เปิดเบื้องหลังกระบวนการปั้น “ONE PIECE” ฮิต 20 ปี! ทั้ง Animation-ยอดขายกว่า 460 ล้านเล่ม

  • 3.8K
  •  
  •  
  •  
  •  

one-piece

เคยสงสัยกันไหมว่า…ทำไมการ์ตูนญี่ปุ่นหลายเรื่อง ถึงได้รับความนิยมได้ยาวนานหลายทศวรรษ ไม่เลือนหายไปกับกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลง ทั้งยังสามารถสร้างฐานผู้อ่านจากรุ่นสู่รุ่น และยังมีชื่อเสียงดังไกลไปทั่วโลก ?!?

นั่นเพราะ “มังงะ” (Manga) หรือ “การ์ตูนญี่ปุ่น” ระดับตำนานมีกระบวนการสร้าง และต่อยอด Ecosystem ของการ์ตูน และคาแรคเตอร์แต่ละตัว ให้ยังคง “มีชีวิตโลดแล่น” ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย และผู้คน

ถ้าพูดถึงการ์ตูนญี่ปุ่นที่อยู่ในความทรงจำของใครหลายคน และยังคงฮิตมาถึงทุกวันนี้ เราเชื่อว่าแต่ละคนมีในใจหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือ ONE PIECE” (วันพีซ)

แม้วันนี้เป็นยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีกลายเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันผู้บริโภค และแต่ละวันเราทุกคนถูกรายล้อมด้วยคอนเทนต์ต่างๆ มากมาย แต่การเดินทางของ ONE PIECE ครบ 20 ปีเต็ม และกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 21 ทำไมถึงยังคงรักษาตำแหน่งเป็นหนึ่งในมังงะ และ Animation ที่ดังทั่วโลก ทั้งยังมีฐานแฟนคลับจำนวนมาก

MarketingOops! จะพาไปค้นหาคำตอบถึงกระบวนการปลุกปั้น และต่อยอด “ONE PIECE” กรณีศึกษาของการสร้างคอนเทนต์ และคาแรคเตอร์ให้ฮิตตลอดกาล  

One Piece
Photo Credit : Facebook Cartoon Club Channel

 

จากตีพิมพ์ใน “Shonen Jump” รายสัปดาห์ สู่มังงะที่มียอดพิมพ์มากที่สุดในโลก!

ONE PIECE สร้างสรรค์โดย “อาจารย์เออิจิโร่ โอดะ” (Eiichiro Oda) เริ่มต้นตีพิมพ์ในนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ชื่อดังของญี่ปุ่น Shonen Jump ของสำนักพิมพ์ชูเอฉะ ในปี 1997 ซึ่งสำนักพิมพ์แห่งนี้ ครั้งหนึ่งในช่วงวัยรุ่น “อาจารย์โอดะ” ทำงานที่นี่ ในฐานะเป็นหนึ่งในผู้ช่วยเหล่าอาจารย์นักวาดการ์ตูนมาก่อน ซึ่งมีอิทธิพลต่อเส้นทางอาชีพนักวาดการ์ตูนของอาจารย์โอดะไม่น้อย

หลังจาก ONE PIECE เผยแพร่ใน Shonen Jump ก็สามารถขึ้นแท่นเป็นมังงะที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในญี่ปุ่น และยังได้ตีพิมพ์ในรูปแบบเล่ม พร้อมทั้งเริ่มขยายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก หนึ่งในนั้นคือ ประเทศไทย โดย “สำนักพิมพ์สยามอินเตอร์คอมมิกส์” ได้สิทธิ์เป็นผู้จัดพิมพ์ และจำหน่ายในไทย

Eiichiro Oda
อาจารย์เออิจิโร่ โอดะ / Photo Credit : Facebook Eiichiro Oda 尾田 栄一郎

ปรากฏการณ์ความนิยม ONE PIECE ไม่ใช่อยู่ในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก สะท้อนได้จากการสร้างสถิติยอดขายหนังสือการ์ตูนรวมกว่า 100 ล้านเล่มในปี 2005

จากนั้นในปี 2011 มียอดขายรวมมากกว่า 200 ล้านเล่ม

ต่อมาปี 2014 มียอดขายรวมกว่า 320 ล้านเล่มทั่วโลก

ในปี 2015 ONE PIECE” ได้รับการบันทึกใน Guinness World Records ว่าเป็นมังงะที่ได้รับการตีพิมพ์มากที่สุดในโลก!

