หลังจากการปรับลด Reach จนสะเทือนเลื่อนลั่นไปทั่วแผ่นดินออนไลน์ ทำเอานักโฆษณานักการตลาดปวดใจกันถ้วนหน้า แถมยังส่งผลทำให้หุ้นของ Facebook เองก็ร่วงตามลงไปด้วย เมื่อไม่นานมานี้ Facebook ก็ยังเข้มข้นในเรื่องของ Branded Content เพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบต่อคนทำเพจ แบรนด์ และนักโฆษณา
เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา Facebook ประกาศนโยบายใหม่สำหรับเนื้อหาที่มีแบรนด์ (Branded Content Policies) ดังนี้
นโยบายเนื้อหาที่มีแบรนด์
เฉพาะบัญชีผู้ใช้ Instagram หรือโปรไฟล์และเพจเท่านั้นที่สามารถโพสต์เนื้อหาที่มีแบรนด์โดยใช้เครื่องมือเนื้อหาที่มีแบรนด์ได้ เราให้คำนิยามเนื้อหาที่มีแบรนด์ว่า เป็นเนื้อหาของผู้สร้างหรือผู้เผยแพร่ที่มี หรือได้รับอิทธิพลจากพาร์ทเนอร์ธุรกิจเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นมูลค่าบางอย่าง เมื่อต้องการโพสต์เนื้อหาที่มีแบรนด์ ให้ใช้เครื่องมือเนื้อหาที่มีแบรนด์เพื่อแท็กผลิตภัณฑ์ แบรนด์ หรือพาร์ทเนอร์ธุรกิจบุคคลที่สามที่อยู่ในเนื้อหา
เพจและโปรไฟล์ Facebook และบัญชีผู้ใช้ Instagram ที่สามารถใช้เครื่องมือเนื้อหาที่มีแบรนด์ได้จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดต่อไปนี้
1. อย่าใส่โฆษณาก่อน คั่นกลาง หรือหลังเนื้อหาวิดีโอหรือเสียง
2. ห้ามใส่โฆษณาแบบแบนเนอร์ไว้ในวิดีโอหรือรูปต่างๆ
3. ห้ามใส่โฆษณาปะหน้าไว้ภายในช่วงสามวินาทีแรกของวิดีโอ โฆษณาคั่นที่ไม่ได้อยู่ในช่วงสามวินาทีแรกของวิดีโอ เช่น โฆษณาคั่นกลางหรือโฆษณาต่อท้าย จะต้องมีความยาวต่อเนื่องไม่เกินสามวินาที และต้องไม่อยู่ใน Facebook Stories และ Instagram Stories
4. เพจของรายการโชว์ต้องไม่มีเนื้อหาที่มีแบรนด์เป็นโลโก้รายการหรือในวิดีโอตัวอย่าง
5. อย่าใช้เครื่องมือเนื้อหาที่มีแบรนด์เพื่อแท็กเพจ แบรนด์ หรือพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจโดยไม่ได้รับความยินยอมล่วงหน้า
6. อย่ายอมรับสิ่งที่มีค่าใดๆ เพื่อโพสต์เนื้อหาที่คุณไม่ได้สร้างหรือไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้าง หรือไม่ได้มีคุณอยู่ด้วย
7. คุณต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่บังคับใช้ รวมทั้งตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณได้เปิดเผยสิ่งที่จำเป็นทั้งหมดต่อผู้ใช้งาน Facebook หรือ Instagram เช่น การเปิดเผยที่จำเป็นต่อการระบุลักษณะเชิงพาณิชย์ของเนื้อหาที่คุณโพสต์
เท่าที่พิจารณาแต่ละข้อนั้น เรียกว่ากระทบการทำงานต่อผู้ดูแลเพจ นักการตลาด และนักโฆษณาอย่างแน่นอน เพราะเทคนิคส่วนใหญ่ก็มักมีการใช้กันอยู่บ้าง ซึ่งหลังจากนี้ใครที่เคยทำและเข้าข่ายใน 7 ข้อก็คงต้องปรับวิธีการเพิ่มทราฟฟิคเสียใหม่ ทั้งนี้ จากข้อกำหนดที่เข้มข้นนี้จะมีบทลงโทษที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งเริ่มตั้งแต่การแจ้งเตือนไปจนกระทั่งถึงสั่งปิดเพจไปเลย
นอกจากนี้ Digiday ยกตัวอย่าง เว็บไซต์ข่าวออนไลน์อย่าง Diply ที่ระบุว่า ใช้วิธีการเพิ่มทราฟฟิคด้วยการกระจายคอนเทนต์ของตัวเองไปบนเพจต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อเพื่อให้โพสต์เนื้อหา และส่วนใหญ่มียอดเข้าชมผ่าน Facebook Pages ต่างๆ ถึง 85% ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้ก็ตรงกับ ข้อห้าม ข้อที่ 6 นั่นเอง อย่างไรก็ตาม ก่อนที่กฎดังกล่าวจะออกมา ก็เริ่มมีหลายๆ เพจเช่นกันที่เริ่มบอกปัด Diply ไปบ้างแล้ว
สำหรับผู้ที่ไม่ทราบว่า Branded Content ตามนิยามของ Facebook คืออะไรนั้น ทาง Facebook ได้ให้คำจำกัดความไว้ดังนี้ มันก็คือโพสต์ต่างๆ ที่คุณโพสต์ลงเฟซบุ๊ก ไม่ว่าจะเป็น text, ภาพ, วิดีโอ, Instant Articles, ลิงก์, วิดีโอ 360, และ Live Video ด้วย โดยมาจาก บริษัทมีเดียต่างๆ มาจากเซเล็บ หรือมาจาก Influencer ซึ่งเป็นโปรดักส์ แบรนด์ หรือสปอนเซอร์จาก third party
สำหรับนโยบายดังกล่าว จะเริ่มมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมนี้เป็นต้นไป บรรดาผู้ดูแลเพจ แบรนด์ นักการตลาด นักโฆษณา เตรียมตัวกันให้ดี อย่าต้องรอให้ #คุ้กกี้ทำนายกัน.
แหล่งที่มา Facebook Policy, Socialmediaexaminer.com, DIGIDAY