แกรมมี่​-อาร์เอส กลยุทธ์ 2 ค่ายเพลงเมืองไทยสู่อาณาจักรธุรกิจ 2 ขั้วใหม่ตามเส้นทาง Digital Transformation

  • 143
  •  
  •  
  •  
  •  

gmm-rs01

ในยุคที่การแข่งขันในตลาดเพลง ไม่ได้อยู่ที่การฟาดฟันเพื่อชิงความเป็นหนึ่งระหว่างค่ายเพลงด้วยกันอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องที่จะต้องแข่งกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามาเขย่าวงการเพลงระลอกแล้วระลอกเล่า จนทำให้ธุรกิจต้องเผชิญกับความระส่ำระส่ายด้านรายได้ครั้งใหญ่

ถึงวันนี้การปรับยุทธศาสตร์ของ 2 ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ในเมืองไทย จึงไม่ใช่สิ่งที่น่าสงสัยว่า ทั้งแกรมมี่หรืออาร์เอสจะเดินเกมอย่างไร และทั้ง 2 ค่ายจะตัดสินใจนำองค์กรฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปอย่างไร ซึ่งกลายเป็นวิถี 2 ขั้วที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ค่ายหนึ่งเลือกที่จะรุกต่อ ส่วนอีกค่ายตัดสินใจที่จะพอเพียงแค่นี้

แกรมมี่เดินหน้าต่อ สู่อาณาจักร Content Provider

gmm-rs02

แกรมมี่เป็นค่ายที่เลือกที่จะรักษาความยิ่งใหญ่ในตลาดเพลงไว้ต่อไป ด้วยการ “รุกต่อ” จากการมองเห็น “โอกาส” ผ่านการพัฒนา Platform ให้สามารถหลอมรวมเข้าไปกับกระแส ดิ Digital Life โดยทำการเปลี่ยนสนามการค้าจาก B2C ไปสู่ B2B ผ่านกลยุทธ์สร้างพันธมิตร เพื่อจะขยายคอนเทนต์สู่แพล็ตฟอร์มดิจิทัลให้มากขึ้น

รวมถึงการร่วมมือกับแพล็ตฟอร์มใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความสามารถในการนำคอนเทนต์ ให้เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง และตรงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด อาทิ Spotify, Joox, OMU ซึ่งจะเสริมความแข็งแกร่งในตลาดมิวสิคสตรีมมิ่ง ซึ่งจะเป็นช่องทางในการเผยแพร่คอนเทนต์ ไปยังกลุ่มเป้าหมายที่จะช่วยขยายฐานกลุ่มผู้ฟังให้กว้างขึ้น

ส่วนในช่องทางออนไลน์แกรมมี่ได้พัฒนาช่องยูทูป GMM GRAMMY OFFICIAL เป็นแชนแนลที่นำเสนอผลงานเพลงทุกแนวเพลง ทั้งป็อป ร็อก หรือลูกทุ่ง ภายใต้สังกัดของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ซึ่งปีที่ผ่านมามีผู้ติดตามมากกว่า 10 ล้านคน เป็นช่องแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจากนี้การขับเคลื่อนของแกรมมี่ คือการทำให้เพลงขยายไปทุกช่องทางให้มากที่สุด เพราะจำนวนโหลดที่มากพอ จะส่งผลต่อรายได้จากส่วนแบ่งค่าโฆษณาเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ในฐานะ Content และ Infrastructure Provider แกรมมี่พร้อมจะร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ในทุกพันธมิตร เพื่อที่จะนำคอนเทนต์ที่มีอยู่ มาพัฒนาสู่ Fan-based Marketing เช่น การร่วมมือกับแอป LINE ปล่อยมิวสิค สติกเกอร์ ร้องเพลงได้ ความยาว 8 วินาที จากสติกเกอร์ชุด GMM HIT SONGS FOR DAILY LIFE ล่าสุดได้ร่วมกับ OTV ผู้ให้บริการ VOD (Video On Demand) เพื่อพัฒนาคอนเทนต์ออกมาในรูปแบบแพลตฟอร์มดูวิดีโอที่ชื่อ OMU โดยจะเป็นแบบแอพพลิเคชั่นที่รองรับ iOS และ Android รวมถึงบนตัวเว็บไซต์ได้