กระทั่งในปี 2017 ทำยอดขายขายสูงถึง 430 ล้านเล่ม และ 440 ล้านเล่มทั่วโลกในปี 2018

ส่วนปี 2019 สถิติยอดขายรวม 460 ล้านเล่ม และตัวเลขปัจจุบัน 95 เล่ม มากกว่า 900 ตอน ยอดขาย (มกราคม 2020) รวม 462 ล้านเล่มกว่า 43 ประเทศทั่วโลก!

จากวันนั้น ถึงวันนี้ “ONE PIECE” กลายเป็นมังงะที่มียอดขายอันดับ 1 ในญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในมังงะที่มีฐานแฟนคลับตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่อายุ 45 ปีขึ้นไป

one-piece-best seller infographic

 

ถอดกลยุทธ์ความสำเร็จ “ONE PIECE” สองทศวรรษผ่านไป ทำไมยังฮิตจากรุ่นสู่รุ่น  

จากสถิติยอดขายข้างต้น ทำให้เห็นได้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่การ์ตูน หรือในภาษาญี่ปุ่นเรียกภาพวาดลายเส้นว่า “มังงะ” สักเรื่องหนึ่งจะเดินทางมาได้ไกล และยาวนานเหมือนเช่น ONE PIECE และการ์ตูนญี่ปุ่นอีกหลายเรื่องที่ขึ้นแท่นระดับตำนานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ONE PIECE” นับเป็นกรณีศึกษาหนึ่งที่สามารถสร้าง Ecosystem ได้ประสบความสำเร็จ ซึ่งภายใต้โมเดล Ecosystem ทุกอย่างถูกร้อยเรียง และแต่ละจิ๊กซอว์เป็นการผสานกันระหว่างการขยายทั้งใน “เชิงลึก” (Vertical) และ “เชิงกว้าง” (Horizontal)

การขยายเชิงลึก คือ จุดเริ่มต้นอันถือเป็นรากฐานแข็งแกร่งของ ONE PIECE มาจากการเป็น “คอนเทนต์” ก่อน ในรูปแบบนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ และการ์ตูนเล่ม

จากนั้นเมื่อประสบความสำเร็จ ได้ถูกต่อยอดไปสู่คอนเทนต์ที่หลากหลาย เพื่อกระจายไปยังช่องทางต่างๆ เช่น ทีวีซีรีส์, สร้างเวอร์ชั่น The Movie

One Piece
Photo Credit : Facebook One Piece Mugiwara Bangkok

ขณะที่การขยายเชิงกว้าง คือ ONE PIECE ไม่จำกัดตัวเองอยู่แค่การเป็น Content Base เท่านั้น แต่ได้ต่อยอดไปสู่การเป็นแบรนด์ระดับโลก ด้วยการผลิตสินค้า Merchandise ขณะเดียวกันได้ขายลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์ เพื่อร่วมกันทำ Collaboration กับแบรนด์กลุ่มสินค้าต่างๆ ที่ต้องการนำคาแรคเตอร์ตัวละครต่างๆ ใน ONE PIECE ไปผูกกับสินค้านั้นๆ

นอกจากนี้ยังได้สร้าง Theme Park และ Retail Store เพื่อเป็นอีกหนึ่ง Touch Point ให้เหล่าแฟนคลับ และคนทั่วไป ได้สัมผัสประสบการณ์จริงของโลกใน ONE PIECE

การสร้าง Business Ecosystem ที่ครบวงจรเช่นนี้ เป็นกลยุทธ์ที่ทำให้แฟนคลับผูกพันต่อเนื่องกับการ์ตูนเรื่องนั้นๆ ได้ยาวนาน ควบคู่กับการขยายฐาน Audience ใหม่ๆ  

