ปี 2018 เริ่มต้นด้วยความท้าทายใหม่ๆ หลายคนเริ่มปรับตัวให้เข้ากับการรุกเร้าของเทคโนโลยีและดิจิทัลได้ดีขึ้น โดยเฉพาะบรรดาสื่อต่างๆ เริ่มที่จะเข้ารูปเข้ารอยกันมากขึ้น แต่ในทางเดียวกัน สิ่งนี้เองก็เป็นจุดเริ่มต้นของการแข่งขันในวงการสื่อดิจิทัลที่ดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ
และหากพูดถึงสื่อทีวีดิจิทัลในเมืองไทย คงไม่กล่าวถึง เวิร์คพอยท์ (Workpoint) ไม่ได้ เพราะนอกจากจะมีความโดดเด่นในแง่การผลิตรายการออริจินัล คอนเทนต์ดีๆ ออกมามากมายแล้ว ในแง่ของการหยิบจับนำรายการจากต่างประเทศมาฉายก็ได้รับการตอบรับที่ดีมาก อย่าง The Mask Singer ที่ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม ในขณะเดียวกัน ก็สามารถนำรายการของตัวเองออกไปขายยังต่างประเทศทั้งเอเชียและยุโรปได้เช่นกัน สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำเข้าบริษัทปีละหลายสิบล้านบาท
แถมปีที่ผ่านมาก็กำลังขับเคี่ยวอยู่กับทีวีดิจิทัลอีกช่องอย่างชนิดที่เรียกว่าหายใจรดต้นคอกันทีเดียว แต่ในปีนี้ เวิร์คพอยท์ มีความมั่นใจเต็มแม็กซ์ที่จะก้าวผ่านลำดับต่างๆ ขึ้นไปอย่างมั่นคง ด้วยคอนเทนต์ที่อัดแน่น และกลยุทธ์ในการทำรายได้ขายรายการดีๆ ออกสู่ตลาดโลก แต่เขามีเคล็ดลับในการสร้างงาน คิดไอเดีย และสร้างรายได้งามไปพร้อมกันได้อย่างไร เราขอมาล้วงความลับแบบละเอียดยิบจาก หนุ่มอารมณ์ดีผู้อยู่เบื้องหลังรายการเด็ดๆ มากมาย อาทิ เกมทศกัณฐ์, แฟนพันธุ์แท้, SME ตีแตก, หลานปู่กู้อีจู้ ที่ไปคว้าเอมมี่ อวอร์ด คนแรกของไทย ฯลฯ เขาคือ เจมส์-เทพฤทธิ์ วงศ์วาณิชวัฒนา Vice President of Production จากเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเม้นท์
Part 1 การสร้างสรรค์ออริจินัลคอนเทนต์ ในแบบเวิร์คพอยท์
“พี่จิกคือเบื้องหลังที่แกร่งด้านคอนเทนต์ครีเอเตอร์ พี่ตาคือเบื้องหน้าที่แข็งแกร่ง เป็นเคมีที่เข้ากันแบบหาที่ไหนไม่ได้”
เจมส์เริ่มเล่าว่า ตัวเองถือเป็นลูกหม้อของเวิร์คพอยท์ อยู่ที่นี่ทำงานที่มาครึ่งชีวิตถึง 15 ปี จบปุ๊บก็มาทำงานที่นี่เลย เรียกว่าเรียนจบวันศุกร์วันจันทร์ก็มาทำที่นี่ ที่สำคัญคือ เวิร์คพอยท์ เป็นองค์กรที่ให้โอกาสคนและเป็นองค์กรที่สนุกไม่มีเรื่องการเมือง ทุกที่ของเวิร์คพอยท์มีแต่ ‘โอกาส’
