10 เหตุผลดัน “Twitter” ในไทย โตเร็วสุดในโลก! จนเป็นแพลตฟอร์มที่ “แบรนด์” ไม่ควรมองข้าม

  • 158
  •  
  •  
  •  
  •  

twitter_cover_01
Photo Credit : Mongkol_Chuewong / Shutterstock.com

จากจุดเริ่มต้นของ “Twitter” เมื่อปี 2006 ถึงวันนี้มีผู้ใช้ทั่วโลกกว่า 300 – 400 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นคนไทย 12 ล้านคน และมี Active user 5.7 ล้านคน (ข้อมูลในไทยโดย WISESIGHT หรือชื่อเดิม THOTH Zocial OBVOC) เมื่อเทียบกับ Social Media Platform อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook (มีผู้ใช้งานกว่า 50 ล้านคน) / LINE (มีผู้ใช้งาน 42 ล้านคน) / Instagram (มีผู้ใช้งานกว่า 13 ล้านคน)

จะเห็นได้ว่า “Twitter” ในไทยไม่ใช่แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ที่มีผู้ใช้มากสุด แต่ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ กำลังเป็นแพลตฟอร์มที่มีการเติบโตเร็ว ทั้งจำนวนผู้ใช้ และแบรนด์สินค้า-บริการที่ต่างเข้ามาสื่อสารบนพื้นที่นี้

Arvinder Gujral กรรมการผู้จัดการ ทวิตเตอร์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฉายภาพจำนวนผู้ใช้งาน Twitter ทั่วโลกว่า เติบโตทุกไตรมาส 10 – 12% ขณะที่ในโซนเอเชีย แปซิฟิคเติบโตมากกว่า 10 – 12% และประเทศไทยมีอัตราการเติบโตมากกว่านั้นเยอะ โดยสามารถพูดได้ว่าไทยเป็นหนึ่งในตลาดที่เติบโตรวดเร็วที่สุดในโลก

ผ่าปัจจัยสำคัญ ดัน “Twitter” ไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก

ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนให้การใช้งาน “Twitter” ในไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว จนทำให้เวลานี้ไทยถือเป็น Strategic Country ที่ Twitter บริษัทแม่ให้ความสำคัญ ประกอบด้วย

1. การใช้งาน Twitter ในไทยยังอยู่ในช่วง “Beginning Stage” ทำให้ยังมีช่องว่างอีกมากที่จะเติบโต ทั้งจำนวนผู้ใช้งาน การนำเสนอ Feature ใหม่ และเม็ดเงินโฆษณา ซึ่งในงาน “DAAT 2018” ฉายภาพว่า เม็ดเงินโฆษณาเข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์ม Twitter สูงเกือบ 3 เท่า และยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอีก

Resize Twitter_01
การเติบโตของ Daily Active User ของแพลตฟอร์ม Twitter

2. “Look at this moment” เป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ Twitter แตกต่างจากแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์อื่นที่เป็น “Look at me” หมายความว่า ผู้ใช้งาน Twitter ต้องการแชร์เหตุการณ์ หรือโมเมนต์ที่กำลังเป็นกระแส หรือข้อมูลข่าวสารไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบข้อความ หรือวิดีโอที่ผู้ใช้งานคนนั้นๆ สนใจ เช่น การแข่งขันฟุตบอล ดู MV ศิลปิน ดูการเมือง ดูข่าวสารต่างประเทศขณะที่สื่อสังคมออนไลน์อื่น มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ผู้ใช้งาน โพสต์บอกเกี่ยวกับตัวฉัน ให้มองมาที่ฉัน

เอกลักษณ์ตรงนี้ของ Twitter ทำให้แบรนด์ สามารถเข้าไปศึกษาและติดตามได้ว่าอะไรคือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในโลก และเกิดในกับตลาดท้องถิ่นนั้นๆ

“สไตล์การใช้ Twitter คือ ผู้ใช้งานเลือกที่จะเห็นว่าเขาอยากจะเห็นอะไร เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาเลือกที่จะเห็น และติดตามในสิ่งที่เขาสนใจ เช่น สนใจ K-pop เลือกจะติดตามศิลปินเกาหลี หรือสนใจฟุตบอล ก็เลือกติดตามสโมสรฟุตบอล หรือนักฟุตบอล เพราะฉะนั้นเมื่อมีแมสเสจเกี่ยวกับสิ่งที่เขาสนใจขึ้นมา เขาเลือกที่จะดูมากกว่า เพราะตรงกับความสนใจของเขา

