กระแสเรื่อง Ad Block ยังเป็นที่กล่าวถึงกันอย่างกว้างขวางในวงการโฆษณา โดยเฉพาะสาย Digital ยิ่งรุนแรงมากขึ้นเมื่อกันยายนปีที่ผ่านมา Apple บอกว่า iPhone จะสามารถใช้งานแอพ Ad Block ได้ รวมถึง Samsung ก็มีนโยบายอย่างเดียวกัน
เรื่องนี้ส่งผลกระทบถึง สื่อในฐานะ Publisher และรวมถึงแบรนด์ต่างๆ ในฐานะ Advertiser ทั่วโลก เพราะการบล็อกโฆษณา ส่งผลโดยตรงต่อรายได้ของสื่อ และการทำตลาดของแบรนด์ต่างๆ โดยกลุ่มผู้ให้บริการ Ad Block ทั้งหลาย เช่น Adblock Plus, AdFender, Popup Blocker Pro ให้เหตุผลว่า เป็นการปกป้องผู้ใช้จากโฆษณาที่ไม่พึงประสงค์ โฆษณาที่น่ารำคาญ หรือมาเกาะติด (Tracking) ซึ่งไม่ปลอดภัยต่อข้อมูลส่วนบุคคล และยังทำให้เล่นเน็ตช้าลงด้วย เพราะต้องเสียเวลาโหลดโฆษณา
ให้เหตุผลมาดีขนาดนี้ จึงมีผู้บริโภคกว่า 200 ล้านคนทั่วโลกตอบรับ และแสดงความต้องการใช้งาน Ad Block และจากการประเมินเบื้องต้นพบว่า การใช้งาน Ad Block จะทำให้บริษัทสื่อจำนวนมากที่มีรายได้จากโฆษณาบนเว็บ รวมแล้วมีรายได้ลดลงกว่า 21,000 ล้านเหรียญต่อปี
นี่จึงเป็นการเริ่มต้นสงครามระหว่าง สื่อและแบรนด์ต่างๆ กับ Ad Block
สื่อ– แบรนด์ โต้กลับ บล็อกผู้ใช้ Ad Block
รายได้หลักของสื่อออนไลน์มาจากโฆษณา ผู้บริโภคต้องระลึกไว้เสมอว่า คอนเทนต์ต่างๆ ที่มีให้อ่านกันฟรีๆ จริงๆ แล้วไม่ได้ฟรี แต่มีค่าใช้จ่ายที่แปรผันมาจากค่าโฆษณาที่ผู้บริโภคเสียเวลาดู ดังนั้นถ้าตัดโฆษณาทิ้ง ก็เท่ากับตัดชีวิตคอนเทนต์ดีๆ เช่นกัน
City A.M. หนังสือพิมพ์ธุรกิจจากประเทศอังกฤษ เลือกวิธีการตอบโต้โดย ผู้อ่านที่ใช้ Ad Block จะโดนบล็อกไม่สามารถเข้าอ่านได้ โดยจากสถิติตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมาพบว่า มีผู้อ่านประมาณ 1 ใน 4 จากผู้อ่านทั้งหมดโดนบล็อกไป เพราะการใช้งาน Ad Block แต่โดยรวมยังไม่เห็นการลดลงของผู้เข้าเว็บไซต์
ขณะที่ Conde Nast นิตยสารในเครือ GQ เลือกใช้วิธีการเก็บเงินกับผู้อ่านที่ใช้ Ad Block ถ้าเลือกการบล็อกก็ต้องยอมเสียเงินเพื่อเข้ามาอ่านบทความ ส่วนนิตยสาร Forbes ยื่นข้อเสนอให้ผู้อ่านปิด Ad Block แลกเปลี่ยนกับการได้ดูเว็บไซต์แบบ Ad-Light กล่าวคือ ไม่มีโฆษณาประเภท Welcome Ad และ Video Ad ภายในบทความและระหว่างบทความ แต่ถ้าผู้อ่านไม่รับข้อเสนอนี้ ก็จะไม่สามารถเข้าอ่านบทความได้
Forbes ใช้แนวทางนี้มาตั้งแต่เดือนธันวาคม พบว่า ผู้อ่านกว่า 4 ล้านรายหรือคิดเป็นมากกว่า 40% ยอมปิดระบบ Ad Block หรือเลือกให้ Forbes เป็นกลุ่ม Whitelist สามารถแสดงโฆษณาได้
