ภายหลังผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างไม่เป็นทางการ นายบารัก โอบามา ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต ได้รับชัยชนะขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 44 ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคม 2552 นักวิเคราะห์ไอทีมองว่า เครือข่ายสังคมอย่าง MySpace และ Facebook มีส่วนช่วยให้โอบามาไปถึงฝั่งฝันทำเนียบขาวได้สำเร็จ
เช่นเดียวกับข้อความบล็อกขนาดสั้น Twitter ที่ถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการกรุยทางสู่ดวงดาว
นอกจากเครือข่ายสังคมและข้อความ Twitter นักวิเคราะห์มองว่าความประทับใจของคนออนไลน์อเมริกันที่มีต่อพรรคเดโมแครต และการเทเม็ดเงินให้กับกองทุนอินเทอร์เน็ตนั้นมีส่วนทำให้โอบามาได้รับคะแนนเหนือจอห์น แม็คเคน จากพรรครีพลับลิกัน จากการเลือกตั้งเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
“ไม่มีใครออกมาบอกว่าโอบามาชนะการเลือกตั้งได้เพราะอินเทอร์เน็ต แต่เห็นชัดเจนว่าเขาจะชนะไม่ได้เลยถ้าไม่มีอินเทอร์เน็ต” Julie Germany ประธานสถาลบัน Institute for Politics Democracy & the Internet จากมหาวิทยาลัย George Washington University กล่าวกับผู้สื่อข่าวเอเอฟพี “ตั้งแต่แรกเริ่ม แคมเปญของโอบามาก็ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการจัดการแคมเปญทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ จนดูเหมือนว่าอินเทอร์เน็ตเป็นระบบประสาทส่วนกลางของแคมเปญทั้งหมด”
ต้องยอมรับว่า โอบามานั้นใช้งบโฆษณาออนไลน์มากกว่าแม็คเคนหลายสิบล้านเหรียญและได้รับความสำเร็จมากกว่า นอกจากเว็บไซต์ทางการของผู้สมัคร โอบามาใช้บล็อกและยูทูบ (YouTube) เป็นช่องทางโฆษณาอย่างหนักถึงขั้นสร้างช่องแชร์วีดีโอของตัวเอง ซึ่งยังไม่เคยปรากฎในยูทูบเลย
“หากพูดถึง บารัก โอบามา บนโลกอินเทอร์เน็ต ผู้คนก็จะคิดถึงวีดีโอหลากหลาย เว็บไซต์ mybarackobama.com และข้อความ ซึ่งจริง ๆ แล้วระบบแบคเอนด์ตั้งแต่ต้นจนจบที่ทุกคนเห็นนั้นเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้โอบามาสามารถเข้าถึงกลุ่มคนเล็ก ๆ ทั่วสหรัฐฯได้” โดย Germany ยังบอกอีกว่า แคมเปญออนไลน์ของโอบามาทำให้เกิดเครือข่ายอาสาสมัครออนไลน์ระดับรากหญ้าขนาดใหญ่
Micah Sifry ผู้ร่วมก่อตั้งบล็อกการเมืองออนไลน์ของสหรัฐฯนาม techpresident.com พูดถึงเรื่องนี้ว่า ทั้งหมดเป็นผลมาจากโอบามามีความเข้าใจเรื่องพลังแห่งเครือข่าย ที่เขาสร้างมาเพื่อสนับสนุนแคมเปญของตัวเอง โดยมองว่า โอบามาเข้าใจเรื่องการดึงพลังขององค์กรอิสระที่จะสามารถสนับสนุนแคมเปญของเขาเองด้วย
“หลายแคมเปญที่โอบามาทำบนโลกออนไลน์ พยายามผลักดันให้ประชาชนอยากลงมือทำอะไรบางอย่างให้แคมเปญนี้ มันไม่ใช่การส่งข้อมูลหาเสียงทั่วไปอย่างในอดีต และผู้ที่รับฟังโอบามาส่วนใหญ่ก็เป็นคนยุคใหม่อายุน้อย และใช้งานอินเทอร์เน็ตมาก ซึ่งแน่นอนว่าแคมเปญของโอบามาบนอินเทอร์เน็ตจะเข้าถึงคนกลุ่มนี้และขยายตัวอย่างรวดเร็ว”
ขณะที่ David Almacy ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมให้บริการอินเทอร์เน็ตและการสื่อสารผ่านระบบเครือข่ายในทำเนียบขาวตั้งแต่เดือนมีนาคม 2005 ถึงเดือนพฤษภาคม ปี 2007 มองว่า โอบามาเข้าใจแนวคิดการสื่อสารระหว่างชุมชนออนไลน์ตั้งแต่แรกเริ่ม ทำให้โอบามาเน้นการส่งข้อความ Twitter แทนที่จะตรวจหน้า Facebook อย่างเดียวทุกวัน และความเข้าใจพลังเรื่องการสื่อสารระหว่างคนหลายชุมชนนี้เองที่ทำให้โอบามาทำแคมเปญได้ดีกว่าแม้คู่แข่งจะใช้กลยุทธ์หาเสียงออนไลน์เช่นเดียวกัน
“แคมเปญของแม็คเคนไม่ประสบความสำเร็จเพราะฐานเสียงของเขาแตกต่างจากโอบามา นี่คือเหตุผลที่ทำให้แม็คเคนไม่โหมทำแคมเปญบนโลกออนไลน์ และเครือข่ายสังคม” Almacy กล่าว และในฐานะที่เขาเป็นหนึ่งในทีมผู้ให้บริการ RSS feeds, อีเมลอัปเดต, พ็อดคาสต์ และวีดีโอออนดีมานด์ในเว็บไซต์ whitehouse.gov เขาเองก็อยากรอดูว่าโอบามาจะให้นโยบายจัดการงานออนไลน์ของทำเนียบขาวอย่างไรในอนาคต
MySpace และ Facebook นั้นเป็นเว็บไซต์เครือข่ายสังคมยอดนิยมของชาวสหรัฐฯ ผลการสำรวจของบริษัทวิจัย Hitwise เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่า MySpace ครองส่วนแบ่ง 73 เปอร์เซ็นต์ของตลาดสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 6 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ Facebook มีส่วนแบ่งอยู่ 17 เปอร์เซ็นต์ แต่มียอดเพิ่มสูงขึ้นจากช่วงปีที่แล้วถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ Facebook เป็นเครือข่ายสังคมที่มีการเติบโตสูงกว่าเว็บอื่น
สำหรับ Twitter คือการเขียนบล็อกเป็นข้อความสั้นความยาวไม่เกิน 140 ตัวอักษรเพื่อบอกเพื่อนสมาชิกว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่ในขณะนั้น เช่น “กำลังกินข้าวอยู่” “อ่านหนังสือพิมพ์อยู่” สามารถส่งข้อมูลให้เพื่อนในกลุ่มหรือสมาชิก Twitter ทั้งโลกก็ได้ผ่านทางเว็บไซต์ Twitter หรือแจ้งสถานะผ่านโปรแกรมแชตอย่าง Google Talk ก็ได้ รวมถึงการส่งข้อความบอกเล่าความเป็นไปในขณะนั้นผ่านโทรศัพท์มือถือ (SMS) ได้ด้วย
Source: ผู้จัดการ