เมื่อภาพของคุณบนอินเตอร์เน็ต ไม่ใช่ภาพของคุณอีกต่อไป คุณจะ…?
เป็นคำถามที่เกิดขึ้นหลังเกิดประเด็นร้อนแรงเกี่ยวกับการขโมยภาพจากโซเชียล มีเดีย แล้วเจ้าของภาพไม่อาจอ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้าของได้
ดั่งคำกล่าวที่ว่า “ไม่เคยมีอะไรตายบนอินเตอร์เน็ต” เพราะฉะนั้นภาพน่าอายต่างๆ ที่คุณไม่ต้องการให้ใครเห็นก็ไม่ควรเผยแพร่ลงในโซเชียลแม้ว่าคุณจะตั้งเป็น private แล้วก็ตาม หรือแม้แต่คุณจะลงไปบน Snapchat แต่เมื่อมันอยู่บนอินเตอร์เน็ต จึงมีโอกาสที่มันจะถูกนำกลับมาอีกรอบ มิหนำซ้ำอาจจะถูกนำไปขายทำกำไรให้กับคนอื่นเสียด้วยซ้ำ ดังเช่นประเด็น hot issue ในสหรัฐฯ ขณะนี้
เมื่อช่างภาพสุดฉาวนามว่า “Richard Prince” ได้นำภาพจากบุคคลอื่นๆ ในอินสตาแกรมมาเปิดแกลลอรี่วางจำหน่าย โดยไม่มีการขออนุญาตจากเจ้าของภาพแม้แต่น้อย เป็นการฉวยโอกาสจากช่องโหว่ของกฎหมายเรื่องลิขสิทธิ์ ที่เมื่อคุณเซ็ทแอคเคาท์ในไอจีเป็น ‘Public’ นั่นหมายความว่าภาพดังกล่าวของคุณสามารถให้ทุกคนเห็นได้ และแม้แต่นำมา “ขาย” ได้ด้วย
สำหรับภาพงานอื้อฉาวของ Richard Princeถูกนำมาแสดงที่ Frieze Art Fair นครนิวยอร์ก พร้อมกับตั้งชื่อคอลเลคชั่นนี้ว่า “New Portraits” โดยภาพส่วนใหญ่ที่เขาเลือกมานั้นจะเป็นภาพของผู้หญิงที่อยู่ในท่าโพสต์เย้ายวน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้ตั้งใจถูกนำมาขายทอดตลาดแบบนี้
ทั้งนี้ Richard Prince ใช้วิธีการสกรีนช็อตภาพในไอจี แล้วนำมาขยายใหญ่ในความสูง 6 ฟุต พร้อมพรินต์ออกมาด้วยระบบ inkjet ทำให้ภาพคมชัดละเอียดมาก ที่สำคัญคือ ขายได้เกือบหมดทุกภาพแล้วด้วย โดยราคาอยู่ที่ประมาณภาพละ 90,000 ดอลล่าร์ !!
อย่างไรก็ตาม การกระทำในลักษณะ ‘re-photographing’ ของ Richard Prince ไม่ใช่ครั้งแรกของเขา เพราะเขาเคยมีพฤติกรรมอย่างนี้มาก่อนตั้งแต่ในช่วงปี 1970 เขาเคยนำภาพจากนิตยสาร, โฆษณา, หนังสือ ฯลฯ มาทำเป็นผลงานใหม่ของตนเอง และแน่นอนว่าทำให้เกิดปัญหาทางกฎหมาย โดยเมื่อปี 2008 ช่างภาพชื่อ Patrick Cariou ฟ้องร้องดำเนินคดีกับ Richard Prince จากการนำผลงานไปใช้โดยไม่ขออนุญาต แต่แม้ว่า Cariou จะชนะคดีในศาลชั้นต้น แต่ในชั้นของการอุทธรณ์ศาลกลับระบุว่า Richard Prince ไม่ได้ทำการละเมิดลิขสิทธิ เพราะผลงานสามารถทำการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งเชื่อว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ Richard Prince ยังคงกล้านำผลงานของคนอื่นมาดัดแปลง แล้วเรียกว่าเป็นผลงานของตัวเอง
นอกจากนี้ อีกประเด็นที่ทำให้เขาถูกต่อว่ามาก ก็คือการนำผลงาน Instagram ของคนอื่นมาใช้โดยลบคอมเม้นต์ใต้ภาพเหล่านั้นออก แล้วใส่คอมเม้นต์แปลกๆ ลงไปในแต่ละรูปแทน เช่น “DVD workshops. Button down. I fit in one leg now. Will it work? Leap of faith” เป็นภาพที่นำมาจากแอคเคาท์ “richardprince1234” โดยแอคเคาท์นี้มีคนฟอลโล่ว์ 10,200 ฟอลโลเวอร์
ด้านโฆษกของ Instagram กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “คนที่อยู่ในชุมชน Instagram เป็นเจ้าของภาพของตัวเอง บนแพล็ทฟอร์มนี้ถ้าใครรู้สึกว่าลิขสิทธิ์ของตัวเองถูกฝ่าฝืน ก็สามารถรายงานมายังเราได้ และเราจะดำเนินการให้อย่างเหมาะสม”
ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า กรณีการดำเนินการทางกฎหมายนั้น จะต้องเป็นในลักษณะที่ถ้ามีบางคนมาก็อปปี้แอคเคาท์ อินสตาแกรมของคุณ ทาง Instagram ถึงจะสามารถดำเนินการบางอย่างได้ แต่ถ้ามีบางคนก็อปปี้ผลงานของคุณไปยังที่อื่นภายนอก นอกเหนือจากโซเชียล เน็ตเวิร์ก อย่างเช่นกรณีของ Richard Prince คุณจะต้องดำเนินการด้วยตัวเอง
และแม้ว่าจะถูกต่อว่าและตำหนิจากผู้คนมากมายแค่ไหน แต่ดูเหมือน Richard Prince ไม่ได้สะทกสะท้านกับปัญหาที่ตัวเองก่อเลยแม้แต่น้อย มิหนำซ้ำยังรีทวีตและรีโพสต์โปรโมทผลงานของตัวเองว่าจะไปแสดงอีกหลายเมืองด้วยซ้ำ.