สรุปอินไซด์การขับเคลื่อนและสร้างความร่วมมือ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนในอุตสาหกรรม จากประสบการณ์ระดับโลกของ Tetra Pak

  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  

ประสบการณ์ที่บริษัทระดับโลกอย่าง Tetra Pak ดำเนินการในการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืน และสร้างความร่วมมือเพื่อให้เกิด Greener Future หรืออนาคตที่ยังยืน คือหัวข้อที่ ปฏิญญา ศิลสุภดล Head of Sustainability, Thailand and Vietnam, Tetra Pak ได้นำมาเล่าให้ทุกคนฟังบนเวที Innovate Sustainability Stage ในงาน Marketing Oops Summit 2024 ซึ่งปีนี้มาในธีม Visions Meet Reality

ซึ่งเนื้อหาใน Session นี้ ผู้เข้าร่วมงานได้ทำความรู้จักบริษัท Tetra Pak และนโยบายด้านความยั่งยืน กระบวนการในการสร้างความร่วมมือในระดับโลก รวมถึงการสร้างความร่วมมือในระดับประเทศ ไปจนถึงอินไซด์จากประสบการณ์ที่ Tetra Pak ทำงานด้านนี้มาเฉพาะในเมืองไทยมากกว่า 40 ปีแล้ว อะไรคืออินไซด์ที่ก่อให้เกิดความร่วมมือและขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน 

รู้จัก Tetra Pak และดีเอ็นเอด้านความยั่งยืน

Tetra Pak เป็นบริษัทระดับโลกที่มีต้นกำเนิดจากประเทศสวีเดน ก่อตั้งมานาน 72 ปี โดยสร้างโซลูชันเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่ม เช่น เครื่องจักรในการทำ Processing เครื่องจักรในการบรรจุ รวมถึงบรรจุภัณฑ์  เริ่มต้นจากแนวคิดในเชิงความยั่งยืนในด้านอาหารมาตั้งแต่ต้น แกนหลักคือ ทำให้อาหารปลอดภัย เข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา 

“ฉะนั้น DNA ของเราเริ่มมากจากการสร้างความยั่งยืนในด้านอาหาร” คุณปฏิญญาเล่า “ทำให้เราสามารถส่งผลิตภัณฑ์ที่มีสารอาหารต่างๆ เช่น นม เครื่องดื่มชนิดต่างๆ เข้าสู่มือผู้บริโภคได้ในทุกที่ทุกเวลา และสามารถเก็บผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในกล่องได้ยาวนาน”

หลังจากนั้น Tetra Pak ก็มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Process ในการผลิต ชนิดบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลาย เทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น AI ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเซอร์วิสที่เข้ามาส่งเสริม ปัจจุบันบริษัท Operate ในมากกว่า 160 ประเทศ 

“ธุรกิจของ Tetra Pak เป็นธุรกิจ B2B ความสำเร็จของเราคือการที่พาร์ทเนอร์ของเราประสบความสำเร็จด้วย ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรีไซเคิล ทุกคนที่อยู่ในห่วงโซ่ เราต้องการสร้างให้ทุกคนประสบความสำเร็จด้วย เราเชื่อในความยั่งยืนจากการที่ทำให้ทุกคนในห่วงโซ่สามารถมีธุรกิจที่ยั่งยืน”

กรอบแนวทางด้านความยั่งยืน 5 แนวทางหลักของ Tetra Pak

ตั้งแต่เริ่มต้นก่อตั้งบริษัทมา วัตถุประสงค์ของ Tetra Pak ไม่เคยเปลี่ยน บริษัทต้องการทำให้อาหารปลอดภัยและเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา โดยอยู่ภายใต้กรอบที่เรียกว่า Pretect What’s Good หรือปกป้องทุกคุณค่า คือปกป้องอาหาร ผู้คน และโลก นี่คือแกนหลักและเป็นแนวทางในการดำเนินการของบริษัท ซึ่งกระบวนการในการขับเคลื่อนความร่วมมือ ไม่ว่าจะเป็นภายในองค์กรเองกับองค์กรข้างนอก เริ่มต้นจากการมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน 

