นาทีนี้ทุกคนต่างรู้ว่าแบรนด์ต้องหันมาให้ความสำคัญกับแพลตฟอร์มออนไลน์มากแค่ไหน ในฐานะเจ้าของแพลตฟอร์มอย่าง TikTok ก็เพิ่งเปิดตัว TikTok For Business ไปเมื่อเดือนมิถุนายน กับเป้าหมายในการเป็นแพลตฟอร์มการตลาดดิจิทัล เพื่อตอบโจทย์ภาคธุรกิจ การตลาด และนักโฆษณา สำหรับการทำโฆษณา การตลาด และเพิ่มยอดขาย แน่นอนว่าการเลือกเครื่องมือและงบประมาณเพื่อทำตลาดและส่งเสริมยอดขาย อาจไม่ใช่ปัญหาสำหรับแบรนด์ใหญ่ แต่สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง การดำเนินงานเหล่านี้มีอุปสรรค ตั้งแต่ความเข้าใจ งบประมาณ และการดำเนินการ
หากพูดถึง TikTok For Business ทาง TikTok ให้ข้อมูลว่าไม่ได้พัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์หรือช่วยสร้างการรับรู้ การเข้าถึงผู้บริโภค แต่ให้ความสำคัญกับธุรกิจช่วยเรื่องยอดขายด้วย โดย คุณสิรินิธิ์ วิรยศิริ Head of Business Marketing – Thailand ของ TikTok ระบุว่า โซลูชันดังกล่าวมีความพร้อม 3 ด้านกับการเป็นตัวช่วยของผู้ประกอบการ คือ แพลตฟอร์ม ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในแง่ผู้ใช้งานซึ่งปัจจุบันมียอดดาว์นโหลดทั่วโลกแล้ว 2,000 ล้านครั้ง สัดส่วนผู้ใช้งานกว่า 60% อยู่ในวัย 16-34 ปี และอีก 40% ก็มีทั้งช่วงวัย 13-15 ปี และ 34 ปีขึ้นไป ทำให้ผู้ใช้งานมีความหลากหลายทั้งช่วงวัย ความชื่นชอบ และมีกำลังการใช้จ่ายกระจายอยู่ในกลุ่มผู้ใช้งานวัยต่าง ๆ, โซลูชัน เป็นโซลูชันการตลาดแบบ Full-Funnel Marketing ที่เข้าถึงและเข้าใจเส้นทางการซื้อของผู้บริโภค และทีมงาน ที่กำหนดมาให้เข้ากับทิศทางธุรกิจในประเทศไทย จึงเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภค นักโฆษณา และนักการตลาด
เมื่ออ้างอิงกับพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือในประเทศไทย พบว่ามีผู้ใช้งาน 52 ล้านคน ใช้เวลาเฉลี่ย 4.57 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่ง 99% ระบุว่าใช้เพื่อรับชมวิดีโอ แบ่งเป็นชมวิดีโอทุกวัน 55% หรือชมทุกสัปดาห์ 78% ทั้งยังมีการเรียนรู้เกี่ยวกับสินค้าและบริการผ่านวิดีโอถึง 72% ดังนั้น TikTok For Business จึงพยายามนำเสนอกลยุทธ์การสร้าง Brand Storytelling ในแนวคิด Don’t Make Ads. Make TikToks. เพื่อทำให้ผู้ชมหรือผู้บริโภครู้สึกสนใจ สนุก และอยากเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมของแบรนด์ ผ่านโฆษณารูปแบบต่าง ๆ เช่น
Brand Takeover: รูปแบบโฆษณาในตำแหน่งแรกก่อนเข้าหน้า Feed ที่สามารถสร้าง Reach ได้สูงสุด 100%
Top View: โฆษณาในตำแหน่งแรกในหน้า Feed ที่สามารถสร้างได้ตั้งแต่ Reach จำนวนคนที่เข้ามาบนแพลตฟอร์ม (Traffic) การพิจารณาเลือกซื้อ (Consideration) ไปสู่การตัดสินใจซื้อ (Conversion) ซึ่งสามารถสร้างการแสดงผลทั้งการมองเห็น (View) และจำนวนครั้งที่แสดงโฆษณา (Impression) เป็นจำนวนมากหลายล้านครั้งต่อวัน
In-Feed Ads: จะปรากฏขึ้นระหว่างการแสดงคอนเทนต์ในหน้า Feed ซึ่งโฆษณารูปแบบนี้ยังสามารถทำได้ผ่านแพลตฟอร์ม Self-Serve ด้วย
