บทบาท Youtube ต่อวงการศึกษาไทย ผลักดันสู่ความเป็น Digital Education ที่สมบูรณ์

  • 21
  •  
  •  
  •  
  •  

ในอดีตนั้นจะเรียนรู้หรือศึกษาอะไร นอกจากจะได้รับความรู้จากครูผู้สอนในห้องเรียนแล้ว หากต้องการเพิ่มเติมอาจจะค้นคว้าจากตำราต่างๆ ได้ แม้ในปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เลือนหายไป แต่ด้วยเทคโนโลยีของมนุษย์ที่ก้าวหน้ามากขึ้น ก็ทำให้เกิดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ผ่านคลิปวิดีโอต่างๆ โดยมีหลากหลายช่องทางในการที่เราจะเสาะแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ๆ มาเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ช่องทางการเรียนรู้ผ่านคลิปวิดีโอที่สำคัญซึ่งทุกคนนึกถึงเป็นที่แรก ก็คือ Youtube” ซึ่งปัจจุบันเหล่านักวิชาการมากมายเล็งเห็นความสำคัญที่จะผลักดัน เครือข่ายนี้ให้กลายมาเป็นเครื่องมืออันทรงพลังของการเรียนการสอน ไม่ใช่เป็นแค่แพลตฟอร์มของคนที่อยากจะขายของ หรือคนที่อยากจะโชว์ของเท่านั้น

ดังนั้น Youtube โดย Google เล็งเห็นความสำคัญการศึกษาในยุคใหม่ ที่เรียกว่า Digital for Education จึงได้เปิดโอกาสนำหัวขบวนสำคัญของวงการศึกษาไทย ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการใช้เทคโนโลยีโดยเฉพาะการทำคลิปวิดีโอ มาเป็นเครื่องมือในการเรียนการสอน อีกทั้งยังนำไปเผยแพร่ต่อทั้งในระดับประเทศและระดับโลกอีกด้วย มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์และทัศนะว่า การศึกษาผ่าน Youtube นั้นมีบทบาทสำคัญอย่างไรในประเทศไทย

ทิพย์สุดา สุเมธเสนีย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ในนามภาครัฐ กล่าวยืนยันถึงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล ว่าจะต้องมีการเตรียมพร้อมใน 3 ส่วนได้แก่ 1.Digital Contents 2.Digital Society และ 3.Digital Knowledge ทั้งสามเรื่องนี้ จะขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารดิจิตอลทางการศึกษาให้เติบโตเข้มแข็ง และจะเป็นรากฐานที่มั่นคงและเป็นแนวโน้มที่ชัดเจนที่รัฐบาลจะพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล อันเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลต่อไป

อริยะ พนมยงค์ ผู้จัดการกูเกิลประจำประเทศไทแสดงทัศนะในนามกูเกิลว่าภายใต้ Digital Economy กูเกิลมองประเทศไทยใน 3 มิติด้วยกัน ได้แก่ มิติแรก Digital For SME มิติที่สอง คือ Digital For Creativity โดยมิติสุดท้ายที่จะพูดถึงคือ Digital For Educations กูเกิล ไม่ใช่ผู้รู้ไปหมดเสียทุกอย่าง แต่สิ่งที่เราได้เรียนรู้คือประสบการณ์จากต่างประเทศ จากหลายๆ ประเทศที่มีนโยบายDigital For Educations เราจึงอยากเอาประสบการณ์ตรงนี้มาแชร์และมาเล่าให้ฟัง

“สำหรับประเทศไทยนั้น คือจะทำอย่างไรให้การศึกษาไทยมีคุณภาพ ทำอย่างไรให้คนไทยทั่วประเทศเรียนรู้กับสื่อดิจิตอลนี้ได้ เราจะเอามหาวิทยาลัยดังๆ อาจารย์ที่เก่งๆ ที่อัดวิดีโอขึ้นไปบนยูทูบ ทำให้เด็กๆ นักศึกษา ซึ่งไม่ว่าอยู่ทีไหนก็เรียนรู้เนื้อหาได้ทันที”

