แม้ปี 2018 จะเป็นปีที่ดีของ Facebook ในแง่รายได้ ที่เพิ่มจากปี 2017 ถึง 38% หรือกว่า 55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ด้านจำนวนผู้ใช้งานประจำทุกเดือน (MAUs) เพิ่มขึ้นถึง 9% มาอยู่ที่ 2.32 ล้านคน ส่วนจำนวนผู้ใช้งานเป็นประจำทุกวัน (DAUs) ก็เพิ่มขึ้น 9% เช่นกัน อยู่ที่ประมาณ 1.52 ล้านคน
แต่ก็ต้องยอมรับว่าปีที่ผ่านมา เป็นปีที่หนักหนาสำหรับ Facebook ในเรื่องข่าวการถูกฟ้องและถูกปรับในเรื่องของการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ App ในตระกูลของ Facebook (ประกอบด้วย Facebook, Messenger, Instagram, WhatsApp) ซึ่งมีปรากฏให้เห็นหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะกรณี Cambridge Analytica ที่มีการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งาน Facebook ราว 87 ล้านราย เป็นผลให้ Facebook ถูก Information Commissioner Office (ICO) ของสหราชอาณาจักร สั่งปรับไปแล้ว 5 แสนปอนด์ (ประมาณ 20 ล้านบาท) ซึ่งว่ากันว่า ไม่ถึง 7 นาที Facebook ก็ทำรายได้มาจ่ายค่าปรับก้อนนี้ได้แล้ว
อย่างไรก็ดี กรณีเดียวกันนี้ยังอาจทำให้ Facebook ต้องจ่ายค่าปรับให้ Federal Trade Commission (FTC) สหรัฐอเมริกา เป็นเงินสูงถึง $3,000-5,000 ล้าน (ประมาณ 96,000-160,000 ล้านบาท) แต่ก็เทียบเท่าผลประกอบการประมาณเเดือนเดียวของ Facebook
นอกจากนี้ ช่วงเดือน ต.ค. ก็ยังมีข่าวว่าข้อมูลผู้ใช้งาน Facebook กว่า 50 ล้านราย รั่วไหลหรือถูกล้วง (Hack) ซึ่งกรณีนี้อาจทำให้ Facebook ถูก Data Protection Authority ของไอร์แลนด์ ปรับเป็นเงิน 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท) ภายใต้การบังคับใช้ตาม กฎหมายคุ้มครองข้อมูลทั่วไป (GDPR) ของสหภาพยุโรป ที่ระบุว่า หากพบว่า Facebook ล้มเหลวในการปกป้องข้อมูลผู้ใช้งานจะต้องถูกปรับเป็นจำนวน 4% ของรายได้รวมประจำปีของบริษัทและตบท้ายด้วยข่าวร้ายท้ายปีที่ว่า มีข้อมูลรูปถ่ายของผู้ใช้งานกว่า 6.8 ล้านคนถูกแฮ็ก
ค่าปรับจำนวนมากที่กล่าวมา ไม่ใช่ประเด็นใหญ่เมื่อเทียบกับรายได้และจำนวนผู้ใช้งานของ Facebook ที่ยังคงเติบโตขึ้น แต่จากข่าวฉาวที่ถาโถมเข้ามา โดยเฉพาะในเรื่องความไม่ปลอดภัยในข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน ก็ได้สร้างความไม่พอใจเป็นวงกว้าง จนผู้ใช้งานหลายคนเกิดความไม่เชื่อมั่น พร้อมกับเกิดกระแส #DeleteFacebook ขึ้นมา