“จุดแข็งอย่างหนึ่งของเวิร์คพอยท์ที่หาที่ไหนไม่ได้คือการที่มี พี่ตา (ปัญญา นิรันดร์กุล) และพี่จิก (ประภาส ชลศรานนท์) คือพี่จิกจะแกร่งมากในเรื่องของการเป็นคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ ผู้อยู่เบื้องหลัง ในขณะที่พี่ตาเป็นเบื้องหน้าที่แข็งแกร่ง เป็นเคมีที่เข้ากันจนทำให้เวิร์คพอยท์ก้าวมาถึงทุกวันนี้ได้ แม้กระทั่งพี่ตายังเคยพูดอยู่บ่อยๆ ว่า แล้วถ้าวันนั้นเราไม่ประมูล เราจะไปทำอะไร”
กับจุดเปลี่ยนสำคัญคือการประมูลช่องทีวีดิจิทัล ทำให้เวิร์คพอยท์ก้าวมาไกลถึงขนาดนี้ เจมส์เล่าโมเมนต์นั้นว่า ตอนแรกก็ไม่ได้คิดอะไร เพราะการประมูลก็ประมูลในสิ่งที่เราทำอยู่แล้ว แต่กลายเป็นว่า ณ วันนั้นมันคือ Big Change ครั้งยิ่งใหญ่ เป็นจุดที่ทำให้ขยับมาไกลมาก จากสถานะ content provider มาเป็น สถานีโทรทัศน์ สถานะมันคนละชั้นกันเลย
“เมื่อก่อนต้องเข้าไปหาช่องแบบมีคอนเทนต์มาเสนอสนใจไหมครับ แต่มาวันนี้เมื่อเรามีช่องเอง จะครีเอทอะไร จะทำอะไรก็ทำได้เลย สามารถทำได้ทันที พูดง่ายๆ ว่าสามารถเรียนรู้และลองผิดลองถูกกับอะไรก็ได้ นั่นก็ยิ่งทำให้คำว่า เวิร์คพอยท์ คือโอกาส ชัดเจนยิ่งขึ้น”
“ปริศนาฟ้าแลบ มาจากการทำเดโม่เป็นสิบๆ รอบ ผ่านการลองผิดลองถูกนับครั้งไม่ถ้วน เป็น Amazing Case ที่เกิดจากการเปิดโอกาส”
การขยับสถานะเป็นสถานีกลายเป็น Big Change ได้อย่างไร เจมส์ ขยายความโดยยกตัวอย่างรายการหนึ่งที่เกิดจากการลองผิดลองถูก จนกลายเป็นรายการครีมเบอร์ 1 ของช่องนั่นคือ “ปริศนาฟ้าแลบ”
เจมส์เล่าเบื้องหลังก่อนมาเป็นปริศนาฟ้าแลบที่ดังเปรี้ยงปร้างให้ฟังว่า โอกาสที่เราได้ทำปริศนาฟ้าแลบ มันมาจากการทำเดโม่ ประเด็นคือพอเรารู้ว่าจะต้องเตรียมตัวเป็นสถานี พี่ตา (ปัญญา) ก็บอกว่าเราต้องมีรายการครีมๆ สักอันนึงให้ได้ ขออันเดียวพอให้คนมันติดในช่วงแรกที่ช่องเราเกิด เราก็มานั่งคิดกันหนักเลยว่าจะทำอะไรดี แน่นอนว่าต้องเป็นเกมโชว์เพราะมันคือจุดแข็งของเรา ซึ่งก่อนที่เราจะเคาะได้เป็นรูปแบบในปัจจุบันก็ผ่านการลองผิดลองถูกมาแล้วหลายเดโม่มากๆ คิดปุ๊ปลงไปเทสต์ ทำอยู่อย่างนี้เป็นสิบๆ รอบกว่าจะลงตัว ดังนั้น การที่เราลงทุนกับสตูดิโอก็ดี การที่เรามีสถานีของเราเองก็ดี มันเปิดโอกาสมากๆ ที่จะทำให้เราได้ลองอะไรได้ตลอดเวลา จบทุกอย่างได้ในเวลาอันรวดเร็ว และที่สำคัญคือเรามีทีมเวิร์คที่ดีมากด้วย
นอกจากนี้ ยังมีอีกรายการที่ประสบความสำเร็จที่สุดแต่เกิดจากกระบวนการผลิตเพียงแค่ 7 วัน นั่นคือรายการ “ไมค์หมดหนี้” ซึ่งเป็นผลผลิตจากการที่มีสตูดิโอเป็นของตัวเองและผู้ใหญ่เปิดโอกาสให้ได้ลองอะไรใหม่ ที่สำคัญยังเป็นรายการที่ขายฟอร์แมทให้ต่างประเทศได้อีกด้วย
