ไคเซ็น (KAIZEN) หลักการแก้ไขปัญหาทางธุรกิจที่ผู้ประกอบการสามารถเรียนรู้และนำไปใช้ได้กับทุกธุรกิจ โดย TOYOTA ได้นำแนวคิดหลักการ KAIZEN เผยแพร่ให้แก่ธุรกิจที่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งภายใต้โครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ โดยมุ่งเน้นส่งเสริมคุณภาพชีวิตและการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนของชุมชน ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของเศรษฐกิจประเทศ
โดย TOYOTA ได้จัดกิจกรรม ONE DAY TRIP ด้วยการพาผู้ประกอบการธุรกิจ SME ในจังหวัดขอนแก่นและพื้นที่ใกล้เคียง เยี่ยมชมกิจการ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโคกสว่าง ผู้ผลิตข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์”
ที่ปัจจุบันพัฒนาสู่การเป็นศูนย์เรียนรู้ โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ แห่งที่ 2 ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ประสบผลสำเร็จในการใช้หลักการ KAIZEN แก้ปัญหากระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลกำไร
ด้าน คุณสุปรียา ไม้มณี ผู้อํานวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และกิจกรรมสังคม บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จํากัด ชี้ว่า TOYOTA ได้นำองค์ความรู้ต่างๆ มาถ่ายทอดให้กับวิสาหกิจชุมชนผ่านบุคลากรของ TOYOTA ที่เกษียณอายุไปแล้ว แต่ยังเป็นผู้มีความสามารถที่ชุมชนมักจะเรียกว่า “ป๋า” เข้ามาเป็นที่ปรึกษา ผ่านการเรียนรู้ร่วมกับชุมชนโดยใช้หลัก 4 ขั้นตอนที่ประกอบไปด้วย รู้ เห็น เป็น ใจ
โดยขั้นตอน “รู้” เป็นการเรียนรู้ถึงปัญหาในทุกกระบวนการที่ถือเป็นต้นเหตุของปัญหา โดยมี “ป๋า” ร่วมศึกษาปัญหาต่างๆ กับชุมชน ชั้นตอน “เห็น” เป็นการเรียนรู้เพื่อให้เห็นแนวทางการแก้ไขปัญหาผ่านการเก็บข้อมูลต่างๆ ขั้นตอน “เป็น” คือการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปแบบ โดยมี “ป๋า” เข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยงในการดำเนินการและขั้นตอน “ใจ” เป็นการเข้าใจในการดำเนินงาน ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าพึงพอใจในผลิตภัณฑ์
นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก เซนเซแป๊ะ หรือ คุณวิฑูรย์ สูงกิจบูลย์ อดีตพนักงาน TOYOTA ที่ผันตัวไปเป็นวิทยากรจะมาช่วยให้ความรู้เรื่องของ KAIZEN ที่เข้าใจได้ง่ายผ่านกิจกรรมธรรมดาแต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับทำให้ผู้ประกอบการที่ร่วมกิจกรรมต่างเข้าใจหลักการของ KAIZEN ได้อย่าง่ายดายโดยไม่ต้องทำความเข้าใจเหมือนการเรียนผ่านตำรา
โดยกิจกรรมแรกเรียกว่า “The Cut” เป็นกิจกรรมที่ให้มีการแบ่งกลุ่ม โดยแต่ละคนในกลุ่มจะได้รับ 2 สิ่งเหมือนๆ กันคือ กระดาษสีที่เป็นแถบยาวประมาณ 1 ฟุตจำนวน 3 แถบคละสีกัน ซึ่งที่ปลายกระดาษสีแต่ละแถบจะมีการติดเทปกาวสองหน้าไว้ และกรรไกรคนละ 1 เล่ม โดยให้นำเทปกาวสองหน้าของกระดาษสีแถบแรกมาติดกับปลายอีกด้านหนึ่งให้เป็นวงกลม
จากนั้นใช้กรรไกรตัดตรงกลางระหว่างแถบ 1 ครั้ง เพื่อให้เกิดเป็นร่องแล้วสอดกรรไกรตัดตามแนวกลางของแถบจนชนกับจุดเริ่ม ผลที่ได้คือจะได้กระดาษแถบสีเดียวกัน 2 วงขนาดเท่ากัน จากนั้นเซนเซแป๊ะให้นำเทปกาวสองหน้าของกระดาษสีแถบที่ 2 มาติดกับปลายอีกด้านหนึ่งโดยให้บิดเป็นเลข 8 จากนั้นใช้กรรไกรตัดตรงกลางระหว่างแถบ 1 ครั้ง เพื่อให้เกิดเป็นร่องแล้วสอดกรรไกรตัดตามแนวกลางของแถบจนชนกับจุดเริ่ม