ความนิยมใช้ Social Network ในกลุ่ม Facebook ซึ่งถือเป็นช่องทางติดต่อสื่อสารสำคัญของคนยุคดิจิทัล อาจำให้การเลิกเล่น Facebook ทำได้ยาก แต่ถึงอย่างนั้น Mark Zuckerberg ก็หยิบยกเรื่อง “ความเป็นส่วนตัว” และ “ความปลอดภัย” มาเป็นวาระสำคัญ (Agenda) ในงานประชุมนักพัฒนาซอฟต์แวร์ประจำปี 2019 (งาน F8) ที่จัดขึ้น ณ San Jose Convention Center เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา
จาก Town Square สู่ Living Room
หลายปีที่ผ่านมา ผู้คนนับพันล้านคนใช้ Facebook เป็นพื้นที่ในการแชร์ข้อมูลชีวิตส่วนตัว ไลฟ์สไตล์ ความสนใจ และมุมมองความคิดเห็น ผ่านตัวอักษร รูปภาพ และวิดีโอ ทำให้ Facebook เป็นเสมือน “จัตุรัสกลางเมือง” หรือ “Town Square” ที่ดูดดึงทั้งเพื่อนเก่า เพื่อนใหม่ และคนแปลกหน้า เข้ามารับรู้ พูดคุยแลกเปลี่ยน และซื้อขายกัน
ขึ้นสู่ปีที่ 16 ของ Facebook ซีอีโอหนุ่มประกาศว่า ต่อไปนี้ Facebook จะปรับตัวเองเป็น “ห้องนั่งเล่น” หรือ “Living Room” โดยแนวทางจะเน้นการสนทนาสื่อสารแบบเป็นส่วนตัวผ่านการเข้ารหัสมากขึ้น และมุ่งเน้นติดต่อสื่อสารกับกลุ่มคนที่เล็กลงแต่เป็นคนที่ผู้ใช้งานไว้ใจ (Trusted group)
นอกจากนี้ ภายใต้การออกแบบใหม่ของ Facebook รุ่น FB5 นี้ ยังจะช่วยให้ผู้ใช้งานเข้าถึงข้อมูลที่ค้นหาได้ง่ายขึ้น โหลดเร็วขึ้น รูปลักษณ์ดูสะอาดตาขึ้น และส่งเสริมปฏิสัมพันธ์แบบเป็นส่วนตัว ซึ่งอัพเดตเรียบร้อยแล้วสำหรับเวอร์ชั่นทาง Mobile App ส่วนเวอร์ชั่นบน Desktop จะออกในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า
“นี่ไม่ใช่แค่การสร้างฟีเจอร์ใหม่ แต่ยังส่งผลให้เราต้องเปลี่ยนวิธีดำเนินธุรกิจของ Facebook ในหลายๆ ด้าน” Zuckerberg กล่าว
การเปลี่ยนแปลงในเวอร์ชั่นใหม่นี้ประกอบด้วย 6 ประเด็นที่ Facebook ให้ความสำคัญอย่างสูง ได้แก่ ปฏิสัมพันธ์ส่วนบุคคล, การเข้ารหัส (Encryption), การปรับปรุงความปลอดภัย, ความสามารถสำหรับผู้ใช้ในการสื่อสารระหว่าง App ในกลุ่มของ Facebook, การลดความถาวร (Permanence) ของโพสต์ หรือการทำให้ข้อความที่โพสต์หรือส่งออกไป ถูกลบทิ้งเมื่อเวลาผ่านไป เพื่อลดความเสี่ยงในการถูกเจาะข้อมูล และความปลอดภัยด้านความเป็นส่วนตัวในเรื่องจัดเก็บข้อมูล เช่น การที่ Facebook หลีกเลี่ยงการตั้งที่เก็บข้อมูลในประเทศที่อ่อนแอเรื่องกฎหมาย และมีความเสี่ยงที่รัฐบาลจะเข้ามาตรวจสอบข้อมูลของผู้ใช้งาน เป็นต้น
