจะง่ายมากขึ้น เมื่อปีที่แล้วเราอาจพูดถึง การส่งของภายในวันเดียว (Same day Delivery) แต่เดี๋ยวนี้การส่งของภายในวันเดียวเป็นเรื่องปกติ ต่อไปจะเป็นการส่งภายใน 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น

4. ธุรกิจที่ให้บริการเก็บ-แพ็ก-ส่งสินค้า (Fulfillment) มาแรง

คนจะไม่ค่อยแพ็กหรือเก็บสินค้าเองแล้ว จะมีบริการพวก fulfillment เริ่มให้บริการเยอะขึ้น คนจะเริ่มใช้บริการ outsource คือจ้างแวร์เฮ้าส์ จ้างคนแพ็กของหรือส่งของ ผมบอกได้เลยว่าปีนี้จะชัดมากขึ้นอีก สำหรับ e-Commerce Fulfillment ในเมืองไทยอาจมีอยู่ไม่เยอะมากนัก เช่น Trustbox Fulfillment, Siam Outlet, MyCloud Fulfillment นอกจากนี้บริษัทขนส่งหลายเจ้าก็เริ่มมาทำ Lazada หรือ Shopee ก็เริ่มมี fulfillment เป็นของตัวเอง

5. Brand จะกระโดดเข้าสู่ออนไลน์อย่างต่อเนื่อง

เพราะการมาของ Mall ต่าง ๆ เช่น Shopee Mall, LazMall และ JD Central เองที่เน้นสินค้าแบรนด์ ดังนั้น แบรนด์จะกระโดดเข้ามาขายออนไลน์มากขึ้น ๆ ส่งผลกระทบต่อบรรดายี่ปั๊ว ซาปั๊ว หรือบรรดาตัวแทนสินค้า เพราะผู้ผลิตสินค้าหรือโรงงานเริ่มขายตรงกับผู้บริโภคเอง

6. การค้าข้ามประเทศ Cross Border เติบโตแบบก้าวกระโดด

การขายข้ามประเทศจะแบ่งเป็น 2 แบบคือ Inbound Cross Border สินค้าที่มาจากต่างประเทศโดยเฉพาะสินค้าจากจีนที่อยู่ใน 3 มาร์เก็ตเพลสดังของไทยจะมีประมาณ 135 ล้านชิ้นหรือราว 77%  สินค้าที่เป็นของผู้ค้าไทยประมาณ 39 ล้านชิ้นหรือราว 23% เทรนด์ตอนนี้จะเริ่มชัดแล้วว่าสินค้าจีนเริ่มบุกเข้ามามากขึ้น และเริ่มส่งเร็วมากขึ้นด้วยการเปิด EEC ซึ่งผมมีโอกาสได้เข้าไปคุยกับ EEC ก็เริ่มทราบว่าทาง EEC เองก็มีความกังวลในเรื่องการจัดการ และพยายามที่จะคุยกับจีนในแง่ของการส่งออกโดยอาศัย Infrastructure ของเขา

อีกเรื่องที่รัฐบาลต้องเน้นก็คือ Outbound Cross Border การนำสินค้าออกทางออนไลน์ ตอนนี้มีหลายมาร์เก็ตเพลสอย่าง Amazon, eBay, Wish, Rakuten และ Alibaba เป็นช่องทางที่สามารถเอาสินค้าไทยออกไปขายต่างประเทศได้

อย่างที่ทราบกันดีว่าตัวสินค้าไทยนั้นคุณภาพดีอยู่มาก แต่กลไกหรือวิธีการในการส่งออกเรายังไม่มีตัวช่วยมากเท่าไหร่ จึงมองเห็นว่าเทรนด์ในปีนี้ คนที่จะนำสินค้าไทยออกไปขายต่างประเทศก็จะเริ่มมีจำนวนมากขึ้น ที่สำคัญรัฐอาจต้องเข้ามาร่วมมือกับกลุ่มคนที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้และเป็นผู้ประกอบการไทยด้วยโอกาสจึงจะมีเพิ่มมากกว่า

7. Social Commerce ยังโตทะลุ

เม็ดเงินมหาศาลจากสื่อโฆษณาออนไลน์จะเทลงมาในโซเชียลมีเดียมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ปีที่ผ่านมามียิงการโฆษณาบนเฟซบุ๊กเดือนละเป็นล้านบาท ยิงไปแล้วยอดขายพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้โซเชียลคอมเมิร์ซโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทำให้ต่อเนื่องไปถึงเทรนด์ต่อไป

8. ปีของ Live & Conversational Commerce

การค้าแบบไลฟ์และแชทจะมาจริง ๆ แล้ว ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า Lazada มีไลฟ์สดขายของ Shopee ก็มีไลฟ์ขายของ ทุกคนมองการทำไลฟ์เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการขายของออนไลน์ไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ปีนี้เราจะเจอแพลตฟอร์มเพื่อการไลฟ์ขายของที่สามารถเก็บเงินได้เลย และมีการทำระบบการจัดการขายของบนไลฟ์อย่างเดียว

9. ข้อมูล E-Commerce นำไปสู่ธุรกิจอื่น

ต่อไปคนที่ทำอีคอมเมิร์ซหรือคนที่มีข้อมูลทั้งหมดจะนำไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ ปีที่ผ่านมาเราจะเห็นข่าวว่า Lazada จับมือกับ KBank มีการปล่อยกู้ หรือ SCB จับมือกับ GET มีการปล่อยกู้เช่นกัน ฯลฯ คนมี data มากขึ้นก็นำไปสู่การปล่อยกู้ได้มากขึ้น ทั้งปล่อยเองและปล่อยผ่านแบงค์ จะเห็นว่า data จะถูกนำมาใช้มากขึ้นในปีนี้

10. ยุครุ่งโรจน์ของ E-Commerce เฉพาะทาง หรือ Vertical E-Commerce

เราคงไปสู้มาร์เก็ตเพลสใหญ่ ๆ ที่เป็น Horizontal E-Commerce ไม่ได้ ฉะนั้น อีคอมเมิร์ซอย่าง Konvy มาร์เก็ตเพลสขายเครื่องสำอาง Pomelo มาร์เก็ตเพลสที่ขายสินค้าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายแฟชั่น BUILK.com มีมาร์เก็ตเพลสที่ชื่อว่า Yello ขายอุปกรณ์ก่อสร้าง NocNoc ขายเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ อีคอมเมิร์ซเฉพาะทางจะเริ่มโตมากขึ้น

11. Omni Channel มาแล้วของจริง

ออนไลน์กับออฟไลน์ทุกช่องทางจะประสานเข้าด้วยกันอย่างเห็นได้ชัด

12. ปีที่กฎหมายด้านดิจิทัลมาครบชุด

กฏหมาย 6 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับ Digital การค้าออนไลน์ ได้แก่

– พ.ร.บ. ภาษีอีเพย์เมนต์ เริ่มมีการตรวจสอบข้อมูล การโอนเงินต่าง ๆ รวมถึงจำนวนครั้งที่โอนแล้ว

– พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ต่อไปนี้การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกอย่างจะมีกฎหมายรองรับ จริง ๆ มีมานานแล้วแต่มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น

– พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  มีมานานแล้วและมีการปรับปรุงเช่นเดียวกัน

– พ.ร.บ. คุุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มาแล้วจริง ๆ

– พ.ร.บ. ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่มอบอำนาจให้กับภาครัฐในการควบคุมความมั่นคงของประเทศ

– พ.ร.บ. ภาษี E-Business จะเป็นการเก็บรายได้จากธุรกิจต่างชาติ

เมื่อกฎหมายทั้ง 6 ฉบับนี้ทำงานครบ จะสร้างความน่าเชื่อถือมากขึ้น บางอย่างก็เป็นข้อดี เช่น ภาษี E-Business ที่ต่อไปหากต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในไทยก็ต้องมีการเสียภาษี และจะทำให้เราได้เห็นตัวเลขสำคัญหลายอย่าง จึงอาจต้องมีการกลับมาคุยกันมากขึ้นในเรื่องของการปรับตัวเนื่องจากกฎหมายเหล่านี้


  • 1.4K
  •  
  •  
  •  
  •