อนุญาตได้เฉพาะโฆษณาที่ไม่รบกวน
ยังมีกลุ่มคนอีกจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะไม่ปิด Ad Block ถ้าไม่ปิดก็ต้องสร้างโฆษณาที่ปิดไม่ได้ ทาง PageFair ผู้ให้บริการเทคโนโลยีช่วยหารายได้ให้กับสื่อเว็บไซต์ จึงเสนอแนวทางให้สื่อต่างๆ พัฒนา Coding ใหม่ๆ เกี่ยวกับโฆษณา เรียกว่าขยันอัพเดท Code ใหม่ตลอดเวลา เพื่อให้ผู้พัฒนา Ad Block ตามไม่ทัน ซึ่งแนวทางที่ PageFair เสนอคือ ควรเป็นโฆษณาที่ไม่รบกวนผู้อ่าน
อีกบริการหนึ่งคือ Ghostery เป็นบริการที่ช่วยให้เว็บบราวเซอร์ทำงานได้เร็วขึ้น สะอาดขึ้น และปลอดภัย เป็นการรักษาประสบการณ์ดีงามทาง Digital ให้กับผู้ใช้ โดยสามารถเลือกได้ว่าจะดูหรือจะบล็อกโฆษณา
ขณะเดียวกัน Brendan Eich อดีตผู้ร่วมก่อตั้ง Mozilla ได้พัฒนาเว็บบราวเซอร์ใหม่ Brave โดยเน้นว่าเป็นเว็บบราวเซอร์ที่ เร็วกว่า เพราะสามารถบล็อกโฆษณาที่รบกวนการใช้งาน ปลอดภัยกว่าเพราะป้องกันข้อมูลส่วนตัว ป้องกันการติดตาม (Tracking) และที่สร้างความแตกต่างคือ สามารถเลือกดูโฆษณาที่ไม่รบกวนเพื่อช่วยสื่อ หรือจ่ายเงินผ่านระบบ Micropayment ให้กับสื่อโดยตรง แลกกับการไม่ต้องมีโฆษณา
Brave Browser Speed Test: iOS
httpv://youtu.be/2brkfIK5Idw
Native Ad ทางออกแบบประนีประนอม
Facebook คือหนึ่งในตัวอย่างของ Native Ad ชั้นดี เพราะมีโฆษณามากมายที่มาแบบ “แนบเนียน” กลมกลืนไปกับเนื้อหา เช่น News Feed ที่จะมีโฆษณารูปแบบต่างๆ แทรกมาด้วยอย่างลงตัว Twitter ก็ทำในลักษณะเดียวกัน
ดังนั้น Native Ad จึงเป็นเป็นแนวทางหนึ่งที่สื่อออนไลน์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าเป็นทางออกที่ประนีประนอมทุกฝ่าย โดยต้องพยายามจัดสรรโฆษณาไว้ในจุดที่ไม่สร้างความรำคาญให้กับผู้บริโภค หรือเรียกง่ายๆว่า Native Ad แนบเนียนกว่า Ad แบบแบนเนอร์ กับ Pop-up จึงยากจะที่ Ad Block จะตรวจสอบเจอและบล็อกได้
อีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้เว็บไซต์โหลดช้ามาจากOver-Tagged หรือการมีโฆษณามากเกินไป ทำให้ต้องโหลดนานและสิ้นเปลืองอินเทอร์เน็ตของผู้ใช้ นั่นคือเหตุผลที่ สื่อจะสูญเสียผู้อ่านไปอย่างน่าเสียดาย
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือแอพ Ad Block ทั้งหลายได้หลุดจาก Top100 แอพยอดนิยมบนแอพสโตร์ และมีแนวโน้มว่าอันดับกำลังล่วงลง
สำหรับในประเทศไทยยังไม่เห็นผลจาก Ad Block อย่างชัดเจน แต่เชื่อว่า Publisher และ Advertiser น่าจะเตรียมศึกษาแนวทางไว้แล้วเช่นกัน
Source: BBC