อีกเรื่องที่สำคัญคือความเท่าเทียม อินเตอร์เน็ตไม่ได้แบ่งชั้น อินเตอร์เน็ททำให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน แต่ไม่ใช่สิ่งที่เราฝันอีกแล้วแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในวันนี้ แต่โจทย์คือทำอย่างไรให้กระจายและไปทั่วถึงได้ ดังนั้น หากได้การผลักดันจากสื่ออีกแรงก็หวังว่าความฝันที่ส่วนหนึ่งกลายเป็นจริงแล้ว ก็จะสำเร็จมากขึ้นไปอีก

Digital for EDU HILI

ความฝันที่เป็นจริงแล้วที่ “อริยะ พนมยงค์” พูดถึงนั้น ก็คือการที่บุคลากรทางการศึกษาไทยหลายสถาบันหลายท่านร่วมมือกันผลักดันให้เกิดการเรียนรู้ที่เรียกว่าเปิดกว้างทั้งเนื้อหา ทั้งเทคนิคเรียนการสอน และไม่สำคัญว่าคุณจะอยู่ที่ไหน หรืออายุเท่าไหร่ก็สามารถเรียนรู้ไปพร้อมกันได้ อาทิ “ครูวีรชัย มาตรหลุบเหลา” ครูสอนเป่าแคนจาก รร.บ้านหนองย่างงัว จ.ร้อยเอ็ด ที่เปิด Channel วีรชัย มาตรหลุบเหลา” ผ่าน Youtube และสร้าง Blog เพื่อเผยแพร่การสอนเป่าแคนตั้งแต่ขั้นพื้นฐานไปจนถึงขั้นสูง ซึ่งมีคนเข้ามาเยี่ยมชมทั้งในและต่างประเทศ

หรือ “ครูวีรชาติ มาตรหลุบเหลา” ครูสอนวิทยาศาสตร์ จาก รร.โพนเมืองประชารัฐ จ.ร้อยเอ็ด ที่ใช้ Google และ Youtube เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่ให้นักเรียนได้ค้นคว้าความรู้ออกมาเป็นโครงงานวิทยาศาสตร์ ก่อนที่จะสรุปบทเรียนด้วยการตัดต่อวิดีโอเป็นผลงานของนักเรียน แล้วนำมาทำเป็นสื่อเผยแพร่กระบวนการทำงานทั้งหมดผ่านทาง Youtube อีกด้วย

ขณะที่ “ครูสวรรค์ ดวงมณี” ครูแห่งโรงเรียนสุรธรรมพิทักษ์ จ.นครราชสีมา มอบหมายให้นักเรียนทำหนังสั้นเกี่ยวกับ “จริยธรรมในการใช้อินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์” เพื่อปลูกฝังให้เด็กตระหนักและเข้าใจความสำคัญของการเป็นผู้ใช้อินเตอร์เน็ตอย่างถูกต้องและถูกกฎหมาย

นอกจากนี้ในระดับอุดมศึกษาก็ได้เชิญผู้บริหารระดับสูงจากสถาบันชั้นนำมาร่วมให้แง่คิดด้วย อาทิ ดร.อภิเทพ แซ่โค้ว ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด (ประเทศไทย) ศจ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดี ม.ขอนแก่น ซึ่งทุกท่านต่างใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่อย่างมากมายในสถาบันของตนนั้น นำมาเป็น Content ชั้นดี แล้วอัพโหลดลง Youtube ก่อนเผยแพร่องค์ความรู้ดังกล่าวสู่โลกออนไลน์ เป็นการเปิดโอกาสทาการศึกษาให้เกิดความเท่าเทียมกันทั้งในทุกระดับ พร้อมกับตอกย้ำว่าวงการศึกษาไทยจะต้องเร่งปรับตัวอย่างรวดเร็วในด้าน Digital Education เพื่อก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพราะมั่นใจว่าบุคลากรของไทยนั้นมีความรู้ความสามารถยอดเยี่ยมไม่แพ้ชาติใดในโลก