“มันคือการแข่งกันทำคอนเทนต์ดีๆ แต่เหนือไปกว่านั้น มันคือการที่เรารู้จักคนดูของเรายิ่งขึ้น”
วันนี้เวิร์คพอยท์ ช่องทีวีดิจิทัลที่มีอายุไม่ถึง 10 ปี แต่กำลังแซงช่องทีวีหลักที่อยู่มานานได้ อะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จ จุดนี้ เจมส์ อธิบายว่า มันคือการแข่งกันทำคอนเทนต์ดีๆ นั่นแหละ แต่เหนือไปกว่านั้น มันคือการที่เรารู้จักคนดูของเรายิ่งขึ้น ทุกวันนี้คนดูดูรายการเหมือนเดิมแต่เปลี่ยนช่องทางในการดู ดังนั้น เราก็ต้องพยายามเข้าไปอยู่ในทุกชาแนลให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ยูทูป หรือแพล็ทฟอร์มอื่นๆ เพราะอะไรก็ตามที่อยู่บนโซเชียลมีเดีย ทำให้เรารู้จักคนดูได้เร็วขึ้น
“ตอนแรกก็มีการติงว่า การที่เราปล่อยรายการในเฟซบุ๊กไลฟ์ออกคู่ขนานกับทีวี จะไปแชร์เรตติ้งของทีวีรึเปล่า แต่จากปรากฏการณ์ที่เห็นมาตลอดคงบอกได้แล้วว่า มันไม่ใช่ เราออนแอร์ไปพร้อมกับปล่อยไลฟ์ไปด้วยทุกช่องทาง ดังนั้น ถ้าคอนเทนต์มันดีอยู่ตรงไหนคนก็ดู สุดท้ายกลายเป็นว่าเราเป็นไพโอเนียร์ เป็นคนบุกเบิกให้คนอื่นเห็นด้วยซ้ำว่ามันทำคู่กันได้”
“เราเป็นสถานีวาไรตี้ที่มีกลุ่มคนดูหลากหลาย แต่เราก็ยังสามารถผลิตคอนเทนต์ที่หลากหลายตอบสนองได้หมดทุกความต้องการ เป็นการตอกย้ำว่าเราคือ King of Variety”
อีกเคสที่เจมส์ยกตัวอย่างให้เราฟังถึงการออนแอร์รายการแบบคู่ขนานทั้งออนไลน์และออกทางทีวีที่ประสบความสำเร็จไปคนละด้าน แต่ก็ยังสะท้อนถึงความหลากหลายของ เวิร์คพอยท์ ที่สำคัญยังบ่งบอกได้ว่าคอนเทนต์ของเขาตอบสนองต่อทุกกลุ่มคน ได้แก่ รายการไมค์ทองคำ และ The X Factor
เจมส์ เล่าว่า รายการประกวดร้องเพลงลูกทุ่งอย่าง “ไมค์ทองคำ” ซึ่งเป็นรายการทีวีเรตติ้งอันดับ 1 ของเวิร์คพอยท์ ที่ปรากฏว่ามียอดวิวเฟซบุ๊กไลฟ์แค่ 2-3 พันวิวเท่านั้น แต่ในขณะที่เรตติ้งทีวีเป็นอันดับ 1 โดยผู้ชมส่วนใหญ่จะเป็นคนต่างจังหวัด ในขณะที่รายการ The X Factor มียอดวิวในไลฟ์สูง 4-5 หมื่นวิว บางเทปก็ไปเป็นแสนวิวก็มี สิ่งนี้สะท้อนอะไร มันบอกได้ว่าเราสามารถเสิร์ฟคอนเทนต์ได้ทั้งคนต่างจังหวัดและวัยรุ่นในเมือง ที่สำคัญ มันบอกได้ว่าความที่เราเป็นสถานีวาไรตี้ที่มีกลุ่มคนดูหลากหลาย และยังสามารถผลิตคอนเทนต์ที่หลากหลายตอบสนองได้หมดทุกความต้องการ เป็นการตอกย้ำว่าเราคือ King of Variety จริงๆ แบรนด์ดิ้งจุดนี้ของเราชัดเจนมาก
