การโพสต์บน Facebook เป็นศิลปะอย่างหนึ่งในการสร้างความสนใจและให้คนติดตามคอนเทนต์ของเรา ทุกวันนี้ผมเชื่อว่าหลายคนมักได้ยินการบอกว่าการโพสต์ที่ดีบน Facebook นั้นคือให้สั้น กระชับเข้าไว้ จนกลายเป็นเหมือนสูตรท่องจำที่จนทุกวันนี้ผมก็ได้คอมเมนต์จากหลายคนว่าอยากให้คอนเทนต์กระชับและสั้นเข้าไปอีก (แต่พวกเขากลับมีเนื้อหาและข้อความบังคับเยอะกว่าจะสั้นแล้วให้สละสลวยได้ -*-”)
แต่เราเคยสงสัยกันไหมว่าทำไมโพสต์บน Facebook ถึงควรสั้นๆ ทำไมเราโพสต์ที่มีข้อความสั้นๆ แล้วจะได้ Engagement มากกว่า จริงหรือที่โพสต์แบบยาวสร้าง Enagement ไม่ได้? หรือจริงๆ แล้วเราจำต่อๆ กันมาจากบรรดา How-To ที่แชร์กันบน Internet จนไม่ได้เข้าใจถ่องแท้ถึงธรรมชาติของการสื่อสารบนโลกอินเตอร์เนตกันแน่
ที่ผมพูดเช่นนี้เพราะอยากฉุกให้คิดนิดนึงว่าเทคนิคต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการสรุปสถิติ “ส่วนใหญ่” ที่เกิดขึ้นโดยจับลักษณะร่วมหลายๆ อย่าง ซึ่งอันที่จริงข้อสรุปเหล่านั้นก็มีเหตุผลอยู่เบื้อหลังด้วยเช่นกัน
สำหรับผมและทีมงานที่ newmedia+ นั้น เราจะมีเทคนิคมาตราฐานที่เราเรียกกันว่า K.I.S.S. (ซึ่งผมก็สรุปมาจากเทคนิคของต่างประเทศอีกทีนั่นแหละครับ) ย่อมาจาก Keep-It-Short-and-Simple หรือทำให้สั้นและเรียบง่ายที่สุด อย่างไรก็ตาม นั่นก็มีข้อยกเว้นหลายๆ อย่างที่เดี๋ยวจะอธิบายต่อไปนะครับ
สั้นทำไม?
ก่อนอื่นเลย เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าทำไมเราถึงบอกกันว่าให้โพสต์ข้อความสั้นๆ บน Facebook แทนที่จะใช้ข้อความยาวๆ โดยที่เป็นอย่างนั้นเพราะรูปแบบพฤติกรรมการใช้ Facebook นั้นจะใช้การ Scroll หน้าจอไปเรืื่อยๆ ซึ่งธรรมชาติของมนุษย์แล้วเราจะกวาดสายตาไปที่ประโยคสำคัญๆ ซึ่งมีความยาวไม่มากนัก ถ้าเรากวาดสายตาเตะตากับประโยคดังกล่าวแล้ว นั่นถึงจะเกิดแรงจูงใจให้มีปฏิสัมพันธ์กับคอนเทนต์เป็นหลัก และนั่นกลายเป็นที่มาของเทคนิคที่เน้นให้เขียนข้อความสั้นๆ กระชับ เพื่อที่คนกวาดสายตาไม่กี่วิก็เตะตาและโดนใจกับสารที่ต้องการสื่อ แทนที่จะต้องเสียเวลาอ่านประโยคยาวๆ
นอกจากนี้แล้ว เรายังต้องไม่ลืมว่าการที่เขียนประโยคยาวๆ นั้นอาจจะทำให้ Facebook ตัดข้อความออกไปแล้วใช้ See More มาคั่น และนั่นอาจจะทำให้เนื้อหาสาระสำคัญของโพสต์ถูกทอนหายไปด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้หลายๆ คนจึงพยายามสรุปข้อความสำคัญให้จบภายใน 2-3 บรรทัดเท่านั้น
คนเราไม่ได้เตะตาที่ตัวหนังสือก่อน
ปัจจัยหนึ่งที่ไม่อาจจะมองข้ามได้ คือแม้ว่าเราจะเขียนประโยคให้สั้นและกระชับเพียงใด แต่ในความเป็นจริงแล้วเราจะต้องสายตากับสิ่งที่เป็น “ภาพ” รวดเร็วกว่าตัวหนังสือ เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้จึงเกิดการสรุปเทคนิคว่าควรใช้ภาพเป็นตัวนำควบคู่ไปกับการเขียนคำบรรยายสั้นๆ ด้วย เพราะไม่เช่นนั้นแล้วคอนเทนต์ก็อาจจะถูกเลื่อนผ่านไปอย่างรวดเร็วเพราะโดนภาพอื่นๆ แย่งความสนใจไป
เทคนิคไม่ใช่กฏตายตัว ท้ายที่สุดคือคอนเทนต์
อย่างไรก็ตาม ถ้าเราสังเกต newsfeed ดีๆ แล้ว เราจะเห็นว่ามีคอนเทนต์หลายๆ โพสต์ที่มีข้อความยาวมากแต่กลับถูกแชร์มากมายทั้งที่มันแทบจะผิดกฏเทคนิคทุกอย่างที่อธิบายมา ที่เป็นเช่นนี้เพราะท้ายที่สุดแล้วคอนเทนต์ต่างๆ นั้นสำคัญที่เนื้อหาและคุณค่าในตัวมันเอง เรามีความคิดว่า Video บน Youtube ต้องยาวไม่เกิน 5 นาที แต่คลิปอย่าง Kony 2012 ที่ยาวกว่า 30 นาทีนั้นมีคนดูไปกว่า 97 ล้านวิว ขณะที่คอนเทนต์ที่ผมเพิ่งเจอบน newsfeed นี้ก็มีความยาวพอสมควร แต่มันก็ถูกแชร์ไปกว่า 15,000 ครั้ง (แถมมันมาจากคนธรรมดาโพสต์ ไม่ใช่เกิดจากบรรเพจใหญ่ๆ โพสต์ด้วย)
ท้ายที่สุดแล้ว เทคนิคการเขียนข้อความต่างๆ นั้นมีส่วนสำคัญในการที่จะสื่อสารให้มีประสิทธิภาพโดยอ้างอิงจากรูปแบบพฤติกรรมของผู้เสพสื่อนั้นๆ เป็นสิ่งที่ดีถ้าเราจะเข้าใจที่มาของเทคนิคดังกล่าวและนำมาต่อยอดกับความเหมาะสมของเนื้อหาเราเอง และในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมว่าเทคนิคไม่ได้ออกแบบและตอบโจทย์สำหรับทุกคอนเทนต์แต่อย่างใด มันย่อมมีข้อยกเว้นด้วยเช่นกัน