ความเห็น 4 กูรูออนไลน์กรณี ภาษีโฆษณา Facebook/Google เรื่องที่นักการตลาดต้องรู้

  • 58
  •  
  •  
  •  
  •  

tax online

หลายวันที่ผ่านมา มีประเด็นหนึ่งที่นักการตลาดออนไลน์ต้องให้ความสนใจ นั่นคือ แนวคิดเรื่องจัดเก็บภาษีจากการส่งเงินค่าโฆษณาไปให้ผู้ประกอบการต่างประเทศอย่าง Facebook/Google ซึ่งคาดว่ามีเม็ดเงิน ค่าโฆษณาที่คนไทยใช้บริการจากต่างประเทศปีละ 12,000 – 15,000 ล้านบาท และจะสามารถจัดเก็บภาษีได้ถึง  2,000 – 3,000 ล้านบาท

ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่นักการตลาดออนไลน์ นักโฆษณา หรือแบรนด์ต่างๆ ต้องเกาะติดทุกความคืบหน้า เนื่องจากมีผลกระทบโดยตรงต่อการจัดสรรงบประมาณ และการลงโฆษณาผ่านทาง Social Media ที่ได้รับความนิยมที่สุดในโลกอย่าง Facebook และ Search Engine ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายคือ Google

ซึ่งการจัดเก็บภาษีดังกล่าว มีแนวคิดว่า นอกจากภาษี VAT 7% ที่มีการจัดเก็บอยู่แล้ว จะกำหนดให้เงินค่าโฆษณาที่จ่ายให้กับ Facebook/Google ไม่สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายหักภาษีได้ เพื่อจะได้เก็บภาษีจากเงินค่าโฆษณาดังกล่าว รวมไปกับภาษีรายได้ตามปกติ เท่ากับว่า Brand หรือ ผู้ซื้อโฆษณา (Agency) ต้องจ่ายภาษีแทน Facebook/Google  ทาง Marketingoops ได้ถาม กูรูออนไลน์ เพื่อร่วมกันแสดงความคิดเห็นและหาทางออกที่เหมาะสม

Rakuten-Taraddotcom-3-resizeกระตุ้นรัฐเจรจา Facebook/Google หาทางออกร่วมกัน

คุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ tarad.com และ นายกสมาคมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่า เรื่องการเก็บภาษีออนไลน์ Facebook/Google จะมีการพิจารณาและประกาศใช้เป็นรูปธรรมเร็วๆ นี้ เพราะมีการพูดคุยหารือกันมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว ประเด็นคือมีการโฆษณาผ่าน Facebook/Google มูลค่า 12,000-15,000 ล้านบาท และเงินจำนวนนี้ไปนอกประเทศหมด โดยไม่ถูกเก็บภาษีเลย ซึ่งส่วนตัวก็เห็นว่า เพื่อความถูกต้องแล้วควรมีการเก็บเงินภาษีส่วนนี้ด้วย

การเก็บภาษี Facebook/Google ไม่ได้เป็นประเด็นกับประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับทุกประเทศที่ใช้ Facebook/Google ในการโฆษณา แต่จะให้เก็บตามที่มีแนวคิด จะเป็นภารผลักภาระให้กับผู้ซื้อเกินไป ดังนั้นทางออก ภาครัฐต้องเปิดการเจรจากับ Facebook/Google ชวนให้มาตั้งบริษัทในไทยและเก็บภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมาย

แม้จะเป็นเรื่องที่ยากมาก และประเทศไทยไม่ได้มีตลาดใหญ่พอที่จะเจรจาต่อรองได้มากนัก แต่คนไทยใช้ Facebook มากติดอันดับต้นๆ ของโลก ใช้ Google ในการค้นหาถึง 99% ดังนั้นการเจรจาน่าจะมีผลอะไรเกิดขึ้นบ้าง

“Facebook/Google รู้เรื่องภาษีอยู่แล้ว และเป็นเรื่องยากที่จะดึงให้มาตั้งบริษัทในไทย เพราะถ้าทำแบบนั้นอาจเกิด Domino Effect เพราะทุกประเทศคงเรียกร้องในเงื่อนไขเดียวกัน แต่จะไม่ทำอะไรเลย และเก็บภาษีจากผู้ซื้อ ก็ไม่ใช่หนทางที่เป็นธรรมเหมือนกัน”