Hashtag Challenge: เหมาะกับการจัดแคมเปญ เพราะสามารถสร้าง Engagement ระหว่างผู้บริโภคกับแบรนด์ในรูปแบบ User-Generated Content หรือคอนเทนต์ที่ถูกสร้างขึ้นจากผู้ใช้
Branded Effect: แบรนด์สามารถเข้ามาสร้างสรรค์ Effect ต่าง ๆ ทั้งภาพและเสียง เพื่อให้คนสามารถเลือกใช้ประกอบวิดีโอ
SME ไทยมีหลาย Pain Point เป็นกำแพงธุรกิจ
การที่ SME ไทยจะเดินหน้าธุรกิจด้วยการทำตลาดออนไลน์และเจาะกลุ่มลูกค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ แน่นอนว่ามี Pain Point อยู่หลายเรื่อง ซึ่ง คุณจตุธน พิทักษ์พงศ์ Head of SMB – Thailand ของ TikTok อธิบายเพิ่มเติมว่า SME ในประเทศไทยมีจำนวนมากกว่า 3 ล้านราย ซึ่งทำรายได้ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ถึง 2.8 ล้านล้านบาท คิดเป็น 34% ของ GDP ประเทศไทย
ปัญหาที่ SME ต้องพบมักมีอยู่ 3 เรื่อง คือ Resources เพราะส่วนใหญ่มีบุคลากรจำนวนน้อยหรือเจ้าของธุรกิจเป็นผู้ดำเนินการเองแทบทุกขั้นตอน, Budget เพราะมีงบประมาณจำกัด ไม่มากเหมือนองค์กรขนาดใหญ่ SME จึงจำเป็นต้องสร้างให้เกิด ROI ให้ได้มากที่สุด, Digital Knowledge อาจขาดความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงขาดเครื่องมือวิเคราะห์และวัดผลด้วย
สิ่งที่ TikTok For Business แนะนำเพื่อ SME คือเครื่องมือที่เรียกว่า ‘In-Feed Ads’ ซึ่งอยู่ในแพลตฟอร์ม Self-Service โดยมีจุดเด่นคือสามารถจัดการง่ายทั้งงบประมาณและการบริหาร จึงสามารถลงโฆษณาได้รวดเร็วจากเครื่องมือต่าง ๆ ในแพลตฟอร์ม สามารถกำหนดงบประมาณและปรับได้ตามความต้องการ
เน้น Native Ads โฆษณาต้องไม่ขัด User Experience
จุดเด่นที่น่าสนใจของการทำโฆษณาบน TikTok คือ การสนับสนุน Native Ads ให้เป็นรูปแบบที่มีเนื้อหากลมกลืน ไม่รู้ว่านั่นคือโฆษณา หรือไม่ขัดต่อประสบการณ์การใช้งาน เพื่อสร้างโฆษณาหรือกลายเป็นไวรัลที่ดี แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับเนื้อหาที่แบรนด์ต้องการนำเสนอด้วย ซึ่งทั้งหมดต้องไม่ขัดต่อหลักกฎหมาย ส่วนการพิจารณาเงื่อนไขโฆษณาบน TikTok นั้น Ads Format ก็มีทีมงานคัดกรองโฆษณาซึ่งมอนิเตอร์ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งก่อนเผยแพร่จะต้องมีการรีวิวเพื่ออนุญาตก่อนโดยใช้เวลาภายใน 24 ชั่วโมง แต่หากพบว่ามีเนื้อหาไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขก็อาจมีการพิจารณาหลังจากเผยแพร่อีกครั้ง นอกจากนี้การยิงโฆษณาบน TikTok ก็สามารถโฆษณาข้ามประเทศแล้ว 11 ประเทศ อาทิ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น เป็นต้น
ถอดสูตรสำเร็จ ‘แบรนด์’ บน ‘TikTok’
มีตัวอย่างแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จกับ TikTok และถูกยกขึ้นมาเป็น Case Study เช่น…
NIVEA: ที่ประสบความสำเร็จจากแคมเปญ #PutURHandsUpChallenge ส่งเสริมความมั่นใจใต้วงแขนของผู้หญิงไทย ซึ่งมีผู้ใช้เข้าร่วมแคมเปญและสร้างคอนเทนต์วิดีโอเกือบ 60,000 วิดีโอ และภายใน 6 วัน ก็มียอดวิวรวม 10 ล้านวิว และสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นได้ 26%