ผลที่ได้คือจะได้กระดาษแถบสีเดียวกัน 2 วงขนาดเท่ากันแต่คล้องติดกันเหมือนโซ่ จากนั้นเซนเซแป๊ะให้นำเทปกาวสองหน้าของกระดาษสีแถบที่ 3 มาติดกับปลายอีกด้านหนึ่งโดยให้บิดเป็นเลข 8 อีกครั้งจากนั้นใช้กรรไกรตัดแบ่งประมาณ 1 ใน 3 ของพื้นที่กระดาษแถบสี 1 ครั้ง เพื่อให้เกิดเป็นร่องแล้วสอดกรรไกรตัดไปเรื่อยๆ จนชนกับจุดเริ่ม โดยห้ามบิดกรรไกรหรือเอียงกรรไกร
ผลที่ได้คือจะได้กระดาษแถบสีเดียวกัน 2 วง แต่จะมีขนาดวงไม่เท่ากันแต่คล้องติดกันเหมือนโซ่ โดยเซนเซแป๊ะอธิบายว่า กิจกรรมนี้ชี้ให้เห็นว่ากระดาษที่เท่ากันเหมือนเดิมและกรรไกรเล่มเดิม แค่เปลี่ยน “วิธีการ” ก็จะได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน นั่นชี้ให้เห็นว่าหลักการ KAIZEN ไม่เน้นการเพิ่มเครื่องมือ ซึ่งเปรียบเสมือนต้นทุน แต่ให้เน้นไปที่วิธีการโดยใช้เครื่องมือเดิมเท่าที่มี จะช่วยให้เกิดผลลัพธ์ใหม่ๆ ได้
สำหรับกิจกรรมที่ 2 เรียกว่า “ ปิรามิด” โดยครั้งนี้เซนเซแป๊ะจะให้อาสาสมัคร 2 ท่านออกไปรอด้านนอก และทุกคนที่เหลืออยู่จะได้รับไม้ 2 ชิ้นรูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมูเท่ากันทั้ง 2 ชิ้น โดยให้นำไม้ทั้ง 2 ชิ้นมาประกบกับแล้วเป็นรูปปิรามิด โดยรอบแรกมีผู้ทำปิรามิดได้สำเร็จเป็นคนแรกในเวลา 6 วินาที ขณะที่รอบที่ 2 จะมีเวลากำหนด 2 นาที ซึ่งผู้ที่ทำได้สามารถบอกคนอื่นได้
จากนั้นในรอบที่ 3 จะใช้กติกาแบบเดียวกับรอบแรกแต่มีข้อแม้ว่าคนที่ทำได้ช้าที่สุดต้องใช้เวลาที่เร็วกว่าคนที่ทำได้ในรอบแรก โดยในรอบนี้สามารถทำได้ 4 วินาที จากนั้นให้แต่ละกลุ่มเลือกวิธีการสื่อสารเพื่อให้ 2 ท่านที่ออกไปรอด้านนอกเข้าใจและทำได้เร็วกว่า 4 วินาที โดยเมื่อแต่ละกลุ่มนำเสนอเทคนิคการถ่ายทอดวิธีการทำปิรามิดแล้ว ก็จะมีการโหวตเลือกวิธีการที่ดีที่สุด
ซึ่งสุดท้ายได้เลือกวิธีการนำเสนอผ่านวิดีโอและการเขียนวิธีการทำ โดยทั้ง 2 ท่านที่รอด้านนอกทำได้เพียงแค่ดูแต่ห้ามสัมผัส ห้ามถามทุกคน โดยต้องใช้เวลาที่น้อยกว่า 4 วินาที ซึ่งท่านแรกสามารถใช้เวลาเพียง 2 วินาที โดยอธิบายถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จากนั้นก็ทำการแก้ไขปัญหานั้นจนทำให้ท่านที่ 2 ที่เข้ามาใช้เวลาทำเพียง 1.8 วินาที
โดยเซนเซแป๊ะอธิบายกิจกรรมนี้ว่า หลักการ KAIZEN คือการเน้นแก้ปัญหา แต่การแก้ปัญหาจะไม่เกิดขึ้นได้ถ้าไม่มีความร่วมมือกันหรือไม่สื่อสารกัน เพราะเมื่อร่วมมือกันแล้วผ่านการสื่อสารที่ดี เมื่อพบปัญหาก็จะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธภาพและช่วยให้กระบวนการทำงานสามารถทำงานได้อย่างราบรื่นทุกขั้นตอน
ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโคกสว่างก็ใช้หลักการ KAIZEN นี้เช่นกัน โดยช่วยให้สามารถผลิตแผ่นข้าวได้เพิ่มขึ้น 7,500 แผ่นต่อวัน จากเดิมที่สามารถผลิตได้ 7,000 ต่อวัน รวมไปถึงลดการสูญเสียจากกระบวนการผลิตได้ถึง 0.06 กก.ต่อวัน จากเดิมที่สูญเสียจากกระบวนการผลิตอยู่ที่ 4.8 กก.ต่อวัน
นอกจากนี้ยังสามารถลดการใช้แก๊สได้ 1 ถัง (หรือราว 15 กก.) ต่อเดือน รวมไปถึงยังช่วยลดปัญหาแผ่นข้าวแตกได้ถึง 90% ช่วยเพิ่มผลผลิตได้ถึง 450 ชิ้นต่อวันหรือคิดเป็นเงินถึง 562.5 บาท
เรียกว่าเป็นกิจกรรมที่สนุกได้สาระและช่วยทำให้ผู้ประกอบการเข้าใจหลักการของ KAIZEN ได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้หากผู้ใดสนใจเกี่ยวกับโครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.toyota.co.th/tsi/