และเพื่อให้เห็นกระบวนการปลุกปั้น “ONE PIECE” ลึกยิ่งขึ้น เราไปดูจิ๊กซอว์แต่ละตัวกันว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง และมีกลยุทธ์อย่างไร  

Tokyo ONE PIECE Tower 

1. การสร้างสรรค์พล็อต – เรื่องราว – คาแรกเตอร์ตัวละคร

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ONE PIECE ยืนหนึ่งมาถึงทุกวันนี้ได้ คือ การสร้างสรรค์พล็อต, เรื่องราว และการออกแบบคาแรกเตอร์ตัวละคร เกี่ยวกับการผจญภัย – ความใฝ่ฝัน – ความมุ่งมั่น – มิตรภาพ – การต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรค – การค้นพบเหตุการณ์ ผู้คน หรือสิ่งใหม่ของตัวละครหลัก “แก๊งค์หมวกฟาง” และแฝงด้วยประเด็นทางสังคม

สมาชิกแก๊งค์หมวกฟางแต่ละคนมีความสามารถพิเศษเฉพาะตัว และคาแรกเตอร์แตกต่างกัน นำโดยกัปตันกลุ่ม “ลูฟี่” เด็กหนุ่มที่ฝันอยากเป็นราชาโจรสลัด พร้อมด้วยเพื่อนสมาชิกที่ร่วมผจญภัย เช่น โซโร, นามิ, อุซป, ซันจิ, ช็อปเปอร์ และตัวละครใหม่อีกมากมาย ที่เข้ามาเติมสีสันให้ ONE PIECE มีความแปลกใหม่ และครบทุกอรรถรส

ที่สำคัญทุกวันนี้ “ONE PIECE” ยังคงมีตอนใหม่ออกมาต่อเนื่อง กลายเป็น “ความผูกพัน” ระหว่างตัวละครต่างๆ ในเรื่อง กับคนอ่าน

One Piece
Photo Credit : Facebook Cartoon Club Channel

“อาจารย์เออิจิโร่ โอดะ” เคยบอกว่า “ลูฟี่” เปรียบเสมือนตัวแทนของวัยรุ่น ความเป็นวัยรุ่นมาพร้อมกับความฝัน และความอิสระ ดังนั้นการผจญภัย ออกตามล่าหาสมบัติใน ONE PIECE ก็คือ การหาความอิสระของวัยรุ่น โดยในระหว่างทางของการผจญภัย จะเจอผองเพื่อน และมิตรภาพมากมาย มีทั้งเข้ามาเป็นเพื่อนกันเลย  และเป็นศัตรูกันมาก่อน หรือไม่ถูกกันบ้าง แต่ในที่สุดแล้วได้กลายมาเป็นเพื่อนกัน

One Piece
Photo Credit : Facebook Cartoon Club Channel

 

2. จาก “หนังสือ” สู่ “Animation” บนจอทีวี – แพลตฟอร์มดิจิทัล และใช้โมเดล Local Licensed Partner

เป็นสิ่งที่ต้องมาคู่กันเสมอสำหรับมังงะ หรือการ์ตูนญี่ปุ่น ที่มีทั้งรูปแบบเล่ม และ Animation โดยเป็นการต่อยอดจากการ์ตูนเล่ม มาสู่ผลิตในรูปแบบการ์ตูนเคลื่อนไหว หรือที่เรียกว่า “ทีวีซีรีส์” เพื่อออกอากาศทางทีวี

สำหรับ ONE PIECE เริ่มออกอากาศทีวีครั้งแรกทางสถานีโทรทัศน์ฟูจิในปี 1999 ผลิตโดย TOEI Animation และยังส่งออกลิขสิทธิ์ Animation เรื่องนี้ไปยังทั่วโลก

ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา กลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ “ONE PIECE” สามารถขยายไปได้ทั่วโลก คือ โมเดลธุรกิจแบบ Global แต่เจาะลึกแต่ละประเทศด้วย Local Licensed Partner

