ผู้ใช้งาน Clubhouse จะมีสิ่งที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้ คือการ “follow” หรือการกดติดตามผู้อื่น คนเรามีเหตุผลที่หลากหลายในการ follow ในแพลทฟอร์มนี้ ผู้เขียนขอแชร์มุมมองจากประสบการณ์การใช้งาน ที่เห็นมา ดังนี้
การ follow คนอื่น แบ่งออกเป็น คนที่เราไม่รู้จัก กับคนที่เรารู้จัก
การ follow คนที่เราไม่รู้จัก เหมาะสำหรับการทำให้เราได้เห็นคอนเทนท์มากขึ้น นั่นก็คือ เห็น “ห้อง” มากขึ้น ซึ่งจะมีในหลายลักษณะ ผมขอแบ่งเป็น 3 กรณี ได้แก่
- ถ้าคนที่เราติดตาม ทำการสร้างห้อง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างทันที หรือ กำหนดตารางเวลาไว้ล่วงหน้า (ในระบบปฏิทิน) เราก็จะได้รับ การแจ้งเตือน (โนติฟิเคชั่น) และสามารถเห็นห้องนั้นๆ และเข้าร่วมได้
- ถ้าคนที่เราติดตาม เข้าไปเป็นผู้ฟัง ในห้องใด ก็จะส่งผลให้ เราสามารถมองเห็นห้องนั้นและเข้าร่วมได้ แม้เราไม่ได้ follow ผู้สร้าง หรือผู้พูด ในห้องนั้นก็ตาม (กรณีนี้ ระบบไม่ส่งแจ้งเตือนให้นะครับ)
- ถ้าคนที่เราติดตาม เข้าไปเป็นผู้พูด (สปีคเกอร์) ในห้องใด เราก็จะได้รับแจ้งเตือน สามารถมองเห็นห้องนั้น และเข้าร่วมฟังได้เช่นกัน
จะเห็นว่าการ follow คนที่เราไม่รู้จัก จะทำให้เราได้ติดตามในสิ่งที่เขาจะพูด ไม่ว่าจะตั้งห้องเอง หรือแค่ไปร่วมพูด รวมทั้งสิ่งที่เขาสนใจเข้าไปฟัง เราก็มีโอกาสเห็นและเข้าร่วมด้วยได้
กลุ่มคนที่เข้าข่ายนี้ จำนวนมากอาจจะเป็น ผู้นำทางความคิด ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ อินฟลูเอนเซอร์ คอนเทนท์ครีเอเตอร์ ผู้จัดรายการวิทยุ ผู้ดำเนินรายการทีวี นักข่าว ศิลปินดารา เทรนเนอร์ อาจารย์ ที่ปรึกษาในด้านต่างๆ ที่เขา แชร์สิ่งที่เขาเชี่ยวชาญมีความรู้ประสบการณ์ แสดงความคิดเห็น หรือแม้แต่ คนที่ไม่สะดวกแชร์ พูด แต่เป็นคนที่ชอบฟังในเรื่องที่เราเองก็อาจจะสนใจเหมือนกัน ก็เป็นคนที่เราอาจจะสนใจ ที่จะ follow เขา
ในอีกด้านหนึ่ง การ follow คนที่เรารู้จัก จะมีหลายเหตุผล มากขึ้นกว่าแค่การติดตามเพื่อได้เห็นห้องมากขึ้น การ follow เพื่อน ที่เรารู้จักในชีวิตจริง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน เพื่อนเรียน เพื่อนร่วมงาน ญาติพี่น้อง คนที่รู้จักนับถือ รุ่นน้อง เหมือนเป็นการแสดงความเป็นมิตร ความสัมพันธ์ หรือการให้เกียรติ คล้ายๆ กับที่เราทำในโซเชียลเน็ทเวิร์กอื่นๆ แม้คนที่เราตาม จะไม่ได้สร้างคอนเทนท์ คือ ไม่ได้สร้างห้อง ไม่ได้พูดในห้อง หรือ กระทั่งเขาอาจจะมีความสนใจที่ต่างไปจากเรา ซึ่งจะทำให้เราเห็นห้องที่เราอาจจะไม่สนใจเพิ่มขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนไม่น้อยเลย ที่ให้ความสำคัญกับการ follow จากคนที่รู้จัก คนที่สนิทสนม หรือ คนที่รัก
ซึ่งการ follow คนที่รู้จักนี้ ระบบก็มีฟีเจอร์ที่ทำมาเพื่อการนี้ด้วย นั่นคือการสร้างห้องแบบ Social นั่นเอง เพราะห้องประเภทนี้ จะยอมให้ผู้ที่ เราผู้สร้างห้อง follow เขาอยู่ (โดยเขา ไม่จำเป็นต้อง follow เรากลับ) เท่านั้น ที่มองเห็นแล้วเข้าร่วมได้ ก็จะนำมาประยุกต์ใช้กับการสร้างห้อง ที่จำกัดผู้เข้าร่วมเป็นเฉพาะคนที่เรา “เลือก” แบบกว้างๆ เช่น คนในชมรมเดียวกัน คนในสมาคมเดียวกัน ได้ แต่เราต้อง follow กลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ให้ครบนะ ก็จะใช้งานได้ดี และ ถ้าเราเพิ่ม Moderator (ผู้ควบคุมห้อง) คนที่มองเห็นและเข้าร่วมห้องได้ก็จะกว้างขึ้น คือ เพิ่มคนที่ Moderator คนใหม่เขาติดตามอยู่ด้วย ในลักษณะเดียวกัน ดังนั้น ถ้าเราเพิ่ม Moderator ขึ้นเรื่อยๆ ก็จะมีคนเห็นและเข้าร่วมได้มากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน
สำหรับห้องประเภท Social นี้ เราอาจจะประยุกต์ใช้โดยการดูว่า สปีคเกอร์ (ผู้ร่วมพูด) คนไหนที่มีผู้ติดตามที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเดียวกับที่เราต้องการ เช่น กรณีห้องศิษย์เก่าโรงเรียน เราตั้งขึ้นมาแบบ Social แต่เราอาจจะไม่ได้กดติดตาม เพื่อนในรุ่นที่เราต้องการให้เข้ามาได้ ครบ หรือ มากพอ เราก็ตั้งให้เพื่อนที่ติดตามเพื่อนในรุ่นหลายๆ คน เข้ามาเป็น Moderator เพิ่มด้วย ในลักษณะนี้เป็นต้น
จากฟีเจอร์ของระบบข้างต้น ทำให้ผู้เขียนมองว่า ระบบ Clubhouse สร้างมาเพื่อรองรับการใช้งานที่แตกต่างกัน ทั้งสองลักษณะข้างต้น ก็คือ การ follow คนที่เราไม่รู้จัก และ คนที่เรารู้จัก ซึ่งใช้งานแตกต่างจุดประสงค์กัน ทำให้ในคนที่เรา follow อยู่ อาจจะมีคนทั้งสองกลุ่มนี้ผสมกัน หรือ ใครอาจจะเลือกใช้แค่แบบใดแบบหนึ่งก็ได้ ตามความต้องการ
การ follow back
นอกจากการ follow กันแบบทางเดียว จะทำให้เกิดสิ่งต่างๆ ที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว การที่คนสองคน follow ซึ่งกันและกัน (หรือผู้เขียนเรียกแบบบ้านๆ ว่าการ follow แบบไปกลับ) ทำให้เกิดอะไรพิเศษอีกหลายๆ อย่าง เพิ่มเติมด้วย เช่น
- เราจะสามารถเห็นได้จากการปัดซ้ายในแอพว่าเขากำลังฟังห้องไหนอยู่ สามารถตามเข้าไปฟังได้ ก็คือเป็นการง่ายขึ้น ที่ทั้งสองคน จะตรวจสอบว่า อีกคนฟังห้องไหนอยู่ สามารถตามเข้าไปร่วมฟังได้อย่างสะดวกด้วย
- สามารถสร้างห้องแบบส่วนตัว (ห้องประเภท Closed นั่นเอง) ร่วมกันได้ ที่แพลทฟอร์มนี้ใช้แทนการส่งข้อความส่วนตัว อย่างในแพลทฟอร์มอื่นมี หรือถ้าไม่อยากคุยกันเพียงสองต่อสอง เราก็สามารถสร้างห้องแบบ Closed แล้วชวนคนหลายๆ คน แต่คนที่เราชวนได้ในกรณีนี้ จะต้องเป็นคนที่เข้าข่ายเดียวกันคือ เราผู้สร้างห้อง ติดตามเขาและเขาก็ติดตามเรากลับ ได้เช่นกัน และ ถ้าเราต้องการ “ระเบิด” ห้องให้กลายเป็นแบบ Open ก็สามารถทำได้หลังจากตั้งห้องขึ้นมาแล้ว ซึ่งอาจจะประยุกต์ใช้ในกรณี นัดบริฟกันก่อนระหว่างวิทยากรด้วยกัน แล้วค่อยขยายเป็นห้องแบบสาธารณะที่ให้คนที่มองเห็นห้อง สามารถเข้าร่วมได้ตามปกติ
- เมื่อเราฟังอยู่ในห้องอื่น สามารถ ping ไปชวนมาฟังด้วยกันได้
- เมื่อเราสร้าง club ก็สามารถชวนเข้ามาเข้าร่วม club ของเราได้
จะเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นข้างต้นนี้ ออกแนวการเปิดให้เข้าถึงความเป็นส่วนตัวของกันและกันมากขึ้น รู้กันมากขึ้น และรบกวนกันได้มากขึ้นด้วย ซึ่งค่อนข้างแสดงให้เห็นว่า การ follow ซึ่งกันและกัน เป็นการแสดงความไว้วางใจ เชื่อใจ รูปแบบหนึ่ง ถึงยอมสละ privacy บางส่วนเพิ่มเติม หรือพูดอีกแบบหนึ่งว่า ยอมให้รู้เรื่องของกันและกันมากขึ้นนั่นเอง
เมื่อมีคนมา follow เรา สิ่งที่เราอาจจะคิดขึ้นมาคือ เราจะ follow เขากลับไหม? การ follow back มีมุมมองอย่างไรบ้าง?