อีกสิ่งที่ฮือฮาและถูกพูดถึงกันมากคือการขายโฆษณาแยกจากกันระหว่างโฆษณาบนการไลฟ์สดกับโฆษณาบนทีวี เรียกได้ว่าเวิร์คพอยท์เป็นเจ้าแรกที่กล้าทำแบบนี้ เจมส์เล่าถึงเบื้องหลังไอเดียตรงนี้ว่า ตอนแรกที่เราทำเฟซบุ๊กไลฟ์ คนก็เข้ามาดูกันเยอะแยะ แต่พอจบเบรกจอมันก็ดำปกติ พอจอดำเราก็จะเห็นยอดวิวที่ลดลง เห็นคนแชทไปทางอื่น เช่น ไปเข้าห้องน้ำ ไปกินก๋วยเตี๋ยว มาจีบกันบ้าง ฯลฯ เราก็มาคิดว่าเราจะทำอะไรกับตรงนี้ได้บ้าง แล้วคนที่ดูบนนี้ก็เป็นคนละกลุ่มกับทีวีอีก้ดวย ก็เลยเกิดไอเดียดึงคนดูให้ติดอยู่กับเราตลอดดูเราไปเรื่อยๆ ที่สำคัญเราขายโฆษณาในส่วนนี้แยกด้วย ซึ่งทำให้ปีที่ผ่านมาเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์เราโตขึ้นมากๆ
“ทั้งชีวิตก็ทำแต่วาไรตี้ เกมโชว์สนุกสนานมาตลอด พอมาว่าต้องให้ทำรายการเกี่ยวกับธุรกิจก็อึ้งไปเหมือนกัน”
อีกประเภทรายการที่ต้องบอกว่ายังไม่เห็นใครทำ แต่เวิร์คพอยท์กล้าทำ คือรายการประเภทธุรกิจ อาทิ SME ตีแตก และ เดอะ ยูนิคอร์น สตาร์ทอัพพันล้าน ซึ่งแม้รายการจะเป็นธุรกิจที่ต้องมีความรู้พอควรแต่ก็สามารถทำรายการออกมาได้แมสและเรตติ้งอยู่ที่ 1.2 เลยทีเดียว ซึ่งที่มาของการทำรายการ เจมส์เล่าเบื้องหลังได้อย่างสนุกว่าเป็นช่วงที่เขาเพิ่งกลับจากรับรางวัล เอมมี่ อวอร์ด 2009 จากรายการ “หลานปู่กู้อีจู้” และนับเป็นผู้ผลิตรายการไทยคนแรกที่ไปคว้ารางวัลบนเวทีระดับโลกนี้ได้ เมื่อกลับมาถึงไทยหัวใจยังไม่หายพองโตดี ก็ได้รับงานใหม่มาทันที โดยเป็นงานที่ลูกค้าโดย KBank อยากที่จะให้ทางเวิร์คพอยท์ช่วยผลิตรายการเกี่ยวกับธุรกิจเอสเอ็มอีขึ้นมา ตอนแรกก็รู้สึกหนักใจมาก
“ตอนรับก็แบบงงๆ เหมือนกัน เพราะว่าทั้งชีวิตก็ทำแต่วาไรตี้ เกมโชว์สนุกสนานมาตลอด พอให้ทำรายการเกี่ยวกับธุรกิจก็อึ้งไปเหมือนกัน เพราะกลัวว่าจะทำให้เครียด คนดูจะไม่สนุก แต่สุดท้ายอย่างที่บอกไปว่า เมื่อเรารู้จักคนดูเราดีและเรามีบ้านที่เปิดโอกาสให้ลองผิดลองถูก สุดท้ายรายการก็ออกมาเป็นอย่างที่เห็น และได้รับการยอมรับมาก คนดูทางบ้านก็ดูสนุก แถมยังรู้เรื่องธุรกิจไปด้วย ผมว่ามันก็เป็นมิติใหม่ของวงการทีวีบ้านเราที่ไม่เคยมีแบบนี้มาก่อน แล้วก็ต่อยอดตามมาก็คือ รายการยูนิคอร์นฯ ตามเทรนด์ของสตาร์ทอัพ และทั้งหมดนี้สิ่งที่เกิดก็ต้องขอบคุณลูกค้า KBank ด้วยครับที่เปิดโอกาสให้เราได้ลองอะไรใหม่ๆ”
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นคนคิดไอเดียรายการเป็นส่วนใหญ่ และทุกๆ รายการเขาก็ผู้ลงมือตัดต่อเองในเทปแรก แต่เจมส์ก็ย้ำว่า ทุกรายการจะไม่สำเร็จเลยถ้าเราไม่มีคนข้างหลัง ไม่มีทีมเบื้องหลังที่ร่วมแรงกันทำ งานก็ไม่สำเร็จจนทุกวันนี้