ในประเทศไทย บริษัทดูแลลิขสิทธิ์ ONE PIECE คือ “DEX(Dream Express) โดยจะพาร์ทเนอร์กับบริษัทต่างๆ ในแต่ละกลุ่มธุรกิจ เพื่อช่วยกันขยายตลาด “ONE PIECE” และในการนำเสนอรูปแบบ Animation บนทีวี และแพลตฟอร์มดิจิทัล ได้พาร์ทเนอร์กับ “การ์ตูนคลับ มีเดีย” (เจ้าของการ์ตูนคลับ แชนแนล : Cartoon Club Channel) ในการนำเข้าคอนเทนต์จาก TOEI Animation ประเทศญี่ปุ่นมาฉายในไทย เพื่อนำคอนเทนต์ ONE PIECE ไปออกอากาศทั้งบนฟรีทีวี, ทีวีดาวเทียม และจับมือกับแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ

หนึ่งในแพลตฟอร์มดิจิทัลสำคัญที่ทำให้คนไทย สามารถรับชม ONE PIECE ทั้งย้อนหลัง และตอนใหม่ล่าสุดได้ทุกที่ ทุกเวลา คือ “LINE TV

One Piece
Photo Credit : Facebook Cartoon Club Channel

ตามสถิติเรตติ้งในหมวด “Animation” ของ LINE TV ในช่วง 7 เดือนย้อนหลัง (มิถุนายน – ธันวาคม 2019) พบว่า “ONE PIECE” ติดท็อป 5 เรตติ้งสูงสุดติดต่อกันทุกเดือน และยอดวิวบน LINE TV แต่ละเดือนโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2 – 6 ล้านวิว

ไม่ว่าจะเป็น ONE PIECE” ซีซั่นเก่าที่เคยออกอากาศไปแล้วในอดีตอย่าง ONE PIECE The Movie ตั้งแต่ปี 2000 – 2008 และภาคใหม่ เช่น ซีซั่น 19 ภาคเกาะโฮลเค้ก” (ONE PIECE Whole Cake Island), ซีซั่น 20 ภาควาโนะคุนิ” (ONE PIECE Wanokuni)” ซึ่งความพิเศษของภาคนี้ อยู่ตรงที่เป็น soundtrack พร้อมซับไทยที่ออกอากาศต่อจากที่ญี่ปุ่นฉาย 48 ชั่วโมง ทำให้แฟนๆ วันพีซชาวไทยไม่ต้องรอนาน และการฉายบน LINE TV ยังสร้างพฤติกรรมการดูคอนเทนต์ที่ถูกลิขสิทธิ์อีกด้วย

สรุปเรตติ้ง AnimationONE PIECE” บน LINE TV ปี 2019 พบว่าภาควาโนะคุนิขึ้นอันดับ 1 ติดต่อ 6 เดือน โดยมีเรตติ้ง และยอดรับชมดังนี้

มิถุนายน 2019

  • “วันพีซ” (ONE PIECE) ได้เรตติ้ง 0.0105 และมียอดวิว 1,176,833 วิว

กรกฎาคม 2019

  • “วันพีซ ภาควาโนะคุนิ” (ONE PIECE Wanokuni) ได้เรตติ้ง 0.0251 และมียอดวิว 1,508,571 วิว

  • “วันพีซ” (ONE PIECE) ได้เรตติ้ง 0.0129 และมียอดวิว 2,635,412 วิว

สิงหาคม 2019

  • “วันพีซ ภาควาโนะคุนิ” (ONE PIECE Wanokuni) ได้เรตติ้ง 0.0308 และมียอดวิว 6,856,483 วิว

  • วันพีซ (ONE PIECE) ได้เรตติ้ง 0.0129 และมียอดวิว 2,519,089

กันยายน 2019

  • “วันพีซ ภาควาโนะคุนิ” (ONE PIECE Wanokuni) ได้เรตติ้ง 0.0278 และมียอดวิว 2,465,984 วิว

  • “วันพีซ” (ONE PIECE) ได้เรตติ้ง 0.0151 และมียอดวิว 2,987,597 วิว

ตุลาคม 2019

  • “วันพีซ ภาควาโนะคุนิ” (ONE PIECE Wanokuni) ได้เรตติ้ง 0.0194 และมียอดวิว 2,276,568 วิว

  • “วันพีซ ภาคเกาะโฮลเค้ก” (ONE PIECE Whole Cake Island) ได้เรตติ้ง 0.0128 และมียอดวิว 2,906,140 วิว