ขณะที่ Social Media อื่น เน้นการเชื่อมต่อกับเพื่อน หรือครอบครัว และสิ่งที่เพื่อนบน Social Media อื่นโพสต์ เพื่อให้มาดูตัวเขา นั่นคือ Look at me ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาอยากให้คุณเห็น แต่อาจไม่ใช่สิ่งที่คุณสนใจก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นพอเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น คือ สมองหยุดการทำงาน ทำให้ผู้ใช้ Social Media อื่น เกิดพฤติกรรม Scroll สมาร์ทโฟนไปเรื่อยๆ ไม่ได้สนใจอะไรเป็นพิเศษ”

Resize Twitter_shutter stock
Photo Credit : Natee Meepian / Shutterstock.com

3. Real-time และ สั้น-กระชับ-ได้ใจความ ด้วยความที่จุดต้นกำเนิดของ “Twitter” คือ Micro Blog ที่ให้ผู้ใช้งาน Tweet เรื่องราวสั้น – กระชับ จำนวน 140 ตัวอักษร ซึ่งปัจจุบันเพิ่มเป็น 280 ตัวอักษรแล้วนั้น ตรง “จริต” ของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการติดตามเรื่องราวข่าวสารเร็ว สั้น และตรงประเด็น ถือเป็นเสน่ห์ของ Twitter

4. Twitter Trend ความได้เปรียบของนกน้อยสีฟ้า เพราะทำให้ผู้ใช้งาน และแบรนด์รู้ว่าวันนั้นๆ ช่วงเวลานั้นๆ อะไรคือ กระแสสังคมที่อยู่ในความสนใจของคน ทำให้แบรนด์ใช้ Twitter Trend ต่อยอดไปสู่การสื่อสาร หรือทำแคมเปญเกาะไปกับกระแส Twitter Trend ที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อสร้าง Viral ให้กับแบรนด์

5. K-pop ดันการใช้งาน Twitter ในไทยมาแรง โดย Twitter Trend 10 อันดับในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา พบว่ามากกว่าครึ่งเป็นกระแสเกี่ยวกับ “K-pop” สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยชื่นชอบ K-pop โดย Hashtag ยอดนิยม ได้แก่

1. #Got7
2. #เป๊กผลิตโชค (Palitchoke Ayanaputra)
3. #Missuniverse
4. #워너원 (WannaOne)
5. #iheartawards
6. #bambam
7. #bestfanarmy
8. #exo
9. #bts
10. #mtvema

Resize Twitter_03

Arvinder Gujral ขยายความเพิ่มเติมว่า โซนเอเชีย-แปซิฟิค และโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประชากรกลุ่มที่กำลังโตเร็วคือ ชาวมิลเลนเนียล ทำให้เป็นฐานผู้ใช้งานใหญ่ของ Twitter ซึ่งถือเป็นเรื่องดีสำหรับแพลตฟอร์มเรา เนื่องจากแบรนด์ต่างๆ ให้ความสนใจผู้บริโภคกลุ่มนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เรายังพบการใช้ Twitter ในไทยยังมีผู้บริโภคกลุ่มอื่นด้วยเช่นกัน แต่เป็นสิ่งที่อยู่ในความสนใจของคนไทยทั่วไป เห็นได้จาก #เทศกาลสงกรานต์ 4.8 ล้านทวีต และ #ThaiCaveRescue 10 ล้านทวีตภายใน 3 วัน

“K-pop คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และกลายเป็นบทสนทนาบน Twitter ทำให้เราเห็นว่าคนไทยสนใจ K-pop มากพอๆ กับเกาหลี ซึ่งการพูดคุยกันบน Social Media เหล่านี้ เรียกว่า “Import Conversation” คือ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากที่อื่น แต่คนไทยมีความสนใจ และมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งนั้นมาก ขณะเดียวกันในไทยก็มี “Export Conversation” ไปยังทั่วโลกเช่นกัน อย่างเรื่องถ้ำหลวง เกิดขึ้นในไทย แต่คนทั่วโลกสนใจ และเฝ้าติดตามเหมือนกับคนไทย”

6. คนมิลเลนเนียล 16 – 34 ปี คือผู้ใช้งานกลุ่มใหญ่ คิดเป็นสัดส่วน 68% ของจำนวนคนใช้ Twitter ในไทย เนื่องด้วยความที่ปัจจุบันแพลตฟอร์ม Twitter ในไทย ได้รับความนิยมในกลุ่มคนชื่นชอบ K-pop จึงดึงคนกลุ่มมิลเลนเนียลเข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มนี้มากขึ้น ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้ เป็นฐานใหญ่ของกระแสคลื่นวัฒนธรรมเกาหลีอยู่แล้ว