- การ follow back คนที่เรารู้จักในชีวิตจริง อย่างที่กล่าวในหัวข้อที่แล้วว่า มันเป็นการให้คุณค่าทางความรู้สึก ของความสัมพันธ์ การให้เกียรติ เราอาจ follow back เพื่อต้องการแสดงสิ่งนี้
- การ follow back คนที่เราไม่รู้จัก แต่เขามา follow เราก่อน ก็มองได้ ว่าเขาอาจจะอยากมาตามสิ่งที่เราพูด เราสนใจฟัง หรือ เขาอาจจะต้องการแสดงไมตรี ให้เกียรติเรา อยากจะรู้จักเรามากขึ้นก็เป็นได้ เราอาจ follow back เพื่อแสดงว่าเราก็อยากเป็นเพื่อนเขามากขึ้นเช่นกันได้
- การ follow back คนที่เราต้องการจะได้ใช้ฟีเจอร์ต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวข้างต้น เช่น อยากเห็นห้องที่เขาเข้าฟัง อยากชวนเขาเข้าห้องแบบ ส่วนตัว ได้เป็นต้น แต่เราก็ต้องเสีย privacy ไปบางส่วนเช่นกัน เป็นการแลกเปลี่ยน
จะมีกิจกรรมหนึ่ง ที่เกี่ยวกับการ follow back คือ “การแลก follow” คือ การ follow กันไปมา เพียงเพื่อเพิ่มจำนวน followers โดยไม่ได้สนใจในคอนเทนท์ และก็ไม่ได้อยากจะรู้จักกันมากขึ้นด้วย ซึ่ง Clubhouse ปัจจุบันได้จำกัด จำนวนคนที่เราสามารถไป follow ได้อยู่ที่ 2,500 คน และจะไม่ขยายด้วย แม้มีผู้ใช้งานต้องการให้ขยายเพิ่ม ที่ทาง co-founder ให้เหตุผลว่า ที่จำกัดไว้ที่ 2,500 คน ก็เพื่อไม่ให้เป็นการสนับสนุนกิจกรรมลักษณะดังกล่าว ซึ่งจะทำให้เกิดการสแปม follow ขึ้น คือไม่อยากให้คนทำการ follow เพียงเพื่อต้องการตัวเลข followers โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์อื่นๆ
ในขณะที่ไม่มีการจำกัดจำนวน คนที่มา follow เรา เช่นที่ผู้เขียนพบว่า co-founder ของ Clubhouse มีผู้ติดตามเขากว่า 4 ล้านคนเลยทีเดียว ในปัจจุบัน ก็คือสำหรับคนที่มีชื่อเสียง หรือเป็นผู้นำทางความคิด คนที่สอน แชร์สิ่งที่เป็นประโยชน์ อาจจะมีคนมาสนใจติดตามสิ่งที่เขาพูดเป็นจำนวนมากๆ ได้ ไม่มีปัญหา
หลายๆ คนก็อาจจะอยากให้มีคนมา follow มากๆ ให้ตัวเลขมากๆ เข้าไว้ บางคนก็อาจจะไม่อยากให้มีคนมา follow มากๆ อยากมีความเป็นส่วนตัว บางคนชอบไป follow ผู้อื่นมากๆ อาจเพราะความสนใจในเนื้อหาที่หลากหลาย บางคนอาจจะไม่ชอบไป follow คนจำนวนมาก เพื่อโฟกัสห้องที่ตัวเองจะเห็น ให้ไม่ผสมปนเปกันจนหายาก ผู้เขียนเชื่อว่า แต่ละคนก็มีเหตุผลของตัวเอง ที่อาจจะแตกต่างหลากหลายไปมากกว่าที่ผู้เขียนยกตัวอย่างนะครับ
ผู้เขียนเน้นแชร์ประสบการณ์จากการใช้งาน Clubhouse ด้วยตัวเอง ประมาณ 3 สัปดาห์ และการติดตามข้อมูลที่ทาง co-founder แชร์และตอบคำถามในทาวน์ฮอลล์ หากมีข้อผิดพลาดประการใดในบทความนี้ ผู้เขียนขออภัยไว้ ณ ที่นี้ ด้วย ขอให้สนุกกับ Clubhouse นะครับ :)
เขียนโดย เจริญ ลักษณ์เลิศกุล
@jarern on Clubhouse