มายด์แชร์ ระบุภาพรวมโฆษณาปีหน้าหดตัวต่อเนื่อง คาดจบปีติดลบ 2-3% สินค้าวางกลยุทธ์ระยะสั้น งัดสูตรลดแลกแจกแถมดันยอด ชี้ สื่อทีวียังมาแรง ควบคู่นิวมีเดีย ดิจิทัล และโทรศัพท์มือถือ เข้าถึงผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มราคาถูก ขณะที่บริษัทตั้งเป้าปีหน้าโต 9% ชูกลยุทธ์ สื่อสารการตลาด บริการพันธมิตรธุรกิจ
สำหรับในปีหน้าลูกค้ามีแนวโน้มวางกลยุทธ์ระยะสั้น และให้ความสำคัญกับการตลาดประเภท ลด แลก แจก แถม เพื่อกระตุ้นยอดขาย โดยจะมีการประเมินผลแบบรายไตรมาส แต่จะมุ่งสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า สร้างความภักดีในแบรนด์ ควบคู่กับกลยุทธ์ผลักดันยอด ทั้งนี้เพื่อให้สินค้าเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งในการตัดสินใจซื้อ
นายรัฐกร สืบสุข หัวหน้าแผนกบริหารการลงทุนสื่อ มายด์แชร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่าสิ้นปีนี้อุตสาหกรรมโฆษณาไทยคาดว่าจะติดลบ 2-3% จากปีก่อนที่มีมูลค่า 9.1 หมื่นล้านบาท และวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบในปีหน้า จะทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาไทยปีหน้าติดลบต่อเนื่องจากปีนี้ โดยจะติดลบเป็นตัวเลขหลักเดียวเช่นกัน
New Media โตต่อเนื่อง
สำหรับทิศทางการใช้สื่อโฆษณาในปี 2552 ในกลุ่ม Traditional Media สื่อโทรทัศน์ ที่เข้าถึงผู้ชมจำนวนมากยังคงได้รับความนิยมเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของการใช้งบประมาณ โดยเฉพาะรายการในช่วง Prime Time ที่มีผู้ชมสูงสุด ขณะที่ช่วงNon-Prime Time จะมีอัตราการใช้พื้นที่โฆษณาลดลง เช่นเดียวกับสื่อ Traditional อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ หากเป็นสื่อที่อยู่ในอันดับ 1 และ 2 ยังคงได้รับความสนใจจากลูกค้า หากเป็นลำดับหลังจากนี้ความต้องการใช้พื้นที่จะลดลง ขณะที่สื่อนอกบ้าน ประเภทป้ายโฆษณาจะได้รับผลกระทบในปีหน้า จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และรถยนต์ที่ใช้สื่อนี้ชะลอตัวลง ส่วนสินค้าที่ยังใช้งบประมาณในปีหน้า จะเป็นกลุ่มอุปโภค บริโภค ค้าปลีก สินค้าทางการเงิน และอาหาร
นายรัฐกร กล่าวอีกว่าสื่อในกลุ่ม New Media ทั้ง Digital Media, Online Media และโทรศัพท์มือถือ ยังเป็นกลุ่มที่เติบโตต่อเนื่องในปีหน้า เป็นตัวเลข 2 หลัก เนื่องจากเป็นสื่อที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ สามารถวัดผลแคมเปญการตลาดได้ และยังเป็นสื่อที่มีราคาถูก เช่นเดียวกับเคเบิลทีวี ที่จะได้รับความนิยมในปีหน้าเช่นกัน เพราะสามารถทำการตลาดได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งสปอต โฆษณา ,การทำกิจกรรมในรายการ และกิจกรรมในพื้นที่ ในราคาถูกและสามารถวัดผลได้ คาดว่าปีหน้าเฉพาะการใช้พื้นที่สปอตโฆษณาในเคเบิล จะมีสัดส่วนประมาณ 1-2% ของอุตสาหกรรมโฆษณา