Resize Twitter_04

7. พฤติกรรมของผู้ใช้ Twitter มีทัศนคติเปิดกว้าง อยากอัพเดทตัวเอง อยากค้นพบสิ่งใหม่ๆ และอยากพูดคุยสิ่งใหม่ เพื่อจะได้เอาไปเล่าให้คนอื่นฟังอีกที

8. Influencer มีบทบาทสำคัญใน Twitter เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่ออกแบบมาเพื่อให้คนเชื่อมต่อกัน ดังนั้น Influencer จึงใช้เป็นช่องทางในการพูดคุย สื่อสาร และสร้างฐานแฟนคลับ

Resize Twitter_02

9. “วิดีโอ” เครื่องมือช่วยแบรนด์เข้าถึงผู้บริโภค เวลานี้ “Twitter” พัฒนา Feature วิดีโอ สำหรับเป็นเครื่องมือให้กับนักการตลาด นักโฆษณานำไปใช้ในการเชื่อมต่อกับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สอดคล้องกับพฤติกรรมคนมิลเลนเนียลในประเทศไทย ชอบดูวิดีโอบนสมาร์ทโฟน

ปัจจุบันวิดีโอบน Twitter มีหลายรูปแบบ เช่น Real-time Highlight, Interactive Video, Live Show Event, Highlight from Top Show

Arvinder Gujral เล่าว่า จากการวิจัยการดูวิดีโอ เทียบระหว่าง Twitter กับ Social Media แพลตฟอร์มอื่น พบว่าคนดูวิดีโอบน Twitter นานกว่า 3.5 เท่า (ทั้งวิดีโอทั่วไป และวิดีโอโฆษณา) ที่เป็นเช่นนั้นเพราะการใช้ Twitter ผู้ใช้งานเป็นคนเลือกว่าอยากเห็น อยากติดตามในสิ่งที่เขาสนใจ ดังนั้นวิดีโอที่แสดงขึ้นมาบนหน้า Twitter ของคนๆ นั้น จึงเป็นสิ่งที่เขาสนใจอยู่แล้ว ประกอบกับคนใช้ Twitter มีทัศนคติเปิดรับ

Resize Twitter_05

10. Content Partnership Strategy ขณะนี้สิ่งที่ Twitter กำลังรุกอย่างหนัก คือ การสร้างพันธมิตรธุรกิจ เพื่อนำคอนเทนต์ป้อนบนแพลตฟอร์ม โดยมีทั้ง Global Partner และ Local Partner

ตัวอย่างของ Global Partner เช่น “ONE Championship” รายการแข่งขันกีฬาระดับโลกของสถาบันศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว โดย Twitter จะถ่ายทอดสด (Live Stream) การแข่งขัน รวมทั้งมี Video Highlight เรื่องราวของนักกีฬา VLOG บทความ และคอนเทนต์อื่นๆ

ขณะที่ Local Partner ล่าสุดจับมือกับ “Workpoint” เป็นพันธมิตรในด้านคอนเทนต์ จะปล่อยคอนเทนต์ในรูปแบบไฮไลท์คลิปจากรายการเพลงแบบเรียลลิตี้ที่โด่งดัง เช่น รายการ The Mask Singer Project A และรายการ I Can See Your Voice โดยต่อไปจะลงทุนในฝั่ง “Local Content” มากขึ้น

Arvinder Gujral กล่าวทิ้งท้ายถึงการเป็นแพลตฟอร์ม Social Media ที่เติบโตเร็วในขณะนี้ว่า “เราไม่ได้ต้องการให้แบรนด์เอาเม็ดเงินโฆษณามาทุ่มให้กับ Twitter อย่างเดียว เพราะในโทรศัพท์ของเราทุกคน มี Social Media Platform หลายอย่าง แต่ละแพลตฟอร์มมีเหตุผลการใช้แตกต่างกัน และเวลาเอเยนซีตัดสินใจใช้แพลตฟอร์มไหน ต้องดูว่าแบรนด์นั้น กำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นใคร และใช้เพื่อวัตถุประสงค์อะไร

สำหรับ Twitter ไม่ได้มี Reach ใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับ Social Media อื่น แต่คนที่อยู่บนแพลตฟอร์มนี้ คือ คนที่มี Mindset เปิดกว้าง และมีอิทธิพลในการพูดคุยกับเพื่อน และครอบครัว เพราะฉะนั้นอย่าเมินเฉยกับฐานผู้ใช้ Twitter”

Resize Twitter Arvinder Gujral 2


  • 158
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