“ผมรู้ว่า ตอนนี้ Facbook ไม่ได้มีชื่อเสียงที่ดีในเรื่องความเป็นส่วนตัว แต่ผมสัญญาว่าจะทำให้เรื่องนี้ (ความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน) พัฒนาดีขึ้น และจะเป็นการเริ่มต้นบทใหม่สำหรับกลุ่ม Facebook”
ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยในการใช้งาน Facebook ที่เพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลต่อโมเดลธุรกิจและการหารายได้ของ Facebook ในปัจจุบัน ซึ่งอิงกับการโฆษณาผ่านข้อมูลของผู้ใช้งานเป็นหลัก ดังนั้น คำมั่นสัญญาของ Zuckerberg จะเป็นจริง ได้หรือไม่ ผู้ใช้งานคงต้องรอพิสูจน์ผ่านฟีเจอร์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป
ไฮไลต์ฟีเจอร์ใหม่ใน App ตระกูล Facebook
เริ่มจาก Facebook จะมีฟีเจอร์ใหม่ที่กระตุ้นการสร้างปฏิสัมพันธ์และการโต้ตอบกันของกลุ่ม (Group Interaction) โดยสมาชิกภายในกลุ่มจะสามารถโพสต์คำถามและแบ่งปันข้อมูลโดยไม่ระบุตัวตน นอกจากนี้ยังมี Template สำหรับกลุ่มเฉพาะ เช่น กลุ่มอาชีพ (Professional Group) สามารถโพสต์งานผ่าน Facebook Group โดยสมาชิกในกลุ่มจะสามารถส่งข้อความถึงนายจ้างและสมัครงานผ่านแอปได้เลย หรือ กลุ่มเกมจะมีฟีเจอร์ในการสนทนาที่อนุญาตให้สมาชิกสร้างกระทู้ในหัวข้อที่เฉพาะเจาะจงได้ เป็นต้น
จากอดีตจนถึงวันนี้ กล่าวได้ว่า “เพื่อน” ถือเป็นศูนย์กลางในประสบการณ์การใช้งาน Facebook แต่จากคำประกาศของ Zuckerberg ต่อไปนี้ “กลุ่ม (Groups) จะเป็นหัวใจของประสบการณ์ Facebook”
Facebook Dating ได้มีการเพิ่มอีกฟีเจอร์ใหม่ที่น่าจะโดนใจคนโสดทั่วโลก โดยผู้ใช้งานสามารถแสดงความรู้สึกพิเศษแบบลับๆ กับเพื่อนของคุณได้ ด้วยการใส่ชื่อเพื่อนคนนั้นไปในลิสต์เพื่อนที่คุณแอบปิ๊ง (Secret Crush List) โดยต้องเป็นเพื่อนใน Facebook ของคุณ หรือเป็นเพื่อนของเพื่อนคุณ (Circle of Friends) ที่อยู่ในเครือข่าย Facebook ของคุณ คุณสามารถใส่ชื่อเพื่อนที่แอบปิ๊งได้ 9 ชื่อ (ใส่เพิ่มหรือเปลี่ยนชื่อได้แค่วันละชื่อ) ซึ่งถ้าคนที่คุณแอบปิ๊งก็ใส่ชื่อของคุณลงไปใน Secret Crush List ของเขา ทั้งสองฝ่ายก็จะได้รับข้อความแจ้งจาก Facebook Dating เพื่อให้ทั้งคู่ได้มีโอกาสสานต่อความรู้สึกดี ๆ ต่อกันในชีวิตจริง
ปัจจุบัน Facebook ได้เปิดตัวฟีเจอร์นี้เพิ่มใน14 ประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, สิงคโปร์, มาเลเซีย, ลาว, บราซิล, เปรู, ชิลี, สาธารณรัฐเอกวาดอร์, ปารากวัย, อุรุกวัย, กายอานา, และซูรินาเม โดยเตรียมจะเปิดให้ใช้งานในสหรัฐฯ ภายในปี 2019 นี้ ส่วนคนโสดในเมืองไทยไม่ต้องรอแล้ว เพราะ Facebook Dating ได้เปิดตัวในไทยตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ส่วนฟีเจอร์ใหม่ ได้ข่าวว่าจะเริ่มเปิดให้คนไทยได้ลองใช้เร็วๆ นี้ ถ้าอยากรู้ว่าคนที่แอบปิ๊งนั้นใจตรงกันไหม ก็ลองเข้าไปใช้งานกันได้เลย
