โตโยต้านำเทรนด์แนวคิดใหม่ T-SI Toyota Social Innovation พัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน

  • 9
  •  
  •  
  •  
  •  

2015-01-tsi-11

การทำธุรกิจ ณ ปัจจุบัน การคำนึงถึงผลกำไรสูงสุดอาจจะไม่ใช้เป้าหมายหลักที่ทุกองค์กรต่างแสวงหา เพราะด้วยสังคมที่พัฒนาเติบโตขึ้นจนมีความซับซ้อนเกินกว่าจะให้ความสำคัญกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง การเข้ามาขององค์ธุรกิจในการช่วยเหลือสังคมและชุมชนท้องถิ่นจึงมีให้เห็นกันอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่การทำ CSR (Corporate Social Responsibilities) ต่อยอดมาถึงการทำ CSV (Creating Shared Value) และก้าวไปสู่การทำ C-SI (Corporate Social Innovation) ซึ่งเป็นแนวคิดทางธุรกิจล่าสุดในการให้ความช่วยเหลือสังคมและชุมชนในแบบยั่งยืน โดยเป็นการส่งผ่านองค์ความรู้ของภาคธุรกิจให้กับชุมชนและสังคม เพื่อให้ทุกคนที่ได้เรียนรู้สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในแนวทางที่เหมาะสมกับตนเองมากกว่าการให้เงินหรือสิ่งของดังเช่นกิจกรรม CSR ทั่วๆ ไปอย่างที่เคยทำกัน   และล่าสุด โตโยต้า ประเทศไทย ก็ได้ริเริ่มโครงการ C-SI ในแนวทางของตนเอง โดยมีชื่อเรียกว่า “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” 

2015-01-tsi-8

“โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” หรือ Toyota Social Innovation (T-SI)

“โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” เป็นนวัตกรรมทางสังคมรูปแบบใหม่ของโตโยต้าที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นกลไกในการตอบแทนสังคมอย่างยั่งยืน โดยการนําระบบการผลิตแบบโตโยต้า TPS (Toyota Production System) ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่รวบรวมกลั่นกรองมาจากการดำเนินธุรกิจอันเป็นเอกลักษณ์ของโตโยต้า และถ้าใครที่ติดตามแวดวงการเรียนการสอนทางด้านธุรกิจก็คงทราบดีว่า แนวคิดการทำงานแบบโตโยต้านั้นได้ถูกนำไปใช้เป็นกรณีศึกษาสำหรับชั้นเรียน รวมถึงการจัดฝึกอบรมต่างๆผ่านหลักการสําคัญที่เรียกว่า ‘Kaizen’ คือ การปรับปรุงการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปสู่การสร้างประสิทธิภาพในการผลิต การดําเนินงาน และความสามารถลดต้นทุน จึงเป็นที่มา ของความตั้งใจของโตโยต้าที่ต้องการนําความรู้ดังกล่าวไปแบ่งปันแก่ภาคสังคมแทนการตอบแทนสังคมในแบบเดิมๆ

เมื่อความยั่งยืนคือโจทย์หลัก โตโยต้าจึงมีความตั้งใจนำความชำนาญขององค์กร ได้แก่ TPS (Toyota Production System) เข้ามาประยุกต์ใช้ในโครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” เพื่อส่งผ่านวิธีคิดและแนวทางการทำงานให้กับองค์กรหรือธุรกิจชุมชนที่เป็นกําลังสําคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย

อ่านตัวอย่างการนำ TPS (Toyota Production System) กับการทำงานร่วมกับองค์กรการกุศล Food Bank ที่นิวยอร์ค เพื่อแก้ไขปัญหาคิวการจัดอาหารมาดูแลคนมากกว่า 1.5 ล้านคน ได้ที่นี่

“โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์”เหมาะกับสังคมไทยอย่างไร

หากมาลองวิเคราะห์กันถึงสัดส่วนของภาคธุกิจ   ร้อยละ 25 ของธุรกิจในเมืองไทย คือกลุ่มธุรกิจขนาดย่อมโดยเป็นกลุ่มธุรกิจชุมชนกว่า 36,000 ราย และมีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น ส่วนที่เหลือต้องปิดตัวลงไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งปัญหาหลักๆ ของการดำเนินธุรกิจที่ผู้ประกอบการมักจะทำพลาดก็คือการบริหารจัดการที่ไม่เป็นระบบ การบริหารจัดการต้นทุนการผลิตที่ไม่เหมาะสม ไปจนถึงการขาดช่องทางกระจายสินค้า ทำให้ธุรกิจไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และต้องปิดตัวลง และเมื่อธุรกิจชุมชนที่น่าจะมีศักยภาพในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจำต้องปิดตัวลง ชาวชุมชนย่อมขาดทางเลือกในการสร้างรายได้จากท้องถิ่น ส่งผลต่อเนื่องไปถึง คุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ และไปถึงระดับสังคมที่กว้างขึ้น “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” ตระหนักถึงปัญหานี้ และพยายามแก้ไขที่ต้นเหตุ เพื่อทำให้ธุรกิจของชุมชนสามารถดำเนินต่อไปได้ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ย่อมต้องส่งผลดีต่อสังคมในระดับที่กว้างขึ้นอย่างแน่นอน

“โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์”จำเป็นต่อธุรกิจชุมชนอย่างไร

T-SI หรือ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” คือการนำเอาแนวคิดในการทำธุรกิจที่พิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จ มาถ่ายทอดและปรับใช้กับธุรกิจชุมชนขนาดเล็กเหล่านี้ด้วยการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดของทีมงานโตโยต้า และจากการสำรวจของทีมงาน ทำให้พบความท้าทายหลักของการดำเนินธุรกิจชุมชน คือ

2015-01-tsi-10

  1. ความสามารถในการผลิต (Productivity)
    เมื่อไม่มีระบบการบริการจัดการที่ดีเพียงพอ การผลิตในแต่ละครั้งจึงไม่สามารถใช้ทรัพยากรที่มีได้อย่างคุ้มค่า ทั้งในแง่ของกำลังคนและวัตถุดิบ รวมไปถึงปริมาณการผลิตที่อาจจะลดลง เพราะขึ้นอยู่กับกำลังคนที่ไม่แน่นอน และการจัดหาวัตถุดิบที่อาจจะไม่เพียงพอ
  2. การส่งมอบงาน (Delivery)
    อาจจะด้วยนิสัยขี้เกรงใจของคนไทย หรือการประเมินการผลิตผิดพลาด สิ่งเล็กน้อยเหล่านี้สามารถส่งผลจนทำให้เกิดปัญหาการรับงานมากเกินกำลัง และไม่สามารถส่งมอบได้ตามกำหนด เป็นสาเหตุให้ลูกค้าเสียหายที่ไม่ได้รับสินค้าตามจำนวนที่ต้องการ และทำให้ธุรกิจต้องเสียลูกค้าในที่สุด
  3. การควบคุมคุณภาพ (Quality Control)
    ปัญหาของผู้ประกอบการขนาดเล็กส่วนใหญ่ ที่ยังขาดระบบการควบคุมคุณภาพสินค้า ทำให้สินค้าที่ผลิตออกมาไม่ได้คุณภาพ ผิดสัดส่วน หรือเกิดตำหนิ ทำให้เกิดของเสียจากการผลิต ซึ่งส่งผลไปถึงต้นทุนที่มากขึ้น
  4. การบริหารสินค้าคงคลัง (Inventory Management)
    การกักตุนวัตถุดิบ และสินค้าเป็นระยะเวลานาน จนทำให้เงินทุนจมอยู่กับสินค้าคงคลัง รวมทั้งสินค้าและวัตถุดิบเริ่มเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา เมื่อปล่อยไว้นานเข้าก็นำไปสู่การขาดสภาพคล่องทางการเงิน
  5. การบริหารต้นทุน (Work in Process Cost)
    ข้อสำคัญในการทำธุรกิจอีกประการหนึ่งก็คือ การบริหารต้นทุนให้คุ้มค่ามากที่สุด เพราะถึงแม้ว่าธุรกิจจะสามารถผลิตสินค้าที่ได้คุณภาพ และมีลูกค้าที่ต้องการสินค้านั้น แต่ถ้าสินค้านั้นมีต้นทุนที่ต้องจ่ายสำหรับสิ่งที่ไม่จำเป็นมากเกินไป ธุรกิจย่อมอยู่ไม่ได้ในระยะยาว

เมื่อวิเคราะห์ถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขได้แล้ว “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” จึงประยุกต์หลักการทำงานเข้าใจง่ายขึ้น โดยเรียงลำดับการแก้ปัญหาออกมาเป็น 4 ส่วน คือ รู้ เห็น เป็น ใจ

  • รู้     คือ การรู้และเข้าใจ โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจถึงกระบวนการของธุรกิจ และรู้ถึงปัญหาอย่างชัดเจน ที่สำคัญคือต้องสามารถวัดเป็นตัวเลขทางสถิติได้ด้วย
  • เห็น     คือ การทำให้ทุกฝ่ายเห็นถึงปัญหาตรงกัน และแก้ไขด้วยการใช้แผนภาพและข้อมูลที่ทันสมัย เข้าใจง่ายในแต่ละวัน เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถเห็นเป้าหมายและทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น
  • เป็น     คือ การที่ทุกฝ่ายลงมือ ช่วยกันหาแนวทางการแก้ปัญหา และสามารถทำงานเป็นด้วยตนเอง
  • ใจ     คือ การร่วมแรงร่วมใจ ใส่ใจในการทำงานรวมถึงใส่ใจในคุณภาพชีวิตของพนักงานในองค์กร คู่ค้าที่เกี่ยวข้อตลอดจนสังคมชุมชน เพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้อย่างยั่งยืน

