ถึงปีนี้นับเป็นปีที่ 5 สำหรับอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลประเทศไทย การแข่งขันช่องต่อช่อง คอนเทนท์ต่อคอนเทนท์ สถานการณ์แนวรบยังไม่เปลี่ยนแปลง มีแต่จะสูงขึ้น ทั้ง 24 ทีวีดิจิทัลยังคงหาช่องทางเพื่อสร้างรายได้ให้เธุรกิจไปต่อได้ ภาวะประสบปัญหาขาดทุนยังแก้ไม่ตก ยังคงเป็นเรื่องของสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก มากเกินกว่าที่จะประเมินได้ว่า ผลจากเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคจะทำให้ธุรกิจทีวีเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วขนาดนี้
ถ้าย้อนเวลาได้การประมูลทีวีดิจิทัลเมื่อปลายปี 2556 ที่กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) เปิดให้ทุนธุรกิจสื่อเข้ามาเป็นผู้บริหารช่อง กลุ่มทุนในอุตสาหกรรมสื่อของไทยอย่างบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด (ช่อง 7) อสมท (ช่อง 9) เนชั่น บีอีซี-มัลติมีเดีย (ช่อง 3) หนังสือพิมพ์หัวสี ไทยรัฐ เดลินิวส์ หรือหัวขาวดำ อย่างมติชน จะยังคงสนใจทีวีดิจิทัลอยู่หรือเปล่า
ประสบการณ์ในธุรกิจสื่อ กับการบริหารธุรกิจทีวีน่าจะเป็นคนละเรื่องเดียวกัน ความจริงที่เมื่อพิจารณาจากเม็ดเงินโฆษณา จะพบว่าสื่อทีวียังเป็นสื่อที่แบรนด์สินค้ามองเป็นช่องทางหลัก ใช้เม็ดเงินโฆษณาไปมากที่สุด แน่นอนว่าสื่อทีวียังไม่ตาย แต่คนดูลดลง และปรากฏการณ์ Digital Disruption ทีวีและโมบายในยุคที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง สื่อทีวี (แม้ว่าจะมีจุดแข็งเรื่องคอนเทนท์) ถูกเทคโนโลยีเข้ามา Disrupt เปลี่ยนวิธีการสื่อสาร การรับรู้ข้อมูลของผู้บริโภคไปอย่างสิ้นเชิง ความคิดสร้างสรรค์และความเข้าใจในไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยิ่งเป็นสิ่งจำเป็นมากขึ้น โลกของเทคโนโลยีการสื่อสาร ที่เข้าถึงผู้บริโภคอย่างทั่วถึงและรวดเร็วแบบก้าวกระโดด ธุรกิจและองค์กรเองก็ต้องสร้างสรรค์และปรับตัวเองให้ทันเช่นกัน
ถึงแม้ว่ากระแสข่าวคสช. ที่เตรียมจะมีการใช้มาตรา 44 เข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ท่ามกลางสถานการณ์โฆษณาน้อยลงๆ แทบทุกช่อง แต่ไปเพิ่มให้กับสื่อโซเชียลมากขึ้นในแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้ง LINE หรือ Facebook ฯลฯ ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังคงไม่สดใสนัก มาตรการดังกล่าวก็เพื่อประคองให้วงการธุรกิจพออยู่รอดได้ (ไม่เสียชื่อรัฐบาล) ด้วยการให้พักชำระหนี้ค่าใบอนุญาตงวดที่ 5 และ 6 รวมทั้งลดค่าเช่าโครงข่าย (Mux) ไม่เกิน 50% เป็นระยะเวลา 3 ปี
ล่าสุดบริษัท ดีเอ็น บรอดคาสต์ จำกัด ผู้บริหารช่อง new18 ได้มีนโยบายปรับโครงสร้างองค์กร ประกาศปรับลดพนักงานฝ่ายข่าว โดยบริษัทจ่ายค่าชดเชยตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) มาตรา 118 ตั้งแต่บรรณาธิการอาวุโส บรรณาธิการข่าว ผู้ประกาศ เจ้าหน้าที่ควบคุมการผลิตข่าว เจ้าหน้าที่การประสานงานการผลิตข่าว ตัดต่อ กราฟฟิก การจัดเก็บภาพข่าว เรียบเรียงข่าว ช่างภาพ และผู้สื่อข่าว รวม 37 คน ซึ่งค่าชดเชยจะเป็นไปตามกฏหมายแรงงาน โดยออกประกาศเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561
จากข้อมูลวิกิพีเดีย นิว18 หรือ เดลินิวส์ทีวีเดิม โดยเปลี่ยนชื่อเป็นนิวทีวีเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2557 – 31 กรกฎาคม 2560 และ เปลี่ยนเป็นนิว18 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 – ปัจจุบัน เริ่มออกอากาศระบบดาวเทียมเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ระบบดิจิทัลภาคพื้นดินเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2557 และระบบดาวเทียมและดิจิทัลเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2558