สำหรับกรอบแนวทางด้านความยั่งยืนของ Tetra Pak ประกอบด้วย 5 แนวทางหลักโดยยึดเรื่อง Food systems หรือระบบอาหารอยู่ตรงแกนกลาง เพราะเป็นธุรกิจหลักของบริษัทและเป็นความสำเร็จของพาร์ทเนอร์ ต่อจากนั้นก็จะพิจารณาถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมใน 3 แกน คือผลกระทบต่อภูมิอากาศหรือที่เรียกว่า Climate ผลกระทบต่อธรรมชาติหรือ Nature และการสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน การนำวัสดุกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ก็คือ Circularity และทั้งหมดที่ทำนั้นส่งผลในเชิงบวกกับสังคมซึ่งมี People เป็นจุดหลัก 

โดยแต่ละประเทศจะนำกรอบ 5 ชนิดนี้มาดูว่าในแต่ละบริบทของแต่ละประเทศ อะไรคือความสำคัญเรียงตามลำดับ ทำทุกเรื่อง แต่โฟกัสทีละเรื่อง 

Food systems ระบบอาหารในประเทศไทยดำเนินมากว่า 30 ปีแล้ว เช่น นมโรงเรียน ด้วย Tetra Pak สามารถนำเทคโนโลยีที่ใช้ในการแพ็คนม เก็บนม ขนส่งนมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งได้ไกลเก็บได้นาน คงสารอาหารครบถ้วน จึงได้ร่วมมือกับหลายภาคีภาคส่วน ผู้ผลิตนม ภาครัฐ สนับสนุนเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นกับโครงการนี้ขึ้นมา เป็นต้น   

“ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่ดำเนินการในเรื่องนี้ เราก็มีนมโรงเรียนในหลากหลายประเทศ ทั้งหมดประมาณ 49 ประเทศ ทำให้เด็กทั่วโลก 64 ล้านคน สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์นมได้อย่างต่อเนื่องทุกวัน” 

Circularity เป็นประเด็นหลักของประเทศไทย เพราะอัตราการเก็บกล่องเครื่องดื่มมารีไซเคิลยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ เทียบกับทางยุโรปเก็บได้ 80 ถึงเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากความพร้อมด้านระบบ เมืองไทยปัจจุบันเก็บได้ไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็เกิดจากความพยายามที่ทำมา 15 ปีของ Tetra Pak 

“ในส่วนของการทำ Circularity ไม่ใช่แค่เริ่มจากการที่เราส่งกล่องออกไปให้ผูบริโภคใช้แล้วเก็บกลับมารีไซเคิล จริงๆ เราเริ่มจากการทำนวัตกรรมก่อน Tetra Pak ส่วนกลางใช้เงินปีละประมาณ 100 ล้านยูโรในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ฝาที่เปิดแล้วยังติดอยู่กับตัวกล่องเพื่อให้รีไซเคิลได้ทั้งระบบ”

Climate มีเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนจากปีฐาน 2019 ให้ได้ 20 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันทำได้ตามเป้าแล้ว ส่วนใหญ่เป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการ operate ภายใน ซึ่งทำได้ดีแล้ว ขณะที่การเติบโตของบริษัทยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง และอยู่ระหว่างพัฒนากระบวนการใช้ Renewable Energy อย่างต่อเนื่อง

“อันนี้เป็นข้อจำกัดของประเทศไทยเหมือนกัน เรามีข้อจำกัดในการใช้พลังงานโซลาร์ในโรงงาน เรามีโรงงานหนึ่งที่จังหวัดระยอง ซึ่งปัจจุบันใช้ Renewable Energy ได้แค่ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์เอง เนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมาย บ้านเราไม่อนุญาตให้มีแผงโซลาร์เซลล์ได้มากกว่านั้นอีกแล้ว เราก็เลยอยู่ระหว่างกระบวนการพัฒนาตรงนี้”  