สำหรับแอปฯ Messenger จะมีการยกเครื่องใหม่ให้โหลดเร็วขึ้น โต้ตอบได้เร็วขึ้น และใช้พื้นที่ลดลง พร้อมกับเตรียมเปิดฟีเจอร์ใหม่สำหรับผู้ใช้งานเพื่อธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าสามารถจองนัดหมายผ่าน Messenger ได้เลย และในเวอร์ชั่น Desktop ยังจะเปิดให้ผู้ใช้งานสามารถเปิดใช้ Video Call แบบกลุ่มได้ อีกทั้งยังมีฟีเจอร์ที่ให้ผู้ใช้ Messenger สามารถส่งข้อความและโทรหาผู้คนบน Instagram และ WhatsApp ได้ด้วย แต่ยังไม่มีการประกาศว่าจะเปิดตัวฟีเจอร์นี้วันใด
นอกจากนี้ WhatsApp ยังมีการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่สำหรับผู้ใช้งานเพื่อธุรกิจ โดยเปิดให้บริษัทสามารถส่งแค็ตตาล็อกสินค้าให้ลูกค้าดูผ่านแชท และเปิดให้ลูกค้าซื้อสินค้าได้โดยตรงภายในแอปนี้ ซึ่งขณะนี้ที่ประเทศอินเดียกำลังทดลองระบบชำระเงินผ่านแอ โดยฟีเจอร์การชำระเงินอาจจะมีการขยายไปในประเทศอื่่นภายในปีนี้
ส่วน Instagram หลังจากทดสอบการซ่อนยอดไลค์เพื่อให้ผู้ใช้งานได้เชื่อมต่อกับรูปภาพหรือวิดีโอที่นำเสนอมากกว่าการชื่นชมแค่ยอดไลค์ ขณะนี้ Instagram ได้ปรับปรุงอีก 3 ฟีเจอร์ใหม่ เริ่มจากกล้อง Built-in ในแอป Instagram ที่มีการพัฒนา “Create Mode” ขึ้นมาเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถแชร์ข้อความ แอฟเฟค (Effect) หรือสติ๊กเกอร์อินเตอร์แอคทีฟ ได้โดยไม่ต้องแปะบนภาพหรือวิดีโอ จึงไม่ต้องเสียเวลาถ่ายหรือหาภาพ/วิดีโอเพื่อมาใส่ข้อความหรือสติ๊กเกอร์
และสุดท้ายคือ ฟีเจอร์ใหม่ที่จะทำให้ธุรกิจ “ซื้อง่ายขายคล่อง” ขึ้น เพราะฟีเจอร์นี้จะช่วยให้ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถ tag รายการสินค้าบนรูป เพื่อให้ผู้ให้ผู้ใช้งานคนอื่นสามารถเข้ามากดเข้าไปสู่การซื้อสินค้านั้นบน IG ของร้านค้าได้โดยตรง จริงๆ ฟีเจอร์นี้เริ่มเปิดตัวเดือนที่แล้ว แต่เปิดให้เฉพาะร้านค้า (Retailer) ด้วยฟีเจอร์ใหม่นี้ น่าจะช่วยให้ Influencer และ Content Creator ขายสินค้าให้แบรนด์ได้ง่ายขึ้น และยังอาจช่วยให้การวัดประสิทธิผลของ Influencer/Creator ทำได้ง่ายขึ้นด้วย
แหล่งข้อมูล Fortune, Financial Post, TechCrunch, Blognone