 

 

หวั่น SME รับภาระเพิ่มimage_770

คุณบุรินทร์ เกล็ดมณี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ ReadyPlanetผู้ให้บริการแพล็ตฟอร์มออนไลน์ กล่าวว่า เห็นด้วยว่า รัฐควรต้องจัดเก็บภาษีจากโฆษณา Facebook/Google เพื่อนำเงินไปพัฒนาประเทศ แต่ต้องมีการคิดวิธีการเก็บเงินที่มีความชัดเจน ซึ่งหากห้ามนำรายจ่ายค่าโฆษณา Facebook/Google มาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษี ทาง Agency จะผลักภาระไปให้ลูกค้าหรือ Brand แน่นอน เพราะไม่สามารถแบกรับภาษีทั้งหมดไว้ได้ และผู้ประกอบการที่จะได้รับผลกระทบส่วนหนึ่งคือ SME ซึ่งเป็นธุรกิจขนาดเล็กจะต้องรับภาระนี้เพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน ReadyPlanet มีการเก็บภาษี VAT 7% จากลูกค้าและนำส่งรัฐอยูแล้ว แต่สำหรับแนวคิดการเก็บภาษี Facebook/Google มีความเป็นไปได้ที่ Agency อาจจะให้ลูกค้าเป็นผู้จ่ายค่าโฆษณาไป Facebook/Google โดยตรง ซึ่งอาจจะทำให้รัฐหาเม็ดเงินโฆษณาที่แท้จริงได้ยากขึ้น

 

 

 

 

 


529978_445616732125174_31864609_nระยะยาว โฆษณา
Facebook/Google ลดลง

คุณศิวัฒน์ เชาวรียวงษ์ นักการตลาดออนไลน์ กล่าวว่า ความเห็นส่วนตัวเห็นด้วยกับการการจัดเก็บภาษี Facebook/Google แต่จะมีผลต่อการเลือกสื่อของ Agency และ Brand ต่างๆ เพราะมูลค่าสื่อจะสูงขึ้น รัฐจะได้เงินภาษี แต่ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมจะลำบาก คำถามที่ต้องหาคำตอบร่วมกันคือ จะมีวิธีการจัดเก็บภาษีอย่างไร เพราะนี่คือ การใช้งบการตลาดไทย กับสินค้าและบริการไทย อยู่ในประเทศไทย และมีลูกค้าผู้ซื้อเป็นคนไทย แต่ค่าโฆษณาไม่ได้รับการจัดเก็บภาษี

หากมีการเก็บภาษีจากค่าโฆษณา Facebook/Google ไม่ให้นำมาหักเป็นค่าใช้จ่าย ถ้า Brand จ่ายเงินให้ Agency เพื่อซื้อโฆษณา ผลคือ Brand สามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายบริษัทได้ตามปกติ (จ่าย 100 หัก 100) ขณะที่ Agency แม้จะมีการเก็บค่าบริหารจัดการ 10-20% แต่การคำนวณภาษี ต้องใช้ทั้ง 110-120% (เพราะส่วนที่จ่ายให้ Facebook/Google หักไม่ได้) ส่วนสื่อคือ Facebook/Google ได้เงินตามปกติ

ผลที่ตามมาคือ Agency ไม่สามารถแบกรับภาษี 110-120% ได้ (เพราะได้รับเงินจริงๆ 10-20%) จึงต้องผลักภาระภาษีไปให้ Brand ดังนั้นแม้รัฐจะได้เงินภาษี แต่มูลค่าสื่อจะสูงขึ้น อีกวิธีหนึ่งคือ Brand ซื้อโฆษณาโดยตรงจาก Facebook/Google ผลคือ Brand ไม่สามารถนำเงินซื้อโฆษณานี้มาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ ขณะที่ Agency มีรายได้ค่าบริหารจัดการ 10-20% ตามปกติ ส่วน Facebook/Google ก็ยังมีรายได้จากโฆษณาตามปกติเช่นกัน