พฤศจิกายน 2019

  • “วันพีซ ภาควาโนะคุนิ” (ONE PIECE Wanokuni) ได้เรตติ้ง 0.0112 และมียอดวิว 1,583,580 วิว

  • “วันพีซ ภาคเกาะโฮลเค้ก” (ONE PIECE Whole Cake Island) ได้เรตติ้ง 0.0068 และมียอดวิว 1,672,670 วิว

 ธันวาคม 2019

  • “วันพีซ ภาควาโนะคุนิ” (ONE PIECE Wanokuni) ได้เรตติ้ง 0.0118 และมียอดวิว 1,682,795 วิว

  • “วันพีซ ภาคเกาะโฮลเค้ก” (ONE PIECE Whole Cake Island) ได้เรตติ้ง 0.0060 และมียอดวิว 1,624,757 วิว

one-piece-infographic

นอกจากนี้ข้อมูลจาก Nielsen ตัวเลขจำนวนผู้ชมแบบไม่นับซ้ำ หรือที่เรียกว่า Unique Audience (UA) ของ ONE PIECE โดยเฉลี่ยแล้วกลุ่มคนดูเป็นผู้หญิงกว่า 30 – 40% และผู้ชายกว่า 60 – 70%

ขณะที่อายุคนดู ONE PIECE บน LINE TV จากข้อมูลของ Nielsen ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 13 – 34 ปี แสดงให้เห็นว่าการ์ตูนเรื่องนี้ มีทั้งฐานคนดูดั้งเดิมที่ติดตามมาตั้งแต่วัยเด็กเมื่อครั้งที่ ONE PIECE เริ่มต้น และเติบโตไปพร้อมกับเรื่องนี้ กระทั่งปัจจุบันคนกลุ่มนี้เข้าสู่วัยผู้ใหญ่ และยังคงติดตามการ์ตูนเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันมีฐานคนดูกลุ่มใหม่อยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนต้นเติมเข้ามา

ควบคู่กับการบริษัทแม่เจ้าของลิขสิทธิ์ “ONE PIECE” หาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น ประเทศจีน จากข้อมูลของ DEX เผยว่า ONE PIECE เริ่มทำตลาดประเทศจีนเมื่อ 5 ปีที่แล้ว และเวลานี้ได้กลายเป็นตลาดใหญ่อันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น เนื่องจากจำนวนประชากรที่มาก และชาวจีนเป็นผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ

นี่จึงเป็นคำตอบว่าทำไม “ONE PIECE” ผ่านไป 20 ปีแล้ว แต่ยังคงมีฐานคนดู – คนอ่านเพิ่มขึ้นเสมอ

one-piece-infographic

 

3. สร้างเวอร์ชั่น Movie ลงโรงภาพยนตร์

หลังจากออกอากาศผ่านจอทีวีได้ 1 ปี ในปี 2000 ได้เปิดตัว ONE PIECE The Movie ทุกครั้งที่เวอร์ชั่นภาพยนตร์เข้าฉาย จะได้การตอบรับที่ดีจากผู้ชม โดยเฉพาะแฟนคลับที่เฝ้าติดตามดูเวอร์ชั่นพิเศษ

ถึงวันนี้เวอร์ชั่น Movie ได้ออกมาแล้ว 14 ภาค โดยภาคล่าสุดคือ ONE PIECE Stampede” (วันพีซ สแตมปีด) เข้าฉายเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว

ความน่าสนใจของภาคนี้ อยู่ตรงที่ปี 2019 เป็นปีฉลองครบรอบ 20 ปี ONE PIECE ที่หลายประเทศทั่วโลกเฉลิมฉลองร่วมกัน โดยภาพยนตร์ ONE PIECE Stampede เปิดฉายอย่างเป็นทางการที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม มีผู้ซื้อบัตรเข้าชมในการฉายด้วยยอด Box Office สัปดาห์แรกอันดับ 1 ในประเทศญี่ปุ่น ด้วยรายได้ 1,646,321,500 เยน คิดเป็นจำนวนตั๋ว 1,254,372 ใบ ขึ้นแท่นภาพยนตร์ที่มียอดคนดูมากที่สุดของปี 2019 ในประเทศญี่ปุ่น

สำหรับประเทศไทย หลัง “ONE PIECE Stampede” เปิดฉายอย่างเป็นทางการทั่วประเทศเพียง 1 สัปดาห์  กวาดยอดจำหน่ายตั๋วกว่า 50 ล้านบาท ครองอันดับ 1 Thailand Box Office

การสร้างเวอร์ชั่นภาพยนตร์ออกมาปีละเรื่อง หรือบางช่วงเว้น 2 – 3 ปี แล้วถึงมีตอนใหม่ลงโรง เป็นการเพิ่ม window เพื่อเข้าถึงผู้ชม และสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับแฟนคลับ นอกเหนือจากการติดตามดูคอนเทนต์จาก window ปกติอย่างหนังสือการ์ตูน และ Animation บนจอทีวี และแพลตฟอร์มดิจิทัล

ONE PIECE Stampede

 

4. ลิขสิทธิ์ Merchandise ก้าวสำคัญยกระดับจาก “คอนเทนต์” สู่ “แบรนด์”

เป็นอีกจิ๊กซอว์สำคัญที่ทำให้ระบบนิเวศของ ONE PIECE สมบูรณ์ยิ่งขึ้น คือ Merchandise มีทั้งผลิตเอง และมีแบรนด์ ทั้ง Global Brand และ Local Brand ซื้อลิขสิทธิ์นำคาแรคเตอร์ไปใช้กับสินค้าของตนเอง โดยดำเนินการผ่านบริษัทตัวแทนดูแลลิขสิทธิ์ในแต่ละประเทศ

การขายลิขสิทธิ์ให้กับแบรนด์ เพื่อนำไปผลิต Merchandise รวมถึงผลิตขึ้นเองด้วยนั้น เป็นก้าวสำคัญของ “ONE PIECE” ที่ไม่ใช่จำกัดอยู่แค่การเป็นคอนเทนต์ ในฐานะการ์ตูนเล่ม, ทีวีซีรีส์, Animation ในโรงภาพยนตร์ หรือแม้แต่คอนเทนต์รูปแบบอื่นเท่านั้น แต่ด้วยความสำเร็จของ “ONE PIECE” ได้สร้างคุณค่าให้สามารถพัฒนาไปสู่การเป็น “แบรนด์” ได้ ซึ่งเป็นการขยาย Ecosystem ในเชิงกว้างที่จะยิ่งสร้าง Value ให้กับ “ONE PIECE” มากยิ่งขึ้น

ONE PIECE Merchandise

เพราะทำให้ใครๆ ก็อยากซื้อลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์ เพื่อผลิต Merchandise รวมถึงทำ Collaboration Project ร่วมกัน สร้าง win-win ทั้ง 3 ฝ่าย คือ

ฝั่งแบรนด์ที่ได้ฐานแฟนคลับ ONE PIECE มาเป็นลูกค้าของแบรนด์ ขณะเดียวกันทำให้แบรนด์นั้นๆ มีสิ่งใหม่มานำเสนอให้ผู้บริโภค

ขณะที่ฝั่ง ONE PIECE นอกจากจะเป็นรายได้อีกทางแล้ว สินค้า Merchandise ยังเป็นกลยุทธ์รักษาฐานแฟนคลับ ส่วนผู้บริโภค ถ้าเป็นแฟนคลับการ์ตูนเรื่องนี้ ได้สนุกกับการสะสมสิ่งที่ตัวเองรัก และสำหรับผู้บริโภคทั่วไป การมีคาแรคเตอร์ของ ONE PIECE อยู่บนสินค้า ช่วยสร้างประสบการณ์แปลกใหม่เช่นกัน

Tokyo ONE PIECE Tower

 

5. สร้าง Theme Park – Retail Store สัมผัสประสบการณ์จริง และต่อยอดสู่คอนเทนต์รูปแบบต่างๆ