และด้วยรายการเกมส์โชว์แบบมีสาระทั้ง 2 รายการ น่าจะเป็นบทพิสูจน์ได้ว่า คนดูคนไทยก็ไม่ได้ชอบดูอะไรแต่ดราม่าหรือตลกแต่เพียงอย่างเดียว ตรงจุดนี้ เจมส์ สรุปความกับเราว่า ผู้ชมคนไทยฉลาด แต่ก็เป็นความท้าทายของครีเอทีฟด้วย หมายถึง การสร้างงานที่ดีต้องสามารถเบลนด์กันได้ระหว่างสาระกับความรู้ ซึ่งจุดนี้เวิร์คพอทย์ถนัดมาก ถ้าลองมองย้อนไป เช่นรายการแฟนพันธุ์แท้ นั่นก็สาระเต็มเลย แต่ทำไมคนยังชอบ เพราะเราทำให้มันสนุกและลุ้นไปกับมัน ฉะนั้น เราไปดูถูกคนดูคนไทยไม่ได้เลย
Part 2 การนำเข้ารายการจากต่างประเทศ
“มันคือการเบลนด์แล้วโป๊ะเชะเข้ากับคนไทยพอดี ซึ่งก็กลับมาที่สูตรเดิมของเราคือ เรารู้จักผู้ชมของเราดี”
ภาพรวมของออริจินัลคอนเทนต์ที่ประสบความสำเร็จไปแล้ว อีกพาร์ทที่ทำให้ช่องโดดเด่น คือการนำรายการจากต่างประเทศเข้ามาปรับรูปแบบให้เข้ากับรสนิยมคนไทย จนประสบความสำเร็จในหลายๆ รายการ ไม่ว่าจะเป็น The Mask Singer, I Can See Your Voice Thailand, The X Factor Thailand เป็นต้น แล้วการช้อปปิ้งรายการต่างๆ ของเวิร์คพอยท์มีสูตรลับอะไรบ้าง
เจมส์เล่าว่า ด้วยความที่เราอยู่ในมาร์เก็ตตามอีเวนท์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงาน Cannes, งาน NATPE (จัดที่ไมอามี) หรืองาน ATA ที่สิงคโปร์ เราก็ไปหมด แล้วนอกจากเราไปเปิดบู๊ธของเราแล้ว เราก็จะไปชมบู๊ธของที่อื่นด้วย ดังนั้น รายการต่างๆ ที่เราเห็นกันในช่องไม่ว่าจะเป็น The Mask Singer หรือ I Can See Your Voice ฯลฯ ก็มาจากตลาดเหล่านี้ ซึ่งหลังจากไปชมตามบู๊ธต่างๆ แล้ว รายการที่เราสนใจก็จะนำเข้าที่ประชุมแล้วก็มาเบรนสตอร์มกันว่าอันไหนน่าสนใจหรืออันไหนเวิร์ค แล้วถ้าชอบก็จะตัดสินใจขอซื้อฟอร์แมทเลย โดยในปี 2018 นี้ก็จะมีรายการจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอีกเยอะแน่นอน
แม้จะซื้อรายการมาแล้วก็จริง แต่กลยุทธ์ที่สำคัญที่ทำให้รายการจากต่างประเทศเมื่อมาอยู่ในมือเวิร์คพอยท์แล้วน่าสนใจมากขึ้น มันคือ การเบลนให้เข้ากับคนดูคนไทย นั่นเอง
