เป็นที่ทราบกันว่าอาหารไทยเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก ทั้งในเรื่องของความสวยงามและความอร่อย จนหลายคนเลือกที่จะเดินทางหลายชั่วโมงเพื่อมารับประทานอาหารไทย ที่มีเรื่องของวัฒนธรรมผสมผสานกันไป แต่นอกจากอาหารแล้วประเทศไทยยังเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบในการทำอาหาร ไม่ว่าจะเป็น สัตว์น้ำ ข้าว เครื่องเทศต่างๆ เป็นต้น
เมื่อโลกเข้าสู่ยุดดิจิทัลอุตสาหกรรมอาหารของไทยเองก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ต้องมีการปรับตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค นั่นจึงทำให้ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (ทีเส็บ) จัดงาน Food ingredients Asia 2019 หรือ Fi Asia 2019 ขึ้นในวันที่ 11-13 กันยายนนี้ ณ ไบเทค บางนา
โดยมียอดผู้ลงทะเบียนเข้าชมงานกว่า 20,000 คน จากผู้ประกอบการของไทย 60%, อาเซียน 25% และอินเดียและจีน 10% ตามลำดับ ซึ่งแต่ละประเทศต่างก็ขนนวัตกรรมด้านอาหารมานำเสนอเพื่อยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคและตอบรับยุค Digital Disruption

ด้าน นายมนู เลียวไพโรจน์ ประธาน-ประเทศไทย อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ชี้ว่า การแข่งขันในวงการอาหารและเครื่องดื่มของเอเชียมีความรุนแรง ซึ่งส่งผลให้ต้องพัฒนาตนเองให้เท่าทันต่อความต้องการของผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลา แต่ในขณะเดียวกันอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของเอเชียก็มีโอกาสและตลาดใหม่ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งผู้ประกอบการที่มีความพร้อมในการผลิตเท่านั้นจึงจะสามารถฉวยโอกาสเหล่านี้เอาไว้ได้
ขณะที่ นางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการ ภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ เห็นว่า เห็นได้ว่าองค์กรขนาดใหญ่ของวงการอาหารมีการใช้ Food Tech หรือเทคโนโลยีและนวัตกรรมนำหน้าไปก่อนแล้ว ผู้ประกอบการขนาดย่อมลงมารวมไปถึง SME จึงต้องรีบปรับตัวตามให้ทัน ก่อนที่จะอยู่ในอันดับรั้งท้ายของตลาด โดยมีการคาดการณ์ว่ามูลค่าฟู้ดเทคทั่วโลกจะสูงถึงประมาณ 250,430 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2022 โดยในจำนวนนี้จะมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทยขาดการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับสินค้าที่มีอยู่ให้สามารถแข่งขันได้มากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสในการขยายตลาดไปยังประเทศต่างๆ และเพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยที่มีมูลค่าประมาณ 2.7 ล้านล้านบาทมีการเติบโตและสามารถสร้างฐานความนิยมในตลาดต่างๆ ทั่วโลก Fi Asia 2019 จึงเปิดเวทีการเจรจาธุรกิจขึ้นอีกครั้ง เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้ได้ขยายขีดความสามารถและเสริมศักยภาพการผลิตให้รั้งตำแหน่งผู้นำ สมฐานะการเป็นครัวโลก
ปัจจุบัน เวียดนาม กำลังเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว เนื่องจากมีการเพิ่มกำลังการผลิตและแข่งขันกับไทยด้วยราคาที่ถูกกว่า ส่วนประเทศคู่ค้าใหม่ๆ ที่ไทยควรให้ความสำคัญ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ที่มีการนำเข้าอาหารแปรรูปจากต่างประเทศ และมีความต้องการในผักผลไม้แปรรูปบรรจุกระป๋อง, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ที่เพิ่มความต้องการในอาหารเส้น พาสต้า และข้าว จากปัจจัยของคนต่างชาติที่เข้าไปอยู่อาศัยและทำงานจำนวนมากขึ้น, สหรัฐอเมริกา (USA) ที่มีตลาดอาหารและเครื่องดื่มออร์แกนิกมูลค่า 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่งผลให้สหรัฐเป็นตลาดออร์แกนิกขนาดใหญ่ของโลก, ตุรกี ที่มีอุตสาหกรรมน้ำผลไม้พร้อมดื่มเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 มีปริมาณการจำหน่ายน้ำผลไม้พร้อมดื่มมากถึง 1,033.8 ล้านลิตร
สินค้าที่กำลังเป็นที่ต้องการเหล่านี้ ล้วนเป็นสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ไทยสามารถผลิตได้อย่างมีคุณภาพ แต่การไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ พร้อมกับพัฒนาสินค้าให้ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการนำนวัตกรรมมาแปรรูปวัตถุดิบให้กลายเป็นส่วนผสมอาหารนั้น จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าไปทำตลาดในประเทศเหล่านี้ได้ง่ายยิ่งขึ้น