เชื่อหรือไม่ว่า เสียงเพลงเป็นเหมือนหัวใจหลักสำคัญ ที่ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น ใครหลาย ๆ คนอาจจะนึกถึงเพลงโฆษณาที่ชวนติดหูอย่าง แลคตาซอย หรือ Mk เป็นต้น แต่การที่แบรนด์ต่าง ๆ ใช้เพลงเข้ามาช่วยในการสื่อสารนั้น ก็เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคให้เป็นที่จดจำ
ในงานสัมมนาการตลาด GroupM FOCAL ครั้งนี้ได้นำเสนอการทำแบรนด์ผ่าน Music ในหัวข้อ “MUSIC IS EVERYWHERE” โดยการบอกเล่าถึง Music ว่ามีความสำคัญอย่างไร สามารถนำมาใช้กับการตลาดได้อย่างไร แล้วแนวเพลงแบบไหนที่เหมาะกับกลุ่มอายุคน โดยคุณสัมพันธ์ ศิริจิวานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโส-ฝ่ายขาย Sponsorship (ARATIST) จะมาให้ข้อมูลกับทุก ๆ คนในครั้งนี้
Music Marketing เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่เราเห็นได้อยู่ทุกที่ ด้วยการสื่อสารผ่านเสียงเพลง ทำให้ทุก ๆ คนสามารถเข้าถึงได้ง่าย จากการสร้างแคมเปญ โปรโมทสินค้า รวมถึงการนำนักร้องมาเป็นเป็นพรีเซ็นเตอร์ในการนำเสนอแบรนด์ต่าง ๆ และยังเป็นการสร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์ (Brand Awareness) แต่ก็ต้องขอบอกเลยว่า Music Marketing นั้นไม่ได้เน้นขายเพียงอย่างเดียว แต่ต้องสร้างแบรนด์ให้ดูมีตัวตนผ่านเสียงเพลง ในวันนี้เราจึงขอพาทุกคนมาทำความรู้จักกับกลยุทธ์การตลาดผ่านเสียงเพลงของ “GMM Grammy”
GMM Grammy ใช้กลยุทธ์การตลาด “Music” อย่างไรให้ปังกว่าเจ้าอื่น
การที่ GMM Grammy มีประสบการณ์กว่า 40 ปี จึงมีความเข้าใจถึงความต้องการของผู้บริโภคเป็นอย่างดี โดยใช้โมเดลธุรกิจแบบ One Stop Music Marketing “มาที่เดียวทำได้ทั้งหมด” เนื่องจากทาง GMM Grammy มีความเชี่ยวชาญในหลาย ๆ ด้านของเพลง อาทิ การผลิตผลงาน การเผยแพร่ รวมถึงการจัดการด้านต่าง ๆ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
อีกหนึ่งความปังของกลยุทธ์ GMM Grammy ที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือมี “Deep Big Data” ที่ครบทุก Insight ของศิลปินและผู้บริโภค แถมยังมีศิลปินที่มีความหลากหลาย ครบทุกตลาด อายุ และความสนใจของผู้บริโภค ถือเป็นการตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคได้อย่างเหมาะเจาะ ซึ่ง GMM Grammy ยังมีความพร้อมในเรื่อง Music Social ที่ครบทุก Platform เพื่อเท่าทันถึงยุคสมัยในปัจจุบันอีกด้วย
ความน่าสนใจใน Music Social ของ GMM Grammy ในปี 2021-2022 มีอะไรบ้าง?
5 เดือนที่ผ่านมาของ GMM Grammy บน facebook และ youtube รวมถึงในช่องทางของศิลปินเองมีการขยับเพิ่มขึ้นถึง 10% หรือราว ๆ 90 กว่าล้าน โดยยอดวิวสูงที่สุดในประเทศไทยได้แก่ “มนต์แคน แก่นคูน” สูงถึง 808 ล้านวิว อีกทั้งในปีที่แล้วทาง GMM Grammy ได้ผลิตผลงาน 366 คอนเทนต์ เฉลี่ย 1 คอนเทนต์ต่อวัน จะเห็นได้ว่า GMM Grammy มีการทำคอนเทนต์อยู่ตลอด ทำให้ทุก ๆ Platform มีการเติบโตจากผลงานในการผลิตนั้นเอง
2 รูปแบบที่ GMM Grammy ใช้เชื่อมโยงกับผู้บริโภค
1. Long form music คือ การทำ storytelling ออกมาให้ดูน่าสนใจ ถ่ายทอดความรู้สึกให้ผู้อื่นได้รับรู้และยังให้ข้อมูลข่าวสารแก่ผู้บริโภค โดยสามารถ tie-in สินค้า ผ่าน Music ได้อย่างแนบเนียน ทำให้ผู้บริโภคไม่รู้สึกถึงการขายของจนเกินไป
2. Short Form music คือ คอนเทนต์ที่สั้น กระชับ เป็นนิยมเหมาะสำหรับคนไทย เช่น TikTok จะเป็นการทำเพลงสินค้าขึ้นมาก่อน จากเพลงฮิตหรือเพลงสินค้าโฆษณาโดยตรง จากนั้นนำเพลงหนึ่งท่อนมาขยายความใน TikTok เพื่อทำเป็นชาเลนจ์
GMM Grammy แบ่งกลุ่มคนฟัง Music ไว้ทั้งหมด 4 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่
1. กลุ่มTeen อยู่ในช่วง 12-17 ปี เป็นกลุ่มที่มีอิมแพคเป็นอย่างมาก ห้ามมองขาดเด็ดขาด นักร้องที่อยู่ในกลุ่มนนี้จะเป็นเป๊ก ผลิตโชค,พีพี,บิวกิ้น เป็นต้น
2. กลุ่มYoung อยู่ในช่วง 18-24 ปี กลุ่มนี้จะโฟกัสไปที่ต่างจังหวัดมากกว่า จากปรากฏการณ์ของ “มนต์แคน แก่นคูน” มียอดวิวเยอะมากที่สุดในประเทศไทย มีการปรับเปลี่ยนเรื่องของ เพลง สไตล์การแต่งตัว ให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้นเพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย
3. กลุ่ม Adult อยู่ในช่วง 25-40 ปี จะเป็นกลุ่มที่ชอบอยู่นอกบ้าน ชอบไปในสถานที่ผู้คนเป็นจำนวนมากอย่างมิวสิคเฟสติวัล เป็นต้น
4. กลุ่ม Executiveอยู่ในช่วง 41-55 ปี กลุ่มนี้จะมีความตรงไปตรงมา ความรู้สึกที่นึกถึงในอดีต และเป็นกลุ่มที่ควบคุมเงินภายในบ้านทั้งหมด
สรุปแล้ว Music นั้นอยู่กับเราทุกที่ ทุกเวลา เพลงเป็นเหมือนความทรงจำระยะหนึ่ง ที่ทำให้เรานึกถึงผู้คนและสิ่งของ รวมถึงสถานที่ต่าง ๆ เพียงแต่เราต้องเลือกให้เหมาะสมกับเจนเนอเรชั่นนั้น ๆ เพลงจะเติบโตไม่ได้ถ้าไม่มีศิลปิน ศิลปินจะเติบโตขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีผู้สนับสนุนจากทุกคนนั้นเอง