ตรงส่วนนี้ เจมส์ ยกตัวอย่างจาก The Mask Singer ว่า อาจจะมีหลายคนที่เคยดูจากเกาหลีมาแล้วบอกว่าทำไมคนไทยไม่เหมือนต้นฉบับเลย นั่นเป็นเพราะเราปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เข้ากับรสนิยมคนไทยมากขึ้น เช่น มีการแซวกันของผู้แข่งขันกับกรรมการ หรือกรรมการแซวกันเอง ยียวนกันไปมา เกิดเป็นความสนุกตลกที่ไม่เหมือนเกาหลี แต่คนดูไทยชอบและติด มันคือการเบลนด์แล้วโป๊ะเชะเข้ากับคนไทยพอดี ซึ่งก็กลับมาที่สูตรเดิมของเราคือ เรารู้จักผู้ชมของเราดี
เมื่อถามว่าปกติเวลาซื้อฟอร์แมทแล้วสามารถเปลี่ยนแปลงรายการของเขาได้หรือ เจมส์ อธิบายว่า ปกติก็ไม่ค่อยให้เปลี่ยนเท่าไหร่โดยเฉพาะรายการที่ซื้อจากฝรั่ง แต่เรียนตามตรงว่าเวิร์คพอยท์เราก็สตรองพอ เราก็มั่นใจในระดับหนึ่งเหมือนกันว่าเราแกร่งพอที่จะไฟท์เรื่องนี้ได้ ดังนั้น เรายืนยันว่าต้องปรับให้เข้ากับคนดูของเราให้ได้
Part 3 การขายฟอร์แมทให้กับต่างประเทศ
“ธงประเทศไทย เรานี่แหละ เหมือนไปเดินอิมแพคมีบู๊ธเยอะแยะไปหมด จนวันหนึ่ง โอ๊ะ!ไทยแลนด์”
ในพาร์ทนี้เป็นอีกสิ่งที่หลายคนอยากจะรู้กระบวนการทำงานของเวิร์คพอยท์มากว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเราไปล้วงมาได้ว่า เป็นพาร์ทที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับบริษัทสูงถึง 40 ล้านบาทต่อปี แล้วยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ อีกด้วย
เจมส์ เล่าถึงการขายฟอร์แมทรายการให้กับต่างประเทศของเวิร์คพอยท์ มาจากจุดเริ่มต้นง่ายๆ คือ ไปซื้อเขาได้ ทำไมเราจะเอาของเราไปขายบ้างไม่ได้ ข้อได้เปรียบของเวิร์คพอยท์คือ มีรายการเยอะแยะมากมายทั้งในอดีตและปัจจุบัน และเราก็ไปตามตลาดรายการอีเวนท์พวกนี้อยู่บ่อยๆ ก็คิดว่าถ้าเรามีรายการครีมๆ อยู่ 3-5 รายการต่อปี แล้วเอาไปขายเมืองนอกบ้างก็ได้ เพราะตั้งแต่มีสถานีเอง มีสตูดิโอเอง ทุกอย่างมันเปิดโอกาสเราในการทำรายการใหม่ได้ตลอดทุกปี ยิ่งเวลาไปดูในมาร์เก็ตแล้วขนาดเจ้าใหญ่อย่าง FremantleMedia (บริษัทผู้ผลิตรายการชื่อดังของอังกฤษ) ก็มีใหม่ๆ แค่ปีละ 5 รายการเท่านั้น ฉะนั้น ถ้าเรามีรายการใหม่สัก 3-5 รายการ เราก็สู้ในตลาดได้สบายๆ
ยกตัวอย่างรายการ “ไมค์หมดหนี้” เราเพิ่งทำเมื่อปี 2016 นี่เองแต่ขายไปแล้ว 3 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม แล้วก็เปรู แล้วก็ยังมีประเทศอื่นๆ ติดต่อขอซื้อเข้ามาอีก ซึ่งปรากฏว่ากลายเป็นรายการยอดนิยมของอินโดนีเซียไปแล้ว เรตติ้งของเขาดีมาก แถมยังทำให้ผู้ผลิตรายการในอินโดฯ รู้จักเราเยอะขึ้นและสนใจในงานของเรามากขึ้นด้วย
แต่ส่วนจุดแข็งสำคัญที่ทำให้เวิร์คพอยท์ไปขายไกลที่ต่างประเทศได้ เจมส์ ยกเครดิตให้กับ “ธงชาติไทย”