Nature เช่น การปลูกป่าทดแทนที่ประเทศบราซิล 1,300 เฮกเตอร์ มีส่วนช่วยฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในเขตป่าเหล่านั้น บ้านเราแม้ว่าอาจจะยังไม่ได้มีโครงการที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องการฟื้นฟูสภาพธรรมชาติ แต่ในกระบวนการผลิต มีการกักเก็บและไม่ปล่อยสารระเหยออกไปสู่สภาพแวดล้อมจากเครื่องจักรบางชนิด

Social sustainability จากที่ทำมาทั้งหมด คาดหวังว่าจะมีผลกระทบและส่งผลบวกต่อสังคม ทั้งเรื่องความเท่าเทียม การมีส่วนร่วม และการส่งผลประโยชน์ตอบแทนชุมชน ยกตัวอย่างโครงการเก็บกล่องสร้างบ้าน โดยเก็บกล่องเครื่องดื่มจากทั่วประเทศมารีไซเคิล และบริจาควัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างกลับไป  

“แต่เราไม่สามารถทำกิจกรรมเหล่านี้ได้โดยการคิดคนเดียวทำคนเดียว ทุกกิจกรรมที่ Tetra Pak ทำส่วนใหญ่มีภาคีเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ประชาสังคม รวมถึงลูกค้า แล้วเอาความชำนาญเฉพาะด้านของแต่ละภาคส่วนมาร่วมมือกันจนกระทั่งสามารถขับเคลื่อนให้เกิดโครงการที่เกี่ยวกับความยั่งยืนเหล่านี้ได้” คุณปฏิญญากล่าว

สรุปอินไซด์จากประสบการณ์ของ Tetra Pak ในการสร้างความร่วมมือด้านความยั่งยืน 

เนื้อหาในส่วนสุดท้าย คุณปฏิญญาได้สรุปอินไซด์จากประสบการณ์ของบริษัทที่ดำเนินการในเมืองไทยมากกว่า 40 ปี ถ้าจะประสบความสำเร็จในการสร้างความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนอนาคตที่ยั่งยืน ประกอบด้วย 

Clear Strategy and direction การที่ Tetra Pak มีกลยุทธ์และกรอบแนวทาง 5 แนวทางที่ชัดเจนทำให้การสื่อสารภายในองค์กร การสื่อสารภายนอกองค์กร การคุยกับ Business Partner เห็นภาพที่ชัด 

Collaborating to meet the sustainability goals การ Collaborate ที่จะทำให้เกิดการบรรลุเป้าหมาย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันและความร่วมมือในภาคอุตสาหกรรม เกิดขึ้นได้จากการสื่อสารตรงไปตรงมา การที่คุยกับ Business Partner โดยใช้ indicator ที่ชัดเจน วัตถุประสงค์ที่ชัดเจน เปิดเผย สามารถตรวจสอบได้ 

Sustainability disclosure practice ในโลกปัจจุบันที่มีความซับซ้อนมาก เราต้องยึดมั่นในมาตรฐาน เราต้องทำงานโดยที่สามารถบอกคนอื่นได้ว่าสิ่งที่เราทำไม่ใช่เราคิดว่าดีแล้ว แต่ว่าเรามี verification เรามีคนที่มาช่วยบอกว่า กระบวนการและแนวทางที่เราทำอยู่ปัจจุบันนี้ มีอะไรบ้างที่เป็นไปตามมาตรฐาน และมีอะไรบ้างที่เราควรจะปรับปรุง ฉะนั้นการที่บริษัทยอมเปิดรับมาตรฐานใหม่ๆ และมาตรฐานก็พัฒนาไปต่อเนื่อง ตรงนี้ถือเป็นความซับซ้อนอย่างหนึ่ง แต่เป็นสิ่งจำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการสร้างความร่วมมือในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืน


  • 1
  •  
  •  
  •  
  •