ทั้ง 2 วิธี จะส่งผลให้การใช้โฆษณาผ่าน Facebook/Google ลดลง เพราะงบประมาณในการโฆษณาของ Brand ต่างๆ ไม่ได้เพิ่มขึ้นเพื่อไว้จ่ายภาษีอยู่แล้ว

มองในด้านดี เม็ดเงินโฆษณาเท่าเดิม แต่การใช้ Facebook/Google น้อยลง สื่อไทยอื่นๆ อาจจะได้เงินจากโฆษณามากขึ้น แต่ในเชิงการตลาดเท่ากับ Brand จะเสียเปรียบเพราะเสียเครื่องมือทางการตลาดที่ดีไป ดังนั้น ทางออก อาจต้องมีการหารือกันระหว่าง รัฐ นักการตลาดออนไลน์ และสื่ออย่าง Facebook/Google

ดึงแนวคิดภาษีศุลกากร เก็บจากการซื้อโฆษณาตรง473280_10150728759905469_909813951_o

คุณอภิศิลป์ ตรุงกานนท์ ผู้บริหารจากเว็บไซต์ Pantip.comได้ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า การซื้อโฆษณาบน Facebook/Googleเงินไหลออกนอกประเทศ กลายเป็นรายรับของFacebook/Googleที่ไม่ต้องจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นความเหลื่อมล้ำต่อธุรกิจเว็บไทย เพราะเมื่อซื้อโฆษณาบนเว็บไทย ซึ่งจดทะเบียนบริษัทในไทย เว็บไทยก็มีภาระต้องเสียภาษีให้รัฐบาลไทย ขณะที่Facebook/Googleไม่ต้องเสีย ต้นทุนต่างกัน 20% ทันที ดังนั้นควรให้ Facebook/Google มาเปิดบริษัทในไทยมีรายรับเข้าและเสียภาษี

การเก็บภาษีโฆษณา Facebook/Google ตามแนวคิดที่มีจะทำให้เกิดการผลักภาระไปที่ผู้ซื้อโฆษณาอยู่แล้ว ถ้า Agency แบกรับไว้เอง รับรองว่าขาดทุนแน่นอน และสิ่งหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้นคือ Brand จะใช้ Agency ไทยในการบริหารจัดการ และซื้อสื่อผ่านบริษัทในต่างประเทศเพื่อให้สามารถหักเป็นรายจ่ายได้ เท่ากับว่าเงินก็ไหลออกนอกประเทศอยู่ดี หรืออาจเลี่ยงไปใช้งบโฆษณากับเว็บไทยมากขึ้น แต่จะได้ผลทางการตลาดลดลง

ทางออกที่เหมาะสม คือการมองว่าค่าใช้จ่ายโฆษณาที่ผู้ลงโฆษณาไทยจ่ายออกไปต่างประเทศ เป็นเหมือนการจ่ายเงินเพื่อนำเข้าสินค้าต่างประเทศเข้ามาในไทย ซึ่งต้องจ่ายภาษีศุลกากร แล้วจึงนำค่าใช้จ่ายไปหักลดหย่อนได้ การจ่ายภาษีศุลกากรจะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น เว็บไทยมีความน่าสนใจในการลงโฆษณามากขึ้น แต่ผู้ลงโฆษณาก็จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น เสมือนแต่ก่อนหิ้วของเข้ามาแบบไม่เสียภาษี แต่ต่อไปต้องเสียแล้ว ซึ่งผู้ลงโฆษณาก็จะไปกดดัน Facebook/Googleให้มาเปิดบริษัทและรับรายได้ในไทย ลำพังประเทศไทยคนเดียวคงลำบาก เพราะเราไม่ได้มียอดซื้อมากมายเมื่อเทียบกับประเทศอื่น แต่ถ้าหลายประเทศใช้แนวทางนี้เหมือนๆ กัน ก็อาจทำให้ Facebook/Googleต้องเริ่มปรับตัวในเรื่องนี้บ้าง แนวทางนี้ไม่จำกัดแค่โฆษณาออนไลน์ แต่ยังประยุกต์ใช้กับ Cloud ของ Amazon หรือการซื้อ App บน App Store ได้ด้วย

Copyright © MarketingOops.com


  • 58
  •  
  •  
  •  
  •