ตัวอย่างโครงการนำร่องแห่งแรกของ“โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์”

กลุ่มธุรกิจชุมชน ฮาร์ท โอทอป เป็นตัวอย่างนำร่องแห่งแรก ที่โตโยต้าได้นำ TPS(Toyota Production System) องค์ความรู้และประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจของโตโยต้า เข้าช่วยเหลือจนประสบความสำเร็จ

กลุ่มธุรกิจชุมชน ฮาร์ท โอทอป เป็นผู้ผลิตเสื้อโปโลในจังหวัดกาญจนบุรี มีเครือข่ายการทํางานและการจ้างคนในพื้นที่เพื่อเป็นการช่วยกระจายรายได้สู่ครัวเรือนในชุมชน

โตโยต้าได้นำกระบวนการ รู้ เห็น เป็น ใจ เข้าสำรวจการทำธุรกิจจนเจาะลึกเข้าถึงปัญหา แล้ววิเคราะห์ปัญหาตามแบบ TPS

ต่อมาจึงเริ่มแก้ปัญหาโดยสร้างกระบวนการมองเห็นทางธุรกิจ ด้วยบอร์ดควบคุมงาน และบอร์ดวิเคราะห์งาน เพื่อให้ทราบภาพรวมของธุรกิจ ตั้งแต่จุดที่เกิดปัญหาและแนวทางแก้ไข พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดการสื่อสารสองทางผ่านการประชุมที่มีแบบแผนมาตรฐาน

2015-01-tsi-9

นอกจากการวางระบบการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพแล้ว ทางโตโยต้ายังส่งเสริมให้ทีมงานของแต่ละชุมชนนั้นสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง โดยได้เข้ามาสร้างกระบวนการการเรียนรู้และการทำ Kaizen (การค้นหาปัญหาและหาทางแก้ไขอย่างต่อเนื่อง) เพื่อให้บุคลากรเข้าใจปัญหา และพัฒนาการทำงานในทุกแง่มุม เช่น มีมาตรฐานการตรวจงานประจำวัน มีการปรับปรุงโครงสร้างองค์กร และสวัสดิการพนักงาน รวมถึงการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และส่งมอบได้ตรงเวลา

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นหลังจากกลุ่มธุรกิจชุมชน ฮาร์ท โอทอป ร่วมโครงการกับโตโยต้า

  • ความสามารถในการผลิตเพิ่มสูงขึ้น เป็น 88%จากเดิม 49%
  • มูลค่าของเสียที่เกิดจากสินค้ามีตำหนิลดลง 28 เท่า
  • การมอบงานล่าช้า ลดลงเหลือไม่ถึง 5%
  • ต้นทุนจมจากสินค้าคงคลังเหลือเพียง 1.1 ล้านบาท จากเดิม 3.7 ล้านบาท
  • ต้นทุนในกระบวนการผลิตลดลงถึง 1 ล้านบาท

ทั้งหมดนี้ ถือเป็นการช่วยเหลือชุมชนในรูปแบบที่เอื้อต่อการทำงานขององค์กรธุรกิจ เพราะเป็นการนำความชำนาญทางด้านธุรกิจขององค์กรมาใช้ และด้วยกระบวนการทำงาน TPS และ Kaizen ที่ทางโตโยต้านำมาสอนให้กับธุรกิจชุมชน การทำ T-SI จึงแตกต่างจากการทำ CSR หรือ CSV โดยเฉพาะผลลัพท์ที่ยั่งยืนกว่า เพราะเป็นการมอบความรู้ แทนที่จะมอบสิ่งของหรือเงินบริจาคในแบบที่เคยเป็น

ในบทความครั้งต่อไป เราจะเจาะลึกถึงกระบวนการรู้ เห็น เป็น ใจ ของโตโยต้าชุมชนพัฒน์ พร้อมวิเคราะห์กรณีศึกษาเพื่อแบ่งปันแนวทางการนําองค์ความรู้จากการดําเนินธุรกิจระดับโลก มาสร้างประโยชน์อย่างยั่งยืนให้กับธุรกิจระดับชุมชนต่อไป


  • 9
  •  
  •  
  •  
  •  
Tukko Nathida
ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ MarketingOops.com กับความตั้งใจในการนำเสนอเนื้อหาที่ทันเหตุการณ์ และเกิดประโยชน์ ให้สามารถนำเนื้อหาความรู้ และ Insight ไปต่อยอดกับอนาคตของธุรกิจ และการทำงานที่เกี่ยวข้องกับ เทคโนโลยี ครีเอทีฟ การตลาด โฆษณา และสตาร์ทอัพ