เพื่อให้ผู้อ่าน – คนดูได้สัมผัสประสบการณ์จริง เรื่องราวความสนุก การผจญภัย และมิตรภาพจึงไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ และหน้าจอทีวี – แพลตฟอร์มดิจิทัลเท่านั้น แต่ตัวละครทุกตัวในเรื่อง ยังได้ออกมาโลดแล่นอยู่ในโลกความเป็นจริง ด้วยการสร้าง Touch Point ทั้งรูปแบบสวนสนุก และร้านจำหน่ายของที่ระลึก

ในประเทศญี่ปุ่น ดินแดนบ้านเกิดของ ONE PIECE ได้สร้าง Tokyo ONE PIECE Tower เป็นสวนสนุกในร่ม อยู่ที่หอคอย Tokyo Tower ภายในแบ่งเป็นชั้นต่างๆ แต่ละชั้นมีเครื่องเล่น มุมถ่ายรูป พื้นที่ Gallery นำเสนอเรื่องราวของ ONE PIECE ร้านจำหน่ายของที่ระลึก Mugiwara Store และ Café & Restaurant

Tokyo ONE PIECE Tower

ทุกวันนี้ Tokyo ONE PIECE Towerกลายเป็นหนึ่งใน Landmark ของโตเกียว ที่นักท่องเที่ยว และใครที่ชื่นชอบ หรือเป็นแฟนตัวยง ONE PIECE ต้องไม่พลาดที่จะแวะมาที่นี่

สำหรับในต่างประเทศนอกญี่ปุ่น ปัจจุบันมีการเปิด Mugiwara Store ในบางประเทศแล้ว เช่น ประเทศไทย เป็นประเทศที่ 2 ต่อจากญี่ปุ่นที่เปิด Mugiwara Store และที่ไต้หวัน

ความพิเศษของ Mugiwara Store ตามที่กล่าวไปข้างต้นถึงการทำตลาดแต่ละประเทศ ถึงแม้ทุกวันนี้ “ONE PIECE” จะเป็นการ์ตูนระดับโลก แต่การเข้าไปทำตลาดแต่ละประเทศ ด้วยการให้บริษัทดูแลลิขสิทธิ์แต่ละประเทศทำตลาด สร้างพาร์ทเนอร์ และบริหารคาแรคเตอร์ ได้ทำกลยุทธ์ Localization เพื่อปรับให้เข้ากับประเทศนั้นๆ และชนะใจคนท้องถิ่น

Tokyo ONE PIECE Tower

อย่างการเปิด Mugiwara Store ที่ประเทศไทย “อาจารย์เออิจิโร่ โอดะ” ได้ออกแบบ ONE PIECE เวอร์ชั่นไทย เช่น ให้ตัวละครใส่ชุดตามเทศกาลของไทย อย่างเทศกาลสงกรานต์

นอกจากนี้ ไม่เพียงแต่คอนเทนต์ที่ปรากฏในรูปแบบการ์ตูนเล่ม ทีวีซีรีส์ ภาพยนตร์เท่านั้น “ONE PIECE” ยังต่อยอดรูปแบบอื่นอีก เช่น กิจกรรม On Ground เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่จะทำให้ Community ของการ์ตูนเรื่องนี้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นไปอีก

จะเห็นได้ว่ากว่าที่การ์ตูนเรื่องหนึ่งๆ หรือคาแรคเตอร์แต่ละตัวจะโด่งดังระดับโลก และรักษาคุณภาพ มาตรฐาน-ชื่อเสียง และฐานแฟนคลับเก่า ควบคู่กับการสร้างฐานแฟนคลับใหม่ ไม่ใช่เรื่องง่าย!

เพราะทุกอย่างล้วนแล้วแต่มีกระบวนการที่ถูกวางแผนอย่างเป็นระบบ และร้อยเรียงแต่ละจิ๊กซอว์เข้าด้วยกัน และนี่เองจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม “ONE PIECE” ถึงได้รับความนิยมตลอดกาล และเป็นหนึ่งในการ์ตูนที่มีแฟนคลับเหนียวแน่นจำนวนมากอยู่ทั่วโลก

Tokyo ONE PIECE Tower

Tokyo ONE PIECE Tower

 

 

Source : ประวัติที่มา ONE PIECE และ อาจารย์เออิจิโร่ โอดะ : Wikipedia 1,


  • 3.8K
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