กระแสดิจิทัลในมุมของแกรมมี่ จึงหมายถึงการเปลี่ยนผ่านในการนำคอนเทนต์ซึ่งเป็นจุดแข็ง ออกสร้างรายได้ในรูปแบบการบริการ (Service) กับภาคธุรกิจอื่นๆ โดยเป้าหมายใหญ่จากนี้คือ การนำองค์กรก้าวสู่อาณาจักร Content Providerดังนั้น ในปีนี้จึงตั้งเป้าหมายผลิตคอนเทนต์ออกสู่ตลาด ด้วยการส่งเพลงและซิงเกิ้ลใหม่มากกว่า 700 เพลง เพิ่มการผลิตมิวสิกวิดีโอที่จะไม่ต่ำกว่า 300-400 ชิ้นอัดเพิ่มเข้าไปในตลาด เพราะดูจากยอดวิวที่เกิน 100 ล้านวิว จะมาจาก 35 มิวสิกวิดีโอ

RS พอแค่นี้ หันจับปลาในน่านน้ำใหม่

 

ส่วนอาร์เอส ซึ่งจับตาการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจเพลงมานาน และตั้งรับกับสภาวะรายได้หลักเปลี่ยนเส้นทางมาตามลำดับด้วยยุทธศาสตร์ขยายฐาน กระจายความเสี่ยง เริ่มจากการรุกธุรกิจสื่อด้วยการเปิดช่อง 8 จากการเป็นทีวีดาวเทียมสู่ทีวีดิจิทัล ซึ่งอาร์เอสปั้นรายได้กับธุรกิจสื่อได้เป็นกอบเป็นกำ ซึ่งเมื่อต้นในปี 2561 ที่ผ่านมา อาร์เอสประกาศทรานส์ฟอร์มธุรกิจแบบข้ามสายพันธุ์ จากเรื่องของบันเทิงในอุตสาหกรรมดนตรี สู่สายพาณิชย์และค้าปลีกเต็มตัว ธุรกิจเพลงยังคงมีอยู่แต่จะอยู่ในส่วนของธุรกิจเสริมเท่านั้น

สำหรับธุรกิจเพลงในอดีตเป็นฐานรายได้หลักให้กับอาร์เอส แต่สำหรับวันนี้ลดสัดส่วนลงเหลือเพียง 5% ของรายได้รวมและมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ จากปฏิกิริยาของกระแสดิจิทัลที่เป็นตัวเร่ง ทำให้ผู้บริโภคเลือกฟังเพลงฟรีได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นบนออนไลน์ผ่าน Youtube หรือเว็บไซต์ต่างๆ แอปพลิเคชั่นมิวสิค สตรีมมิ่งที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงการรับชมผ่านช่องทีวีดาวเทียม

ส่งผลต่อระดับรายได้ที่หดหายไปอย่างเกิดความเกินคาด

gmm-rs03

อย่างไรก็ตามอาร์เอสมีความพยายามที่จะรักษาธุรกิจเพลงไว้ ซึ่งสะท้อนจากความพยายามปรับโครงสร้างการผลิต จะเห็นได้จากแนวคิดการร่วมทุนระหว่างนักร้องกับบริษัท ในลักษณะกึ่งพันธมิตร ซึ่งโมเดลนี้ศิลปินจะมีส่วนร่วมในการลงทุนผลิตและวางแผนผลงานเพลง ศิลปินจะมีส่วนด้านการวางแผนงาน การดูแลรักษาคุณภาพ ขณะที่บริษัทจะประหยัดต้นทุนลงและสามารถเพิ่มจำนวนซิงเกิ้ลได้มากขึ้น และทำให้นักร้องใหม่เกิดขึ้นง่าย กว่าการทำธุรกิจเพลงแบบดั้งเดิม

ล่าสุด ยุทธศาสตร์ธุรกิจเพลงของอาร์เอส ถูกกระชับเข้ามาให้คล่องตัวมากขึ้น ด้วยการยุบรวมทุกค่าย ทุกแนวเพลงในเครือ ให้มาอยู่ในบริษัทเดียว คือ อาร์สยาม และเพื่อสะท้อนภาพลักษณ์ใหม่ ได้มีการปรับโลโก้อาร์สยาม ให้สามารถสื่อสารถึงความทันสมัยภายใต้วิชั่น “แนวดนตรีที่ไร้ขอบ”
นอกจากนี้จะทำการคัดกรองนักร้องศิลปินในเครือที่มีอยู่กว่า100 คน ให้เหลือประมาณ 30 คน ซึ่งจะต้องมีคุณภาพจริงๆและมีความสามารถมากกว่าหนึ่งอย่าง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงาน ซึ่งจะทำการเซ็นสัญญาเพื่อออกซิงเกิลหรือเพลงใหม่ โดยระยะเวลาสัญญาอาจจะมีตั้งแต่ 6-8 ปี ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม

ขณะเป้าหมายของกลุ่มธุรกิจเพลงในปี 2561 จะให้ความสำคัญกับการนำต่อยอดให้กับธุรกิจมาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากการบริหารจัดการศิลปิน โชว์บิซ อีเวนต์ รวมถึงธุรกิจในเครือ โดยกลยุทธ์หลักที่จะนำมาขับเคลื่อนธุรกิจเพลง มองว่าจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าเพลงจะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 250 ล้านบาท จากรายได้รวมที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 5,300 ล้านบาท

ขณะที่ไตรมาส 4 ปี 2560 อาร์เอส มีรายได้รวม 914 ล้านบาท กำไรสุทธิ 110 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 274% ซึ่งผลประกอบการทั้งปีมีรายได้รวม 3,502 ล้านบาท และมีกำไร 333 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 426% โดยธุรกิจ Health and Beauty สามารถทำรายได้ทั้งปี 1,389 ล้านบาท ในส่วนที่เป็นธุรกิจสื่อมีรายได้ 1,704 ล้านบาท หรือคิด 49% ของรายได้รวม

ในปีนี้อาร์เอสได้ตั้งเป้ารายได้รวมไว้ที่ 5,800 ล้านบาท โดยจะขยายธุรกิจสุขภาพและความงามไปในเชิงพาณิชย์มากขึ้นภายใต้แนวคิดการทำธุรกิจใหม่ไร้กรอบ (Beyond the Limit) เปิดโอกาสตัวเองให้กับธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งเชื่อว่าแนวโน้มธุรกิจสุขภาพและความงามจะสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นประมาณ 3,500 ล้านบาท บนฟีเจอร์ใหม่ๆ ในช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นในปีนี้

แกรมมี่ Transform สู่ Content Provider

จากปีที่แล้ว 2560 ช่องวัน 31 และจีเอ็มเอ็ม 25 มีการปรับตัวสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อเตรียมพร้อมที่จะสร้างคนเทนท์เต็มรูปแบบในปีนี้ทั้งเพลง ละคร ข่าว และภาพยนต์ครบทุกมิติ ผลงานการันตีความสำเร็จก็เช่น ฉลาดเกมส์โกง จาก GDH ที่ประสบความสำเร็จทำรายได้ในประเทศ 112.15 ล้านบาท สร้างรายได้บ็อกซ์ออฟฟิศในจีน 1,300 ล้านบาท รวมทั้งอีกหลายรางวัลใหญ่ในต่างประเทศ ปี 2561 นี้ก็จะเห็นความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ๆ มากขึ้น

ส่วนช่องวัน 31 และจีเอ็มเอ็ม 25 กลุ่มธุรกิจเพลง อาทิ ช่องยูทูป GMM GRAMMY OFFICIAL มีผู้ติดตามมากกว่า 10 ล้านคน จากการผลิตผลงานเพลงและได้ส่งซิงเกิ้ลใหม่มากกว่า 700 เพลง สร้างปรากฏการณ์จำหน่ายบัตรคอนเสิร์ตต่างๆ อาทิ Pepsi Present Big Mountain Music Festival 2017 นั่งเล่น Music Festival 3 ปีนี้ก็จะมี Chang Music Connection Present Genie Fest 19 ปี กว่าจะร็อกเท่าวันนี้ ซึ่งถือเป็นบทสรุปว่าศิลปินแกรมมี่ยังคงได้เสียงตอบรับมาโดยตลอด

หลังจากปีที่แล้วแกรมมี่ขยายคอนเทนต์สู่แพล็ตฟอร์มดิจิทัล รวมทั้งร่วมมือกับแพล็ตฟอร์มใหม่ๆ เพื่อนำคอนเทนต์เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึงและตรงกลุ่มเป้าหมาย ขยายกลุ่มผู้ฟัง รวมทั้งแนวทางการเพิ่มการมีส่วนร่วมบนแพลตฟอร์มด้วยกิจกรรมต่างๆ เพื่อรักษาและขยายฐานผู้ใช้งานให้เพิ่มขึ้น

การแข่งขันธุรกิจสื่อทีวีในปีนี้จึงมีค่อนข้างสูง สงครามแย่งชิงคนดูจากจอทีวี รวมทั้ง second screen จะเข้มข้นขึ้น เพื่อดึงผู้ชมหน้าจอทีวี มากกว่าการชมย้อนหลังหรือในแพลตฟอร์มออนไลน์


  • 143
  •  
  •  
  •  
  •