เหตุการณ์กราดยิงโคราชเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ต่อเนื่องถึงวันที่ 9 เกิดขึ้นที่ศูนย์การค้า Terminal 21 จังหวัดนครราชสีมา ได้สร้างความสะเทือนใจกับคนไทย ทั้งเป็นเหตุการณ์อุกอาจ และสร้างความสูญเสีย โดยมีทั้งผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บจำนวนมาก
อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์กราดยิงโคราช ได้เกิดกระแสจากภาคประชาชนถึงความไม่พอใจในการทำงานของ “สื่อมวลชน” บางสำนักข่าว ที่ใช้วิธีการรายงานสด โดยเฉพาะไลฟ์สดผ่าน Social Media โดยมีทั้งคอมเมนต์ให้ระงับการไลฟ์สด ทั้งยังเกิด hashtag # ติดเทรนด์ twitter เช่น #กราดยิงโคราช, #สื่อไร้จรรยาบรรณ
เนื่องจากการรายงานเหตุการณ์ในลักษณะ Live ทำให้เป็นอุปสรรคการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะเดียวกันเป็นอันตรายกับผู้ที่ติดอยู่ในสถานที่ และผู้ที่รอดออกมาได้ เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
ล่าสุด คุณฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้โพสต์ข้อความใน Twitter ส่วนตัวว่า
เรียน พี่น้องประชาชนทุกท่าน
สำนักงาน กสทช. ต้องขอแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่ง กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดนครราชสีมา เหตุการณ์เกิดขึ้นเกิดอย่างฉุกละหุก สำนักงานฯ จึงได้ออกคำสั่งไปยังสถานีทุกข่องให้การงดการนำเสนอภาพข่าว การรายงานสด ที่จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการในเหตุการณ์
จากการติดตามตรวจสอบของสำนักงาน กสทช. พบว่ายังมีบางสถานีที่ไม่ได้ปฎิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด จึงได้โทรศัพท์แจ้งเตือนโดยตลอด จนทำให้ระดับการรายงานข่าวที่ส่งผลกระทบต่อการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินงานอย่างเต็มกำลังเพื่อแก้ไขปัญหาอันเกิดจากสถานการณ์เร่งด่วนดังกล่าว
หลังจากนี้ สำนักงานฯ จะรีบบรรจุเรื่องนี้เป็นวาระเร่งด่วนเสนอที่ประชุม กสทช. เพื่อเรียกสถานีทุกช่อง โดยเฉพาะสถานีที่มีการรายงานสด มาให้ข้อมูล พร้อมทั้งพิจารณาหลักฐานประกอบ ก่อนที่ กสทช. จะลงมติดำเนินการกับช่องทีวีเหล่านั้นต่อไป และสำนักงาน กสทช. จะได้เรียกสถานีโทรทัศน์ทุกสถานีมาทำความเข้าใจการนำเสนอเนื้อหาที่มีความละเอียดอ่อน ส่งผบกระทบต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอีกครั้ง เพื่อดำเนินการเสนอมาตรการรองรับการออกอากาศรายการในลักษณะดังกล่าว ต่อไป
สุดท้ายนี้สำนักงาน กสทช. ขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ในครั้งนี้อย่างยิ่ง
สำนักงาน กสทช.
เหตุการณ์กราดยิงโคราช นับเป็นอีกหนึ่งบทเรียนสำคัญให้กับทั้ง “ผู้ที่ปฏิบัติงานข่าว” และ “องค์กรสื่อมวลชน” ให้ตระหนักถึงจริยธรรมในอาชีพ เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ไม่เป็นการขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
เพราะการทำงานของสื่อมวลชนในวันนี้ ไม่ใช่แค่เพียงองค์กร และหน่วยงานกลางเป็นผู้ตรวจสอบเท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือ ภาคประชาชนกำลังจับตาดูการทำงานของสื่อมวลชนไทย ดังนั้น “ความเชื่อมั่น” จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด