คาดปีนี้เม็ดเงินโฆษณาเหลือ 8.5 หมื่นล้าน

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

ปี 52 บริษัทข้ามชาติ ส่งสัญญาณตัดงบโฆษณา 20-25% ขณะที่บริษัทสัญชาติไทยยัง “นิ่ง” คาดอุตสาหกรรมโฆษณาติดลบ 10-15% เม็ดเงินเหลือ 8.5 หมื่นล้าน

นางวรรณี รัตนพล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อินิชิเอทีฟ จำกัด มีเดีย เอเยนซี เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปี 2552 บริษัทต่างประเทศที่มีเครือข่ายประกอบธุรกิจในประเทศไทย มีนโยบายให้ตัดงบประมาณการตลาดและโฆษณาลง 20-25% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย  โดยไม่สนใจผลการดำเนินงานในประเทศไทยว่าดีหรือไม่ เพราะต้องใช้งบประมาณเพื่อช่วยบริษัทแม่ในต่างประเทศให้อยู่รอดจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งนี้

ปัจจุบันบริษัทที่ใช้งบโฆษณาติดอันดับท็อปเทน จากการสำรวจของ นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช จำนวน 7-8 บริษัทเป็นบริษัทข้ามชาติทั้งสิ้น  ซึ่งล้วนต้องรับนโยบายการบริหารจากบริษัทแม่ในต่างประเทศ และมีโอกาสที่จะใช้งบโฆษณาผ่านสื่อลดลงในปีนี้

ขณะที่บริษัทคนไทยยังไม่ส่งสัญญาณว่าจะตัดงบโฆษณาในขณะนี้  ส่วนใหญ่ยังรอดูสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจ หากรัฐบาลมีเสถียรภาพเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยบวกช่วยอุตสาหกรรมโฆษณาได้เช่นกัน โดยเฉพาะบริษัทคนไทยที่ยังมีศักยภาพในการทำตลาด

“เนื่องจากกลุ่มท็อปเทน ที่ใช้งบโฆษณาสูงสุดเกือบทั้งหมดเป็นบริษัทข้ามชาติ  และนโยบายจากบริษัทแม่ให้ลดงบโฆษณา จะทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาปีนี้ลดลง 10-15% จากปีก่อน” นางวรรณี กล่าว

ส่วนทิศทางการบริหารธุรกิจของอินิชิเอทีฟ ในปีนี้จะเน้นการหาธุรกิจใหม่ เพื่อเป็นอีกช่องทางในการสร้างรายได้ เช่น ล่าสุดเปิดตัวเว็บไซต์ MOMchannel  ช่องทางสื่อออนไลน์ สำหรับสินค้าแม่และเด็กเลือกใช้ลงโฆษณา นอกจากนี้กำลังอยู่ระหว่างการนำเสนอแผนงานบริหารสื่อกับลูกค้าอีกหลายราย  แต่ปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมาย “ไม่เติบโต” หลังจากปีก่อนเติบโต 10%  มีบิลลิ่งประมาณ 5,000 ล้านบาท  ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีหากเทียบกับภาพรวมที่น่าจะติดลบ 10-15%

เม็ดเงินโฆษณาเหลือ 8.5หมื่นล้าน

จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในปี 2551 ส่งผลให้อุตสาหกรรมโฆษณาปี 2551 ลดลง 2.8% หรือมูลค่า 89,488 ล้านบาท ซึ่งเป็นปีแรกของอุตสาหกรรมโฆษณาที่มีอัตราการเติบโตลดลงนับตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าตลาดรวมอุตสาหกรรมโฆษณาปี 2552 จะมีมูลค่าประมาณ 85,000  ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 5%  เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบที่ชัดเจน จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของผู้ประกอบการกลุ่มสินค้าต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะตัดงบประมาณลง

โดยเฉพาะในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ยานยนต์  และผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทข้ามชาติอีกหลาย  บริษัทก็คาดว่าจะตัดลดงบประมาณการโฆษณาลงเช่นกัน เพราะเมื่อบริษัทแม่ในต่างประเทศประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจ ก็กระทบต่องบประมาณการตลาดของบริษัทลูกในประเทศไทยด้วย

ในปี 2552 สื่อโทรทัศน์ยังคงเป็นสื่อที่มีมูลค่าสูงที่สุดเช่นเดิม และมีแนวโน้มว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น หลังจากลดลง 4% ในปี 2551 เนื่องจากทีวีเป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพ เข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง  ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมจากผู้บริโภค ไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนัก ส่วนสื่อโฆษณาที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบอย่างมากในปีนี้ คือ สื่อกลางแจ้ง

Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


  •  
  •  
  •  
  •  
  •