เมื่อข่าวการปรับลดรีชของ Facebook เหมือนฝันร้ายของนักการตลาดและนักโฆษณาทั้งหลาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว Facebook เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการทำดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งเท่านั้น ยังมีหนทางอื่นๆ อีกมากมายในการเข้าถึงผู้บริโภคผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งเราได้มีโอกาสฟังคำแนะนำจากบรรดากูรูของวงการดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ที่จะมาชี้ช่องทางออกให้เราเข้าใจและหาทางออกได้ บนเวทีงาน Contech #4 How to Survive When Facebook Has Changed
เราพบว่าบนหนทางภายใต้อุโมงค์มืด มีหนทางออกที่น่าสนใจ ซึ่งเราเห็นว่า มี 2 หนทางที่น่าจะเป็นไปได้กับประเทศไทย ที่ยังไงเสียก็คงต้องทำการตลาดออนไลน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่ดี
คุณแบงค์ สิทธินันท์ พลวิสุทธ์ศักดิ์ Co-founder จาก Content Shifu ได้แนะนำทางเลือกที่เหมาะสมว่ามีอยู่ 3 หนทางด้วยกัน
- ใช้โซเชียลมีเดียอื่นๆ แทน ไม่ให้ความสำคัญกับ Facebook เช่น ไปใช้ LINE, Youtube, Instagram เป็นต้น โดยวิธีการที่ว่าจะใช้อันไหนนั้น ให้ดูว่าแพล็ทฟอร์มไหนที่เหมาะกับประเภทของธุรกิจของเรา และงบประมาณของเรา
- ถ้าเราเป็นธุรกิจประเภทขายของ ก็ใช้ Market Place ต่างๆ ไปเลย เช่น Lazada, Shopee, 11 Street ฯลฯ
- สร้างเว็บไซต์เป็นของตัวเอง ไม่ต้องพึ่งโซเชียลมีเดีย หรือมาร์เก็ต เพลสใดๆ เว็บไซต์เปรียบเสมือบ้านอันอบอุ่น ที่ไม่ว่าจะไปที่ไหน หรือถูกปรับอะไรก็แล้วแต่ แต่เว็บไซต์ก็ยังคงอยู่กับเราไม่เปลี่ยนแปลง โดยธุรกิจที่เหมาะจะมีเว็บไซต์ ได้แก่ ธุรกิจ B2B, ธุรกิจที่ต้องทำเพื่อแก้ปัญหาให้คน, และธุรกิจที่มีมูลค่าต่อชิ้นสูงไม่ใช่ซื้อมาขายไป
เช่นเดียวกับ คุณตุ๊ก ณธิดา รัฐธนาวุฒิ Founder จาก MarketingOops.com ที่เห็นด้วยกับเรื่องของการสร้างเว็บไซต์เป็นของตัวเอง ไม่ว่าคุณจะทำการค้าอะไรเพราะว่ามันจะไม่มีผลกระทบกับการลดรีช หรือปรับอัลกอริทึ่มใดๆ ของแพล็ทฟอร์มต่างๆ
คุณตุ๊กระบุว่า เว็บไซต์จะสร้างความมั่นคงให้กับแบรนด์ได้ เราจะสามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ บนเว็บของเราได้ด้วยตัวเราเอง แต่ที่สำคัญคือ เราต้องสร้างคอนเทนต์ที่บวกความครีเอทีฟออกมาด้วย เพราะตรงนี้เองที่จะชี้วัดด้วยว่าคอนเทนต์ของคุณจะไปต่อได้หรือไม่ได้ ก็อยู่ที่ไอเดียเป็นสำคัญ และมันจะกลายเป็นความยั่งยืนให้กับแบรนด์ของคุณได้มากกว่าสิ่งที่อยู่บนโซเชียลมีเดียด้วยซ้ำ
“อยากให้มองโซเชียลมีเดียเป็นเพียงแค่ช่องทางหนึ่ง ที่ใช้ในการเข้าถึงออเดียนซ์เท่านั้น แต่สิ่งที่จะสร้างตัวตนให้กับแบรนด์ได้ดีที่สุดคือเว็บไซต์”
อีกด้านหนึ่ง คุณเดียร์ ธนโชติ วิสุทธิสมาน Chief Exclusive Officer and Founder จาก Infographic Thailand, aomMoney และ NextEmpire ก็นำเสนออีกหนทางที่จะรอดจากการลดรีช Facebook ได้อย่างน่าสนใจ นั่นคือการใช้ Facebook Group แทน
เดียร์ ระบุว่า น่าสนใจมากที่ตอนนี้ผู้คน เริ่มไปเกาะกลุ่มรวมตัวกันที่ Facebook Group ซึ่งพบว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความสนใจร่วมกัน แต่ไม่เพียงแค่มีความสนใจร่วมกันเท่านั้น แต่ยังกลายเป็น Market Place กลายเป็นพื้นที่ของการเทรนดิ้งของสะสม หรือของที่มีแพสชั่นร่วมกันในคอมมูนิตี้ ซึ่งพบว่าบางอย่างก็สร้างมูลค่าได้อย่างมหาศาล ยกตัวอย่าง Facebook Group กลุ่มแฟนคลับ BNK48 ที่เปิดประมูลภาพพร้อมลายเซ็น กัปตันเฌอปราง ได้มูลค่าหลายแสนบาท หรือกลุ่มของคนเล่นหวย ที่จะนำตัวเลขต่างๆ มาแชร์กัน มาเก็งกันว่างวดนี้จะออกอะไร
ความน่าสนใจของการทำ Facebook Group ที่สำคัญมากเลยคือ พบว่ามีการเอ็นเกจเมนต์สูงมากๆ มากกว่าบางคอนเทนต์ มากกว่าแบรนด์โพสต์เสียอีก เพราะว่ามันเกิดจากกลุ่มของคนที่มีความสนใจแบบเดียวกัน เรียกว่าเป็นคอนเทนต์ที่ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายเลย
และที่สำคัญที่สุดเลยคือ ทางเฟซบุ๊ก ยังไม่มีการปรับแต่ง และไม่ค่อยยุ่งอะไรกับ Facebook Group นัก ทำให้ไม่ค่อยเกิดการเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้
ดังนั้น หากแบรนด์หรือนักการตลาด มองเห็นการใช้ประโยชน์จาก Facebook Group ได้ ก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่จะเข้ามาสร้างฐานแฟนของแบรนด์ หรือสร้างกลุ่มลูกค้าที่มีความสนใจร่วมกันได้ง่ายขึ้นด้วย