BM Collagen Plus: ตัวอย่าง SME ไทยซึ่งเป็นแบรนด์ที่ทำโฆษณาเฉพาะสื่อออนไลน์ เมื่อทำแคมเปญร่วมกับ TikTok ก็สามารถสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นเกือบ 200%
Cardinal Film: แบรนด์ฟิล์มติดรถยนต์และอาคาร หนึ่งใน SME ไทย ซึ่งมีความชัดเจนที่เจ้าของธุรกิจมักจะเป็นผู้ดำเนินการเองแทบทุกขั้นตอนธุรกิจ เมื่อเข้ามาใช้โซลูชัน TikTok For Business ก็สามารถทำยอดวิวได้รวม 20 ล้านวิว
เติมเต็ม Ecosystem นักการตลาด นักโฆษณา
เพื่อสนับสนุนนักการตลาด นักโฆษณา ด้านความครีเอทีฟ TikTok ได้ประกาศจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น TikTok Trendsetter Awards โครงการประกวดที่จะเปิดรับผลงานการสร้างสรรค์คอนเทนต์ เพื่อชิงรางวัลและเข้ารับการฝึกอบรมจากทีม TikTok, SEA Creative Circle ส่งเสริมผลงานครีเอทีฟ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น วางกลยุทธ์ และแนวทางงานครีเอทีฟในไทย ซึ่งจะจัดขึ้นทุก 1-2 เดือน และ TikTok Ads Academy ซึ่งทำการอบรมไปแล้วกว่า 2,000 คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ ก็จะมีการจัดสัมมนา Grow with TikTok ในวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้ โดยเปิดให้เข้าร่วมกิจกรรมฟรีสำหรับ SME ทั่วไปเพื่อปูพื้นฐานความเข้าใจ ซึ่งจะมีการจัดงานลักษณะนี้ไตรมาสละ 1-2 ครั้ง และยังมีช่องทางอื่นอย่าง LINE @tiktokforbusiness ทำให้ SME สามารถสอบถามข้อมูลและเรียนรู้ได้สะดวกโดยจะเริ่มให้บริการตั้งแต่ 27 ตุลาคมนี้
‘สื่อออนไลน์’ ความหวังเดียวเม็ดเงินโฆษณาปี 2563
สถานการณ์ในตอนนี้ แน่นอนว่าการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ต้องอยู่ในภาวะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ MAAT (สมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย) คาดว่าจะมีเม็ดเงินโฆษณาบนสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้น 12% หรือ 2.03 หมื่นล้าน ทั้งยังคาดว่าจะเป็นแพลตฟอร์มเดียวที่มีการเติบโตอีกด้วย
ส่วนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับการลงโฆษณาบน TikTok คุณจตุธน เปิดเผยว่า เรื่องดังกล่าวมีผลกระทบเกิดขึ้นบ้างเนื่องจากแบรนด์อาจต้องการชะลอเพื่อรอดูท่าทีก่อน แต่สำหรับลูกค้ากลุ่ม SME จะมีผลกระทบเป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เพียง 3-4 วัน แต่หลังจากนั้นก็จะกลับมาลงทุนเป็นปกติ เนื่องจาก TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่มีจุดเด่นเรื่องความง่ายในการใช้งานและทำโฆษณา เพราะสามารถทำวิดีโอได้รวดเร็ว และมีเอฟเฟกต์พร้อมใช้งานหลากหลาย มีเพลงถูกลิขสิทธิ์ให้เลือกใช้ และยังสามารถสร้างแคมเปญจากการทำแฮชแท็กชาเลนจ์ได้ด้วย ดังนั้น TikTok จึงตั้งเป้าให้ TikTok For Business กลายเป็นเครื่องมือสำหรับ SME ไทยได้เข้ามาใช้งานอย่างแพร่หลาย