“ธงประเทศไทย เรานี่แหละ เหมือนไปเดินอิมแพคมีบู๊ธเยอะแยะไปหมด จนวันหนึ่ง โอ๊ะ!ไทยแลนด์ เพราะประเทศที่ไปขายก็มีแต่บริษัทฝรั่ง ของยุโรปทั้งนั้นเลย เราไปตั้งบู๊ธกับเขาบ้าง เราก็เอาธงไทยไปปักเต็มไปหมดเลย แล้วปรากฏว่าก็มีคนสนใจ เข้ามาดู ดูแล้วก็ถูกใจคอนเซปต์ ราคาก็ไม่แพง แล้วเราเป็นเจ้าเดียวที่เปิดบู๊ธใหญ่โตเป็นเรื่องเป็นราว ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ต่างประเทศเขาสนใจและสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเราได้ ที่สำคัญเรามั่นใจในคอนเทนต์ของเรามากด้วย”
เกร็ดเพิ่มเติมที่ได้จากการสนทนากับเจมส์ทำให้รู้ว่า ฝั่งยุโรปคนดูจะชอบดูรายการที่มีสาระมากๆ อย่างรายการ แฟนพันธุ์แท้ก็ถูกฝรั่งเศสซื้อไปก็ได้รับความนิยมไม่น้อย ซึ่งปัจจุบันเวิร์คพอยท์ขายรายการไปแล้วหลายประเทศทั้งในในแถบเอเชียและยุโรป อาทิ ฝรั่งเศส อังกฤษ สวีเดน เป็นต้น ในขณะที่ฝั่งเอเชีย จะชอบคอนเทนต์เชิงตลกและดราม่ามากกว่า
ทิศทางและอนาคตของเวิร์คพอยท์
เจมส์ มองว่า ตอนนี้มันคือยุคของโซเชียลมีเดีย ดังนั้น ธุรกิจคอนเทนต์จะเติบโตไปได้อาจต้องเข้าสู่การเป็น โซเชียล คอมเมิร์ซ ที่มันจะขยายตัวออกไปเพิ่มขึ้น ดังนั้น ตอนนี้สิ่งที่คิดในใจได้คือทำไมเราไม่ทำอะไรให้เป็น โซเชียล เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เพื่อให้สอดรับกับสังคมโซเชียล และเร็วๆ นี้เวิร์คพอยท์เราก็กำลังจะมีเมกะโปรเจ็คต์ออกมาให้เห็นอย่างแน่นอน
“ทิศทางในอนาคตเราก็คงทำงานในแบบคิดถึงคนดูมากขึ้น ตอนนี้เรารู้จักคนดูมากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านโซเชียล มีเดีย มันทำให้เราปรับตัวได้เร็วจากฟีดแบ็คต่างๆ ยิ่งรู้จัก data ของคนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เราวิเคราะห์ได้ว่าเราควรทำรายการแบบไหนดี ซึ่งที่ผ่านมาเวิร์คพอยท์จะใช้เซนส์ในการทำงานซะเยอะ แต่วันนี้เราคงนำ data มาทำอะไรได้มากขึ้น สร้างสรรค์งานที่ถูกใจคนดูมากขึ้น ส่วนเรตติ้งหรือรายได้จะเป็นอย่างไร บางทีมันอาจไม่ได้อยู่ที่ตรงนั้นทั้งหมด แค่เราทำของเราให้ดีที่สุดดีกว่า”
ปีที่ผ่านมานับเป็นปีทองของ เวิร์คพอยท์ แต่ปี 2018 นี้ยังคงเป็นเช่นนั้นหรือไม่ หลายสิ่งเปลี่ยนไป คนดูเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทฤษฎีการปรับตัวไปตามสภาพแวดล้อมของชาร์ล ดาร์วิน ที่เคยนำมาอธิบายกฎของธรรมชาติ อาจจะนำมาใช้ได้กับสื่อไทยในปัจจุบัน.
Copyright © MarketingOops.com