และไม่ใช่แค่ภาครัฐเท่านั้น ภาคเอกชนของไทยก็ให้ความสำคัญกับ Digital Education ไม่แพ้กัน โดย “นิติการณ์ ประกอบธรรม” แห่ง Ormschool เป็น Education Channel ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในขณะนี้ มุ่งมั่นกับแนวความคิดที่ว่าต้องการจะทำลายอุปสรรคทั้งหมดที่ขวางกั้นการเข้าถึงความรู้และต้องการช่วยให้นักเรียนทุกคนหลุดพ้นจากความไม่รู้ พร้อมกับตั้งเป้าว่าจะสร้างสรรค์วิดีโอแห่งความรู้นี้ให้ได้ถึง 1 แสนคลิปเลยทีเดียว ขณะที่ “วรินทร์เนตร เติมศิริกมล” จาก Choc Chip เป็น Education Channel อีกช่อง ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กที่อายุน้อยลงมา กล่าวว่า เป้าหมายคือหวังให้เด็กไทยได้ดูอะไรที่สร้างสรรค์ ส่งเสริมจินตนาการ และยกระดับจิตใจ ที่สำคัญคือผู้ปกครองจะต้องรู้สึกไว้วางใจว่าปลอดภัยเหมาะสำหรับพัฒนาการที่ดีของเด็กไทยอีกด้วย

Josh EngelOK

ด้าน Josh Engel ผู้จัดการ Education Program จาก Youtube ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บอกถึงประโยชน์ของ Youtube ที่ใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน ว่า ในพาร์ทของการสอนคุณครูสามารถใช้ได้ทั้งในและนอกห้องเรียน ดังนี้

  1. Playlist คุณครูรวบรวมวิดีโอที่ตรงกับสิ่งที่จะสอน เพื่อให้ง่ายและเข้าถึงได้เร็ว และมีประสิทธิภาพในห้องเรียน
  2. Hook ในเชิงนี้คือการเอาวิดีโอเป็นเหมือนดาวเด่นของการเปิดห้องเรียน และดึงดูดความสนใจของเด็ก หรือเป็นประเด็นที่ยาก หรือต้องใช้เวลา ความตั้งใจ หรือมีสมาธิความเข้าใจสูง การ hook จะทำให้ผู้เรียนเข้าใจมากขึ้น

ส่วนพาร์ทของการเป็นเครื่องมือสำหรับผู้เรียนในทุกวัย แม้จะเรียนจบแล้วหรือไม่ว่าจะอายุมากแค่ไหนก็ตามก็ยังสามารถเรียนรู้ได้ หรือที่เรียกว่า เป็นการเรียนรู้ไปตลอดชีวิต Live for Learner

“เพราะว่าดิจิตอลเป็นสิ่งดีๆ ที่สามารถยกระดับการศึกษาและประสบการณ์การเรียนรู้ได้ เราอยากให้คนเรียน ไม่ว่าวัยไหน หรืออยู่ที่ไหน สามารถเข้าถึงเนื้อหาหรือวิดีโอได้จริงๆ”

แม้ว่าทุกวันนี้เราจะเห็นแต่คนแชร์คลิปเด็กตีกันหรือคนทะเลาะกันมากมายบนโลกโซเชียล ลองมาเปลี่ยนพฤติกรรมกันใหม่ไหม หันมาแชร์เรื่องดีๆ แชร์ความรู้ดีๆ ให้แก่กันดีกว่า ส่วนหนึ่งนอกจากจะเป็นการแบ่งปันความรู้ให้ผู้อื่นแล้ว ก็ยังเป็นการให้กำลังใจคนทำงานเหล่านี้ คนที่ทำเพื่อการศึกษาไทยของเราจริงๆ ให้พวกเขาได้มีกำลังใจทำสิ่งดีๆ ให้สังคมไทย ที่สำคัญอาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ ลุกขึ้นมาทำต่อยอดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไปอีก เพื่ออนาคตที่ดีของวงการศึกษาไทยต่อไป.


  • 21
  •  
  •  
  •  
  •